พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : สู่ความเข้าใจเรื่องระบบนคราภิบาล

ในห้วงเวลาของการรณรงค์การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และ ส.ก. ที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ หนึ่งในประเด็นที่มีการพูดกันอยู่บ่อยครั้งก็คือ เรื่องที่วนเวียนว่าตกลงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนั้นมีอำนาจหน้าที่มากน้อยแค่ไหน

แน่นอนว่าผู้ว่าฯกทม. นั้นไม่ใช่ซุปเปอร์แมน นายกรัฐมนตรี หรือประธานาธิบดี แต่ไม่ใช่ไม่มีอำนาจในการทำอะไรสักอย่าง

การอ้างว่า ไม่มีอำนาจทำอะไรเท่าไหร่นักได้กลบเกลื่อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในบ้านในเมืองที่สำคัญเรื่องหนึ่งก็คือ การที่ผู้ว่าฯอ้างว่าทำอะไรไม่ได้มากนัก แต่ผู้ว่าฯทำอะไรไปบ้างหล่ะ แก้ปัญหาไม่ได้ แล้วสร้างปัญหามามากน้อยแค่ไหน และผลักดันให้สิ่งที่เป็นอยู่ไปอยู่ในมือในไม้ของใครบ้าง

เมื่อเรามีสิทธิเลือกตั้งทั้งผู้ว่าฯกทม และ ส.ก. เราไม่ควรหมดหวัง เราต้องเลือกพวกเขาไปทำงาน และกดดันให้พวกเขาทำงาน และเรายังต้องมีอีกหลายเรื่องราวที่จะต้องทำต่อจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และ ส.ก.สิ้นสุดลง

Advertisement

หนึ่งในนั้นก็คือ การผลักดันให้เกิดระบบร่วมกันจัดการปกครองเมือง ที่แปลง่ายๆ จากคำว่า “urban governance” หรือจะแปลให้วิลิศมาหรา มากขึ้นก็คงต้องแปลว่า “นคราภิบาล”

ในสัปดาห์นี้ผมจะขอสรุปความและอภิปรายเพิ่มเติมจากงานของ Mike Raco ที่ว่าด้วยเรื่องของ urban governance (ใน International Encyclopedia of Human Geography. 2nd Edition. Volume 6: 253-257) มา ณ ที่นี้

นคราภิบาล เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการที่มีการสร้างขึ้นมาในระดับการจัดองค์กร และการให้บริการกับประชาชนในเมือง รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานของรัฐต่างๆ กับประชาสังคม (หมายถึง การรวมตัวของประชาชนในการผลักดันประเด็น และร่วมกันบริหารจัดการดูแลเรื่องราวหลายเรื่องในชีวิตของพวกเขาเอง)

Advertisement

ด้วยความเข้าใจนคราภิบาลเช่นนี้ความหมายของมันจึงคาบเกี่ยวไปถึงเรื่องของความเป็นพลเมือง (citizen) ชุมชน (communities) ผู้มีบทบาทในเมืองที่มาจากภาคเอกชน และสมาคม/การรวมตัวในแง่ของการเป็นอาสาสมัคร

อย่างไรก็ตาม ไม่มีความเข้าใจที่ตรงกันทั้งหมดในเรื่องนคราภิบาล บ้างก็สนใจว่านคราภิบาลเป็นแนวคิดและแนวทางการวิเคราะห์ที่เปิดมุมมองใหม่ๆ ในการคิดถึงเรื่องของกระบวนการปกครอง การจัดองค์ประกอบของรัฐบาล การเมืองในระดับเมือง ความพร้อมรับผิด (accountability) และประชาธิปไตย

ขณะที่บ้างก็สนใจในเรื่องของการอธิบายอย่างละเอียดในเรื่องของสถาบันต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมว่าจะต้องมีองค์กรอะไรบ้าง และจะต้องมีระบบการเงินการคลังในการบริหารอย่างไร มีบทบาทอะไร ความรับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ นั้นมีแค่ไหน

ทั้งนี้ มีการลองตั้งคำถามหลักๆ ดูว่าการวิเคราะห์เรื่องระบบนคราภิบาลนั้นเกี่ยวกับอะไรบ้าง

1.ใครคือผู้ที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดวางองค์กร และการนำเอานโยบายไปปฏิบัติในเมือง

