ข้อความจากออง ซาน ซูจี กับการต่อสู้ของประชาชน

นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อต้นปี 2021 ออง ซาน ซูจี และผู้นำพรรค NLD ส่วนใหญ่ถูกควบคุมตัว ไว้ในสถานที่ที่คณะรัฐประหารจัดเอาไว้ อดีตผู้นำรัฐบาลกลุ่มนี้ปรากฏตัวให้เห็นน้อยมาก โดยมากเราจะได้เห็นรูปภาพของคนเหล่านี้ระหว่างการพิจารณาในศาล สำหรับออง ซาน ซูจี เธอปรากฏตัวเพียง 3 ครั้ง ครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม ต่อมาในเดือนตุลาคม และครั้งที่ 3 ในเดือนธันวาคม 2021 การพิจารณาคดีของเธอและคนในพรรค NLD ในคดีที่พรรค NLD ถูกกล่าวหาว่าโกงการเลือกตั้ง แต่เดิมตั้งไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 แต่ก็ถูกเลื่อนออกไปเป็นสัปดาห์หน้า

หากจะวิเคราะห์ท่าทีของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้นำคณะรัฐประหารไม่ต้องการให้สื่อ ผู้นำต่างชาติ เจ้าหน้าที่ระดับสูงองค์การระหว่างประเทศ หรือใครเข้าใกล้ออง ซาน ซูจี ไม่มีใครได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีของออง ซาน ซูจี นอกจากบุคลากรของศาล และคนของคณะรัฐประหาร มีเพียงขิ่น หม่อง ซอ (Khin Maung Zaw) ทนายความของออง ซาน ซูจี เพียงผู้เดียวที่เป็นแหล่งข้อมูลของฝ่ายประชาธิปไตยที่สำคัญที่สุด แต่คณะรัฐประหารกลับออกคำสั่งไม่ให้ขิ่น หม่อง ซอ สื่อสารกับสื่อ นักการทูต องค์การระหว่างประเทศ หรือรัฐบาลต่างชาติ โดยอ้างว่าขิ่น หม่อง ซอ อาจทำให้เกิดความวุ่นวาย และรบกวนความสงบสุขของสังคมได้

หากจำกันได้ บรูไนในฐานะประธานอาเซียนในปี 2021 พยายามกดดันคณะรัฐประหารทุกวิถีทางเพื่อให้เอรีวัน ยูซอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของบรูไน และทูตพิเศษประจำพม่า ใช้ทั้งไม้แข็งและไม้อ่อนเพื่อโน้มน้าวให้คณะรัฐประหารยอมให้คณะทูตของอาเซียนเข้าพบออง ซาน ซูจี และผู้นำพรรค NLD พม่าไม่ได้ใช้วิธีปฏิเสธโดยตรงแบบทันที แต่ใช้วิธีประวิงเวลาประเภท “คุณขอมา แต่เราไม่ตอบสนอง” จนเมื่อบรูไนอำลาตำแหน่งประธานอาเซียน ก็ยังไม่มีใครหน้าไหนที่ได้เข้าพบออง ซาน ซูจี

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายท่านคงอดคิดไม่ได้ว่าออง ซาน ซูจี กลายเป็น “ดินแดนสนธยา” ไปแล้ว เพราะทำยังไงก็ไม่มีทางเข้าถึงเธอได้ เพราะคณะรัฐประหารปิดกั้นโอกาสทุกทาง ไม่ให้ใครเข้าถึงออง ซาน ซูจี
ได้ แม้แต่ผู้นำประเทศในอาเซียนที่พม่าควรจะเกรงใจ แต่เมื่อธงลงมาแล้วว่า “ด่อ ซูของข้าฯใครอย่าแตะ” ก็คงจะไม่มีใครเข้าถึงออง ซาน ซูจี
ได้อีกนาน

Advertisement

ด้วยความที่สังคมพม่าไม่ได้ยินได้ฟังหรือได้เห็นภาพของออง ซาน ซูจี
มานาน ในสัปดาห์นี้เมื่อมีแหล่งข่าวออกมาเปิดเผยว่าออง ซาน ซูจี ส่งเมสเสจให้คนพม่าทั้งผองให้ “สามัคคีกัน” และยังกล่าวต่อว่า “แต่ละคนมีความเห็นแตกต่างกัน และการเจรจาแบบเปิดเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อที่ประชาชนจะได้อภิปรายและพูดคุยอย่างอดทนได้” สังคมพม่าจึงตื่นตัวเป็นพิเศษ แหล่งข่าวที่เปิดเผยข้อความจากออง ซาน ซูจี ไม่สามารถเปิดเผยตัวตนได้ ด้วยคณะรัฐประหารมีข้อห้ามไม่ให้เผยแพร่ข้อความที่ส่งออกมาจากออง ซาน ซูจี ดังนั้น แหล่งข่าวคนนี้จึงไม่สามารถให้เหตุผลได้ว่าเหตุใดออง ซาน ซูจี จึงกล่าวว่าขอให้ผู้คนในพม่าสามัคคีกัน

