คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : มีอะไรเหลือให้คุย เรื่องการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์บ้าง

ชัยชนะอย่างถล่มทลาย แลนด์สไลด์ หรือจะเรียกว่าอะไรก็ตามของ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้กำลังจะกลายเป็น “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” นี้ เป็นราวกับบทละครที่เขียนโดยโชคชะตา อาจจะตั้งแต่ในวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดวันเลือกตั้งแล้ว

เพราะวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 คือวันครบรอบแห่งการทำรัฐประหารที่เกิดขึ้นวันเดือนเดียวกันนี้เมื่อ 8 ปีก่อน โดยเลขจำนวนปีที่ครบนี้ก็ตรงกับหมายเลขประจำตัวผู้สมัครของอาจารย์ชัชชาติ ซึ่งผู้เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการรัฐประหารในครั้งนั้นด้วย

ในการแถลงต่อสาธารณชนผู้สนับสนุน เมื่อผลการเลือกตั้งเริ่มปรากฏชัดในตอนหนึ่ง อาจารย์ชัชชาติเล่าย้อนอดีตว่า ในวันที่ 22 นี้ เมื่อ 8 ปีก่อน ในเวลาประมาณสี่ทุ่มนี้ เป็นเวลาที่ท่านถูกคณะรัฐประหารควบคุมตัว เอาถุงคลุมหัว จับเข้าไปในค่ายทหาร หากในวันนี้ท่านคือผู้ที่ได้รับความไว้วางใจอย่างถล่มทลายจากประชาชนชาวกรุงเทพฯที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

นี่จึงไม่ต่างจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการเย้ยหยันเหตุการณ์รัฐประหารในครั้งนั้น
คะแนนเสียงที่ชาวกรุงเทพมหานครกาให้อาจารย์ ชัชชาติ (ไม่ว่าด้วยปากกาสีอะไร) ร่วม 1.3 ล้านคะแนนเสียง คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 54 ถือเป็นเสียงข้างมากเด็ดขาดอย่างที่รวมเสียงของผู้สมัครรายอื่นทั้งหมดก็ไม่อาจชนะได้ และชนะทุกเขตด้วยจึงเป็นเหมือนชัยชนะของฝ่ายที่ถูกกระทำ โดยที่เวลาและมหาชนเป็นผู้ตัดสินโดยแท้

Advertisement

คะแนนถล่มทลายเป็นประวัติการณ์ทั้งหมดของอาจารย์ชัชชาตินี้ นอกจากตัวท่านเองและทีมงานแล้ว ไม่มีใครควรจะถือเหมาเอาได้ว่าเป็นคะแนนนิยมหรือชัยชนะของพรรคไหนฝ่ายใดกันแน่ เพราะแม้อาจเป็นไปได้ว่าส่วนใหญ่อาจมาจากคะแนนของผู้นิยมพรรคเพื่อไทยนอกจากที่ไม่ส่งผู้สมัคร และแฟนๆ ของพรรคก็ยังตามเชียร์และเลือกท่านในฐานะของอดีตสมาชิกพรรคคนสำคัญ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าในส่วนนี้ ยังมีคะแนนของผู้คนในฝ่ายประชาธิปไตยที่ไม่ว่าจะนิยมชมชอบในพรรคใด แต่เชื่อมั่นในตัวท่านอาจารย์ชัชชาติ หรือตั้งใจจะเลือกเพื่อให้มั่นใจว่าฝ่ายนี้จะชนะแน่ และต้องรวมถึงคะแนนของผู้คนชาว กทม.ที่เป็นกลางๆ หรือแม้ฝ่ายอนุรักษนิยมที่ไม่ถึงกับหูหนวกตาบอดถึงกับปฏิปักษ์ต่อนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยแบบไม่เลือกหน้า รวมถึงผู้คนที่มีความเชื่อมั่นเชื่อมือ ซื้อนโยบาย “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ของอาจารย์ชัชชาติที่แสดงความตั้งใจจะมาทำงานนี้ โดยเตรียมตัวเปิดตัวมาแล้วร่วมสองปีเช่นกัน

