ก่อนจะเริ่มการเลือกตั้ง กทม.ในรอบนี้ : พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ในที่สุดระบอบอำนาจปัจจุบันก็ประกาศวันเลือกตั้งท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยาพร้อมกัน ในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565

นับเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นชุดสุดท้ายของระบบการเลือกตั้งและการปกครองท้องถิ่นนับตั้งแต่การเข้ายึดอำนาจประเทศของคณะ คสช. เมื่อ 2557 ไล่เรียงมาตั้งแต่การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (2563) เทศบาล (2564) และองค์การบริหารส่วนตำบล (2564)

ขณะที่บทความนี้ตีพิมพ์ยังไม่ใช่วันสุดท้ายของการรับสมัครผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร แต่ที่ผ่านมาหลายปี
จนกระทั่งไม่นานมานี้ ก็พอจะเห็นการเปิดตัวของว่าที่ผู้สมัครหลายคนมานานแล้ว

ในประเด็นที่หนึ่ง การเลือกตั้งท้องถิ่นใน กทม.ในรอบนี้ ทำให้คำถามในเรื่องที่ว่าทำไมการเลือกตั้งท้องถิ่น กทม.ไม่เกิดขึ้นสักที ทั้งที่ในช่วงแรกๆ ของการยึดอำนาจของ คสช. มีการคาดเดาต่างๆ นานาว่าการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นอาจจะเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งระดับชาติ และในท้ายที่สุดการเลือกตั้งระดับชาติก็เกิดขึ้นก่อน จากนั้นการเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับต่างๆ ก็ทยอยเกิดขึ้นตามมา

Advertisement

คำถามในช่วงหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 2562 ก็ยังวนมาจุดเดิมว่าการเลือกตั้งท้องถิ่น กทม.จะมีขึ้นเมื่อไหร่ บ้างก็เชื่อว่าจะมีการเลือกตั้ง กทม.ก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นอื่นๆ แต่สุดท้ายก็เลือกตั้งท้องถิ่น กทม.ในลำดับสุดท้ายอยู่ดี

และเมื่อการเลือกตั้งท้องถิ่น กทม.และพัทยา เกิดขึ้น คำถามใหม่ที่เกิดขึ้นก็คือความสัมพันธ์ระหว่างการเลือกตั้งท้องถิ่น กทม.เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งระดับชาติในครั้งหน้า ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และหนึ่งในสามผู้มีอำนาจของระบอบ สาม ป. ให้สัมภาษณ์เอาไว้อย่างไร?

จนถึงวันที่ผมแสดงความเห็นนี้ ยังไม่มีวี่แววที่พรรคพลังประชารัฐเองที่ประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งในปลายปีนี้จะเปิดตัวผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.กับเขา และจนถึงวันนี้

Advertisement

สุดท้ายคำถามที่ยังต้องรอการตอบก็คือ ตกลงการเลือกตั้งท้องถิ่นใน กทม.รอบนี้ย่อมมีความสัมพันธ์กับการเลือกตั้งทั่วไปหรือการเลือกตั้งในระดับชาติอย่างแน่นอน แต่จะเป็นในรูปแบบใด?

ผมเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างการเลือกตั้งท้องถิ่น กทม.กับการเลือกตั้งในระดับชาติในรอบนี้แตกต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างการเลือกตั้งท้องถิ่น กทม.กับการเลือกตั้งทั่วไป/ระดับชาติในรอบอื่นๆ ที่ผ่านมาในอดีตอยู่สักหน่อย เพราะมันเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่น กทม.ที่เกิดขึ้นในการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบนับจากการทำรัฐประหารของ คสช.ในปี 2557 มาสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบมีตำหนิ (flawed democracy) เพราะมีความพยายามในการคงโครงสร้างอำนาจแบบอำนาจนิยม/เผด็จการเอาไว้ในหลายส่วน