2.การตัดสินใจในแต่ละเรื่อง (ซึ่งบ่อยครั้งหมายถึงนโยบาย) นั้นถูกสร้างขึ้น หรือถูกตัดสินใจอย่างไร

3.ใครคือผู้ที่ควบคุมผลประโยชน์ หรือวาระหลักๆ เมืองนั้น และทำได้อย่างไร

4.ในเมืองนั้นมีกระบวนการกำหนดนโยบายหรือไม่ อย่างไร? เรื่องนี้ต่างจากเรื่องที่ว่าตกลงเมืองนี้มีแผนบริหารราชการ หรือแผนพัฒนาไหม เพราะไปจ้างใครทำมาก็ได้ แต่ต้องถามหากระบวนการต่างๆ

5.สถาบันไหน หรือผลประโยชน์อะไร คือสิ่งที่มีอำนาจและทรัพยากรในการกำหนดข้อเสนอ (วาระ) หลักๆ ในนโยบายในเมือง

6.ประชาชนในเมืองนั้นทั้งในฐานะของคนเมืองนั้น หรือในฐานะปัจเจกบุคคล มีอำนาจอะไรในการควบคุมการปกครองเมืองของพวกเขา (และนี่คือสิ่งที่ผมแปลว่า มันมีนัยยะของ “การร่วมกัน” ปกครอง ไม่ใช่แค่การมีรัฐบาลเมือง และจากข้อแรกมาจนถึงข้อนี้ก็คือ การร่วมกันปกครองเมืองจำเป็นต้องมีมุมมองที่เข้าใจ และวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เป็นไปในเมืองด้วย

การให้ความสนใจในเรื่องนคราภิบาล ทำให้เราเริ่มเห็นว่ามีผลประโยชน์อะไรบ้าง ที่มีอำนาจในการตัดสินใจนโยบายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมือง รวมทั้งกระบวนการของการตัดสินใจเรื่องราวของนโยบายที่เกิดขึ้นในเมืองนั้นๆ ซึ่งต่างความเชื่อที่ว่านโยบายเป็นเรื่องของการก่อร่างสร้างทางเลือกที่ดีที่สุด ด้วยชุดเหตุผลที่ปราศจากอคติและผลประโยชน์เหมือนที่หลายคนร่ำเรียนและพร่ำสอนกันมา กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า การสร้าง หรือพัฒนานโยบายในเมืองให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลนั้น ขึ้นอยู่กับการที่ระบบนคราภิบาลของเมืองนั้นถูกจัดระบบในระดับองค์กรอย่างไร ถูกก่อร่างสร้างขึ้นมาอย่างไร และถูกกำหนดด้วยพลังในระดับโครงสร้างอย่างไร

กล่าวอีกอย่างก็คือ การศึกษา หรืออภิปรายในเรื่องนคราภิบาลนั้นทำให้เราต้องสนใจทั้งเรื่องของมิติด้านเทคนิค รวมถึงการจัดระบบราชการของรัฐบาลอย่างไร และในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้เราสนใจในเรื่องของกระบวนการและโครงสร้างต่างๆ ที่ก่อรูปก่อร่างความสัมพันธ์ทางอำนาจ การครองงำ และการอ้างสิทธิอำนาจในการปกครองในเมืองนั้นๆ ยิ่งเมื่อพูดถึงกระบวนการนี้ในระดับเมืองจะพบว่าเมืองนั้นได้รับผลกระทบรู้สึกกันได้อย่างชัดเจนในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และผลจากกระบวนการโลกาภิวัตน์ (ลองดูกรณีทั้งการติดเชื้อ และจากการตกต่ำทางเศรษฐกิจรอบล่าสุดในบ้านเราก็คงปฏิเสธได้ยาก)

นอกจากนี้ เมืองยังเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ และบางทีส่วนที่ยากจน และส่วนที่ร่ำรวยก็อยู่ติดกัน อีกทั้งความหลากหลายของผู้คนในเมือง และการกระจุกตัวของปัญหาในพื้นที่หนึ่งๆ ก็เห็นได้ชัด

ที่ผ่านมาการศึกษาเรื่องของนคราภิบาลยังเชื่อมโยงกับมิติอื่นๆ ที่สำคัญในเรื่องของเมือง ได้แก่

