โคทม อารียา : เลือกใครดีเป็นผู้ว่า กทม.

ถ้าผู้อ่านคาดหวังว่าจะได้คำตอบที่ชัดเจนจากผม ก็ต้องขอโทษด้วย เพราะผมตอบได้เพียงกว้าง ๆ ว่า ขอให้เลือกด้วย “หัว” เลือกด้วย “ใจ” และเลือกด้วย “จิตวิญญาณ” ดังจะขยายความต่อไป

ด้วยหัวหมายถึงด้วยเหตุผล ซึ่งอาจมีต่างกันไป ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรกของฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2565 มีผู้สมัครเพียง 3 คนที่ได้รับคะแนนเกิน 20% ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนถัดไปในลำดับที่สี่ ได้เพียง 7 % เศษ ๆ ลำดับที่ห้าได้ 4 % เศษ ๆ แสดงว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งแม้ใจอาจชอบนโยบาย เช่น ด้านสิ่งแวดล้อมของผู้สมัครพรรคเขียว หรือ ด้านสังคมนิยมของผู้สมัครพรรคสังคมนิยม แต่ด้วยเหตุผล เขารู้ว่าเลือกคนที่ตนชอบมากที่สุดก็ไม่เป็นประโยชน์ เพราะไม่มีโอกาสเข้า “วิน” เพราะในรอบแรก เขาต้องการคัดผู้สมัครเพื่อไปลงคะแนนในรอบสองเพียงสองคน ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ใช้เหตุผลจึงทุ่มคะแนนให้แก่ผู้สมัครที่มีโอกาสเข้า “วิน” ปรากฏผลว่าผู้สมัครที่ได้คะแนนในลำดับที่หนึ่งนำไป 4 % เศษ ส่วนคะแนนลำดับที่สองและสามห่างกันเพียงประมาณ 1 % ผู้วิจารณ์ผลการเลือกตั้งของฝรั่งเศสต่างเห็นพ้องกันว่า ชาวฝรั่งเศสจำนวนมากเลือกด้วย “เหตุผล” คือไม่ต้องการให้คะแนนของตนสูญเปล่า หรือต้องการให้คะแนนเป็นประโยชน์ (useful vote) นั่นเอง

บังเอิญเมื่อวานนี้ โทรทัศน์ช่องหนึ่งมาสัมภาษณ์ผม เลยขออนุญาตนำคำถามและคำตอบมาเขียนเป็นบทความนี้ ถ้าผู้อ่านเป็นคนช่างคิด หรือหนักไปทางเหตุผล คงคิดว่าเรื่องอื่นอีกนอกเหนือจากคิดลงคะแนนให้เป็นประโยชน์นั้นมีอะไรบ้าง ผมจึงขอเสนอว่าให้ไปดู “กึ๋น” ของผู้สมัคร เช่นดูว่า ที่ผ่านมาเขาทำอะไร เคยช่วยเหลือประชาชนจริงไหม เคยเป็นผู้มีจิตอาสาไหม เคยมองว่าตนเป็น “นาย” (principle) และข้าราชการหรือผู้ใต้บังคับบัญชาเป็น “ผู้ทำการ” (agent) หรือมองว่าประชาชนเป็น “นาย” และตนเป็นผู้ทำการ เป็นต้น อันที่จริงมีเหตุผลอื่น ๆ อีกมาก แม้กระทั่งเหตุผลว่า “เงินมาก็กาให้” ซึ่งผมหวังว่าชาวกรุงเทพฯผู้อาศัยอยู่ในเมืองหลวงทั้งที คงคิดได้ว่านี่เป็นเหตุผลที่ใช้ไม่ได้

บางทีเรื่องนโยบายของผู้สมัครอาจจัดเป็นเรื่องความคิดก็ได้ หรือเรื่องความชอบก็ได้ ถ้าถือนโยบายเป็นเรื่องความคิด จะต้องทำการบ้านในเชิงวิเคราะห์ความเป็นไปได้ ศึกษาเปรียบเทียบนโยบายผู้สมัครบางคนที่เราสนใจ แต่ผมไม่อยากให้ตัวเองท่วมท้นด้วยสารพัดนโยบายของผู้สมัคร จึงขอดูเฉพาะในเรื่องที่ผมสนใจเท่านั้นว่าผู้สมัครมีข้อเสนออะไร และมีโอกาสทำสำเร็จไหม คือมีแผนงานรูปธรรมรองรับเพียงใด