สำหรับผู้สมัคร “ฝ่ายประชาธิปไตย” อีกคนจากพรรคก้าวไกลคือ คุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครหมายเลข 1 แม้ในที่สุดจะมาเป็นอันดับสาม แต่ก็นับว่าเป็นที่สามที่แพ้ที่สองไม่กี่ร้อยคะแนน และคงกล่าวเหมาได้ว่า เป็นคะแนนของผู้ที่เชื่อมั่นในแนวทางของพรรคก้าวไกลได้ทั้งหมด เนื่องจากตัวคุณวิโรจน์และพรรคนี้ไม่เคยมีฐานเสียงกลุ่มผลประโยชน์ใดที่เกี่ยวข้องใน กทม.สนับสนุนเลย รวมทั้งการที่พรรคก้าวไกลที่เพิ่งลงสนามการเมืองท้องถิ่น กทม.เป็นครั้งแรก แต่ได้ที่นั่งในสภา กทม.ไปทั้งหมด 14 จาก 50 ที่นั่ง เป็นรองเพียงพรรคเพื่อไทยซึ่งมีที่มีทางในสนามนี้อยู่แล้ว ก็นับว่าเป็นการปักธงที่สวยงามอีกครั้งที่แสดงถึงความนิยมของคนกรุงต่อพรรคการเมืองนี้หลังจากการเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่

ส่วนผู้ที่อาจจะถือว่าคงผิดหวังและน่าจะผิดคาดไปบ้างสำหรับผู้สมัครฝ่ายประชาธิปไตย คือ น.ต.ศิธา ทิวารี จากพรรคไทยสร้างไทย ที่ได้ไปราวๆ 7.3 หมื่นคะแนน ซึ่งมาเป็นอันดับ 6 รวมถึงจำนวนที่นั่ง ส.ก. ซึ่งได้มาเพียง 2 ที่นั่ง อาจจะทำให้ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จำเป็นจะต้องประเมินกำลังรบในเขตกรุงเทพมหานครใหม่ถ้านับว่านี่คือการหยั่งเสียง

Advertisement

สำหรับผู้สมัครฝั่งที่อาจจะรวมกันเป็นฝ่ายตรงข้ามกับฝ่ายประชาธิปไตย หรือกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมกว่าคือ ผู้สมัครกลุ่มที่มีท่าทีสนับสนุนรัฐบาลปัจจุบัน รวมถึงเคยเห็นดีเห็นงาม หรือได้รับประโยชน์จากการทำรัฐประหารเมื่อ 8 ปีก่อน ได้แก่ผู้สมัครหมายเลข 3 หมายเลข 6 และหมายเลข 7 นั้น ก็ควรต้องยอมรับในความพ่ายแพ้อันยับเยินของพวกตนได้เสียที

จากเดิมที่เขายังคิดว่า “ถ้า” ผู้ที่สนับสนุนผู้สมัครทั้งหมดในกลุ่มของพวกเขาเลือกที่จะลงคะแนนให้ใครคนใดคนหนึ่งสักคนเดียวไปเลย ตามยุทธศาสตร์ “ไม่เลือกเราเขามาแน่” และให้คะแนนของผู้สมัครฝ่ายประชาธิปไตยเฉือนแย่งกันมากกว่านี้ ก็เป็นไปได้ที่ “เรา” (หรือพวกเขา) อาจจะชนะก็ได้

แต่เพราะไอ้ที่ว่า “ไม่เลือกเรา” นี้ก็ยังตกลงกันไม่ได้แม้ในนาทีสุดท้ายว่าตกลง “เรา” นี้จะเป็นใคร ทำให้ไม่มีการเทเสียงรวมกันได้แบบนั้น และเมื่อผลคะแนนปรากฏออกมาแล้ว ก็เป็นอันชัดเจนว่าต่อให้มีการเทเสียงไปรวมกันได้จริงๆ ก็ยังห่างไกลที่จะเอาชนะได้

ทั้งเมื่อรวมคะแนนของผู้สมัครฝ่ายประชาธิปไตยเข้าด้วยกันแล้ว ก็น่าจะพอได้เห็นแล้วว่า ประชาชนคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มีแนวทาง ความคิด และความเชื่อต่อสังคมการเมืองอย่างไร และตอนนี้ฝ่ายของตนที่เคยอวดอ้างว่าเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ หรือแม้แต่คนส่วนใหญ่ของชาวกรุงผู้มีคุณภาพนั้น กลายเป็นคนส่วนน้อยที่แสดงจำนวนแท้จริงออกมาผ่านผลการเลือกตั้ง

