หลงฟ้า! เครื่องบินรบในสงครามโรคระบาด

หลงฟ้า!
เครื่องบินรบในสงครามโรคระบาด
โดย สุรชาติ บำรุงสุข

สังคมไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาตั้งแต่ปี 2563 ต่อเนื่องเข้าปี 2564 และปี 2565 อย่างน่ากังวล จนเสมือนกับเรากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ “สงครามโรคระบาด” ที่ยังมองไม่เหมือนจุดสิ้นสุด ซึ่งการเข้าสู่สงครามในปีที่สามนั้น ประเทศย่อมบอบช้ำจากปัจจัยเชิงลบต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในมิติของชีวิตประชาชนโดยรวม ที่ถูกกระทบอย่างมากทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ จนอาจต้องยอมรับว่า สงครามโรคระบาดครั้งนี้เป็นวิกฤตใหญ่ที่สุดที่ไทยเคยเผชิญ หรือที่นักวิชาการในยุโรปกล่าวเปรียบเทียบว่า ไม่มีภัยคุกคามอะไรใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 เท่ากับการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน

สงครามโรคระบาดในปี 2565 ยังคงมีแนวโน้มที่ขยายตัวมากขึ้น และเกิดการกระจายอย่างรวดเร็วจากการกลายพันธ์ุที่เป็นเชื้อ “โอไมครอน” ดังที่ปรากฏให้เห็นชัดจากการระบาดที่เกิดขึ้นในสังคมตะวันตก จนการแพร่ระบาดของเชื้อโอไมครอนเป็น “โจทย์หลัก” ที่สำคัญของโลกปัจจุบัน ซึ่งไทยเองก็ไม่ต่างจากหลายประเทศในเวทีโลก ที่ยังต้องรับมือกับการระบาดไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา และเป็นดังการก้าวสู่ปีที่สามของสงครามชุดนี้

อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลางการระบาดของโอไมครอนนั้น สังคมไทยยังเผชิญกับ “โจทย์ใหม่” คือ โรคระบาดในสุกร ที่นำไปสู่การเสียชีวิตของหมูเป็นจำนวนมาก อันนำไปสู่การขาดแคลนเนื้อหมู จนทำให้ราคาหมูที่เป็นอาหารพื้นฐานของคนในสังคมไทย ราคาขยับตัวสูงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และในขณะเดียวกันก็พาราคาสินค้าอื่นๆ เช่น ราคาเนื้อไก่ และราคาไข่ไก่ แพงตามไปด้วย ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อชีวิตของผู้คน อันทำให้ชีวิตของหลายครอบครัวในสังคมตกอยู่ในวิกฤตขนาดใหญ่อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ปัญหาเช่นนี้จึงเป็นเหมือนภาวะ “สงครามซ้ำซ้อน” คือ ประเทศเผชิญกับ “สงครามโรคระบาด” และผู้คนในสังคมเผชิญกับ “สงครามชีวิต” ที่มีผลกระทบต่อชีวิตของคนในสังคมอย่างรุนแรง รวมทั้งการต้องแบกรับปัญหาค่าครองชีพในปัจจุบัน… ประเทศบอบช้ำจากสงครามโรคระบาดเช่นใด คนในสังคมก็บอบช้ำจากสงครามชีวิตเช่นนั้น จนอาจเปรียบเทียบได้ว่า เป็นดัง “ยุคข้าวยากหมากแพง” อย่างแท้จริง

Advertisement

ในสภาวะเช่นนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาสนใจเรื่อง “รัฐสวัสดิการ” ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของภาครัฐที่จะต้องดูแลชีวิตของประชาชนในยามวิกฤต และการทำหน้าที่เช่นนี้จะสะท้อนให้เห็นได้จากการใช้งบประมาณของตัวรัฐบาล เพราะการจัดสรรงบประมาณจะเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงทิศทางและการจัดลำดับความสำคัญของรัฐบาลในการแก้ปัญหาของประเทศ โดยเฉพาะการจัดสรรงบเพื่อพยุงชีวิตของผู้คนในยามยาก

