พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : เมืองที่ปลอดภัย และเป็นมิตรสำหรับผู้หญิง

การกำหนดนโยบาย วางแผน บริหารจัดการ และออกแบบเมืองให้ปลอดภัย และเป็นมิตรกับผู้หญิงเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงกันมากในช่วงหลังนี้ ถ้าเทียบกับกระแสของความสนใจเรื่องนี้ในอดีตที่ไม่มีการกล่าวถึงมากนัก หรือไม่ปรากฏเป็นเรื่องเป็นราวในตำรับตำราของการวางผังเมืองและการออกแบบเมือง

กระแสในวันนี้การพูดถึงเรื่องของการบริหารจัดการเมือง (พูดรวมๆ ให้ครอบคลุมทุกอย่าง) ที่เป็นมิตรและปลอดภัยกับผู้หญิงไม่ได้เกิดจากมหาวิทยาลัย หรือจากสำนักผังเมือง และรัฐบาลเมืองเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวของผู้หญิงในเมือง และเกิดจากผู้คนจำนวนไม่น้อยที่รวมตัวกันผลักดันต่อสู้และลงมือเปลี่ยนแปลงในเรื่องของความปลอดภัยและเป็นมิตรของเมืองต่อผู้หญิงด้วย โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของกลุ่มรณรงค์ และกลุ่มเปลี่ยนแปลงเมืองที่สำคัญทั่วโลกทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้ว และในประเทศที่กำลังพัฒนา

สิ่งที่ต้องเริ่มตั้งหลักของเรื่องจากที่ผมลองรวบรวมข้อมูลเร็วๆ ผมพบว่าเรื่องของการพูดเรื่องผู้หญิงกับความปลอดภัยของเมือง และความเป็นมิตรของเมืองนั้น มีรากฐานสำคัญอยู่บนเรื่องสองเรื่อง คือ การทำให้เมืองเป็นของทุกคน (city for all) และการพูดถึงเมืองที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อผู้หญิงในฐานะสิทธิที่จะอยู่และกำหนดการเปลี่ยนแปลงเมืองอย่างมีศักดิ์ศรี (rights to the city)

การเข้าใจเรื่องนี้ต่างจากเรื่องของการออกแบบเมืองที่มองแค่ว่าผู้หญิงเป็น “ลูกค้า” ที่เพียงแค่กำหนดความต้องการแล้วเราก็ไปออกแบบนำเสนอให้ลูกค้ารับงานอย่างพึงใจ เพราะในการพูดเรื่องเมืองที่เป็นมิตรและปลอดภัยกับผู้หญิงนั้น เป็นการพูดท่ามกลางปรากฏการณ์ทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจที่ความสัมพันธ์ทางอำนาจและความรู้ไม่เท่ากัน และเรากำลังมีชีวิตอยู่ในความไม่เท่ากันนั้นด้วย

Advertisement

อีกทั้งเราไม่ได้มองผู้หญิงในเรื่องราวที่ไม่ปลอดภัยและไม่เป็นมิตรของเมืองต่อผู้หญิงในฐานะที่ผู้หญิงเป็น “ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ แต่ไม่มีอำนาจด้วยตัวเอง” ซึ่งเป็นแนวความคิดของพวกนักสังคมสงเคราะห์โบราณ (อารมณ์คุณหญิงคุณนายแบบละครไทย หรือถ้าเป็นตะวันตกก็อาจจะวิจารณ์ว่าเป็นพวกสายผู้หญิงผิวขาวชนชั้นกลางถึงสูง) ที่แม้แต่สายสังคมสงเคราะห์เองก็เลิกความคิดนี้ไปแล้วในวันนี้สิ่งที่เกิดการ “เคลื่อนไหว” ของเรื่องความปลอดภัยและเป็นมิตรของเมืองต่อผู้หญิงมาจากตัวผู้หญิง และผู้ที่สู้เคียงข้างกับผู้หญิงในเรื่องราวของการคำนึงถึงทั้ง “ข้อมูล การวิเคราะห์วิจัย” และการ “รับฟังเสียง” และ “ความรู้สึก” ของผู้หญิง

อย่างไรก็ตาม การจะพูดถึงเรื่องที่เมืองจะปลอดภัยและเป็นมิตรต่อผู้หญิงนั้น ก็ยังมีจุดอ่อนที่สำคัญอยู่ที่ว่าส่วนใหญ่แล้วจะหมายถึงเรื่องของการพูดถึงพื้นที่สาธารณะในเมือง มากกว่าพื้นที่ส่วนตัว เช่น บ้านเรือน และอาคารสำนักงาน หรือที่พักเป็นตึกสูงสมัยใหม่ซึ่งก็ยังเป็นเรื่องที่ผู้หญิงประสบความรุนแรงและล่วงละเมิดได้เสมอ

