ลลิตา หาญวงษ์ : เมื่อบริษัทต่างชาติตบเท้าออกจากพม่า ใครได้และใครเสีย

เมื่อบริษัทต่างชาติตบเท้าออกจากพม่า ใครได้และใครเสีย : โดย ลลิตา หาญวงษ์
แหล่งก๊าซยาดานา (ภาพจาก TotalEnergies)

โททาลเอเนอร์จีส์ (TotalEnergies) และ เชฟรอน (Chevron) เป็นบริษัทต่างชาติยักษ์ใหญ่ 2 บริษัทที่เพิ่งตัดสินใจเลิกกิจการในพม่าโททาล บริษัทพลังขนาดใหญ่สัญชาติฝรั่งเศส เพิ่งจะออกมาแถลงสนับสนุนมาตรการคว่ำบาตรบริษัทน้ำมันและก๊าซของพม่า (MOGE) ซึ่งเป็นบริษัทของกองทัพ ในแถลงการณ์ฉบับเดียวกัน โททาลยืนยันว่าจะยังดำเนินธุรกิจต่อไปในพม่า แต่ต่อมาก็กลับลำและประกาศว่าจะยกเลิกกิจการทั้งหมดในพม่า โดยให้เหตุผลว่า “สถานการณ์ด้านหลักแห่งกฎหมายและสิทธิมนุษยชนในพม่าแย่ลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา”

ก๊าซธรรมชาติเป็นทรัพยากรที่สำคัญของพม่า มีบริษัทหลายแห่งที่เข้าไปลงทุนในแหล่งก๊าซธรรมชาติชื่อ ยาดานา (Yadana) นอกชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยโททาลถือสัมปทานมากที่สุดร้อยละ 31 และเชฟรอนอีกร้อยละ 28 โททาลร่วมมือกับ MOGE พัฒนาแหล่งก๊าซยาดานามาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ในยุคที่สลอร์ก (SLORC) ยังปกครองพม่าอยู่ เมื่อเกิดรัฐประหารครั้งล่าสุดขึ้นในต้นปี 2021 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนพยายามกดดันให้บริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ทั้งหมดถอนตัวจากพม่า ด้วยปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน
อย่างรุนแรง และการที่กองทัพพม่าปราบปรามประชาชนที่ต่อต้านรัฐประหาร จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วนับพันคน

ก่อนโททาลจะตัดสินใจออกจากพม่า ก็เคยติดต่อไปทางรัฐบาลฝรั่งเศสให้ช่วยจัดการกับการเคลื่อนไหวของเงินจากบริษัทที่รัฐบาลฝรั่งเศสและสหภาพยุโรปต้องการคว่ำบาตร แทนที่จะกดดันให้โททาลถอนกำลังการผลิตทั้งหมดออกจากพม่า และโททาลได้ประกาศเลิกจ่ายเงินให้กับบริษัท Moattama Gas Transportation Company Limited (MGTC) อีกหนึ่งบริษัทของกองทัพพม่าไปแล้วตั้งแต่ปีก่อน

การลงทุนด้านพลังงานในพม่าเป็นธุรกิจที่ใช้เม็ดเงินการลงทุนสูง บวกภาษีกับ “ค่าต๋ง” ที่บริษัทพลังงานต้องส่งให้ทั้งกองทัพและบริษัทของกองทัพในแต่ละปี ในปี 2019 และ 2020 โททาลจ่ายเงิน 230 ล้าน และ 176 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ ให้ทางการพม่าเพื่อแลกกับค่ารักษาสัมปทาน

Advertisement

การตัดสินใจของโททาลและเชฟรอนเป็นชัยชนะก้าวแรกที่สำคัญสำหรับองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในและนอกพม่า ที่ออกมาเรียกร้องให้ทุกบริษัททั่วโลกเลิกทำธุรกิจกับกองทัพพม่า และ MOGE ที่มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับกองทัพและคณะรัฐประหาร

จากสถิติของ Human Rights Watch แหล่งก๊าซธรรมชาติสร้างรายได้ให้พม่าถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละปี คิดเป็นร้อยละ 50 ของเงินตราต่างประเทศทั้งหมดที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจพม่า โดยเฉพาะแหล่งยาดานาที่เป็นทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุดของกองทัพ และของคณะรัฐประหาร

ทำไมการถอนตัวของบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ทั้ง 2 บริษัทจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ใช่เฉพาะพม่าเท่านั้น แต่สำหรับไทยด้วย…

Advertisement

ทั้งโททาลและเชฟรอนต่างถูกกดดันจากรัฐบาลสหรัฐและสหภาพยุโรปเพื่อตอบโต้คณะรัฐประหาร เมื่อทั้งโททาลและเชฟรอนกำลังจะเลิกสัญญาสัมปทานกับคณะรัฐประหารแบบพับผ้าพับผ่อนกลับประเทศ เป็นสัญญาณที่บอกว่า MOGE น่าจะเข้าไปอยู่ในรายชื่อคว่ำบาตรรอบใหม่ของสหภาพยุโรป ที่จะออกมาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันเดียวกับวันครบรอบ 1 ปีรัฐประหารในพม่าพอดิบพอดี