ฉะนั้น ในสงครามโรคระบาดและในสงครามชีวิต ที่ส่งผลกระทบในหลายๆ ด้านต่อชีวิตของผู้คน จึงทำให้เกิดเสียงคัดค้านรัฐบาลในการใช้งบประมาณด้านการทหาร เพราะหลายฝ่ายในสถานการณ์เช่นนี้มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า รัฐบาลไทยควรจะใช้งบประมาณในการแก้ปัญหาโรคระบาด และดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน มากกว่าจะนำไปใช้ในการซื้ออาวุธ อีกทั้งมองไม่เห็นว่า ยุทโธปกรณ์ที่กองทัพต้องการสำหรับ “สงครามทางทหาร” นั้น จะมีความจำเป็นต่อการแก้ไขปัญหา “สงครามชีวิต” ที่วันนี้มี “สงครามโรคระบาด” เป็นแรงขับเคลื่อนได้อย่างไร

รัฐบาลและผู้นำทหารคงต้องยอมรับว่า ทัศนะของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกับฝ่ายทหาร คนอยากเห็นรัฐบาลแก้ปัญหาสงครามโรคระบาด และสงครามชีวิตที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่อย่างแสนสาหัส แต่คำตอบที่ได้ในอีกด้านหนึ่งคือ กองทัพอากาศเตรียมจัดทำงบประมาณเพื่อขอซื้อเครื่องบินรบฝูงใหม่ และข่าวนี้เริ่มปรากฎจากการนำเสนอของสื่อในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวว่า เครื่องบินขับไล่ เอฟ-35 เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด แม้ต่อมา กองทัพอากาศจะไม่ยอมรับตรงๆ ว่า จะจัดซื้อเครื่องบินรบแบบใด

ข่าวรับปีใหม่ 2565 จากกองทัพอากาศ ไม่ใช่เรื่องที่น่าอภิรมย์ใจในยามที่สังคมกำลังเผชิญกับวิกฤตต่างๆ อย่างรอบด้าน และยังมองไม่เห็นว่า สังคมไทยจะฟื้นตัวได้จริงจากวิกฤตที่รุมเร้าเหล่านี้ได้อย่างไร แต่กองทัพอากาศก็นำเสนอ “ของขวัญปีใหม่” ให้สังคมไทยได้อย่างไม่คาดคิด จนเสมือนกองทัพอากาศไม่ตระหนักถึงบทเรียนจากแรงต้านและเสียงคัดค้านที่เกิดขึ้นกับการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ จนในที่สุดผู้บัญชาการทหารเรือปัจจุบัน ได้ตัดสินใจยุติปัญหานี้ ด้วยการไม่เสนอของจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 อีก แต่กองทัพอากาศกลับพลิกความคาดหมายด้วยการประกาศเตรียมจัดซื้อเครื่องบินรบฝูงใหม่ และพยายามจะสร้างแรงจูงใจให้สังคมเห็นพ้องด้วยการเอาราคามาเป็นข้อเสนอ โดยกองทัพอากาศเชื่อว่า จากราคาเครื่องเปล่าแต่เดิมจาก 142 ล้านเหรียญต่อเครื่อง ปัจจุบันลดลงเหลือ 82 ล้านเหรียญ และกองทัพอากาศเสนอว่า ไทยจะสามารถต่อรองได้ในราคาประมาณ 70 ล้านเหรียญต่อเครื่อง พร้อมกันนี้ คณะรัฐมนตรีในวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อเตรียมการจัดซื้อครั้งนี้ เป็นมูลค่าถึง 1 หมื่น 3 พัน 800 ล้านบาท

นอกจากนี้ กองทัพอากาศยังสำทับด้วยการเอาปัจจัยราคามาข่มขู่สังคมอีกด้วยว่า ถ้าไม่ซื้อตอนนี้แล้ว ราคาอาจจะขยับขึ้นในอนาคต ผู้นำทหารอากาศอาจจะต้องคิดด้วยวิจารณญาณว่า การจัดซื้ออาวุธหลักที่มีมูลค่าสูงเช่นเครื่องบินรบนั้น ไม่ใช่รายการซื้อของในเว็ป ที่ต้องมีเวลาซื้อ… ถ้าไม่ซื้อเวลานี้ สินค้าจะขึ้นราคา เพราะรัฐบาลไทยคงไม่ซื้อเครื่องเอฟ-35 ของบริษัทล็อคฮีท มาร์ติน ผ่านเว็บแบบ Shopee หรือ Lazada ที่ผู้ซื้อมักถูกบีบให้ตัดสินใจซื้อด้วยเงื่อนไขเวลาลดราคาสินค้า

