ไปหาอนาคตที่บางซื่อ สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 50

ไปหาอนาคตที่บางซื่อ สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 50

ไปหาอนาคตที่บางซื่อ

สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 50

สําหรับคนรักหนังสือ (แน่นอน ย่อมเป็นคนรักการอ่านด้วย แต่คนรักการอ่านไม่น้อย ไม่แน่ว่าจะสนใจดูแล หรือรักษาหนังสือมากนัก ม้วนปกด้านซ้ายถืออ่านบ้าง พับหนังสือ แบะหนังสืออ่านบ้าง อ่านแล้วซุก (ยัด) ใส่กระเป๋า หรืออยู่ในบ้านอาจโยนไปไว้ตรงโน้นตรงนี้ก่อน จนหนังสือหัก หรืองอเยินไปลักษณะต่างๆ แถมเป็นคนใจดี อ่านจบแล้วยกให้คนอื่นๆ ไปได้ง่ายๆ – แต่คนรักหนังสือไม่ใช่ ไม่ใช่อย่างไรคนรักหนังสือย่อมรู้ดี – อิอิ) งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เป็นงานหนึ่งซึ่งคนรักอ่านรักหนังสือจดจ่อ หรือรอคอยในแต่ละปี

เมื่อถึงงานสัปดาห์หนังสือแต่ละครั้ง ประเด็นที่มักถกเถียงกันเป็นนิจเรื่องคนไทยยังไม่รักการอ่านมากพอ ก็ผุดขึ้นมา มีการสำรวจว่าแต่ละคนอ่านกันเพียงวันละ 7 บรรทัดบ้าง เพิ่มขึ้นเป็น 15 บรรทัดบ้าง (เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร 60-70 ล้านคน) แต่ครั้นเห็นหนังสือนานาประเภทที่อยู่บนแผงแล้ว ต้องยืนยันว่า ไม่ว่านักอ่านจะมีน้อยมีมากอย่างไร แต่คนทำหนังสือหรือคนรักจะผลิตหนังสือ หรือคนอยากให้เพื่อนร่วมสังคมอ่านหนังสือดีๆ ที่ตนชอบ จนต้องผลิตออกมา

Advertisement

ยังมิได้ลดน้อยถอยลง ทั้งมีมากจนต้องยกย่องอย่างนิยมชมชื่น เพราะมิใช่ธุรกิจทำกำไรเลย

มิหนำซ้ำ แต่ไหนแต่ไรมา ตั้งแต่หนังสือปกแข็งเล่มละ 30 บาท มา 60 บาท มา 80 บาท จนถึงเล่มละเป็น 100 ที่นักอ่านซึ่งเติบโตมาพร้อมๆ กับราคาเหล่านั้นอาจไม่เคยนึกถึงมาก่อน สิ่งซึ่งอยู่ในใจบรรดานักอ่านตลอดเวลาในช่วงเหล่านั้นคือ เมื่อไหร่จะถึงหน้าเทศกาลลดราคาหนังสือ (นักอ่านฮา แต่บรรดาผู้ผลิตไม่ฮาด้วย) ถึงปัจจุบัน กับราคาหนังสือปกอ่อนเล่มละ 300-500 เป็นธรรมดาไปแล้ว ความเข้าใจและต้องการเรื่องลดราคาหนังสือก็น้อยไปตามยุคของราคา

ลดได้แค่ 10 หรือ 20 เปอร์เซ็นต์ก็มากแล้ว ไม่งั้นผู้ผลิตจะไม่เหลืออะไร

Advertisement

ดังนั้น ไม่ว่าจะมองหรือพิจารณามุมใดก็ตาม ธุรกิจหนังสือเป็นธุรกิจที่ต้องช่วยกันอุดหนุน – ไม่เพียงแต่ในแง่กำปั้นทุบดินว่า เพื่อธุรกิจการผลิตหนังสืออยู่ได้ แต่ธุรกิจการอ่านที่เติบโตย่อมหมายถึงสติปัญญาของสังคมเติบโตตามไปด้วย สังคมที่มีร้านหนังสือแทบทุกถนน ผู้คนอ่านออกเขียนได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แสดงความอารยะให้เห็นเป็นตัวอย่างอยู่

ดังคุณประโยชน์ทางบวก เช่น ที่ได้ยินกันเสมอว่า หนังสือเล่มเดียว หรือเพียงประโยคเดียวในหนังสือสักเล่ม อาจพลิกหรือเปลี่ยนวิถีชีวิตคนคนหนึ่งได้

คนยังไม่อ่านหนังสือจริงจังอาจนึกไม่ออก แต่บางคนที่เคยอยู่ว่าง หรือตกงาน หรือมีเหตุต้องเฝ้าบ้านที่มีหนังสือเต็มบ้าน ไม่ว่าจะของพ่อ ของปู่ ของย่า แล้วเริ่มหยิบขึ้นมาเล่มหนึ่งก่อน จนท้ายที่สุดถึงกับอ่านหมดทุกเล่มในบ้าน แล้วต่อมากลายเป็นนักเขียนเสียเองแทนที่จะอ่านอย่างเดียว มีตัวอย่างอยู่ ลองถามหาดู

