ที่เห็นและเป็นไป : ประเพณีที่แข็งแกร่ง

ที่เห็นและเป็นไป : ประเพณีที่แข็งแกร่ง

 

ประเพณีที่แข็งแกร่ง

เป็นอันว่า “พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566” ผ่านวาระแรกของสภาผู้แทนราษฎรไปแบบสะดวกดาย ด้วยคะแนน เห็นด้วย 278 เสียง ไม่เห็นด้วย 192 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง

เหมือนกับเป็นเรื่องธรรมดาที่ก่อนจะมีการบรรจุ “พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย” เข้าสู่วาระ ส.ส.แต่ละฝ่ายจะต้องออกมาแสดงความกราดเกรี้ยวถึงความไม่ชอบมาพากล ความไม่เหมาะสมที่จะทำให้การพัฒนาประเทศมีปัญหาหากปล่อยให้ผ่านไปบังคับใช้

Advertisement

และครั้งนี้ดูจะดุเดือดกว่าครั้งไหน ด้วยที่ผ่านๆ มามีแต่ที่ออกมาโจมตีหนักหน่วง และแสดงท่าทีไม่เอาด้วยกับรัฐบาลจะมีเฉพาะฝ่ายค้านเท่านั้น แต่ครั้งนี้บางกลุ่มที่ยังร่วมรัฐบาลแสดงออกในทางต่อต้านไม่ต่างกัน

จนเกิดความเชื่อว่าการพิจารณา “พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย” รอบนี้ น่าจะมีอะไรผิดแผกแตกต่างกว่าที่ผ่านมาให้ได้เห็น

แต่ที่สุดแล้วผู้ที่ติดตามการทำหน้าที่ของ ส.ส.ในสภาก็ได้รับรู้ว่า การสร้างให้เกิดความเชื่อก่อนอภิปรายกับความจริงที่เกิดขึ้น ไม่ได้ไปในทางเดียวกัน

Advertisement

อาจจะเป็นเพราะ ส.ส.ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล ต่างอยู่ในวัฒนธรรมเดียวกัน

คือ ส.ส.ทุกคนนอกจากหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลแล้ว ยังมีภารกิจสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือผู้ผลักดันโครงการต่างๆ ในนามของการพัฒนาในพื้นที่เขตเลือกตั้งที่แต่ละคนลงสมัคร ซึ่งจะว่ากันให้ตรงๆ คือ “ส.ส.ทุกคนมีฐานะเป็นเจ้าของโครงการต่างๆ ที่จะโชว์ให้ประชาชนเห็นผลงาน”

ความหมายของโครงการเหล่านั้น ไม่เพียงได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำให้ประชาชนเท่านั้น แต่ ส.ส.ทุกคนยังได้เครดิตเป็นศูนย์กลางที่ข้าราชการต้องมาติดต่อประสานงาน

ซึ่ง “ทุกโครงการต้องผ่านการใช้งบประมาณจาก พ.ร.บ.นี้”

ด้วยความเป็นจริงที่ทุกคนมีผลประโยชน์ร่วมใน “งบประมาณแผ่นดิน” เช่นนี้เอง ทำให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างที่เคยเป็นมา

อย่างไรก็ตาม หากได้ติดตามการอภิปรายในสภา 2-3 วันที่ผ่านมา จะพบว่าแม้เนื้อหาสาระ และท่าทีการอภิปรายของฝ่ายค้านจะไม่เป็นการต่อต้านแบบเอาเป็นเอาตายเหมือนการตีปี๊บเรียกความสนใจก่อนการอภิปราย

แต่การอภิปรายครั้งนี้มีความน่าสนใจอยู่ที่ แม้จะเป็น “ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล” ก็ยังออกมาชี้ให้เห็นความไม่เหมาะไม่ควรในหลายเรื่องของการจัดสรรงบประมาณ ทั้งในทางไม่เกิดคุณประโยชน์กับสภาวะที่เป็นไปของประเทศในปัจจุบัน และการจัดสรรที่เป็นธรรม เทงบประมาณไปตามอำนาจบารมีของผู้ผลักดันมากกว่าจะกระจายอย่างเหมาะสมต่อปัญหา และโอกาสในการพัฒนาประเทศ แม้ส่วนใหญ่จะเป็นการตัดพ้อถึงการที่ในเขตเลือกตั้งของตัวไม่ได้รับงบตามที่เรียกร้องก็ตาม

แต่ถือได้ว่าเป็น “ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ” ที่ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ซึ่งหากเป็นปกติ “พ.ร.บ.” ที่สร้างความขัดอกขัดใจต่อผู้มีหน้าที่ยกมืออนุมัติให้ผ่านอย่างกว้างขวางเช่นนี้ ไม่น่าจะผ่านการพิจารณาไปได้

แต่อย่างที่บอก เพราะผลประโยชน์ร่วมกันของ ส.ส.ทุกคนทำให้ทุกอย่างทำได้แค่เหมือนที่เคยเป็นมา

คือไม่ว่าจะไม่น่าพอใจสักแค่ไหน รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณไม่เหมาะสมกับการสร้างอนาคตที่หวังได้ของประเทศ และชีวิตประชาชนอย่างไร ส.ส.ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบก็ได้แต่ยกมือให้ผ่าน เมื่อนึกถึงประโยชน์ที่ตัวเองร่วมได้รับ

งบประมาณที่มาจากภาษีเงินประชาชน และเงินกู้ที่เป็นภาระของลูกหลานในอนาคต แม้ทุกคนจะเห็นอยู่ตำตาว่าเป็นการจัดสรรที่ทั้งไม่เป็นธรรม ไม่เหมาะสมต่อพัฒนาในทิศทางที่เป็นความหวังต่อทิศทางอนาคตของประเทศ

แต่ไม่ว่าจะตำตาแค่ไหน ส.ส.ก็ยังไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องรับผิดชอบมากไปกว่าชี้ให้เห็นความไม่ชอบมาพากล

เมื่อต้องตัดสินใจด้วยการโหวตให้ผ่าน ส.ส.เลือกที่จะเห็นแก่ผลประโยชน์เฉพาะหน้ามากกว่าความชอบธรรม และเหมาะสม

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image