อีกทั้ง ในทำเนียบกำลังรบที่ปรากฏในรายงานระหว่างประเทศ กองทัพอากาศไทยมีเครื่องบินขับไล่แบบเอฟ-16 ทั้งแบบเอ (38) และบี (15) รวม 53 เครื่อง มีเครื่องขับไล่โจมตีแบบกริพเพน ทั้งแบบซี (7) และดี (4) รวม 11 เครื่อง และเครื่องบินโจมตีแบบอัลฟาเจ็ต รวม 16 เครื่อง ซึ่งกำลังรบเช่นนี้ไม่ใช่กองทัพอากาศขนาดเล็กในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ผู้นำทหารคงต้องตอบในอีกด้านว่า ภัยคุกคามทางทหารที่ไทยเผชิญในขณะนี้คืออะไร และมีความจำเป็นเพียงใดต้องจัดหาเครื่องบินรบฝูงใหม่ในขณะนี้ เพราะเครื่องบินรบที่ไม่รองรับต่อความต้องการทางยุทธศาสตร์ของประเทศนั้น เป็นได้เพียงเครื่องบินที่ “หลงฟ้า”

ถ้าผู้นำทหารไทยยังครองสติสัมปชัญญะได้บ้าง อยากขอให้ช่วยตระหนักถึงวิกฤต 2 ชุดที่เป็นภัยคุกคามที่แท้จริง คือ สงครามโรคระบาดและสงครามชีวิตที่คนในสังคมไทยส่วนใหญ่กำลังเผชิญเป็นมหันตภัยใหญ่ อีกทั้ง ผู้นำกองทัพควรต้องตระหนักว่า งบประมาณทหารไม่ใช่ “เงินส่วนตัว” ของผู้บัญชาการเหล่าทัพคนไหน แต่เป็นเงินที่มาจากภาษีของประชาชน และประชาชนอยากเห็นรัฐบาลใช้งบที่ตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาที่เป็นวิกฤตของประเทศ โดยเฉพาะในยามนี้ คงต้องยอมรับความจริงว่า คนในสังคมมองต่างมุมกับผู้นำทหารอย่างมาก “สงครามทางทหาร” ที่ฝ่ายกองทัพพยายามเสนอขาย เพื่อให้คนสนับสนุนการซื้ออาวุธที่มีมูลค่าสูงนั้น ไม่ใช่วาทกรรมที่คนส่วนใหญ่จะตอบรับด้วยในยามนี้… กองทัพเรือเป็นตัวตลกให้ทหารต้องถูกล้อเลียนเรื่องเรือดำน้ำในทางการเมืองมาแล้วอย่างสนุกสนาน วันนี้เป็นคิวที่กองทัพอากาศจะได้เป็นตัวตลกบ้าง และบางที ทอ. จะได้เป็น “ทหารอากาศขาดรัก (จากประชาชน)” จริงๆ ไม่ใช่ทหารอากาศขาดรักในเพลงลูกทุ่ง!

แต่ถ้าวันนี้ ผู้บัญชาการทหารอากาศและเสือทั้งหลายใน ทอ. จะควักเอา “สตางค์ส่วนตัว” ซื้อเครื่องบินรบฝูงใหม่ เพราะอยากได้จนอดใจไม่ไหวแล้ว ผมยินดีสนับสนุน และพร้อมจะช่วยเขียนเชียร์เต็มที่… อยากเห็นเหมือนเมื่อครั้งนาวาอากาศเอกเลื่อน พงษ์โสภณ ออกสตางค์เองเพื่อซื้อเครื่องบิน “นางสาวสยาม” บินจากสหรัฐฯ กลับสู่ประเทศไทยในปี 2475 ซึ่งถ้าผู้นำในกองทัพอากาศจะออกเงินเองเช่นนี้บ้าง คงเป็นเรื่องน่าดีใจไม่น้อย!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image