วันนี้เราอาจจะนึกออกแค่เรื่องการคงไว้ซึ่ง ส.ว.ที่แต่งตั้งโดย คสช.เองเป็นหลักฐานหลัก จนลืมตั้งข้อสังเกตกับการเข้ามาวุ่นวายกับการเลือกตั้งท้องถิ่นในทุกระดับนับจากการทำรัฐประหารเป็นต้นมา ทั้งในการยุติรูปแบบการปกครองท้องถิ่นโดยถาวร เช่นสภาเขต หรือการถอดถอนผู้บริหารออกและไม่คืนอำนาจให้ เช่นกรณีการปลดผู้ว่าฯกทม.ภายใต้ข้อกล่าวหาทุจริตและแม้จะพิสูจน์แล้วว่าข้อกล่าวหานั้นไม่จริงก็ไม่คืนตำแหน่งให้ กรณีของการตั้งตัวแทนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมานั่งในหน่วยการปกครองท้องถิ่น อาทิ การยุติการปฏิบัติหน้าที่ของ อบจ. เทศบาล อบต. ในช่วงแรกก่อนคืนอำนาจให้นักการเมืองท้องถิ่น และให้ทำงานต่อแม้กระทั่งเมื่อหมดวาระแล้วโดยไม่ให้เลือกตั้งใหม่ หรือไม่คืนตำแหน่งให้เลยอย่างการตั้ง ส.ก. 30 คน มาแทน ส.ก.ที่มาจากการเลือกตั้ง 61 คน (มิพักต้องกล่าวถึงการใช้ระบบให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นแขนขาของราชการส่วนกลาง/ภูมิภาค อยู่ในตำแหน่งจนถึง 60 ปี แทนที่จะมีการเลือกตั้งทุก 4 ปี เช่นในช่วงก่อนหน้านั้น)

อธิบายง่ายๆ ว่าการไม่ปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นอะไรอย่างเป็นเรื่องเป็นราวตั้งแต่การยึดอำนาจรอบนี้ ทั้งที่การปฏิรูปท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของข้ออ้างของแกนนำ กปปส. ซึ่งแสดงออกอย่างชัดแจ้งในการสนับสนุนรัฐประหาร กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานที่ค้ำยันให้ระบอบอำนาจนิยมนั้นลงหลักปักฐาน และมั่นคงในการครองอำนาจนับตั้งแต่การยึดอำนาจเป็นต้นมา

ข้อสังเกตที่ต้องไม่ลืมก็คือ การเลือกตั้งท้องถิ่นใน กทม.ในรอบนี้ถือเป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นหลังจากการแช่แข็งสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนมาเป็นเวลานานนี้ และการแช่แข็งดังกล่าวทำหน้าที่ในการค้ำยันอำนาจของระบอบอำนาจนิยมและประชาธิปไตยแบบมีตำหนิในช่วงต้นนั่นเอง โดยนับตั้งแต่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นใน กทม.ด้วยโครงสร้างใหม่ คือ พ.ร.บ.กทม. พ.ศ.2528 เป็นต้นมา ไม่เคยมีการบริหารท้องถิ่น กทม.และการเลือกตั้ง กทม.ในยุคสมัยใดที่ถูกสกัดขัดขวางให้หยุดชะงักเหมือนการเลือกตั้งในครั้งนี้การรัฐประหารนับตั้งแต่หลังปี 2528 เป็นต้นมา คือ เมื่อ 2534 และ 2549 ไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับระบอบการปกครอง การบริหารและการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นของ กทม.แต่อย่างใด

การเลือกตั้งท้องถิ่นใน กทม.รอบนี้ฝ่ายผู้มีอำนาจเองอาจไม่ได้คาดหวังอะไรมาก ในแง่ของการใช้กลไกการเลือกตั้งของ กทม.ทั้งระบบเพื่อให้ฝ่ายตัวเองได้เปรียบ เหมือนกับในช่วงการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 2562 ที่เกิดข้อสงสัยในกระบวนการนับคะแนนในรายเขต และการกระทบคะแนนที่สำนักเขตเขต (อย่าลืมว่าเขตของ กทม.นั้นมีหน้าที่ทางการเมืองสำคัญอีกประการหนึ่ง นั่นก็คือเรื่องของการเกี่ยวพันกับระบบการบริหารการเลือกตั้ง เพราะคณะกรรมการประจำหน่วย และตัวหัวหน้าหน่วยที่นับคะแนนในเขตเลือกตั้งนั้นใช้กลไกสำนักงานเขตเป็นหลักในปฏิบัติการ ข้าราชการของ กทม. อาทิ ครู ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายในการเข้ามาเป็นกรรมการในแต่ละหน่วย และมีผู้อำนวยการเขตเป็นประธาน)

