‘Loser’ จาก ‘เซอรียา โบนาลี’ สู่ ‘แอนชิลี สก๊อต-เคมมิส’ เมื่อพวกเธอพ่ายแพ้อย่างสง่างาม

‘Loser’ จาก ‘เซอรียา โบนาลี’ สู่ ‘แอนชิลี สก๊อต-เคมมิส’ เมื่อพวกเธอพ่ายแพ้อย่างสง่างาม

สัปดาห์ที่ผ่านมา ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ในกระแสคือการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ครั้งที่ 70 ที่ตัวแทนผู้เข้าประกวดจากประเทศไทยในปีนี้ “แอนชิลี สก๊อต-เคมมิส” สาวลูกครึ่งไทย-ออสซี่ มีประเด็นให้พูดถึงกว้างขวางผ่านแคมเปญ “Real Size Beauty” ในการแสดงจุดยืนว่ามาตรฐานความสวยงามนั้นไม่ได้คงที่ตายตัว หากแต่ความสวยงามคือความมั่นใจและภูมิใจในเรือนร่างตัวเอง ไม่หวั่นเกรงการถูกวิจารณ์หรือถูกมองว่าไม่ได้อยู่ในขอบข่ายความงามที่ถูกตีกรอบตามมาตรฐานเวทีประกวด ซึ่งแน่นอนว่าประเด็นนี้ถูกพูดถึงแพร่หลายทั้งในมุมสนับสนุนเห็นด้วยว่า Real Size Beauty จะช่วยขยายช่องว่างให้สังคมไทยได้ ผู้คนเคารพตัวเองและผู้อื่นมากขึ้น หยุดวิจารณ์ความแตกต่างที่ไม่ได้เป็นมาตรฐาน

ขณะที่อีกด้านแสดงความเห็นว่าเวทีประกวดนางงามระดับโลกอาจยังไม่พร้อมสำหรับแนวคิดนี้ และเมื่อการกล้าทดลองนี้ลงเอยที่ “แอนชิลี” ไม่สามารถเข้าถึงรอบ 16 คนสุดท้ายได้ ยิ่งทำให้ความเห็นอีกจำนวนหนึ่งสำทับว่าแคมเปญนี้ยังไม่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมผ่านเวทีประกวดนางงามระดับโลกได้ บางเสียงยังถึงกับแสดงความกดดันไปที่ตัวเธอจนกลายเป็นดราม่าความพ่ายแพ้ตกรอบ

Advertisement

หากนับว่านี่คือ “ความพ่ายแพ้” ก็ต้องบอกว่ามันคือ “ความแพ้ที่กล้าหาญ” ทำให้นึกถึงเรื่องราวหนึ่งที่อยากจะนำมาเล่ากันในสัปดาห์นี้ จากสารคดีเรื่อง “Loser” ของ เน็ตฟลิกซ์ ซึ่งเป็นซีรีส์สารคดีที่รวมเอาเรื่องเล่าของเหล่านักกีฬาที่พ่ายแพ้ในการแข่งขัน ซึ่งแต่ละเรื่องนั้นมีเรื่องราวที่น่าคิด

หนึ่งในตอนที่ประจวบเหมาะกับสถานการณ์การประกวดมิสยูนิเวิร์สและเรื่องราวของ “แอนชิลี” ซึ่งมีแง่มุมบางอย่างที่คล้ายคลึงกันคือ ตอนของนักกีฬาสเก๊ตน้ำแข็งหญิง “เซอรียา โบนาลี” ที่เธอเริ่มต้นเข้าสู่กีฬานี้ในแบบที่นอกเหนือมาตรฐานทั่วไป และต้องเผชิญกับการไม่ได้รับการยอมรับจากคนในวงการ เพราะเธอเป็นนักกีฬาสเก๊ตน้ำแข็งผิวดำ ท่ามกลางสิ่งที่เสมือนเป็นแพตเทิร์น และอุดมคติจนชินตาว่ากีฬาสเก๊ตน้ำแข็งมักจะเป็นกีฬาของคนผิวขาวเสียมากกว่าในแบบฉบับเจ้าหญิงบนลานน้ำแข็งที่หุ่นโปร่งบาง หน้าตาดี

ทว่า “โบนาลี” ซึ่งมีส่วนสูง 156 เซนติเมตร จัดว่าตัวค่อนข้างเล็กจากอุดมคติของกีฬาชนิดนี้ พร้อมรูปร่างของเธอที่มีความบึกบึนด้วยมัดกล้าม ตลอดจนรสนิยมแฟชั่นชุดแข่งขันของเธอที่เลือกใช้สีสันโดดเด่น และแต่งหน้าจัดจ้าน ทั้งหมดนี้หลุดจากมาตรฐานที่เป็นมาสิ้น แต่ “โบนาลี” ก็เลือกที่จะแสดงออกแบบนั้น ทั้งเพื่อเคารพตัวเองและภูมิใจในตัวตนของเธอกับการเป็นเล่นกีฬาสเก๊ตน้ำแข็งที่เธอรัก