ดังนั้นในงานออกแบบและการกำหนดนโยบายสมัยใหม่ จึงเริ่มที่จะเข้าไปถึงพื้นที่ที่เคยมองว่าเป็นส่วนตัวเหล่านี้มากขึ้นในระดับหนึ่ง อาทิ การกำหนดให้สำนักงาน หรือตึกที่เรามองว่าเป็นของเอกชน แต่ทำหน้าที่กึ่งสาธารณะเหล่านี้มีลักษณะที่โปร่งโล่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้ข้างในและข้างนอกได้มองเห็นกันมากขึ้น

Advertisement

ด้วยว่างานวิจัยจำนวนหนึ่งพบว่า อาคารบ้านเรือน หรือตึกรามต่างๆ ที่เป็นของเอกชนเอง โดยเฉพาะในย่านที่มีคนร่ำรวย และมีอันจะกินนี่แหละ ที่เป็นส่วนหนึ่งที่ไม่เป็นมิตร และไม่ปลอดภัยกับผู้หญิงเอามากๆ

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นอคติและแฟชั่นสำคัญในการกำหนดนโยบายเรื่องความปลอดภัยและเป็นมิตรของเมืองกับผู้หญิงก็คือ ความเชื่อว่า แสงสว่างจะช่วยให้เมืองปลอดภัย และเป็นมิตรต่อผู้หญิงมากขึ้น งานวิจัยที่ออสเตรเลียกลับชี้ว่า แสงสว่างที่ถนนไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่ทำให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้หญิง และในบางครั้งกลับสร้างความไม่เป็นมิตร และไม่ปลอดภัยให้กับผู้หญิงมากขึ้น เพราะแสงที่สว่างมากเกินไปอาจทำให้ผู้หญิงตาพร่า มองไม่เห็นว่าใครเดินมา และการสาดแสงสว่างลงไปบนถนน โดยไม่คำนึงถึงวัสดุที่ถนนและอาคารโดยรอบอาจทำให้เกิดการสะท้อนแสงได้

ว่ากันว่าการแก้ไขให้เมืองเป็นมิตร และปลอดภัยต่อผู้หญิงนอกจากแสงสว่าง และการเข้าใจระยะการสะท้อนแสงต่างๆ แล้วก็จะต้องหมายถึงลักษณะอาคารโดยรอบที่ไม่มีจุดอันตราย และกำแพงสูง บางเมืองถึงกับกำหนดระยะความสูงของพุ่มไม้ไว้ด้วยว่าต้องไม่สูงเกินหนึ่งเมตร

หมายถึงว่า การใช้แสงสว่างให้ถูกต้องพอเหมาะพอดี ตามหลักการออกแบบต่างหากที่จะต้องนำมาพูดกัน ซึ่งพูดง่ายๆ คือ การจัดความสัมพันธ์ระหว่างแสง สถานที่ วัสดุ และผู้คนที่ใช้สิ่งเหล่านี้นั่นแหละครับ อันนี้แบบงูๆ ปลาๆ เพราะนักออกแบบเมืองท่านจะเรียนรู้และวิเคราะห์รวมทั้งออกแบบได้อย่างลึกซึ้งกว่ามาก

ในอีกด้านหนึ่ง การกำหนดความปลอดภัย และเป็นมิตรนั้นไม่ใช่เรื่องของการกำหนดลักษณะกายภาพแบบแสงและวัสดุเท่านั้น แต่ยังหมายถึงเรื่องของการออกแบบกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะไม่ให้ว่างเปล่า ไปเสียหมด เช่น มองว่าถนนโล่งมีไฟจะนำความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อผู้หญิง นักออกแบบและกำหนดนโยบายพัฒนาเมืองอีกกลุ่มเชื่อว่า ถนนที่มีกิจกรรมตลอดเวลา เช่น ค้าขาย มีหาบเร่แผงลอยกลับทำให้ถนนน่าเดินและปลอดภัยสำหรับผู้หญิงมากกว่า ดังนั้นสิ่งที่ควรพิจารณา คือ การหาความพอดีระหว่างการไม่ให้มีกิจกรรมเอาเสียเลย ในนามของความปลอดภัย และสะอาดเรียบร้อยเป็นระเบียบ กับการจัดระเบียบให้มีกิจกรรมบนถนนแต่พอดี