แต่ข้อสังเกตที่ผมเสนอว่ารอบนี้ตัวผู้มีอำนาจของระบอบอำนาจปัจจุบันอาจไม่ได้คาดหวังอะไรมากในการใช้ กทม.เป็นโครงสร้างในการสืบทอดและรักษาอำนาจเหมือนในช่วงที่ผ่านมา เพราะส่วนหนึ่งถ้าขายประเด็นว่ามีใครสักคนที่ลงสมัครผู้ว่าฯนั้นเป็นตัวแทนของนายกรัฐมนตรีและระบอบการเมืองที่ถูกด่ารายวันอย่างน้อยในกรณีพื้นที่ กทม. ทั้งเรื่องของการบริหารโควิด การบริหารม็อบ และการบริหารเศรษฐกิจที่คนไม่พอใจกันอยู่มาก การเลือกตั้งในรอบนี้ก็จะกลายเป็นเสมือนการลงประชามติไม่เอารัฐบาลในช่วงที่ใกล้เคียงกับเงื่อนเวลาของการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลกันพอดี

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและระบอบอำนาจนี้ยังไม่ได้อยู่ในระดับที่เพลี่ยงพล้ำจนถึงกับควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ เราจึงไม่ควรมองง่ายๆ ว่ารัฐบาลอั้นไว้ไม่อยู่จึงต้องเปิดให้เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. แต่ต้องลองถามคำถามที่หลายคนตะขิดตะขวงใจว่ารัฐบาลและระบอบนี้จะใช้เงื่อนไขอะไรแทนในการยังครองอำนาจในพื้นที่ กทม.เอาไว้ให้ได้

หากไม่ใช้กลไกของการไม่ยอมเลือกตั้งท้องถิ่น กทม.หรือเอาเข้าจริงการเปิดจังหวะว่าปลายปีนี้จะมีการเลือกตั้งใหญ่ อาจทำให้แรงกดดันทางการเมืองในพื้นที่ กทม.นั้นลดลงได้ และเมื่อการเลือกตั้งท้องถิ่น กทม.เกิดขึ้นในช่วงก่อนเข้าฤดูฝน แรงกดดันที่มีต่อปัญหาการบริหาร กทม.ในช่วงฤดูฝนก็อาจจะลดลงในระดับหนึ่ง

นอกจากนี้แล้วการเลือกตั้งท้องถิ่นของ กทม.ก็ยังมีความหมายกับทุกพรรคการเมืองและผู้สมัครเลือกตั้งทั่วไปซึ่งต้องสังกัดพรรคการเมือง และก็เป็นที่น่าสนใจว่า ขณะที่การเลือกตั้งท้องถิ่นในต่างจังหวัด ไม่มีกลไกพรรคการเมืองเข้าไปเป็นเจ้าภาพอย่างเป็นทางการในการส่งผู้สมัครการเลือกตั้งท้องถิ่นในต่างจังหวัดจึงเป็นเรื่องของการนำเสนอนโยบายและตัวบุคคลในนามของกลุ่มทางการเมืองเป็นหลัก (อาจมีผู้สมัครอิสระอยู่บ้าง)

แต่ในกรณีของกรุงเทพมหานครนั้นมีความชัดเจนว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นในทุกๆ รอบนั้น พรรคการเมืองค่อนข้างชัดเจนในการส่งผู้สมัครทั้งในตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.และ ส.ก. นอกจากนั้น ก็มีผู้สมัครอิสระที่มีทั้งแบบที่มีกลุ่มของตัวเองที่ลงระดับ ส.ก. ส.ข. ด้วย หรือเป็นผู้สมัครอิสระที่ไม่มีกลุ่มลง ส.ก. แต่ที่ผ่านมาก็มีความชัดเจนในระดับที่ทุกคนก็รู้ว่าผู้สมัครอิสระในตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.บางคนก็ได้รับคะแนนสนับสนุนจากพรรคการเมืองที่ตัดสินใจไม่ส่งผู้สมัครในนามพรรคในครั้งนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และ ดร.พิจิตต รัตตกุล