1.การเมืองในเมือง (urban politics) หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มต่างๆ และผลประโยชน์ต่างๆ ในเมือง โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งอำนาจ และอำนาจที่มีระบบความชอบธรรมรองรับ การเมืองนครยังเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของความเป็นตัวตน และความเป็นตัวแทน และกระบวนการของการตัดสินใจที่ทำให้เราเห็นการกำหนดความเป็นตัวแทน และการกำหนดนโยบายขึ้น การเมืองในเมืองนั้นมีทั้งส่วนที่เป็นทางการ คือ การเลือกตั้ง พรรคการเมือง ระบบการสร้างความเป็นตัวแทน ส่วนการเมืองในเมืองในด้านที่ไม่เป็นทางการ ก็หมายถึงการสร้างระบบความสัมพันธ์ทางสังคม และเครือข่ายที่มีในเมืองนั้นระหว่างกลุ่มต่างๆ ผู้มีบทบาทกระทำเรื่องราวต่างๆ และผลประโยชน์ต่างๆ (สิ่งที่ต้องขยายความเพิ่มก็คือ การเมืองในเมืองยังมีมิติของความขัดแย้ง และการครอบงำอยู่ด้วย ที่ Raco ไม่ได้พูดไว้)

2.การเปลี่ยนแปลงวิถีของความเป็นตัวแทนในแบบประชาธิปไตย (changing modes of democratic representation) การพูดถึงนคราภิบาล ในเมืองทำให้เราสนใจเรื่องโครงสร้างของระบบการเมืองและเรื่องที่กว้างกว่านั้น ที่หมายถึงคำถามเกี่ยวกับความเป็นตัวแทนทางการเมือง ความชอบธรรมในมิติของประชาธิปไตย และความพร้อมรับผิดระบบนคราภิบาลที่ทำงานได้ดีจะเป็นทั้งผล และจะช่วยให้เกิดประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ ขณะที่ระบบนคราภิบาลเมืองที่ทำงานได้แย่จะไปลดทอนความชอบธรรม และความสำคัญของความชอบธรรมของประชาธิปไตย และนัยสำคัญของการมีชุมชนในการร่วมปกครองเมืองลง และอาจทำให้คนไม่อยากเข้าไปมีส่วนร่วมกับเมือง ประเด็นตรงนี้รวมไปถึงว่าระบบรัฐบาลเมืองแบบเดิมนั้นเน้นไปที่การเลือกตัวแทนไปทำงานแทนเรา แต่ระบบนคราภิบาลสมัยใหม่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งจากพลเมืองแต่ละคน และการมีส่วนรวมในนามของชุมชนต่างๆ เข้าไปมีส่วนร่วมทางตรงกับการบริหารจัดการเมืองมากขึ้น

3.ความเป็นพลเมือง (citizenship) ระบบนคราภิบาลที่ผู้คนมีส่วนร่วมมากกว่าแค่เลือกตัวแทนเข้าไปทำงานแทนนั้น ทำให้เกิดความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างตัวพลเมืองกับสถาบันที่ปกครองพวกเขา ทำให้เกิดการสถาปนาสมดุลใหม่ของเรื่องสิทธิและความรับผิดชอบ และการวางขอบเขตใหม่ของบทบาทและระเบียบของรัฐ คนในเมืองจะเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้น (active citizen) มีอิสระในทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจที่จะดูแลตัวเองได้มากขึ้น ไม่ต้องรอบริการแย่ๆ ของรัฐ แต่อาจสามารถสร้างสรรค์ระบบการดูแลทรัพยากรสาธารณะได้เพิ่มขึ้น และสร้างทรัพยากรใหม่ๆ ได้เองด้วย

4.ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ (economic competitiveness) ความสัมพันธ์ระหว่างระบบนคราภิบาลกับการพัฒนาเศรษฐกิจมีความเข้มข้นและมีมิติใหม่ๆ เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงเศรษฐกิจใหม่ๆ อาทิ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และความสามารถในการประกอบการ ซึ่งหมายถึงเรื่องของการที่จะต้องมีระบบความสัมพันธ์เชิงเครือข่ายและโครงสร้างต่างๆ ที่สนับสนุนระบบเศรษฐกิจนี้ซึ่งมาจากทั้งสถาบันทางการเมืองการปกครอง และจากประชาสังคม พูดง่ายๆ คือ เมืองนั้นจะต้องมีความยืดหยุ่นและมีความเข้าอกเข้าใจความซับซ้อนต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของเมือง และมีการออกกฎระเบียบและโครงสร้างต่างๆ ที่เอื้อให้ทั้งความสร้างสรรค์และระบบเศรษฐกิจทำงานได้