การไปงานสัปดาห์หนังสือ หรือมหกรรมหนังสือ หรือไม่ว่างานแสดงหนังสือใดๆ จึงเป็นความเพลิดเพลินอนันต์ของบรรดานักอ่าน ได้เห็นปกหนังสือบนแผง บนโต๊ะ ละลานตา งดงาม เห็นหนังสือซึ่งไม่คาดคิดว่าจะมีเรื่องนั้นเรื่องนี้ เห็นหนังสือเล่มใหม่ของนักเขียนที่ชื่นชอบ เห็นสารคดีที่สนใจ ประวัติศาสตร์ที่ยังเป็นคำถามอยู่ในใจ หรือความเป็นมาของความเชื่อ ศาสนาที่อยากรู้ หรือนิยายจากนักเขียนที่กุมความชอบไว้อยู่หมัด ชวนให้เร่งเข้าไปหยิบจับ ค่อยๆ ละเลียดพลิกทีละหน้า ดื่มด่ำกับคำวิจารณ์บนปกหลัง

ไม่ว่าจะอากาศร้อนแต่ครั้งตั้งแผงอยู่รอบอาคารคุรุสภา หรือปีๆ ที่นักอ่าน
เพิ่มปริมาณมากขึ้นจนคับคั่งหอประชุมสิริกิติ์ถึงจำนวนล้าน ต่างถือตะกร้าเหมือนไปจ่ายตลาด หรือมีกระเป๋าลาก มีรถเข็นใส่หนังสือเต็ม เบียดเสียดดันกันไปทุกหน้าร้าน โดยเฉพาะร้านหนังสือเด็กที่อุ่นหนาฝาคั่งเพราะกำลังมีกิจกรรม ทำให้การละเลียดหนังสือสะดุดกันไปเป็นระยะ ล้วนมิได้ทำให้นักอ่านเบื่อหน่าย

แล้วจึงมาถึงวันนี้ งาน สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 และเป็นงานเดียวกับงาน สัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20 ซึ่งปีนี้ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT – The Publishers and Booksellers Association of Thailand) ร่วมกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดขึ้นภายใต้ความคิดถึง อนาคต จากการอ่าน

โดยได้สถานที่จัดงานใหม่อีกแห่ง หลังจากปีก่อนแวะไปไบเทค บางนา และปีโน้นจัดสัปดาห์หนังสือออนไลน์ มาเป็น “สถานีกลางบางซื่อ” ด้วยพื้นที่คนละส่วนกับบริเวณซึ่งบริการฉีดวัคซีน ระหว่างวันเสาร์ที่ 26 มีนาคมนี้ ถึงวันจักรีอังคารที่ 6 เมษายนที่จะถึง ระหว่างเวลา 10.00-21.00 น. นอกจากวันเปิดที่เริ่ม 17.00-21.00 น. คือตั้งแต่ 5 โมงเย็น

ดังนั้น จึงไม่ต้องห่วงสถานที่อันกว้างขวาง ที่จะเดินดูหนังสือได้สบอารมณ์ เนื่องจากพื้นที่ชั้น 1 กับชั้นลอย 50,000 ตารางเมตร จะถูกใช้เป็นที่จัดงานหนังสือเสีย 20,000 ตารางเมตร ด้วย 6 เขตแสดงหนังสือ 6 ประเภท กับร้านหนังสือจากสำนักพิมพ์ต่างๆ กว่า 208 สำนัก จำนวนกว่า 583 ร้าน ที่ไม่แน่ว่า 12 วัน จะเดินดูได้ครบถ้วน เพราะนอกจากร้านหนังสือแล้วยังมีผู้เข้าร่วมจัดนิทรรศการอีกถึง 30 ราย มีกิจกรรมบนเวทีตลอดงานอีกถึง 65 รายการ กับการอบรมสัมมนาอีก 7 รายการ

เมื่อถึงงานสัปดาห์หนังสือที จึงมีผู้คนไม่น้อยเลยที่ถือเป็นกิจว่า ทุกวันจะต้องเข้าๆ ออกๆ ดูหนังสือ ฟังอภิปราย พบเพื่อนๆ ในสถานที่จัดงานช่วงเวลานั้น

พื้นที่แสดงหนังสือทั้ง 6 ส่วนนั้นประกอบด้วย ส่วนหนังสือเด็กและสื่อการศึกษา, หนังสือการศึกษา, หนังสือต่างประเทศ, หนังสือเก่า, ส่วนของ Book Wonderland หนังสือการ์ตูนและวัยรุ่นที่มักจะแออัดยัดเยียด และส่วนหนังสือทั่วไปอันเป็นส่วนที่หลากหลายเหมือนกับหัวใจมากมายหลายดวงเปล่งปลั่งในทุกๆ ที่ของงาน

