เล่าเรื่องหนัง : จากกัญชาไม่ใช่ยาเสพติดในสหรัฐ มาสู่ประเทศไทย

เล่าเรื่องหนัง : จากกัญชาไม่ใช่ยาเสพติดในสหรัฐ มาสู่ประเทศไทย

จากกัญชาไม่ใช่ยาเสพติดในสหรัฐ

มาสู่ประเทศไทย

สัปดาห์ที่ผ่านมาประเด็น “กัญชา” กลับมาอยู่ในกระแสและถูกจับตาจากสังคมอีกครั้ง จนได้ข้อสรุปว่า กัญชาไม่เป็นยาเสพติด และจะมีการถอนกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งเป็นผลการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดที่เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ให้กัญชา กัญชง พ้นจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 อย่างไรก็ตาม มีเงื่อนไขกำกับไว้ว่า ในกรณีที่มีสารสกัด THC เกิน 0.2% ยังคงถือเป็นยาเสพติด โดยหลังจากนี้พรรคการเมืองที่ผลักดันประเด็นนี้เตรียมเสนอร่างกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณาต่อไป สาระสำคัญก็คือการควบคุมการใช้กัญชา กัญชง โดยราก ต้น ใบ ดอก ให้มีสาร THC น้อยกว่า 0.2% จะไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย และหากจะปลูกเพื่อใช้ในครัวเรือนต้องจดแจ้ง หากจะสกัด แปรรูปต้องขออนุญาต รวมถึงยังมีรายละเอียดที่จะระบุถึงการใช้ในครัวเรือนต้องทำอย่างไรจึงไม่ผิด

Advertisement

แม้บ้านเราจะย้ำว่าเจตนาของการไฟเขียวเรื่องนี้ก็เพื่อการแพทย์ นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่เรื่องนันทนาการเป็นหลัก อย่างไรก็ตามประเด็นกัญชายังคงเป็นเรื่องที่ถูกมองได้หลายแง่มุม และเป็นประเด็นละเอียดอ่อน อ่อนไหวในหลายประเทศ

สัปดาห์นี้ขอแนะนำภาพยนตร์สารคดีที่จะทำให้เราเข้าใจเรื่องของกัญชาในบางแง่มุมบางมิติได้ดียิ่งขึ้น “Grass is Greener” เป็นหนังสารคดีเรื่องกัญชาที่ตั้งประเด็นได้น่าคิด แม้เรื่องราวนี้จะเป็นบริบทของกัญชาในสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจจะล้ำหน้ากว่าเรื่องกัญชาในประเทศไทยไปแล้ว แต่เนื้อหาของสารคดีก็ควรค่าแกการรับชมไว้เพื่อเรียนรู้ได้ไม่น้อย

“Grass is Greener” ใช้การมองประวัติศาสตร์ของกัญชาผ่านชาว อเมริกัน-แอฟริกัน ในสหรัฐ ตั้งแต่ยังเป็นตลาดซื้อขายใต้ดิน ก่อนที่โลกจะค่อยๆ ยอมรับกัญชามากขึ้น และถูกจัดประเภทใหม่ทั้งกัญชาเพื่อการแพทย์และกัญชาเพื่อสันทนาการ

ต่อมา โลกของกัญชาในสหรัฐ ย้ายจากตลาดมืดเข้าสู่โลกเศรษฐกิจที่ได้สร้างอุตสาหกรรมเป็นวงจรลงทุนในการต่อยอดแตกแยกย่อยเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ และทำให้เกิดคนที่รวยจากธุรกิจในวงจรกัญชานี้มากขึ้น โดยสารคดีตั้งข้อสังเกตว่า แม้รากฐานของตลาดซื้อขายกัญชาในสหรัฐจะถือกำเนิดมาจากคนผิวดำ แต่วันนี้ในทางธุรกิจตลาดของธุรกิจนี้ตกอยู่ในมือกลุ่มคนผิวขาวเสียมากกว่า

สารคดีกัญชาที่พูดเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านชาติพันธุ์เรื่องนี้ ได้ชวนหาคำตอบที่พูดถึงประเด็นกัญชาในแบบที่ไกลกว่าบ้านเราไปมากแล้ว นั่นคือ การพูดถึงโอกาสการเข้าถึงในฐานะการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจกัญชาเพื่อสันทนาการอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งมีคนจำนวนหนึ่งถูกกีดกันจากการค้าขายนี้ หลายคนถูกมองว่าเป็นคนเมากัญชา มากกว่าจะมีสถานะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจกัญชาถูกกฎหมาย

ช่วงต้นของหนังสารคดี ได้พยายามขุดหาสาแหรกของผู้นิยมและสนับสนุนการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการในสหรัฐอเมริกา ที่ล้วนเกิดจากคนผิวดำ โดยเฉพาะจากกลุ่มนักดนตรีแจ๊ซในยุคทศวรรษที่ 20 ซึ่งมีนักดนตรีแจ๊ซระดับต้นๆ อย่าง “หลุยส์ อาร์มสตรอง” ที่ไม่เคยปิดบังการใช้กัญชาของเขา และยังถูกชูขึ้นมาในฐานะไอคอนคนผิวดำผู้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการจนแพร่มาถึงกลุ่มศิลปินฮิพฮอพ กลุ่มเม็กซิกัน-อเมริกัน กระทั่งมาสู่ยุคที่รัฐบาลอเมริกันประกาศสงครามปราบปรามยาเสพติด หนึ่งในนั้นคือกฎหมายห้ามเสพกัญชา กระทั่งเวลาผ่านมาหลายทศวรรษมาจนถึงวันที่หลายรัฐในสหรัฐอเมริกาไฟเขียวเรื่องกัญชาทางการแพทย์ และอนุญาตในกรณีสันทนาการในบางรัฐ

ความล้ำของสารคดีเรื่องนี้คือ ในขณะที่บ้านเรากำลังพูดถึงการผลักดันประเด็นกัญชาทางการแพทย์ และยังต้องรีๆ รอๆ สำหรับแนวคิดกัญชาเพื่อสันทนาการ แต่หนังสารคดีเรื่องนี้ได้ขยับไปแตะถึง “กัญชาทางพาณิชย์” ที่บริบทของเรื่องไปไกลถึงขนาดที่ว่า ธุรกิจกัญชาในสหรัฐอเมริกากำลังเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนบางกลุ่มเท่านั้น และกีดกันคนผิวดำ-ผิวสีในการจะเข้ามาเป็นผู้ประกอบการธุรกิจนี้หรือไม่?

วันนี้ เมื่อเรื่องของกัญชาได้กลายเป็นหนึ่งในประเด็นของโลก หลายประเทศกำลังอนุญาตให้ กัญชาเปลี่ยนสถานะจากยาเสพติด นั่นทำให้โลกใหม่ของกัญชาในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนไปมากขึ้นทุกขณะ

 

 

เมื่อขยับมามองใกล้ตัวบ้านเรา มีซีรีส์สารคดีเกี่ยวกับกัญชาอีกเรื่องที่น่าสนใจ คือ “Highland : Thailand’s Marijuana Awakening” ที่นำเสนอให้เห็นมุมมองประวัติศาสตร์กัญชาในไทย โดยชื่อสารคดีที่ว่า Highland มีทั้งนัยยะแสดงความหมายในเชิงพื้นที่ อันหมายถึงบริเวณที่ราบสูง ซึ่งเป็นพื้นที่แหล่งปลูกกัญชาของประเทศไทย และลาวตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม และเมื่อล้วงลึกไปในประวัติศาสตร์กัญชาของภูมิภาคอาเซียนนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าไทยคืออดีตดาวเด่นเลยทีเดียว โดยมีจังหวัดนครพนมเป็นศูนย์กลางของการปลูกกัญชา นับตั้งแต่ยุคที่ทหารอเมริกันเข้ามาในไทยมากมายตามจังหวัดภาคอีสาน ไปจนถึงฝั่งลาวในช่วงสู้รบสงครามเวียดนาม

สารคดีพาย้อนไปพูดคุยกับชาวบ้านที่มีชีวิตอยู่ในช่วงยุคทองของกัญชาที่นครพนม โดยชาวไร่ชาวนาบางคนมีประสบการณ์เป็นทั้งผู้ปลูก และพ่อค้าคนกลางขายกัญชาให้กับผู้ซื้อชาวตะวันตก ซึ่งกัญชาจะถูกส่งทางเรือไปยังยุโรปและสหรัฐ ทั้งยังเล่าว่าสมัยนั้นกัญชาขายได้ราคาดีเสียยิ่งกว่าข้าว บางคนที่ปลูกเยอะก็ต้องจ้างคนมานอนเฝ้าไร่ ก่อนที่เวลาต่อมากัญชาจะถูกประกาศว่าผิดกฎหมาย

ในสารคดี “Highland” ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลไทยมีนโยบายด้านยาเสพติดที่คล้ายคลึงกับสหรัฐมาโดยตลอดตั้งแต่อดีต รวมทั้งนโยบายเกี่ยวกับกัญชา ก็มีจังหวะเวลาพัฒนาไล่เลี่ยกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งรวมถึงเมื่อสหรัฐเริ่มอนุญาตให้มีการใช้ กัญชาทางการแพทย์ อย่างถูกกฎหมายในหลายรัฐมากขึ้นนับตั้งแต่ปี 2017 เมื่อมองมาที่ประเทศไทยเองก็ดูจะเปิดกว้างในเรื่องนี้มากขึ้นเช่นกัน คนไทยต่างได้เรียนรู้ข้อมูลทางการแพทย์ของกัญชาจนจุดประเด็นความสนใจให้สังคม และบริบทของมันก็ค่อยๆ ดำเนินมาจนถึงสถานการณ์ขณะนี้ ที่ในประเทศไทยกัญชาไม่ใช่ยาเสพติดอีกต่อไป แต่ในวงเล็บด้วยว่าสารสกัดที่มี THC เกิน 0.2% ยังคงถือเป็นยาเสพติด

ติสตู
(ภาพประกอบ Youtube Video / Netflix)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image