สัญญาณจากกองทัพกับหนทางสู่การปรองดอง? : ลลิตา หาญวงษ์

สัญญาณจากกองทัพกับหนทางสู่การปรองดอง? : ลลิตา หาญวงษ์
Ethnic people attend a ceremony to mark the 75th anniversary of the country's Union Day in Naypyidaw on February 12, 2022. (Photo by STRINGER / AFP)

ในขณะที่ผู้คนทั่วโลกตื่นเต้นกับกลางเดือนกุมภาพันธ์เพราะเป็นช่วงเวลาของ “วันแห่งความรัก” แต่บรรยากาศในพม่าในปีนี้ยังแตกต่างออกไป วันวาเลนไทน์ปีนี้เป็นปีที่ 2 ภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหาร เดือนกุมภาพันธ์ยังมีความสำคัญในประวัติศาสตร์ “ชาติ” ของพม่า เพราะเป็นวันสหภาพ (Union Day) หรือวันที่นายพล ออง ซาน ผู้นำพม่า ลงนามในข้อตกลงปางหลวง (Panglong Agreement) กับผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม ได้แก่ ฉาน กะฉิ่น และฉิ่น ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1947

ข้อตกลงปางหลวงเป็นความพยายามแรกจากพม่าที่ต้องการมอบอิสระบางส่วนให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง 3 กลุ่ม หากเรียกว่าเป็นความพยายามแรกๆ สู่การสร้างสหพันธรัฐ (federalism) ก็คงไม่ผิดนัก แต่หัวใจของปางหลวงหายไปเมื่อนายพล ออง ซาน ถูกลอบสังหารอีกไม่กี่เดือนหลังจากนั้น การเมืองพม่าในยุคหลังเอกราชจึงเป็นการแข่งขันกันระหว่างกองทัพพม่า (ที่ยึดหลักความเป็นใหญ่ของคนพม่าแท้) กับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังยืนยันหลักการของข้อตกลงปางหลวง และยังต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเพื่อปกครองตนเอง หรือเอกราชแบบสมบูรณ์ มาจนถึงปัจจุบัน

การปรองดองและการจับเข่าคุยกับกลุ่มชาติพันธุ์เป็นเหมือนแก่นของข้อตกลงปางหลวง เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการเจรจาสันติภาพ หรือ peace talk เราจะได้ยินผู้นำเจรจานำคำว่า “จิตวิญญาณปางหลวง” ไปใช้เสมอๆ หัวใจตรงนี้ขัดกับปรัชญาของกองทัพพม่าแบบคนละขั้ว ในขณะที่กลุ่มชาติพันธุ์เรียกร้องสิทธิการปกครองตนเอง ชูความหลากหลายทางชาติพันธุ์ภายในสหภาพพม่า แต่กองทัพพม่าภายใต้ผู้นำทุกยุคนับตั้งแต่ปี 1962 กลับมองพม่าเป็นประเทศอันแข็งทื่อ ขาดมิติ ไร้ชีวิตชีวา ที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของคนพม่าแท้ ที่จะปกป้องทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้สหภาพแตกสลาย ไม่ให้กลุ่มชาติพันธุ์แยกตัวออกไปมีอิสระได้ในทุกกรณี

ในความคิดของคนในกองทัพ วันสหภาพคือวันแห่งการแสดงศักยภาพของกองทัพ แสดงว่าตนมีความเข้มแข็งเพียงใด ส่วนหนึ่งเพื่อขู่กลุ่มชาติพันธุ์ และเพื่อส่งสัญญาณออกไปว่ากองทัพจะไม่ประนีประนอมกับใครก็ตามที่จ้องจะ “ทำลายความสมัครสมานสามัคคีภายในสหภาพ” กิจกรรมที่กองทัพพม่าจัดเนื่องในวันสหภาพ คือการสวนสนามอย่างยิ่งใหญ่ของบรรดาเหล่าทัพ และยังมีการอภัยโทษนักโทษรวมทั้งนักโทษการเมืองจำนวนหนึ่งทุกปี

Advertisement

ในปีนี้วันสหภาพมีความพิเศษขึ้นมาเล็กน้อย เพราะมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจจากฝากฝั่งกองทัพและกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่ม เริ่มจากรายชื่อของคนที่ได้รับอภัยโทษ ที่มีฌอน เทอร์เนล (Sean Turnell) นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรเลีย ที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของพรรค NLD และอาจเรียกว่าเป็นนักวิชาการต่างชาติที่ได้รับความไว้วางใจจากด่อ ออง ซาน ซูจี มากที่สุดคนหนึ่ง

นอกจากนี้ กองทัพยังกลับมาพูดถึงการเจรจาหยุดยิงอีกครั้ง ท่ามกลางสงครามกลางเมืองที่ดำเนินอยู่ในเวลานี้ สื่อฝ่ายกองทัพพม่า อย่าง New Light of Myanmar กล่าวถึงบทบาทของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีต่อกระบวนการสร้างสันติภาพในประเทศ และยังเน้นให้เห็นความสำคัญของข้อตกลงหยุดยิงที่รัฐบาลพม่าตั้งแต่ยุคประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เคยลงนามกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม แม้ในยุครัฐบาล NLD พม่าจะบรรลุข้อตกลงหยุดยิงกับกองกำลังหลายกลุ่ม แต่ในปัจจุบันก็มีกองกำลัง 2 กลุ่มที่กลับมาสู้รบกับกองทัพพม่าอีกครั้ง และประกาศตัวว่าอยู่ฝ่ายกองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ PDF ได้แก่ KNU ของกะเหรี่ยง และ Chin National Front ของชาวฉิ่น