ส่วนงานซึ่งน่าสนใจของเจ้าของสถานที่ก็คือ นิทรรศการ “125 ปีรถไฟไทย” ให้เห็นประวัติศาสตร์การเดินทางสู่อนาคตของรถไฟไทยตลอดกว่าศตวรรษ ยังมีนิทรรศการ “หนังสือดีเด่น” ของปี 2565 นิทรรศการ “ก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 รางวัลพานแว่นฟ้า” วรรณกรรมการเมืองเพื่อพัฒนาประชาธิปไตย กับกิจกรรมนานาดังกล่าวเช่น “1 อ่าน ล้านตื่น” เป็นอาทิ

ที่พิเศษสำหรับปีนี้คือ NFT (Non-Fungible Token) อันเป็นสินทรัพย์คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือเงินดิจิทัลประเภทหนึ่ง ในรูปภาพเขียนของ มุนิน ศิลปินไทย ซึ่งผลิตขึ้นเพียง 25,000 ชิ้น 5 แบบ ให้เสาะหาสะสมตลอดงาน โดยผู้ที่สามารถรวบรวมได้ครบ 5 แบบยังจะได้รับชิ้นลับชิ้นที่ 6 ซึ่งมีจำนวนจำกัดเป็นกำไรไว้สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกด้วย ฟังดูพิสดารดี คนยุคดิจิทัลน่าจะถูกใจ

คราวนี้ก็ถึงเรื่องสำคัญอีกเรื่อง คือจะไปให้ถึงให้ถูกที่อย่างไร แม้คนส่วนมากจะรู้จักจากการไปฉีดวัคซีน แต่ว่าไปแล้วก็มักใช้รถส่วนตัว หรือรถรับจ้าง การเดินทางโดยรถสาธารณะเท่าที่มีอยู่นี้จะยากง่ายประการใด รถส่วนตัวนั้นไปทางถนนกำแพงเพชรก็ถึงแล้ว จอดรถชั้นใต้ดินได้ถึงจำนวน 1,700 คัน

ส่วนผู้ใช้ MRT รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง กับบางซื่อ-ท่าพระ ลงสถานีบางซื่อ ทางออก 3, หรือต่อรถ “ชัตเติลบัส” ของ ขสมก.จากสถานีต่างๆ ได้ต่อไปนี้ สถานีบางโพ ทางออก 1C, สถานีเตาปูน ทางออก 1, สถานีบางซื่อ ทางออก 2, สถานีกำแพงเพชร ทางออก 3, สถานีสวนจตุจักร ทางออก 3 แล้วต่อบัสกระสวยไปงานแสดงได้เลย

ยังมีรถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต กับบางซื่อ-ตลิ่งชัน ลงที่สถานีบางซื่ออีกด้วย

รถประจำทางมีอยู่ 3 สายคือ สาย 49 สถานีกลางบางซื่อ-สถานีรถไฟหัวลำโพง, สาย 67 สถานีกลางบางซื่อ-เซ็นทรัล พระราม 3, สาย 77 สถานีกลางบางซื่อ-สถานีรถไฟ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน ไปถึงสถานที่ได้แน่นอน

หนังสือเอ๋ยไปไหนมา คราวนี้มาพร้อมกันกว่า 580 ร้าน ย่อมเลือกดูกันไม่หวาดไม่ไหว แค่ไปสำนักพิมพ์ที่รู้ว่ามีหนังสือที่ชอบ ไม่ว่านิยาย การ์ตูน สารคดี ท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ การเมือง ฯลฯ แต่ละร้านก็อยู่ได้วันครึ่งวันแล้ว ถ้าต้องการดูให้หมดก็คงทำได้แบบขี่ม้าชมสวน เป็นโอกาสดีอีกครั้งท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดที่บีบรัดการใช้ชีวิตประจำวัน การทำมาหากินที่ยากลำบาก ได้หาหนังสือมาอ่านที่บ้านกุมสติให้ผ่อนคลายบ้าง น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีตอนนี้

อย่างน้อยจะได้รู้ว่า สถานีกลางบางซื่อสร้างความแตกต่างได้มากขนาดไหน กับงานจาก 200 กว่าสำนักพิมพ์ และนิทรรศการกับกิจกรรมอีกนานัปการ ว่าหนังสือจะนำเราสู่อนาคตอย่างไร และเราจะพบอนาคตจากหนังสือได้โดยนามธรรมความคิดแบบไหน ที่จะสรรค์สร้างให้เป็นรูปธรรมอันงามและรามได้

พบกันที่สถานีกลางบางซื่อระหว่าง 26 มีนาคมถึง 6 เมษายนนี้ – โชคดี

อารักษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image