คะแนนของ อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครหมายเลข 6 อดีตผู้ว่าฯจากการแต่งตั้งของ คสช. และครองตำแหน่งนี้ยาวนานที่สุดโดยผลของคำสั่งและบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญ กับคะแนนของ สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครหมายเลข 3 ซึ่งรวมกันได้ประมาณ 4.5 แสนคะแนนนั้น นักวิเคราะห์เชื่อว่าคะแนนของผู้สมัครสองเบอร์นี้เป็นคะแนนกลุ่มที่ถ่ายเทให้กันได้ เพราะมีกลุ่มฐานคะแนนเป็นผู้คนที่ยังเชื่อมั่นในแนวทางของ กปปส. กับกลุ่มที่ยังคงสนับสนุนรัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งจะแตกต่างอยู่นิดหน่อยกับคะแนนของรสนา โตสิตระกูล ที่เป็นเหมือนตัวแทนของกลุ่มพันธมิตรซึ่งแสดงออกมาอย่างชัดเจนผ่านผู้สนับสนุนหน้าเดิมๆ อย่าง จำลอง ศรีเมือง และ พิภพ ธงไชย และยังหาเสียงในแนวทางเก่าๆ แต่กระนั้นก็ยังคงได้คะแนนเสียงไปถึง 7.9 หมื่น ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว

ทั้งหมดข้างต้นนี้รวมกัน คือสัดส่วนของผู้คนที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นฝ่ายที่ยังเห็นดีเห็นงามกับรัฐบาลและระบบระบอบการใช้อำนาจในปัจจุบันอย่างชัดเจน

ส่วนคะแนนเสียง 2.5 แสนของผู้สมัครหมายเลข 4 สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์นี้ เห็นว่าควรแยกออกมาพิจารณา โดยส่วนหนึ่งน่าจะเป็นคะแนนของผู้ที่นิยมในพรรคประชาธิปัตย์ที่สังกัด ประกอบกับฐานเสียงของการเมืองท้องถิ่นซึ่งพรรคนี้มีฐานเสียงอยู่บ้างแล้ว รวมกับผู้นิยมในตัวเขาเองซึ่งก็คงจะมีพอสมควร ซึ่งถ้าดูเฉพาะเรื่องอันดับจะได้มาเป็นที่สองรองจากอาจารย์ชัชชาติก็ตาม แต่ก็เป็นที่สองที่ห่างจากที่สามไม่กี่ร้อยคะแนนเท่านั้น แต่เมื่อเทียบกับคะแนนของของสกลธี ภัททิยกุล ที่เป็นเหมือนตัวแทนของกลุ่ม กปปส.ที่ได้ไป 2.3 แสนคะแนน และคะแนนของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่ได้ 2.1 แสนคะแนนแล้ว ก็อาจจะเรียกได้ว่า ไม่ได้ถือว่าแตกต่างกันเป็นนัยสำคัญ ซึ่งถ้ามาคิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ ก็จะอยู่ที่ราวๆ 9% กับ 8% เท่านั้น

กับเมื่อไปตรวจผลร่วมกับจำนวน ส.ก.ที่พรรคนี้ได้ที่ 8 ที่นั่ง สรุปก็อาจจะนับได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ก็คงยังไม่ตายสมดังฉายา “แมลงสาบ” (ซึ่งเป็นคำของ ศ.กนก วงษ์ตระหง่าน อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอขึ้นเองเพื่ออธิบายความเป็นพรรคที่ไม่ยอมสูญพันธุ์ง่ายๆ) แต่ก็ไม่ได้เรียกว่ากลับมาเกิดได้เต็มปาก กระนั้นก็ยังนับว่าเป็นกลุ่มก้อนทางการเมืองที่แม้จะอยู่คนละฝ่ายกับฝั่ง “ประชาธิปไตย” แต่ก็ใช่ว่าจะสนับสนุนฝ่ายที่มีอำนาจอยู่ในขณะนี้แบบตรงไปตรงมานัก ด้วยว่าพวกเขาก็ยังคงถือว่ามีกำลังในมือพอที่จะต่อรองได้

คะแนนคร่าวๆ ไม่เป็นทางการทั้งหมดนี้ คือภาพแทนของสัดส่วนคะแนน ที่อาจจะสะท้อนทั้ง “พลัง” และ “อิทธิพล” ของพรรคการเมือง และสัดส่วนของผู้มีความคิดทางการเมืองที่มีพลังขับเคลื่อนพอที่จะออกไปเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาใน กทม.