Advertisement

ผมเข้าใจว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่หลักในการให้บริการสาธารณะ เอาง่าย ๆ คือเรื่องดิน น้ำ ลม ไฟ ดินหมายรวมถึงสวนสาธารณะและการวางผังเมือง น้ำก็เป็นในเรื่องน้ำประปา ลำคลองและการระบายน้ำ ลมคงหมายถึงอากาศบริสุทธิ์เป็นสำคัญ ส่วนไฟเป็นเรื่องของการไฟฟ้าและการออกแบบอาคารเพื่อป้องกันไฟไหม้ เป็นต้น เอาเป็นว่า หน่วยงานต่าง ๆ ที่ให้บริการสาธารณะเปิดให้ประชาชนเข้าถึงได้สะดวกเพียงใด เช่น กระจายอยู่ใกล้บ้านเรือนจนทุกคนสามารถสัญจรไปถึงหน่วยงานเหล่านี้ภายใน 15 นาทีได้ไหม เมื่อไปถึงแล้ว จะใช้เวลาไม่เกิน 15 ถึง 30 นาทีเพื่อรับบริการได้ไหม

เป็นอันว่าผมช่างคิดอีกแล้ว แล้วแต่ผู้อ่านก็แล้วกัน ชอบนโยบายไหน ชื่นชม “คำขวัญ” ที่เขียนตามป้าย หรือเสนอผ่านสื่อ/ผ่านแผ่นพับ หรือชอบคลิปประชาสัมพันธ์ของใคร ก็เชิญเลือกตาม “ใจ” เลยครับ

คราวนี้มาถึงเรื่องจิตวิญญาณ ฟังดูก็แปลก คำว่าจิตวิญญาณมาเกี่ยวอะไรกับการเมืองท้องถิ่น แต่สำหรับผม ถือเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง ผมอยากได้ผู้ว่า กทม. ผู้มีจิตวิญญาณประชาธิปไตย คือไม่ไปสนิทสนม หรือไม่สนับสนุนการรัฐประหารทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ผู้อ่านอาจนึกแย้งผมว่า ถ้าผู้ใดได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารหรือ คสช. จะไม่ควรเลือกผู้นั้นเลยหรือ แต่ผมคิดว่าควรดูให้กว้างกว่าการได้รับแต่งตั้ง กล่าวคือ ขอให้ดูพฤติกรรมและการแสดงออกอื่น ๆ ด้วย ว่าสะท้อนจิตวิญญาณที่อยู่ข้างฝ่ายประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด

Advertisement

มีเรื่องหนึ่งที่อยากจัดให้เป็นเรื่องจิตวิญญาณคือความเปิดกว้าง ไม่หมกมุ่นในตัวตน สังคมไทยเป็นสังคมลำดับชั้น หรือสังคมผู้ใหญ่-ผู้น้อย ผู้ใหญ่มักจะนั่งหัวโต๊ะเวลาประชุม และชอบพูด-ชอบสั่งการ ส่วนผู้น้อยก็คล้อยตาม แต่ผมว่าผู้ว่า กทม. น่าจะมีบุคลิกภาพอีกแบบหนึ่ง คือเป็นผู้เปิดรับฟังความเห็นรอบด้าน คอลัมน์”ชักธงรบ” ของกิเลนประลองเชิงวันนี้ เล่าเรื่อง “ผู้นำที่ดีที่สุดของจีน” เขาผู้นั้นมีชื่อว่าจือซ้ง เมื่อเกิดการรบกันในหมู่ราชวงศ์ เขาไม่เข้าข้างใคร เพียงแต่เข้าไปดูแลรักษาผู้บาดเจ็บทั้งสองฝ่าย แต่เน้นหนักที่การเข้าไปช่วยราษฎรที่เดือดร้อนจากสงคราม ไม่นาน ราชวงศ์ทั้

สองฝ่ายเกิดละอายใจ เลิกสู้รบกันและหันมาขอร้องให้จือซ้งรับตำแหน่งเสนาบดีนครของแคว้นแต้ ซึ่งเป็นแคว้นเล็ก ๆ ปลายสมัยราชวงศ์จิว ระหว่างที่ จือซ้งอยู่ในตำแหน่งผู้นำ ทุกคนเข้าพบได้โดยไม่ถูกกีดกัน เขาใช้การสื่อสารเป็นหัวใจการปกครอง ออกหนังสือพิมพ์ ตีพิมพ์กฎหมายและคำสั่งราชการ งานเด่นที่สุดของเขาคือการศึกษา เขาสร้างโรงเรียนทุกอำเภอ นักศึกษาสามารถวิจารณ์การปกครองได้ งานประจำของจือซ้งคือการไปนอนค้างในโรงเรียน นอกจากถกปัญหาการเมืองแล้ว ยังเล่นดนตรีกับนักเรียนด้วย แม้ขงจื้อก็ยอมรับว่าจือซ้งคือนักปกครองที่ดีที่สุดของจีน