ก่อนโททาลและเชฟรอนจะเคลื่อนไหวรอบล่าสุด ทั้งสองบริษัทเคยกล่าวมาก่อนหน้านี้ว่าไม่สามารถออกจากพม่าได้ในทันที เพราะยังคำนึงถึงสวัสดิภาพของพนักงานจำนวนมากทั้งในพม่าและในไทย และการยกเลิกธุรกิจทั้งหมดในพม่าจะมีผลกระทบกับการส่งออกก๊าซธรรมชาติจากพม่าอย่างแน่นอน และประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือไทย

ในปัจจุบัน ไทยนำเข้าก๊าซธรรมชาติจาก 3 แหล่งในพม่า มีปริมาณราว 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยยาดานามีโททาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในขณะที่แหล่งเยตากุน (Yetagun) มีบริษัท PCML ในเครือ Petronas จากมาเลเซียเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และมี ปตท.สผ.กับ Nippon Oil Exploration (Myanmar) Limited เป็นผู้ถือหุ้นลำดับรองลงมา และแหล่งสุดท้ายคือ แหล่งซอติก้า (Zawtika) ที่ ปตท.สผ.ถือหุ้นในสัดส่วนมากถึงร้อยละ 80 การประกาศเลิกกิจการในพม่าของโททาล และเชฟรอนอาจไม่มีผลกระทบกับบริษัทมากนักในปี 2021 รายได้ของโททาลในพม่ามีมูลค่า 105 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเพียงร้อยละ 1 ของรายได้รวมบริษัท แต่จะมีผลกระทบอย่างมากในส่วนของก๊าซธรรมชาติที่ทั้งสองบริษัทส่งออกมาไทย

มาตรการคว่ำบาตรของรัฐบาลสหรัฐและสหภาพยุโรป อาจเป็นผลเสียกับธุรกิจด้านพลังงานในพม่าในช่วงสั้นๆ เพราะหลังจากนี้ก็จะมีบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ที่ต้องการเข้าไปซื้อกิจการของโททาลและเชฟรอนในพม่าต่อ และ ปตท.สผ.ก็เป็นม้าตัวเต็งที่จะได้รับสัมปทานที่แหล่งยาดานาเพิ่มเติม และยังมีอีกหลายบริษัทที่จะได้ประโยชน์จากแหล่งยาดานา ได้แก่ POSCO International, Petronas, ONGC, GAIL, KOGAS, ENEOS and Mitsubishi

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้นำคณะรัฐประหารไม่ได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับกรณีของโททาลและเชฟรอนโดยตรง แต่ออกมาเรียกร้องให้มีการลงทุนในไฟฟ้าพลังน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น ระหว่างการไปเยือนโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำที่เยวา (Yeywa) ในมณฑลมัณฑะเลย์ มิน อ่อง ลายเปิดเผยว่า โครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำมยิตเหง่ (Myitnge) จะยังคงมีต่อไป แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าโครงการการสร้างเขื่อนดังกล่าวที่อนุมัติมาตั้งแต่ยุครัฐบาลเต็ง เส่ง และต่อมาถึงรัฐบาล NLD ตกเป็นของบริษัทจากยุโรป 2 บริษัท ได้แก่ Andritz จากออสเตรีย และ SN Power จากนอร์เวย์ โอกาสที่ทั้งสองบริษัทจะถูกรัฐบาลในประเทศตนเองกดดันให้ถอนตัวออกจากพม่าก็ย่อมมีสูง มิน อ่อง ลายยังกล่าวถึงการสร้างเขื่อนในยุครัฐบาล “ที่เป็นประชาธิปไตย” ซึ่งสะท้อนทัศนคติของเขาที่มองว่าระบอบประชาธิปไตยอาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติ

มิน อ่อง ลายมองว่า ในยุครัฐบาล NLD มีความพยายามพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ แต่ต้องพบกับฝ่ายต่อต้าน โดยเฉพาะองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ที่คัดค้านไม่ให้สร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้า เขามองว่านี่คือ “ความเสียหายสำหรับรัฐ” เพราะไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นสูงสุดสำหรับการพัฒนา

แม้เม็ดเงินที่กองทัพและคณะรัฐประหารได้จากทั้งโททาลและเชฟรอนจะดูเป็นปริมาณที่มาก และอาจมีผู้เกรงว่ากองทัพพม่าจะสูญเสียรายได้ แต่เราต้องเข้าใจด้วยว่ากองทัพพม่ากระจายความเสี่ยงและมีธุรกิจอีกหลายประเภท นอกจากนี้ ยังมีบริษัทจากหลายประเทศ เช่น ไทย ญี่ปุ่น เกาหลี หรือจีน ที่จ้องจะเข้าไปหาประโยชน์ที่แหล่งยาดานา ซึ่งบริษัทเหล่านี้ให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านพลังงาน และผลประโยชน์ของบริษัทมากกว่า อีกทั้งรัฐบาลประเทศที่กล่าวมายังไม่มีนโยบายคว่ำบาตรคณะรัฐประหารพม่า MOGE และบริษัทของกองทัพอีกด้วย ดังนั้น จุดจบของโททาลและเชฟรอนในพม่าจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วงสำหรับมิน อ่อง ลายและกองทัพพม่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image