การเลือกตั้งท้องถิ่น กทม.ในรอบนี้หัวใจสำคัญนอกเหนือจากกระแสความสนใจในการรณรงค์หาเสียงในตำแหน่งผู้ว่าฯกทม. เหมือนในทุกครั้งที่ผ่านมา และจะต้องสนใจเป็นพิเศษก็คือ ส.ก. เพราะการเลือกตั้ง ส.ก.ในรอบนี้ตรงกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยนัก จากเดิมที่การเลือกตั้ง ส.ก.กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.นั้นเลือกวันเดียวกัน ต่อมาเมื่อผู้ว่าฯกทม.บางท่านลาออกไปลงการเลือกตั้งระดับชาติ หรือออกจากตำแหน่งด้วยเหตุผลอื่น การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ก็เลยจัดให้มีขึ้นเร็วกว่าสี่ปี ขณะที่การเลือกตั้ง ส.ก.ยังคงเป็นการเลือกตั้งทุกสี่ปีตามเดิม การครองอำนาจของ คสช.และยกเลิกโครงสร้างการเลือกตั้งท้องถิ่น กทม.มาเนิ่นนานทำให้การเลือกตั้งของทั้งผู้ว่าฯกทม.และ ส.ก.เกิดในเวลาเดียวกันจนได้ เพราะต่างหมดวาระไปนานแล้ว การรณรงค์เลือกตั้ง ส.ก.ในรอบนี้ย่อมจะมีสีสันมากเป็นพิเศษ เพราะเชื่อมโยงและพึ่งพาซึ่งกันและกันกับการหาเสียงผู้ว่าฯกทม.อย่างแนบแน่น

ในหลักการนั้น สภา กทม.ย่อมมีหน้าที่ในการทำงานร่วมและติดตามตรวจสอบการบริหาร กทม.ภายใต้ผู้ว่าฯกทม. กล่าวคือทั้งอนุมัติงบประมาณ ให้การรับรองและไม่รับรองข้อบัญญัติที่เสนอโดยผู้ว่าฯกทม. และยังจะต้องติดตามตรวจสอบ ตั้งกระทู้และอภิปรายไม่ไว้วางใจตัวผู้ว่าฯกทม.

แต่ในความจริง เราพบว่าระบอบการปกครองของ กทม.และทุกท้องถิ่นนั้นต่างทำให้ตัวผู้บริหาร คือ ผู้ว่าฯกทม. นายกเทศมนตรี นายก อบต. นายก อบจ. มักจะต้องมาจากทีมเดียวกันมากกว่าการอยู่คนละฝ่ายกัน แม้ว่าจะเลือกแยกกัน ซึ่งแต่เดิมการเลือกตั้งท้องถิ่นนอก กทม.นั้น นายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นนั้นจะเป็นหนึ่งในสมาชิกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เหมือนระบอบรัฐสภาในระดับชาติ

โดยความเป็นจริงทางการเมืองของท้องถิ่นที่ ส.ก.จำต้องพึ่งงบประมาณของ กทม.ในการขับเคลื่อนงานของตนเองในระดับเขตที่ตนเป็นตัวแทน เพราะตัวผู้อำนวยการเขตไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนเท่ากับ ส.ก. ยิ่งทำให้ ส.ก.นั้นต้องทำหน้าที่เสมือนเป็นนายกของเขตนั้นจริงๆ ต้องเข้าไปประสานกับเขตเพื่อให้งบประมาณต่างๆ ยิงลงสู่พื้นที่ฐานคะแนนของตนให้ได้มากที่สุด ด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นของ ส.ก.กับผู้ว่าฯกทม.จึงมีมากกว่าความแตกแยกระหว่างกัน ผู้ว่าฯกทม.เมื่อมาจากการเลือกตั้งก็ย่อมจะต้องพึ่ง ส.ก.เป็นเครือข่ายการระดมคะแนนให้กับตนในการเลือกตั้งด้วย

คำถามที่ตามมาของการเลือกตั้งท้องถิ่นใน กทม.รอบนี้ก็คือ เมื่อผู้สมัครผู้ว่าฯหลายคนไม่มีทีม ส.ก. พวกเขาจะเดือดร้อนว่าจะไม่ได้คะแนนจริงไหม หรือว่า ส.ก.ที่ต้องการชัยชนะนั้น จำเป็นจะต้องพึ่งพากับเครือข่ายที่ตนสร้างขึ้นเองแค่ไหน กับพรรคการเมืองที่ตนเชื่อมโยงแค่ไหน และการเชื่อมโยงกับชื่อเสียงของผู้สมัครผู้ว่าฯที่ได้รับความนิยมแค่ไหน