นอกจากผู้นำพึงเปิดกว้างรับฟังแล้ว ยังพึงมีวิสัยทัศน์กว้างไกลด้วย ในเรื่องนี้ ขออ้างอิงบทความ “นคราวิวัฒน์กับทิศทางของการเปลี่ยนแปลงกรุงเทพ” ของพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ เขาเขียนว่า เราพึงเข้าใจด้วยว่า “กรุงเทพฯนั้นเชื่อมโยงกับพื้นที่รอบ ๆ อย่างไร เชื่อมโยงกับพื้นที่ในระดับภูมิภาคอย่างไร และเชื่อมโยงกับโลกอย่างไร” เขาอ้างถึงรายงานของบริษัทที่ปรึกษา Deloitte ที่เสนอแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเมือง 12 ทิศทาง ซึ่งขอยกมาอ้างในที่นี้เพียง 7 ทิศทางโดยสังเขปดังนี้ 1. เมืองมีการวางแผน/ออกแบบพื้นที่สาธารณะให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 2. ชุมชนเมืองมีสุขภาวะดี 3. เมืองมีการคมนาคม/เคลื่อนที่ที่ชาญฉลาด 5. เมืองไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง 5. เมืองมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและแบ่งปัน 6. เมืองมีความปลอดภัยด้านไซเบอร์ 7. เมืองมีการรักษาความปลอดภัยผ่านการเฝ้าระวังทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้สมัครที่เสนอวิสัยทัศน์ทำนองนี้ น่าจะถือว่ามีจิตวิญญาณของนักปกครองที่ดี

ผู้สัมภาษณ์ถามผมว่า ผู้สมัครเป็นสมาชิกสภากรุงเทพฯ (ชื่อย่อว่า ส.ก. แต่มักเรียกชื่อเล่นว่าสภาเขต โดยกรุงเทพฯมี 50 เขต แต่ละเขตมี ส.ก. 1 คน) กับผู้สมัครผู้ว่าฯสัมพันธ์กันอย่างไร ผมตอบไปว่า โดยทั่วไป ผู้สมัคร ส.ก. ทำหน้าที่ช่วยหาเสียงให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ และถ้าผู้สมัครคนนั้นได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ ส.ก. ที่ได้รับเลือกตั้งในทีมเดียวกัน จะทำหน้าที่สนับสนุนผู้ว่าฯในทีมของตน กระนั้น ข้อน่าคิดคือว่า ผู้ว่าฯมีหน้าที่จัดบริการสาธารณะให้แก่ชาวกรุงเทพในทุกเขต ไม่ใช่เฉพาะในเขตที่ชาวกรุงเทพฯเลือกตั้ง ส.ก. ที่อยู่ในทีมเดียวกัน

ผู้สัมภาษณ์ถามผมต่อไปว่า ทำไมพรรคบางพรรคจึงส่งแต่ผู้สมัคร ส.ก. ไม่ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ ผมเข้าใจมี 3 พรรคที่เข้าข่ายดังกล่าว คือพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐและพรรคกล้า เหตุผลที่ไม่ส่งลงสมัครผู้ว่าฯคงแตกต่างกันไป เป็นไปได้ว่า พรรคเพื่อไทยไม่อยากส่งผู้สมัครที่จะไปตัดคะแนนผู้สมัครบางคน พรรคพลังประชารัฐอาจมีผู้สมัครผู้ว่าฯที่อยู่ในใจหลายคนให้เลือกจึงไม่อยากเลือกที่รักมักที่ชัง และพรรคกล้าอาจเห็นว่าการแข่งขันในสนามของเขตเหมาะสมกว่า เป็นต้น

