สะพานแห่งกาลเวลา : ติดโควิดนานกว่าปี

เมื่อเร็วๆ นี้ มีรายงานข่าวน่าสนใจมากชิ้นหนึ่งจากประเทศอังกฤษ นั่นคือกรณีที่มีการพบคนไข้รายหนึ่งติดเชื้อโควิด-19 รายหนึ่ง ติดเชื้ออยู่นานกว่า 16 เดือน

เข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลเป็นว่าเล่น จนในที่สุดก็เสียชีวิตในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งไปเมื่อปี 2021

รวมระยะเวลาที่ผู้ป่วยรายนี้ติดเชื้อทั้งหมดแล้วนานถึง 505 วัน

กรณีนี้แตกต่างออกไปจากภาวะที่ทางการแพทย์เรียกว่า “ลองโควิด” ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้ที่ติดเชื้อยังคงมีอาการป่วยอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน แม้ตัวเชื้อไวรัสในร่างกายจะถูกกำจัดออกไปหมดแล้วก็ตาม

Advertisement

แต่นี่เป็นการติดเชื้อต่อเนื่องกันยาวนานมาก จนเชื่อกันว่าเป็นสถิติโลก แม้ว่าเราจะไม่รู้จริงๆ ว่ามีผู้ป่วยราย อื่นๆ ที่ติดเชื้อนานกว่านี้หรือไม่

ก่อนหน้านี้เคยมีรายงานข่าวการพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ต่อเนื่องเป็นเวลานานมาหลายราย รายหนึ่งเป็นผู้ป่วยชายสูงอายุชาวอังกฤษชื่อ “เดฟ” ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อถึง 43 ครั้ง รวมเวลาที่ติดเชื้อ 290 วัน

แต่ที่ถูกยึดถือกันว่าเป็นสถิติโลกสำหรับผู้ที่ติดเชื้อ โควิดต่อเนื่องกันนานที่สุดเท่าที่รู้ คือกรณีของผู้ป่วยหญิงรายหนึ่ง อายุ 47 ปีในรัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเพิ่งฟื้นตัวจากการรักษามะเร็ง ที่ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อต่อเนื่องกันนาน 335 วัน

Advertisement

แต่ทั้งสองรายที่ว่า ถูกสถิติของผู้ป่วยนิรนามรายใหม่ในอังกฤษ ทำลายลงอย่างราบคาบ

ผู้ป่วยนิรนามรายนี้ ถูกตรวจพบว่าติดโควิด-19 ครั้งแรกสุดเมื่อต้นปี 2020 หลังจากแสดงอาการแล้วก็เข้ามาพบแพทย์ เมื่อตรวจด้วยเทคนิคพีซีอาร์ ถึงได้รู้ว่าเป็นโควิด

หลังจากนั้น ผู้ป่วยก็เข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลอยู่อย่างต่อเนื่องรวมแล้ว 50 ครั้งด้วยกันในช่วงอีก 72 สัปดาห์ต่อมา แต่ละครั้งก็ถูกทำ พีซีอาร์ เทสต์ แล้วก็พบว่า ยังคงติดเชื้อโควิดอยู่นั่นแหละ

แม้จะให้ยาต่อต้านไวรัสไป ก็ไม่สามารถขจัดเชื้อออกจากร่างกายได้อยู่ดี

หรือเป็นการติดเชื้อซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นไปได้หรือไม่? แพทย์ที่รักษาผู้ป่วยรายนี้ก็เคยสงสัยอย่างนี้ จึงได้นำเอาเชื้อที่ได้จากผู้ป่วยรายนี้ไปจำแนกพันธุกรรม แล้วก็พบว่า เชื้อที่ยังคงอยู่ในร่างกายของผู้ป่วยเป็นเชื้อตัวเดียวกันตลอด ไม่ใช่การติดเชื้อครั้งใหม่แต่อย่างใด