อีกทั้งความเชื่อที่ว่าจะมีตำรวจเพิ่มขึ้นบนถนนนั้น คนที่เป็นคนสีผิว หรือคนยากคนจนอาจรู้สึกไม่ปลอดภัยเพิ่มก็ได้ หากความสัมพันธ์กับตำรวจไม่ได้ดีตั้งแต่แรก บางเมืองเขาเอาเจ้าหน้าที่ที่ดูแลระบบขนส่งที่ไม่ถืออาวุธ และ มีระบบการจ้างงานที่ดี มาทำหน้าที่ในบริเวณพื้นที่อาคารขนส่งสาธารณะมากกว่า

ทั้งหมดทั้งปวงที่เล่ามานี้จะต้องย้ำอีกเรื่องที่สำคัญ คือ การทำความเข้าใจและสร้างสรรค์เมืองที่ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อผู้หญิงไม่ใช่เรื่องที่เป็นสูตรสำเร็จตายตัว แต่ต้องคำนึงถึงบริบททางวัฒนธรรม ความเป็นท้องถิ่น และ ต้องคำนึงถึงความรู้สึกและเสียงของผู้หญิงเองด้วย กล่าวคือในการพูดเรื่องผู้หญิงกับเมืองนั้นหลายเรื่องไม่ใช่เรื่องของ “ข้อมูล”

แต่เป็นเรื่องเล่า ประสบการณ์ และความรับรู้ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดของผู้หญิงที่มีต่อเมือง และ “โลกภายนอกบ้าน” ของพวกเขา ซึ่งเราเองก็ต้องระวังว่าเวลาที่เราพูดเรื่องนี้เรายังต้องแก้สิ่งที่เกิดในบ้านของพวกเขาด้วย โดยจะต้องไปเหมาว่าในบ้านนั้นผู้หญิงปลอดภัย และบ้านนั้นเป็นมิตรกับผู้หญิงเสมอไป (รัฐบาลเมืองและการจัดการเมืองที่ดี จึงจะต้องไม่หลงลืมเรื่องการพยายามสร้างความเป็นธรรม และยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงในบ้านด้วย)

งานหลายชิ้นที่ผมได้ผ่านตาพบว่า มักจะตั้งต้นว่าในการทำให้เมืองเป็นมิตร และปลอดภัยกับผู้หญิงนั้น จะต้องคำนึงถึงความรู้สึกของผู้หญิงว่าพวกเขานั้นมีความคาดหวังอย่างไร และประสบกับสถานการณ์อะไรบ้าง หรือแม้กระทั่งรับรู้ข่าวสารต่างๆ ถึงกรณีความรุนแรง ไม่ปลอดภัย และไม่เป็นมิตรของเมืองต่อพวกเขาบ้าง ก่อนที่พวกเขาจะก้าวขาออกจากบ้าน

ข้อมูลที่น่าสนใจที่พอจะพูดรวมๆ ได้ก็คือ เมืองนั้นมักเป็นมิตรกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เมื่อวัดจากความรู้สึกถึงความปลอดภัยของแต่ละเพศต่อสถานที่เดียวกัน อันนี้มิพักต้องกล่าวถึงข้อวิจารณ์ที่ค่อนข้างจะรุนแรงมากๆ ว่า การวางผังเมืองนั้นมักจะมีลักษณะที่ “ตาบอดในเรื่องเพศสภาพ” คือเชื่อว่าทุกคนเหมือนๆ กัน แต่ไอ้ความเหมือนๆ กันนั้น อาจจะเป็นความเหมือนกันที่มีแบบอย่างในใจว่า เป็นเมืองที่มีไว้ให้ผู้ชายอายุสักสามสิบนั่นแหละ (เรื่องนี้ผมเจอกับตัวจอนที่พาแม่ไปขึ้นรถไฟฟ้า และในตอนที่ผมเองป่วยหนัก เพราะพบว่าบันไดเลื่อนนั้นเร็วมาก ขึ้นเกือบไม่ทัน หรือบันไดที่ขึ้นลงนั้นชันมาก และลิฟต์อาจไม่ได้มีทุกสถานีในยุคที่ผ่านๆ มา)