ผู้สัมภาษณ์ถามว่า พรรคที่ส่งทั้งผู้สมัครผู้ว่าฯและผู้สมัคร ส.ก. นั้นมีเหตุผลอย่างไร อันที่จริงผมน่าจะเลี่ยงไปตอบว่าควรไปถามพรรคเหล่านั้นเอง แต่เอาเถอะ ขอตอบแบบคาดการณ์ก็แล้วกัน พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคเก่าแก่ มีฐานเสียงอยู่ที่กรุงเทพฯกับภาคใต้ แต่ในการเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่แล้ว ไม่มีผู้สมัครของพรรคนใดได้รับเลือกตั้ง อาจเป็นเพราะเสียงส่วนหนึ่งถูกแบ่งไปให้พรรคพลังประชารัฐ อย่างไรก็ดี ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก่อนหน้านี้หลายครั้ง ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้ง พรรคคงอยากได้ตำแหน่งแชมป์ในกรุงเทพฯคืนมา จึงขับเคลื่อนกลไกของพรรคและฐานเสียงอย่างเต็มที่ พรรคก้าวไกลเป็นการปลีกตัวโดยบังคับมาจากพรรคอนาคตใหม่ ที่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง ส.ส. ของกรุงเทพฯครั้งที่แล้ว ประกอบกับมีนโยบายพัฒนาประชาธิปไตยจากฐานราก คือจากชุมชนสู่การปกครองส่วนท้องถิ่น และแบ่งงานกันทำกับคณะก้าวหน้า ที่จะส่งผู้สมัครลงแข่งขันในการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยทั่วไป ยกเว้นกรุงเทพฯ เนื่องจากพรรคก้าวไกลประสงค์จะสร้างฐานเสียงในกรุงเทพฯให้เข้มแข็ง อีกพรรคหนึ่งที่ส่งสมาชิกลงแข่งขันทั้งสองระดับคือพรรคที่ก่อตั้งใหม่ในชื่อพรรคไทยสร้างไทย แต่ผู้นำพรรคมิใช่คนหน้าใหม่ มีข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าได้ฉลองการอยู่ในวงการการเมืองมา 30 ปี พรรคคงอยากก่อร่างสร้างตัวในกรุงเทพฯนั่นเอง

คำถามถัดไปของผู้สัมภาษณ์คือ ผลลัพธ์จากการเลือกตั้งใน กทม. จะมีผลอย่างไรต่อการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะตามมา ผมคิดง่าย ๆ ว่าน่าจะมีอยู่สองส่วน 1) ในส่วนของนักการเมือง ผลการเลือกตั้งท้องถิ่นใน กทม. จะช่วยในการคาดคะเนคะแนนนิยมของพรรคในระดับกรุงเทพฯและในระดับประเทศได้อีกทางหนึ่ง ในส่วนของกรุงเทพฯนั้น คงต้องใช้การคำนวณเข้าช่วยบ้าง เพราะเขตปกครองกับเขตเลือกตั้ง ส.ส. ในกรุงเทพฯไม่ตรงกันทีเดียว การรู้อารมณ์การเมืองของชาวกรุงเทพฯ จะเป็นประโยชน์ในการวางยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง ส.ส. ต่อไป 2) ในส่วนของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง การเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะแยกการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเหมือนหรือเกือบเหมือนการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 นั้น การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อก็ง่ายคือเลือกพรรคที่ชอบ ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับผลการเลือกตั้งในกรุงเทพฯสักเท่าไร แต่สำหรับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ผลการเลือกตั้งท้องถิ่นในกรุงเทพฯอาจช่วยผู้ประสงค์จะลงคะแนนให้เป็นประโยชน์ได้บ้าง

ในการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯในปี 2556 มีการออกสโลแกนในโค้งสุดท้ายว่า “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” ซึ่งทำให้คะแนนพลิกผันไปนั้น ผู้สัมภาษณ์ถามว่าในการเลือกตั้งปีนี้ จะเกิดปรากฏการณ์เช่นเดียวกันหรือไม่ ผมตอบว่าไม่รู้ แต่ก็เป็นไปได้ที่จะมีการออกสโลแกนเพื่อสร้างความกลัว ที่เหมือนกับความกลัวผี ซึ่งในสโลแกนดังกล่าวใช้สรรพนามว่า “เขา” กระนั้นก็ตาม แม้แต่ในการเลือกตั้งปี 2556 ผมไม่แน่ใจว่าสโลแกนดังกล่าวมีผลจริงอย่างที่คุยหรือไม่ แต่มาคราวนี้ ผมหวังว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะตั้งสติและใช้หลักของกาลามสูตรประกอบกับโยนิโสมนสิการ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ภายใต้เหตุและผล โดยไม่หลงเชื่ออะไรง่าย ๆ

ไม่ทราบว่าผมได้ตอบคำถามที่ตั้งไว้ในตอนต้นว่า “เลือกใครดีเป็นผู้ว่า กทม.” แล้วหรือยัง ถ้าผู้อ่านอยู่ในจำนวนประมาณ 26% ที่ตอบผู้สำรวจความเห็นว่า “ยังไม่ตัดสินใจ” ก็ขอให้ตอบคำถามเอาเองก็แล้วกัน ถ้าบทความนี้ช่วยให้คุณตัดสินใจได้ ก็ขอให้ถือเป็นอานิสงส์ต่อการเมืองกรุงเทพฯของเรา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image