ในพิธีสวนสนามเนื่องในวันสหภาพในปีนี้ กองทัพพม่าเชิญตัวแทนกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ 10 กลุ่มเข้าร่วมด้วย กองกำลัง 6 กลุ่มในที่นี้เคยลงนามในข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาล NLD มาก่อน และอีก 4 กลุ่มยังไม่เคยลงนาม กองทัพพม่าส่งสารเชิญไปให้กองกำลัง 11 กลุ่ม รวมทั้ง KNU ด้วย แต่ไม่รวม PDF เข้ามาในการเจรจา เพราะกองทัพพม่าไม่ได้มอง PDF ว่าเป็นกองกำลังเหมือนกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วไป แต่มักอ้างถึง PDF ว่าเป็น “ขบวนการก่อการร้าย”

Advertisement

แน่นอนว่าสำหรับการตัดสินใจไปเข้าร่วมพิธีรำลึกวันสหภาพที่กองทัพพม่าเชิญมาเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับกองกำลังทุกกลุ่ม ในช่วงเวลาที่กองกำลังหลายกลุ่มต้องเลือกว่าจะเข้าข้าง PDF หรือกองทัพพม่า ก็มีกองกำลังบางส่วนที่เลือกปฏิเสธคำเชิญของกองทัพพม่า KNU เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุด นอกจากนี้ยังมีกองกำลังทางภาคเหนือที่รวมกลุ่มกันเป็น “พันธมิตรสามภราดรภาพ” (Three Brotherhood Alliance) อันประกอบไปด้วย AA ของอาระกัน TNLA ของตะอาง และ MNDA ของโกก้าง ที่ก่อนหน้านี้มีมติว่าจะไม่เข้าร่วมพิธีของกองทัพพม่า แต่ในที่สุด AA ก็ส่งตัวแทนไปร่วมงานจนได้ ด้านกองกำลังของว้าแดง หรือ United Wa State Army ก็ส่งตัวแทนไปเช่นกัน แต่ไม่ได้เป็นผู้นำระดับสูงในกองทัพว้าแดง

กองทัพว้าอาจเป็นกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน แต่เมื่อพูดถึงกองกำลังที่หลายฝ่ายให้ความสนใจเป็นพิเศษ ก็ต้องกล่าวถึงกองกำลัง AA หรือกองทัพอาระกัน ภายใต้การนำทุน มรัต นาย (Tun Mrat Naing) นายทหารหนุ่ม ซึ่งในคราวนี้ส่งน้องชายของตนเองเข้าไปเป็นสักขีพยานในพิธีสวนสนามของกองทัพพม่าด้วย เหตุผลหลักที่สื่อในพม่าให้ความสนใจ AA เป็นพิเศษ เพราะ AA เป็นกองกำลังที่เรียกว่าเป็นน้องใหม่ก็จริง แต่ก็รวบรวมสรรพกำลังและมีความเข้มแข็งขึ้นมาอย่างรวดเร็ว หรืออาจกล่าวได้ว่าทั้ง PDF และกองทัพพม่าย่อมอยากให้ AA เข้าร่วมเป็นพันธมิตรของตน แต่ที่ผ่านมาท่าทีของ AA ที่มีต่อรัฐประหารพม่าไม่ได้มีความชัดเจนเหมือนกับกองกำลังกลุ่มอื่นๆ

การตัดสินใจไปร่วมงานที่คณะรัฐประหารพม่าจัดขึ้นเท่ากับว่า AA ต้องการลดความตึงเครียดกับฝ่ายรัฐของพม่า ยังชี้ให้เห็นว่า AA ต้องการเข้าหากองทัพพม่ามากขึ้น และลดระดับความสัมพันธ์กับ “พันธมิตรสามภราดรภาพ” ในพิธีสวนสนามยังมีตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ที่น่าสนใจที่ควรจะกล่าวถึง เช่น สมาชิก KNU บางคน ที่เข้าร่วมพิธีในนามส่วนตัว และพยายามบอกกับผู้นำ KNU ให้เลิกสนับสนุน PDF กล่าวโดยรวม กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมในพิธีสวนสนามเนื่องในวันสหภาพล้วนแล้วแต่ไม่ใช่คู่ต่อสู้สำคัญของกองทัพพม่าในปัจจุบัน

หนึ่งวันหลังวันสหภาพ กองทัพพม่าจัดงานประชุมให้ตัวแทนกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่มาร่วมงานได้เข้าร่วมการประชุมเจรจาสันติภาพ เป็นงานที่ NSPC (National Solidarity and Peace-making Committee) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กองทัพตั้งขึ้นมา เพื่อจัดการเรื่องการสร้างความปรองดองในชาติ แต่เนื่องจากตัวแทนกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้าร่วมงานไม่ได้เป็นแกนนำ “ระดับท็อป” ก็ทำให้การเจรจาดังกล่าวไม่ได้เกิดดอกออกผลอะไรมากมาย แต่เมื่อถามต่อว่ามีโอกาสที่การเจรจาสันติภาพจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ในอนาคต ตอบได้ว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นมีอย่างแน่นอน แต่ก็คงเป็นการลงนามในแบบ “ให้มันจบๆ ไป” เหมือนที่เคยเป็นมา ในปัจจุบัน แม้กองทัพจะอ้างว่ายังยึดข้อตกลงหยุดยิง (ceasefire agreement) อยู่ แต่การโจมตีพื้นที่ของกองกำลังก็ยังเกิดขึ้นเกือบทั่วประเทศ การพูดคุยเรื่องสันติภาพจึงเป็นประเด็นใหญ่ และไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืนอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image