5.บทบาทที่เพิ่มขึ้นของเอกชนในบริการสาธารณะและรูปแบบใหม่ในความสัมพันธ์ของรัฐและเอกชน (privatization and the new forms of public-private working) โดยที่ระบบนคราภิบาลจะต้องเข้าใจจุดลงตัวว่า ระบบสวัสดิการ และบริการสาธารณะนั้น สามารถถูกบริหารจัดการโดยเอกชนได้
แต่ก็ต้องเข้าใจข้อจำกัดในเรื่องดังกล่าวว่า ระบบบริการของเอกชนนั้นจะมีเป้าประสงค์ และความสนใจในการวัดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลอย่างไร และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (ส่วนนี้ผมจำเป็นต้องมีบทสนทนากับ Raco บ้าง เพราะต้องระมัดระวังว่า ในการพูดถึงนคราภิวัฒน์นั้น เราต้องเน้นตัวประชาชน/พลเมืองเป็นหลัก ไม่ใช่เน้นแต่กำไร และผลประโยชน์ด้านการลงทุนเป็นหลักเท่านั้น

6.ความยั่งยืนของเมือง (urban sustainability) นคราภิบาลจะต้องคำนึงถึงความยั่งยืนของเมืองด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องของโครงการพัฒนาเมืองด้านเศรษฐกิจเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ต้องมาคิดการออกแบบระบบการตัดสินใจ และกำกับดูแลการพัฒนาต่างๆ ในระดับเมือง ไม่ใช่พูดถึงแต่ระบบราชการ หรือตัวกฎระเบียบเท่านั้น ดังนั้น นคราภิบาลที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนจะต้องถูกสร้างขึ้นควบคู่ไปกับโครงการด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

7.การลดบทบาทลงของรัฐ (the hollowing out of the state) การพูดถึงนคราภิบาลในเมืองสะท้อนภาพของแนวโน้มในโลกที่อำนาจเคลื่อนตัวจากรัฐและรัฐบาลในระดับชาติมาสู่ผู้มีบทบาทอื่นๆ ในระดับต่างๆ ทำให้รัฐบาลถูกมองว่าจะต้องเล็กลง และกระฉับกระเฉงขึ้น เพราะตัวกระทำการในระดับภูมิภาค และท้องถิ่นจะมีบทบาทมากขึ้น อีกทั้งยังมีมาตรฐานในระดับสากลเข้ามากำกับจากองค์กรโลกบาล อาทิ องค์กรการค้าระหว่างประเทศ และธนาคารโลก ดังนั้นรัฐจะต้องจัดเรียงสมรรถภาพและความจำเป็นเร่งด่วนในเรื่องต่างๆ ใหม่ เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะในการรณรงค์เรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นใน กทม.ในรอบนี้เราพบว่ามีแต่พูดแค่ว่ารัฐบาลท้องถิ่นทำอะไรได้บ้าง ส่วนกลางครอบงำ และสกัดขัดขวางอะไรได้บ้าง แต่เราไม่ได้ช่วยกันส่งสัญญาณเลยว่า เราต้องการให้รัฐบาลกลางนั้นปล่อยอำนาจ หรือให้อิสระกับท้องถิ่น หรือ กทม.มากขึ้นอย่างไร การรณรงค์เลือกตั้งรอบนี้เหมือนกับจะยอมจำนนกับกรอบโครงสร้างที่มีอยู่ และบางครั้งเหมือนกับจะกลายเป็นฐานค้ำยันว่า ถ้าได้รับเลือกเข้าไปแล้วทำอะไรไม่ได้ก็จะได้โทษว่า เพราะ กทม.ไม่มีอำนาจหน้าที่ต่างหาก