นอกจากนี้ ในหมู่ผู้หญิงเองก็พบว่าในสถานที่เดียวกันนั้น ผู้หญิงที่พอมีสถานะทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่ดี หรือเหนือกว่าผู้หญิงที่ยากจน หรือผิวสี (ไม่นับคนพิการ) จะรู้สึกปลอดภัยมากกว่า เรื่องนี้ยังไม่นับรวมประสบการณ์จริงของแต่ละคนที่เกี่ยวข้อง หรือประสบเรื่องราวที่ตนพบกับความรุนแรง ไม่ปลอดภัย และไม่เป็นมิตรของเมืองต่อผู้หญิง ซึ่งก็ไปในทางเดียวกับความรู้สึกที่ได้พูดไปแล้ว คือ ผู้หญิงรู้สึกว่าเมืองไม่ปลอดภัย และไม่เป็นมิตรต่อพวกเขามากกว่าผู้ชาย

ที่ใช้เวลาพูดเรื่องนี้เสียนาน เพื่อจะโยงว่าในการเปลี่ยนแปลงเมืองนั้น ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลและนักผังเมือง หรือออกแบบเมืองเท่านั้น แต่ยังมีขบวนการทางสังคมและกลุ่มกิจกรรมที่รณรงค์ และสร้างความเปลี่ยนแปลงจริง โดยคำนึงถึงเรื่องราวเหล่านี้อย่างกลุ่มนักพัฒนาโปรแกรมใหม่ๆ ที่เรียกว่าแอพพลิเคชั่นในมือถือ ที่เรียกว่า SafetiPin ซึ่งเป็นการสร้างระบบการตรวจสอบพื้นที่สมัยใหม่ (audit) ที่ไม่ใช่แค่การตั้งผู้เชี่ยวชาญพิเศษ หรือ กำหนดตัวชี้วัดความปลอดภัย และเป็นมิตรของเมืองต่อผู้หญิงเท่านั้น

แต่ยังรวมถึงการเปิดให้ผู้หญิงทั้งหลายในเมืองนั้นมาร่วมให้คะแนนความปลอดภัย และเป็นมิตรของเมือง โดยการร่วมกันให้คะแนน และระบุถึงจุดที่ตนรู้สึกปลอดภัย และไม่ปลอดภัยในเมืองด้วย โดยแอพพลิเคชั่นนั้นเริ่มในอินเดีย และยังสามารถเพิ่มจุดต่างๆ ในเมืองทั่วโลกได้ด้วย

การร่วมกันเปลี่ยนแปลง และขับเคลื่อนเมืองด้วยเทคโนโลยีนี้ไม่ใช่เรื่องของความสูงส่ง และชาญฉลาดของเทคโนโลยี แต่หมายถึงการแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์ของผู้คนในเมืองนั้นต่อประเด็นปัญหาต่างๆ โดยมีเทคโนโลยีมารองรับ หรือถ้าพูดแบบภาษาที่นิยมกันสมัยนี้ คือ ไม่ได้บ้าคลั่งว่าเทคโนโลยี คือ ทางออก แต่ต้องเข้าใจความเดือดร้อนของคนในเมืองนั้นๆ (pain point) ให้ได้ก่อน (และไม่ได้หมายถึงว่า เราหาได้ด้วยวิธีการที่เรารู้คนเดียว หรือด้วยเครื่องมือสุดล้ำ) แล้วเสริมอำนาจผู้คนด้วยการสร้างพื้นที่ร่วมให้คนได้มาแบ่งปันทุกสุขและข้อมูลร่วมกัน โดยมีเทคโนโลยีรองรับสิ่งเหล่านี้ให้ได้ และสิ่งเหล่านี้อาจจะขับเคลื่อนจากผู้คนในเมืองเองมากกว่าภาครัฐ และทำให้ภาครัฐเองนั้น มีความคล่องตัวในการรีบตอบสนองต่อเรื่องราวต่างๆ ที่ได้รับจากประชาชนอย่างฉับพลันทันที ไม่ใช่เรื่องแบบการกรอกแบบฟอร์มร้องเรียน ร้องทุกข์เป็นรายๆ แต่เริ่มเข้าใจความหนักหน่วงของปัญหาได้มากขึ้น และรวดเร็วขึ้น และไม่ต้องรอข้อมูลร้องเรียนเป็นรายๆ หรือรอให้เกิดการจัดเก็บโดยภาครัฐ หรือบริษัทที่ปรึกษาที่จ้างมาโดยราคาแพงๆ