ประเด็นต่อมาในเรื่องความสำคัญของ ส.ก.ในครั้งนี้ก็คือ การเลือกตั้ง ส.ก.ในรอบนี้จะทวีความสำคัญกว่าที่ผ่านมา เพราะปัจจุบันมีพรรคการเมืองที่มุ่งส่วนแบ่งของเสียงใน กทม.และในระดับประเทศอยู่มากกว่าขั้วอำนาจสองสีเสื้อในแบบเดิม ด้วยเงื่อนไขที่ว่า การเลือกตั้งในระดับชาติไม่ว่าจะใช้บัตรเลือกตั้งแบบใบเดียวเช่นรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือกระบวนการแก้ไขให้เป็นบัตรสองใบนั้น พรรคการเมืองในระดับชาติก็ต้องการเครือข่ายการระดมคะแนนในท้องถิ่นทั้งสิ้น

ในวันนี้ ส.ก.เป็นหนึ่งในระบบตัวแทนของการระดมคะแนนที่สำคัญที่สุด ยิ่ง ส.ข.นั้นถูกยกเลิกไป จำนวนของคนที่เสนอตัวเขามาเป็น ส.ก.ในรอบนี้ก็ยิ่งจะมีมากขึ้น อีกทั้งในระบบใหม่ในครั้งนี้จะมี ส.ก.ได้เพียงเขตละคน ขณะที่เดิมนั้นมีบางเขตที่มี ส.ก.ได้มากกว่าหนึ่งคนตามสัดส่วนประชากร คือได้ถึงสองคน ได้แก่ คลองสามวา จตุจักร จอมทอง ดอนเมือง บางกะปิ บางขุนเทียน บางเขน บางแค ประเวศ ลาดกระบัง และสายไหม ย่อมทำให้ตำแหน่ง ส.ก.ในรอบนี้แข่งกันเข้มข้นขึ้น และโดยระบบการเลือกตั้งในระดับชาติที่ทุกคะแนนมีผลต่อการคำนวณเสียง ส.ส. เพราะแม้อาจจะไม่ชนะในพื้นที่ แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะได้นับในส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ขณะที่ในระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ยิ่งเข้มข้นมากไปอีกเพราะทุกเสียงนับในใบเดียว) ส.ก.จึงเป็นที่ต้องตาต้องใจของทุกฝ่าย และแม้แต่คนที่ไม่ได้ชนะก็ยังมีผลงานหรือแต้มในการเชื่อมต่อกับทุกพรรคการเมืองได้ว่าตนเองนั้นมีกี่คะแนนในมือ และเมื่ออาสาเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองในการเมืองระดับชาติเข้าไปด้วยแล้ว ทุกพรรคการเมืองก็ย่อมจะยินดีและยินยอมที่จะเชื่อมต่อกับเครือข่ายในท้องถิ่นเป็นหลักประกันมากกว่าไม่มีใครในพื้นที่ให้เชื่อมโยงเลย เพราะพรรคการเมืองในระบบการเลือกตั้งแบบที่มีส่วนของบัญชีรายชื่อด้วยนั้น ก็ต้องพึ่งพาการทำความรู้จักกับประชาชนอย่างกว้างขวางที่สุดนั้นเอง

ในแง่นี้แม้พรรคการเมืองและผู้สมัครในนามพรรคการเมืองนั้นที่ไม่ได้ส่ง ส.ก.ในรอบนี้ ย่อมจะต้องเผชิญประเด็นท้าทายว่าถ้าพรรคตนไม่เปิดหน้าในการส่งผู้สมัคร ส.ก.และ/หรือผู้ว่าฯ พวกเขาก็จะต้องแสวงหาเครือข่ายกลไกที่จะสร้างหลักประกันในการดำรงไว้และขยายฐานเสียงของตนเอง เรื่องนี้ค่อนข้างเป็นรูปธรรมเพราะตอนนี้หลายพรรคการเมืองเริ่มเปิดตัวผู้สมัครสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปในพื้นที่ กทม.ครั้งต่อไป และเริ่มเดินหาเสียงในระดับชุมชนกันแล้ว ในความเป็นจริง ผู้สมัคร ส.ก.ในรอบนี้กับว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ตอนนี้จึงลงพื้นที่พร้อมๆ กัน และต่างพึ่งพาซึ่งกันและกันไปแล้ว

นี่คือบางส่วนของการตั้งข้อสังเกตในส่วนของการเมืองในมิติของการเลือกตั้ง (electoral politics) ในระดับท้องถิ่นของ กทม.ในห้วงขณะที่รายชื่อของผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.และ ส.ก.ยังไม่นิ่ง และเหลือเวลาไม่ถึงสองเดือนในการเลือกตั้งท้องถิ่นใน กทม.ที่กำลังจะมาถึงครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image