ข้อความที่ออกมาทั้งสั้นและคลุมเครือ จนบอกไม่ได้ว่าแท้ที่จริงแล้วมีความหมายไปในทางใดแน่ แต่เมื่อพิจารณาสภาพแวดล้อม ที่เธอถูกควบคุมตัวในพื้นที่ของกองทัพ และมีคนในฝั่งของเธอเพียงไม่กี่คนที่ได้รับอนุญาตให้เข้าพบเธอ ก็พอจะเข้าใจได้ว่าเหตุใดข้อความที่ออกมาจึงแทบไม่มีเนื้อหาใดๆ เมื่อความคลุมเครือบังเกิด จึงเกิดการคาดการณ์และคาดเดาว่าข้อความของออง ซาน ซูจี มีความหมายว่าอะไรกันแน่

บางส่วนก็ตีความว่าเธออาจอยากให้กองทัพและฝ่ายประชาชนมาพบกันครึ่งทางและเข้าสู่โหมดการเจรจาเพื่อลดความรุนแรงของสงครามกลางเมืองที่กำลังร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ บางส่วนก็ตีความว่าออง ซาน ซูจี ไม่มีทางกระตุ้นให้ขบวนการฝ่ายประชาธิปไตยยอมเจรจากับกองทัพและคณะรัฐประหารเป็นแน่ เพราะเธอย่อมเข้าใจดีว่าการเจรจาที่เคยเกิดขึ้นระหว่างกองทัพกับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่มไม่เคยประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน และความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

นักการเมืองจากพรรค NLD ที่ไม่ได้ถูกควบคุมตัว หรือที่ถูกปล่อยตัวมาแล้ว ไม่ขอร่วมตีความข้อความของออง ซาน ซูจี เว้นเพียงเน โพน ลัต (Nay Phone Latt) อดีต ส.ส.พรรค NLD จากย่างกุ้ง และปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานของรัฐบาลคู่ขนาน NUG เขายืนยันว่าออง ซาน ซูจี ไม่ต้องการเจรจากับคณะรัฐประหารอย่างแน่นอน และ คีย์เวิร์ดที่ออง ซาน ซูจี กล่าวถึงความสามัคคีน่าจะหมายถึงการเรียกร้องให้ประชาชนทุกภาคส่วนรวมตัวกันเพื่อต่อต้านคณะรัฐประหาร และมีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างสหพันธรัฐใหม่ขึ้น

ไม่มีใครรู้ว่าข้อความที่ถูกส่งออกมามีความหมายที่แท้จริงว่าอะไร แต่แน่นอนว่านี่เป็นข้อความสุดแรร์จากออง ซาน ซูจี ที่สาธารณชนได้ยินจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ ก่อนหน้านี้ ในเดือนกันยายน 2021 เธอส่งสารถึงประชาชนพม่าว่าเธอจะ “ไม่มีทางคัดค้านเจตจำนงของประชาชน” และ “NLD จะคงอยู่ ตราบใดที่ประชาชนยังคงอยู่” ทั้ง 2 ประโยคนี้อาจจะฟังดูมีเนื้อมีหนังกว่าข้อความล่าสุด แต่ก็ยังคลุมเครือ และไม่ได้ชี้ชัดว่าออง ซาน ซูจี มีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของ NUG และกองกำลังฝั่งประชาชนในปัจจุบัน แต่การตีความของคนพม่าส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือต่างมองว่าออง ซาน ซูจี ไม่ได้ขัดขวางการหยิบอาวุธขึ้นมาต่อสู้ หากประชาชนเห็นพ้องต้องกันแล้วว่านี่เป็นหนทางเดียวที่จะนำพม่ากลับไปเป็นประชาธิปไตยได้ แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยืนยันว่าออง ซาน ซูจี คงไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง เพราะเธอเน้นเรื่องหลักอหิงสา หรือการไม่ใช้ความรุนแรง ผู้เขียนมองว่าออง ซาน ซูจี ก็คงจะมีความรู้สึกเหมือนประชาชนทั่วไป ที่มองว่าการหยิบอาวุธขึ้นสู้เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้สังคมพม่าสลัดพ้นจากบ่วงรัฐประหาร และกันกองทัพออกจากการเมืองได้แบบถาวร

และอีกสิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ไม่ว่ากองทัพจะพยายามทำลายพรรค NLD เพียงใด หรือคุมขังออง ซาน ซูจี นานแค่ไหน แต่ต้องยอมรับว่าเธอยังเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยของพม่า เมื่อหลายปีก่อน ประชาธิปไตยแบบพม่าหมุนรอบตัวเธอและพรรค NLD แต่ในปัจจุบัน ขบวนการประชาชนขยายใหญ่ขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และรัฐบาล NUG หรือกองกำลังติดอาวุธฝ่ายประชาชนในนาม PDF เองก็มีผู้นำ ที่ก่อนหน้าที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ผู้เขียนเชื่อว่าหากประชาชนพม่าได้รับชัยชนะในครั้งนี้ การเมืองและสังคมพม่าจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image