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ร่างกายของผู้ป่วยรายนี้ไม่สามารถกำจัดเชื้อออกไปให้หมดได้เหมือนผู้ติดเชื้อ ส่วนใหญ่ เป็นเพราะระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของผู้ป่วยรายนี้อ่อนแออย่างมาก

ตามรายงานข่าวระบุว่า ผู้ป่วยรายนี้มีโรคประจำตัว “เรื้อรัง” อยู่หลายอย่างเป็นทุนเดิมอยู่แล้วก่อนติดโควิด ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายมีน้อย จนไม่สามารถขจัดไวรัสได้นั่นเอง

ผู้ป่วยรายนี้ เป็นหนึ่งใน 9 ผู้ป่วยโควิดที่ติดเชื้อเป็นระยะเวลานานในอังกฤษ ที่มีทีมแพทย์ นำโดยนายแพทย์ ลูค แบลจดัน สเนลล์ เป็นหัวหน้าทีมนำมาศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วน

นายแพทย์สเนลล์บอกว่า การติดเชื้อต่อเนื่องนานๆ เช่นนี้พบได้ไม่บ่อยนัก แต่มีความสำคัญอย่างมาก จนต้องมีการติดตามใกล้ชิดและวิเคราะห์โดยละเอียด

เพราะการที่ผู้ป่วยปล่อยให้เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 อยู่ในร่างกายนานๆ เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้มันกลายพันธุ์ เป็นพันธุ์ใหม่ที่สามารถหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันของร่างกายคนเราได้นั่นเอง

นายแพทย์ เดวิด สเตรน แพทย์จากสำนักการแพทย์มหาวิทยาลัยเอกเซเตอร์ อธิบายเพิ่มเติมว่า เพราะธรรมชาติของไวรัสชนิดนี้ที่แพร่พันธุ์ด้วยการทำสำเนา อาร์เอ็นเอ ทั้งหมดขึ้นมาใหม่ทุกครั้ง ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการก๊อบปี้ผิดพลาด หรือกลายพันธุ์เกิดขึ้นได้ทุกครั้งที่มีการแพร่พันธุ์

ในบรรดาผู้ป่วยระยะยาวที่เป็นกรณีศึกษาเหล่านี้ ทีมแพทย์ที่ศึกษาพบว่า ไวรัสโควิดในตัวผู้ป่วยบางรายเกิดการกลายพันธุ์ไปแล้ว และเป็นการกลายพันธุ์ในส่วนเดียวกับที่พบเห็นกันในเชื้อกลายพันธุ์อันตรายในเวลาต่อมาอีกด้วย

แต่โชคดีที่ยังไม่มีไวรัสในตัวผู้ป่วยรายใดในทั้ง 9 ราย กลายพันธุ์เป็นไวรัสอันตรายตัวใหม่ขึ้นมาแต่อย่างใด

นายแพทย์สเตรนบอกว่า ที่ถือเป็นโชคดีอีกอย่างก็คือ ในช่วงที่บังเกิดผู้ป่วยที่ติดเชื้อเป็นเวลานานๆ นี้ ไม่มีเชื้อที่แพร่ได้เร็วอย่าง โอมิครอน ระบาด แต่ก็ทำให้เชื่อได้ว่า การติดเชื้อเป็นเวลานานเช่นนี้นี่เอง ที่เป็นสาเหตุให้เกิดการกลายพันธุ์ของไวรัสเป็นสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งสามารถต้านหรือหลบหลีกวัคซีนได้นั่นเอง

รายละเอียดของการศึกษาวิจัยในกรณีของผู้ป่วยที่ติดเชื้อนานที่สุดในโลกรายนี้ ถูกนำเสนอต่อที่ประชุมของสภาการแพทย์แห่งยุโรปว่าด้วยจุลชีววิทยาคลินิกและโรคติดเชื้อ ที่กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

สำหรับใช้เป็นกรณีศึกษาทางการแพทย์ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image