เล่าเรื่องหนัง : The Devil Judge ผู้พิพากษาปีศาจ

เล่าเรื่องหนัง : The Devil Judge ผู้พิพากษาปีศาจ

The Devil Judge หรือในชื่อภาษาไทย “ผู้พิพากษาปีศาจ” เป็นซีรีส์ดราม่าที่ตั้งใจพูดชี้เป้าไปที่ปัญหาใหญ่ระดับโครงสร้างสังคมที่ส่งผลต่อทั้งระบบในประเทศ นำเสนอให้เห็นความบกพร่องตั้งแต่กระบวนการยุติธรรม การเมือง ระบบราชการ วงวารนายทุนธุรกิจใหญ่ สื่อสารมวลชน ไปจนถึงองค์กรการกุศล เมื่อกลไกที่ว่ามาเหล่านี้ต่างขับเคลื่อนอยู่บนผลประโยชน์ แน่นอนว่าความเน่าเฟะในสังคมย่อมเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“The Devil Judge” เป็นอีกหนึ่งซีรีส์เกาหลีที่เข้าร่วมขบวนเกาะเทรนด์เนื้อหาที่ขยี้ไปที่ “ความเหลื่อมล้ำ” และ “ความไม่เท่าเทียมในสังคม” ด้วยท่วงทำนองเล่าเรื่องในแบบโลกดิสโทเปีย เสมือนหนึ่งโลกในอุดมคติที่ออกแบบกฎระเบียบเพื่อดีไซน์ระบบกระบวนการยุติธรรมที่ถึงอกถึงใจอารมณ์ผู้คนมาจัดระเบียบสังคมจนดูน่าขนลุก

Advertisement

ระบบและกระบวนการยุติธรรมที่ถูกนำมาเป็น “โมเดล” ในซีรีส์เรื่องนี้ มองด้านหนึ่งก็มีมุมที่สะใจกับการที่ผู้กระทำผิดถูกลงโทษ แต่ด้านหนึ่งก็ชวนตั้งคำถามมากมายถึงระบบนี้เช่นกัน

ชวนให้นึกถึงเรื่องราวจากซีรีส์อเมริกันที่สร้างจากนิยายดัง The Handmaid’s Tale ที่ว่าด้วยกลุ่มปัญญาชนอนุรักษ์ฝักใฝ่ในค่านิยมอันเคร่งครัดตัดสินใจปฏิวัติประเทศตัวเองให้ใช้ระบบลัทธิกึ่งศาสนาเข้ามากำกับปกครองประเทศ ผลคือความเชื่อในความดีแบบสุดโต่ง ยึดในค่านิยมจารีตสุดขั้ว ทำให้ประเทศที่เคยเป็นเสรีประชาธิปไตยกลายสภาพเป็นประเทศที่ปกครองโดยใช้กฎหมายแบบหลักศาสนาที่มีความฟาสซิสม์เข้มข้นและสร้างประโยชน์ทางการเมืองให้กลุ่มผู้มีอำนาจไม่กี่คนอยู่ดี

เช่นเดียวกับบางมุมของซีรีส์ “The Devil Judge” ที่พยายามจะทำให้เห็นเหรียญสองด้านของความพยายามจัดระเบียบแก้ไขความเหลวแหลกของระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคมที่มีการคอร์รัปชั่น ฉ้อฉล อยู่แต่บนผลประโยชน์กลุ่มพวกพ้องมากกว่าประโยชน์ต่อประชาชน โดยใช้ระบบกระบวนการยุติธรรมแบบเข้มข้นเข้ามาตัดสินคดีความ ด้วยวิธีการวัดความรู้สึกและอารมณ์ของมหาชน โดยดีไซน์ระบบให้ประชาชนทั้งประเทศมีสิทธิร่วมเป็นคณะลูกขุนร่วมโหวตในคดีได้ โดยมีหัวหน้าผู้พิพากษาทำหน้าที่สรุปบทลงโทษปิดท้าย

Advertisement

พล็อตของซีรีส์เกาหลีความยาว 16 ตอนเรื่องนี้ ปล่อยตัวอย่างออกมาเรียกความสนใจอย่างมาก “The Devil Judge” เล่าเรื่องของสังคมที่ไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ตั้งคำถามอย่างรังเกียจต่อทุกระบบในสังคม จนนำมาสู่การสร้างบรรยากาศที่หวังจะทำให้ประชาชนกลับมาไว้ใจและเชื่อมั่น

ด้วยการนำคดีที่สังคมสนใจมาตัดสินแบบถ่ายทอดสดให้ประชาชนทั้งประเทศดูในรูปแบบ “รายการเรียลิตี้” เปิดให้ประชาชนทั้งประเทศมีส่วนร่วมโหวตความเห็นว่า ผู้ต้องหา หรือผู้ต้องสงสัยแต่ละคนที่ถูกนำตัวขึ้นมาพิจารณาคดีบนศาลเรียลิตี้นี้ มีความผิดหรือไม่มีความผิด และหากมีความผิดพวกเขาสมควรถูกลงโทษให้สาสมอย่างไร ด้วยวิธีการให้ประชาชนร่วมโหวตผ่านแอพพลิเคชั่นของรายการเรียลิตี้