การปรับเปลี่ยนเมือง โดยการพยายามสร้างอำนาจให้ผู้หญิงได้มีส่วนร่วมกำหนดปัญหากำหนดความรุนแรง และสำคัญต่อปัญหาความไม่ปลอดภัย และไม่เป็นมิตรของเมืองนี้ ยังช่วยให้ผู้คนกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มข้ามเพศ กลุ่มคนชรา และพิการได้ประโยชน์ไปด้วย

ความเท่าเทียมกัน จึงไม่ใช่การกำหนดและจัดสรรโดยผู้มีอำนาจที่มีมาแต่เดิม แต่หมายถึงการใช้กิจกรรมการเปลี่ยนเมืองเสริมอำนาจให้ผู้คนที่ไร้อำนาจ โดยสร้างทั้งอำนาจใหม่ให้กับคนเหล่านั้น และสร้างการเปลี่ยนแปลงไปในเวลาเดียวกัน ไม่ใช่การนับหัวผู้แทน หรือเจ้าหน้าที่เมือง หรือนักออกแบบเมืองที่เป็นเพศหญิงเท่านั้น หรือมองว่าผู้หญิงมีปริมาณมากกว่าผู้ชายในเมือง

แต่การสร้างเมืองที่ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อผู้หญิงต้องคำนึงถึงกิจกรรม และนโยบายที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของเมืองโดยที่คน (ผู้หญิง) ทั้งหลายมีส่วนร่วมสามารถที่จะกำหนดปัญหา พูดถึงความรุนแรงของปัญหาจากความรู้สึก ประสบการณ์ และความคาดหวัง รวมทั้งร่วมประเมินความเปลี่ยนแปลงของเมืองไปพร้อมๆ กัน

สิ่งที่กล่าวมานี้จะทำให้ผู้หญิงมีความมั่นใจว่า เขาสามารถออกจากบ้านมาในพื้นที่สาธารณะ หรือจากบ้านเข้าสู่เมืองได้มากขึ้น ทั้งจากการมาออกกำลังกาย เดิน หรือใช้ชีวิตบนย่านต่างๆ งานวิจัยพบตรงกันว่าผู้หญิงนั้นไม่รู้สึกปลอดภัยจากการใช้บริการขนส่งสาธารณะมากเท่าผู้ชาย หรือออกมาเดินออกกำลัง หรือปั่นจักรยาน รวมทั้งทำมาหากิน เดินทางไปทำงาน หรือประกอบอาชีพต่างๆ ได้ด้วย รวมกระทั่งห้องน้ำสาธารณะต่างๆ

เรื่องที่กล่าวมานี้สำคัญมากไม่ใช่ว่า พวกเขามีจำนวนในการออกมาทำกิจกรรมน้อยกว่า แต่การเก็บข้อมูลที่ไม่คำนึงแต่ปริมาณของสิ่งที่สังเกตด้วยตาเปล่ามาสู่การให้คุณค่าของความรู้สึกของพวกเขาต่อความปลอดภัยและเป็นมิตร จะทำให้เรามีความอ่อนไหวกับเรื่องราวเหล่านี้มากขึ้น และยังทำให้เมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้นเกิดขึ้นจริง และยั่งยืน

เพราะผู้หญิงไม่ได้เพียงต้องการเมืองที่ทุกอย่างถูกจัดหาให้พวกเขาอย่างสมบูรณ์แบบมาแล้ว (ซึ่งไม่มีทางเกิดขึ้นจริง) แต่เขาต้องการมีทั้งสิทธิ และเสียง ในการเปลี่ยนแปลงเมืองให้มันดีขึ้น ปลอดภัยขึ้น และเป็นมิตรต่อพวกเขามากขึ้นในทุกๆ วัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดูเหมือนอุดมคติ แต่ก็เริ่มเกิดขึ้นจริงในแต่ละพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ ครับ

(เอกสารเพิ่มเติมที่น่าสนใจเบื้องต้นในประเด็นนี้คือ Flaming, A. What would a city that is safe for women look like? Theguardian.com. 13 Dec 2018. What does the ‘new normal’ look like for women’s safety in cities? Theconversation.com. 11 Mar 2020. K.Traver. Etal. Making cities safer for women and girls, Part 1 and 2. urbannet.info. 23 Jul 2017. How to design safer cities for women. Bbc.com. 9 Apr 2021. ActionAid. Urban safety for women in ten countries. Right 2 city.org. Hunt, T. More lighting alone does not create safer cities. Look at what research with young women tell us. Theconversation.com. 28 May 2019.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image