8.การควบคุมทางสังคม (social control) นคราภิบาลนั้นเกี่ยวพันกับเรื่องของการควบคุมทางสังคมที่เป็นคำถามที่ใหญ่กว่าเรื่องการบริหารเมือง เพราะว่าในอดีตนั้นพวกชนชั้นนำมักจะมองว่าเมืองเป็นสถานที่ที่ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยและต้องมีการบริหาร การออกกฎระเบียบ และการควบคุมอย่างเข้มงวด ด้วยการมีระบบนคราภิบาลที่มีประสิทธิภาพก็จะเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการจัดการกับการลุกฮือขึ้นของผู้คนในเมือง เพราะสภาพของเมืองมันแย่ และก็จะส่งเสริมให้กลุ่มต่างๆ ที่มีอำนาจเข้ามาผลักดันให้วิสัยทัศน์ ความต้องการ และการจัดวางลำดับความสำคัญนั้นเกิดขึ้นได้ในนโยบายต่างๆ แต่เราก็ยังต้องตั้งคำถามต่ออีกว่าประชาชนคนอำนาจน้อย และถูกเอาเปรียบมากจะเข้าไปมีส่วนในระบบนคราภิบาลเหล่านี้อย่างไร ไม่ให้นคราภิบาลในเมืองเป็นเพียงเครื่องมือของคนที่ได้เปรียบในเมืองในการใช้เป็นเงื่อนไขในการปกครองประชาชนต่อไป ด้วยรูปแบบและภาษาที่สวยหรู แต่กลวงเปล่า

อาทิ สภาพลเมืองที่อาจมีแต่คนบางกลุ่มบางพวกเข้ามามีบทบาทได้เท่านั้น หรือการมีกระบวนการมีส่วนร่วมแบบจอมปลอม เพื่ออ้างความชอบธรรมว่าได้มีการหารือกับประชาชนมาแล้ว

เน้นย้ำตรงนี้ก็คือว่า คำว่า governance ที่คนไทยชอบใช้ว่าเป็นระบบธรรมาภิบาลนั้นมีการเมือง และคุณค่าอคติอยู่เบื้องหลังตัวมันเอง หมายถึงว่าในด้านหนึ่งแนวคิดนี้มันก่อเกิดมาในช่วงที่แนวคิดเรื่องการปล่อยให้ระบบเศรษฐกิจเสรีนั้นทำงานเป็นหลักในการบริหารบ้านเมือง และให้บริการสาธารณะมากกว่าการให้รัฐในความหมายของระบบราชการทำงาน โดยรากฐานความคิดของระบบธรรมาภิบาลนั้น เชื่อว่าอำนาจนั้นกระจายตัว รัฐบาลนั้นเป็นเพียงผู้ไกล่เกลี่ย ไม่ใช่ผู้เล่น และมองไม่เห็นว่ามีชนชั้นนำทางอำนาจ โดยเฉพาะในเมืองที่อำนาจกระจุกตัวอยู่ในหมู่คนเหล่านั้น และบางทีการใช้อำนาจของคนพวกนี้ก็กระทำอย่างปิดลับ ประชาชนในเมืองนั้นเข้าไม่ถึง

ต่อมางานในยุคใหม่ๆ เริ่มทำวิจัยในกรณีศึกษาต่างๆ และพบว่า ในแต่ละเมืองนั้นมีเครือข่ายอำนาจที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลเมือง หรือบางที่มีเครือข่ายการกำหนดนโยบายที่เข้ามาเกี่ยวโยงกันในบางมิติของการกำหนดนโยบายและแบ่งปันผลประโยชน์กัน และอาจจะโยงไปถึงเรื่องที่มีการทำให้เมืองกลายเป็นจักรกลในการสร้างกำไรจากการลงทุนที่เกี่ยวพันกับเจ้าของที่ดิน หรือบริษัทขนาดใหญ่ และอาจจะมีลักษณะที่ปรับเปลี่ยนระบบ หรือหาเหตุผลให้กับการทอดทิ้งประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยในเมือง โดยการไม่นับรวมพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของเมือง หรือพัฒนาระบบในการควบคุมคนเหล่านี้ในรูปแบบที่ซับซ้อน เช่น การไม่ให้สิทธิการเป็นพลเมืองในเมืองนั้น หรือมองพวกเขาเป็นปัญหาบางอย่างที่ต้องจัดการ อาทิ แทนที่จะมองว่ามีปัญหาบางอย่างในเมืองที่กระทบพวกเขา กลับมองพวกเขาเป็นปัญหา (ยกตัวอย่าง เช่น มองว่า เมืองนี้มีปัญหาที่พักอาศัยไม่เพียงพอ และไม่มีระบบรองรับผู้คนที่หล่นจากระบบ แต่กลับมองว่าคนไร้บ้านนั้น เป็นปัญหาที่ต้องผลักดันกลับไปต่างจังหวัด หรือกลับไปสู่บ้านที่พวกเขามีปัญหาจนต้องออกมา)