ซีรีส์พาเราไปรู้จักตัวละครหลักอย่าง “คังโยฮัน” หัวหน้าผู้พิพากษาดาวรุ่งขวัญใจมหาชน ที่ถูกสร้างภาพและวางตัวเองในรูปแบบ “ดาร์กฮีโร่” ของรายการเรียลิตี้ศาลนี้ ซึ่งเขาต้องทำงานร่วมกับผู้พิพาษาสมทบ “คิมกาอน” ผู้พิพากษารุ่นใหม่ไฟแรงที่มองคุณค่าและระบบกระบวนการยุติธรรมที่ต่างออกไป และสงสัยถึงเจตนาและตัวตนที่แท้จริงของ “คังโยฮัน” ว่าเนื้อแท้แล้วเขาคือฮีโร่ผู้ใช้กฎหมายทวงคืนความยุติธรรมจริงหรือ หรือนี่เป็นการจัดฉากเพื่อการล้างแค้น ล้างระบบที่มีเบื้องหลังอย่างมากมาย ซึ่งตัวละครหลักผู้พิพากษาทั้งคู่ที่มีมุมมองเป็นเส้นคู่ขนานกันนี่เอง ทำให้เรื่องราวถูกเล่าแบบตั้งคำถามกับคนดูแบบเหรียญสองด้านไปเรื่อยๆ ว่าเราเชื่อมั่นและมองความยุติธรรมในฟากฝั่งไหนกันแน่

สิ่งหนึ่งที่ซีรีส์ตั้งคำถามว่าเมื่อถึงจุดที่สังคมเน่าเฟะ กระบวนการยุติธรรมแบบปกติไม่สามารถเข้ามาแก้ไขระบบนี้ได้ แล้วถ้ามีผู้พิพากษาแบบ “คังโยฮัน” มันจะเป็นคำตอบต่อสถานการณ์เช่นนี้ได้หรือไม่ หรือมันจะยิ่งเลวร้ายต่อระบบเข้าไปอีก ระบบกระบวนการยุติธรรมที่ถูกดีไซน์ผ่านรายการเรียลิตี้นี้คือปีศาจหรือระบบที่มาทวงความยุติธรรมกันแน่

โดยซีรีส์ขยี้ไปที่คดีที่มักจะอ่อนไหวต่อความรู้สึกของผู้คนในสังคม และมักจะมีอารมณ์ร่วมได้อย่างมาก เช่น คดีประเภทคนรวยรังแกคนจน คดีผู้มีอำนาจและอิทธิพลใช้อำนาจกดขี่คนที่ไม่มีทางสู้หรืออยู่ในสถานะต่ำต้อยกว่า ซึ่งคดีที่มีมุมมองความเหลื่อมล้ำความไม่เท่าเทียมนี่เอง ถูกนำมาใช้เป็นคดีวัตถุดิบในรายการเรียลิตี้ศาลแห่งนี้ ที่ส่งผลให้เรตติ้งรายการพุ่งกระฉูด โดยที่ไม่มีการตั้งคำถามกับความล่อแหลมและอ่อนไหวนี้เลย

รายการเรียลิตี้พิพากษาของศาลในซีรีส์เรื่องนี้จึงไม่แตกต่างจากทุกวันนี้ที่เราเห็นข่าวบนจอโทรทัศน์ที่สื่อต่างเข้าไปถาโถมช่วงชิงเกาะติดรายงานคดีใหญ่ๆ ที่สังคมสนใจเพื่อชิงเรตติ้งการรับชม

อีกแก่นหลักหนึ่งที่ “The Devil Judge” ยกคำถามขึ้นมาคือ ในคดีอ่อนไหวที่ผู้กระทำผิดเป็นคนที่มีอภิสิทธิ์ มีฐานะทางสังคม ร่ำรวย มีหน้ามีตา มักจะลงเอยที่ประชาชนสนับสนุนให้ผู้กระทำผิดได้รับบทลงโทษอย่างแสนสาหัส

แต่ในอีกด้าน ซีรีส์ก็ตั้งคำถามว่าความผิดเหล่านี้ควรมีโทษในบริบทของกฎหมายที่เหมาะสมหรือไม่ หรือสมควรแล้วที่ผู้กระทำผิดจะต้องถูกรับโทษอย่างรุนแรงเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง ไม่ทำให้เกิดการกระทำผิดซ้ำ หรือการเสนอมุมมองที่ว่าตัดสินโทษหนักหน่วงก็เพื่อชดเชยความรู้สึกของผู้เสียหาย ไปจนถึงการตอบสนองความรู้สึกโกรธแค้นของประชาชนหรือไม่

สิ่งเหล่านี้ถูกใส่เข้าไปในบรรยากาศของซีรีส์เรื่องนี้ ซึ่งตั้งคำถามถึงแง่มุมสิทธิมนุษยชนทั้งของผู้ถูกกระทำ และผู้กระทำผิด

ด้วยความที่ซีรีส์เรื่องนี้เขียนบทโดยอดีตผู้พิพากษาตัวจริงทำให้การตั้งคำถามต่อปัญหาสังคมนั้นมีการเล่าเรื่องได้น่าสนใจ แม้จะว่ากันตามจริงว่า ขั้นตอนกระบวนการพิจารณาคดี การซักค้าน สืบพยานต่างๆ ดูจะหลุดไปจากโลกจริง จนกระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาลเรียลิตี้ดูเป็นเรื่องราวรวบรัดขาดความสมจริง แต่ภาพรวมของซีรีส์โดยเฉพาะการแฉมุมความฟอนเฟะของโครงสร้างใหญ่ในประเทศทั้งระบบการเมือง ข้าราชการ ทุน ธุรกิจ สื่อสารมวลชน องค์กรการกุศล ทำออกมาได้โฉ่งฉ่างเจ็บแสบดี

ภาพรวม “The Devil Judge” จัดเป็นซีรีส์ที่ดูสนุก น่าติดตาม มีเรื่องราวพลิกไปมา มีคำถามชวนคิดใคร่ครวญว่าที่สุดเรามีความหวังและความต้องการที่จะอยู่ในสังคมที่มีกระบวนการยุติธรรมแบบไหนกันแน่

ติสตู
(ภาพประกอบ Youtube Video / Viu thailand)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image