สุดท้ายนี้ นอกจากเรื่องผลการเลือกตั้งแล้ว ก็ยังมีประเด็นข้างเคียงที่อยากฝากและตั้งข้อสังเกตไว้ คือ พัฒนาการของปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเชิงจิตวิทยาที่เรานิยมเรียกกันว่า “IO” ที่ในรอบนี้มาอย่างเหนือชั้นกว่าที่เราเคยพบเห็น หรือที่จับได้ว่ามาจากพวกที่ได้เบี้ยเลี้ยง 100-300 บาท ก่อนหน้าอยู่มาก

โดย IO ที่ได้พบในการเลือกตั้งครั้งนี้มีการทำงานที่แนบเนียนขึ้นตั้งแต่การสร้างข้อมูลระบุตัวตน (Profile) ได้คล้ายน่าจะมีตัวตนอยู่จริงมากขึ้น โดยมีการขโมยดึงเอารูปภาพของบุคคลที่มีตัวตนจริงมาใช้ประกอบโปรไฟล์ดังกล่าวด้วย ตลอดจนข้อความที่ใช้แม้จะมีลักษณะเป็นการก็อปไปแปะรัวๆ อยู่ดีก็ตาม หากก็ถูกเขียนแต่งอย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น

รวมทั้งในการเข้าไปปฏิบัติการโจมตี ก็มีกลยุทธ์ที่มีเป้าหมายชัดเจนและรวดเร็ว เช่น ครั้งหนึ่ง ที่
รศ.ธงทอง จันทรางศุ อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรมและอินฟลูเอนเซอร์คนดังรุ่น 70 ประกาศสนับสนุน
อาจารย์ชัชชาติผ่านทาง Facebook ส่วนตัว หลังจากนั้นภายในไม่ถึง 10 นาที ก็ปรากฏกองทัพ IO ที่ว่าแห่กันเข้าไปถล่มอาจารย์ได้ทันที แถมยังใช้กลวิธีวางกับดักให้ดูเหมือนกับว่าคนที่เข้าไปโจมตีเป็นกองหนุนของผู้สมัครอีกท่านหนึ่งเพื่อให้กองเชียร์ของทั้งสองฝ่ายทะเลาะกันด้วย ก่อนจะมีคนสังเกตว่า บัญชีแปลกปลอมเหล่านั้นล้วนแต่เข้ารูปแบบที่น่าจะเป็น IO ทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะจัดตั้งวางแผนกันได้แนบเนียนขนาดไหน แต่เพราะการที่จะต้องสร้างตัวตนจำนวนมาก ทำให้ในที่สุดแล้วบัญชีน่าสงสัยเหล่านั้นก็จะมีรูปแบบบางอย่างที่ซ้ำกัน หรือมีการทำงานที่ผิดพลาดให้จับสังเกตได้อยู่ดี โดยปรากฏการณ์ IO เกือบฉลาดนี้ ก็ทำให้อาจจะต้องระวังจับตาว่า เราจะได้เจอการใช้กลยุทธ์ช่องทางออนไลน์ในลักษณะนี้ได้อีกครั้งในเวทีการเลือกตั้งระดับชาติที่จะมาถึงนี้ ถ้าเรามองว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. คือการหยั่งเสียงทดสอบพื้นที่ฐานเสียงของพรรคการเมืองแล้ว การออกปฏิบัติของ IO ที่ได้เห็นนี้ ก็อาจถือเป็นการลองลงปฏิบัติการในสนามจริงครั้งแรกเพื่อเก็บข้อมูลไปใช้เพื่อการปรับปรุงปฏิบัติการในขั้นต่อไปก็ได้

สุดท้ายนี้ ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่าทำไมพวกเผด็จการจึงกลัวการเลือกตั้ง และพยายามเยื้อยุดการเลือกตั้งไม่ว่าจะระดับใดไว้ให้นานที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

เพราะเมื่อใดก็ตามที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ส่งเสียงของตนผ่านกลไกการออกเสียงที่อิสระและยุติธรรมพอ และการออกเสียงนั้นมีผลมีนัยทางกฎหมายและการเมือง เมื่อนั้นอำนาจบาตรใหญ่จากไหนก็ยากที่จะเอาชนะได้ง่ายๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image