คิดเห็นแชร์ : หลากหลายปัจจัยเสี่ยง ต่อเศรษฐกิจไทย

บทความ “คิด เห็น แชร์” ฉบับนี้ ผมจะกล่าวถึงปัจจัยเสี่ยง 2 ประเด็นสำคัญที่อาจจะยังเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ปัญหาเงินเฟ้อที่เป็นปัญหาทั่วโลกและอาจถูกซ้ำเติมด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และผลกระทบจากการที่ประเทศจีนยังตัดสินใจใช้มาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทย

ในบทความฉบับก่อนหน้า ผมได้เขียนอธิบายถึงสถานการณ์ภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกซึ่งทยอยเริ่มปรับขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย ทำให้เกิดการเร่งตัวขึ้นของภาคการผลิตเพื่อรองรับความต้องการบริโภคที่ฟื้นตัวกลับมา ซึ่งหากเป็นสถานการณ์ปกติเช่นนั้นตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แล้ว เฟดก็ควรที่จะต้องตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อชะลอความร้อนแรงของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นผลดีในระยะยาวต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นปี 2565 เกิดสถานการณ์ที่ผิดปกติขึ้นกับราคาน้ำมันดิบและราคาพลังงานอื่นๆ อาทิ ก๊าซธรรมชาติและถ่านหินใน
ตลาดโลก ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ดังนั้นหากพิจารณาสถานการณ์ในขณะนี้ ที่อัตราเงินเฟ้อส่วนใหญ่แล้วเป็นผลมาจากปัญหาด้านอุปทานมากกว่าฝั่งอุปสงค์ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจึงไม่อาจที่จะช่วยกดราคาสินค้าลงได้ตามทฤษฎี เนื่องจากต้นทุนพลังงานที่ยังยืนในระดับที่สูงเพราะผลจากอุปทาน

นอกจากนี้ สถานการณ์ความตึงเครียดในยุโรปมีโอกาสที่จะขยายวงกว้างขึ้นและยืดเยื้อ เนื่องจากมีบางประเทศ โดยเฉพาะฟินแลนด์ที่มีพรมแดนติดกับรัสเซียและต้องการที่จะเข้าร่วมกับนาโต ดังนั้นผมจึงประเมินว่าการตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่จะเกิดขึ้นในการประชุมรอบถัดๆ ไป (ซึ่งตลาดการเงินคาดการณ์กันว่าอาจจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูงถึง 0.50% ต่อครั้ง) จะไม่สามารถกดราคาสินค้าทั่วไปให้ลดลงได้

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเฉพาะในด้านของตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในแต่ละเดือนหลังจากนี้ ผมคาดว่าจะเริ่มเห็นอัตราเงินเฟ้อที่เป็นเปอร์เซ็นต์เทียบปีกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วทยอยลดลง ซึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงขึ้น ไม่ได้เป็นผลจากราคาสินค้าทั่วไปปรับลดลง

Advertisement

ซ้ำร้ายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังตลาดพันธบัตรทั่วโลกแล้วในขณะนี้ กล่าวคือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond yield) ทั่วโลกได้ปรับขึ้นในทิศทางเดียวกันแล้ว รวมถึงประเทศไทยด้วย เท่ากับว่าต้นทุนทางการเงินทั้งของรัฐบาลและเอกชนได้ปรับขึ้นแล้วนั่นเอง หากมีการออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้ใหม่หลังจากนี้ แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ตาม

ปัจจัยเสี่ยงอีกประการ ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ที่ประเทศจีน อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น จากผลของมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อความพยายามควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 กล่าวคือ การล็อกดาวน์ที่ประเทศจีนได้ส่งผลให้เกิดผลกระทบขึ้นทั้ง 2 ด้าน คือ อุปสงค์จากประเทศจีนที่ชะลอตัวลง และปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ต้องชะงักไป อย่างไรก็ดีเราเชื่อว่าปัญหานี้จะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นเท่านั้น และเมื่อทางการจีนตัดสินใจปลดล็อกมาตรการดังกล่าว ความต้องการสั่งซื้อสินค้าเพื่อเติมสต๊อกในคลังสินค้า (Restock) จะเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง เช่นที่เคยเกิดขึ้นใน 1-2 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีสิ่งที่ผมกังวลคือ หากทางรัฐบาลจีนยังยึดความเข้มงวดในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นนี้ต่อไปในอนาคต อาจส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากจีนที่จะเดินทางท่องเที่ยวไปยังประเทศอื่นๆ รวมถึงไทย อาจยังต้องมีอุปสรรคในการเดินทางอีกมาก โดยเฉพาะขากลับประเทศ ที่ยังอาจต้องมีการกักตัวอีกหลายวัน อย่างไรก็ดี สำหรับในปี 2565 นี้ สมมุติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าไทยฝ่ายวิจัยฯ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) ยังไม่ได้รวมการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนในประมาณการ

สำหรับภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ในสถานการณ์ปัจจุบัน แม้ว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจะส่งผลลบต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลก แต่ผมประเมินว่าประเทศไทยยังมีจุดเด่นเรื่องการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย เนื่องจากภาคการท่องเที่ยว
ถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ที่ภาคการท่องเที่ยวจะเริ่มมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง High season

ดังนั้น ผมยังคงคาดหวังเรื่องเม็ดเงินลงทุนต่างชาติที่จะไหลเข้าตลาดทุนไทยปีนี้ ช่วยประคับประคองสถานการณ์การลงทุนได้บ้าง

สุโชติ ถิรวรรณรัตน์

ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image