ที่กล่าวมานี้จะพบว่า ระบบนคราภิบาลนั้นเป็นแนวคิดที่เต็มไปด้วยการถกเถียงและต่อสู้ต่อรองกัน (contested) ในความหมายที่ว่า มันไม่ใช่สูตรสำเร็จ และระบบเหตุผลที่มีผู้ที่สถาปนาตัวเองเป็นผู้ค้นพบทางรอด และขั้นตอนที่ตายตัว แต่หมายถึงการที่ความแตกต่างหลากหลาย และความขัดแย้ง เอาเปรียบ เสียเปรียบกันในเมืองนั้นจะต้องมาปะทะกันทางความคิด และต่อรองกันว่าเรื่องราวของนครา
ภิบาลนั้นจะต้องเกี่ยวเนื่องกับอะไรบ้าง แต่ละฝ่ายได้มีโอกาสนำเอาความใฝ่ฝันของตัวเองเข้ามาต่อรอง และพยายามโน้มน้าวให้กลุ่มอื่นนั้นยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเห็นว่ามีคุณค่าได้อย่างไร และพยายามเปิดโอกาสไปสู่การท้าทายสิ่งที่คนมีอำนาจบอกว่า “เป็นไปไม่ได้” หรือ “มันมีอยู่หนทางเดียวเท่านั้น” ได้อย่างไร ไม่เช่นนั้นระบบนคราภิบาลนั้นจะกลายเป็นเรื่อง “การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี” ที่เป็นสูตรตายตัว โดยไม่ได้เริ่มต้นที่ความต้องการของประชาชน และการเมืองของพื้นที่ แต่จะไปเป็นเรื่องของหลักการที่ต้องทำให้ได้ตามมาตรฐานที่ถูกกำหนดมาจากผู้กำหนดที่อยู่นอกพื้นที่

พูดอีกอย่างหนึ่ง คือ ในขณะที่บ้านเราสมาทานกับความดีงามของหลักการธรรมาภิบาลโดยไม่ตั้งคำถาม และมีลักษณะที่ต่อต้านการเมือง (anti-politics) คือ มองว่าผิดจากหลักการธรรมาภิบาลไม่ได้ และนักการเมืองมักตัดสินใจไม่ตรงหลักการธรรมาภิบาล เพราะมุ่งเน้นการหาเสียง ขณะที่ระบบธรรมาภิบาลกำกับรัฐได้ดีกว่า เพราะไม่ถูกแทรกแซงจากนักการเมือง ต่างประเทศเขาตั้งคำถามว่า ธรรมาภิบาลนั้นอาจเป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์ของลัทธิเสรีนิยมใหม่ ที่เน้นการทำงานของระบบเศรษฐกิจเสรี และลดทอนสวัสดิการของประชาชน และไม่ให้คุณค่ากับการควบคุมของประชาชนผ่านการเมืองประชาธิปไตย มองการลุกฮือของประชาชนเป็นเรื่องของความวุ่นวาย เชื่อว่าระบบธรรมาภิบาลมีคุณธรรมของตัวเอง สามารถใช้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบได้ตามระบบที่ตั้งเอาไว้ดีแล้ว

สิ่งที่พยายามจะชี้ในสัปดาห์นี้ คือ ระบบนคราภิบาลจะต้องไม่อยู่ในกับดักของธรรมาภิบาลแบบหน้ามืดตามัว และระแวงการเมืองแบบประชาธิปไตย แต่ต้องเสริมส่งระบบประชาธิปไตยที่อาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องตัวแบบเก่าที่เน้นตัวแทน

ระบบนคราภิบาล คือ การร่วมกันทำงาน และร่วมกันตรวจสอบกันและกัน และทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเมืองมากขึ้น และทั้งร่วมมือและตรวจสอบการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และโครงการต่างๆ ของเมืองให้เข้มข้นขึ้น และที่สำคัญที่ตั้งต้นไว้ตั้งแต่แรกก็คือ ระบบนคราภิบาลนั้น คือ เรื่องของมุมมองที่ออกไปจากวิธีคิดเดิมๆ ที่มองว่าการบริหารเมืองเป็นเรื่องของผู้ว่าฯ ส.ก. หรือ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกลาง และท้องถิ่นมาสู่มิติที่ซับซ้อนก่อนที่จะออกแบบทั้งองค์กร สถาบัน ชุดความสัมพันธ์ แบบแผนปฏิบัติใหม่ และคุณค่าใหม่ๆ ในเมืองนั้นๆ ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image