Advertisement

“โบนาลี” ยังทำอะไรนอกขนบของกีฬาชนิดนี้ เป็นต้นว่าเธอมีพื้นฐานจากยิมนาสติกทำให้นิยมเล่นท่าผาดโผน เช่น กระโดดบ่อยครั้ง และทีเด็ดคือท่า “ตีลังกากลับหลัง” ซึ่งเธอมักจะทำเสมอระหว่างการซ้อมและแสดงโชว์ ซึ่งเป็นท่าอันตรายที่ถูกแบนจากการแข่งขันไปแล้ว

สภาพของโบนาลีจึงเป็นนักสเก๊ตลีลาที่มีท่วงท่าชวนตื่นตะลึง แม้จะมีแฟนคลับสนับสนุน แต่อีกด้านหนึ่งเธอไม่ได้เป็นที่นิยมชมชอบจากคณะกรรมการตัดสินที่มองว่าเธอคือรอยด่างของวงการ และก็ปรากฏว่าเมื่อเธอไปแข่งขันในหลายรายการ แม้จะสร้างผลงานได้เยี่ยมขนาดไหน แต่ก็ดูเหมือนจะมีอคติบางอย่างทำให้ “โบนาลี” ไม่ได้แชมป์ในรายการสำคัญระดับโลกหลายต่อหลายครั้ง

เรื่องราวอันโด่งดังของเธอเกิดขึ้นในช่วงปี 1998 ระหว่างการแข่งขัน “โอลิมปิกฤดูหนาว” ที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อโบนาลี ที่เข้าร่วมในทีมชาติฝรั่งเศส แต่หนนี้เธอมาแข่งขันพร้อมอาการบาดเจ็บเอ็นร้อยหวายก่อนหน้า ซึ่งโอกาสที่เธอจะชนะนั้นริบหรี่ เพราะเธอจะไม่สามารถทำท่า “ทริปเปิลจัมพ์” เพื่อเรียกคะแนนจากกรรมการได้ เพราะท่านี้จะทำให้เธอต้องเจ็บปวดที่ขามากเกินไป

แม้จะมองไม่เห็นโอกาสชนะ เธอก็ไม่ได้ตัดสินใจถอนตัวจากการแข่งขัน ไม่ได้กลัวว่าตัวเองจะพ่ายแพ้ แต่โบนาลีเลือกเข้าสู่ลานน้ำแข็งและเข้าร่วมแข่งขันด้วยความรู้สึก “แค่ทำให้ดีที่สุด”

แน่นอนว่า “โบนาลี” พ่ายแพ้ในโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนั้น แต่สิ่งที่ตามมาอย่างน่าตะลึงกว่าคือ เธอกลับสร้างความประทับใจให้ผู้คนจดจำ และพูดถึงเธอจากการแข่งขันที่ราวกับเป็นการแสดงโชว์เสียมากกว่า ด้วยการเลือกเล่นท่าอันตรายที่ถูกแบนจากการแข่งขันไปแล้วนั่นก็คือ ท่าตีลังกากลับหลังลงพื้นด้วยขาข้างเดียว ซึ่งเป็นท่าที่ผิดกฎกติกาต้องถูกตัดคะแนน แต่ “โบนาลี” เลือกที่จะเป็นตัวของตัวเอง และแสดงท่วงท่าที่เธอชำนาญและชอบทำมาตลอด

เหนือสิ่งอื่นใดเสมือนหนึ่งว่า “โบนาลี” ได้ตะโกนดังๆ ในฐานะนักกีฬาผิวสีที่รู้สึกว่าที่ผ่านมาเธอไม่ได้รับความยุติธรรม ทั้งยังเป็นการแสดงจุดยืนและประกาศให้โลกรู้ว่า ถึงจะนอกกติกา แต่เธอแสดงให้เห็นว่ากำลังทำในสิ่งที่รัก แม้จะมีบทลงโทษตามมาก็ตาม ท่ามกลางบรรยากาศที่คนดูชอบเอามากๆ ยกเว้นคณะกรรมการตัดสิน

ขณะที่เรื่องราวของ “เซอรียา โบนาลี” ที่ถูกถ่ายทอดไว้ในซีรีส์สารคดีชุด Loser ของเน็ตฟลิกซ์นั้น ได้สะท้อนให้เห็นว่าเส้นทางการต่อสู้และชีวิตนักกีฬาของเธอได้กลายเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้นักกีฬาผิวดำรุ่นหลังอีกด้วย เช่นเดียวกับเรื่องราวและแคมเปญ “Real Size Beauty” ของ “แอนชิลี” ที่มีแง่มุมที่คล้ายกับ “โบนาลี” ตรงที่ทั้งคู่ยืนหยัดที่จะเป็นตัวของตัวเอง โดยไม่หวั่นเกรงที่จะแตกต่างจากมาตรฐาน และอุดมคติของวงการ ด้วยความซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่เราต้องการ และซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่เราเชื่อ

(ภาพประกอบ Youtube Video / Netflix)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image