เล่าเรื่องหนัง : หนัง-ละคร ความหลากหลายทางเพศกระแสที่กำลังเบ่งบานในโลก

เล่าเรื่องหนัง : หนัง-ละคร ความหลากหลายทางเพศกระแสที่กำลังเบ่งบานในโลก

 


หนัง-ละคร ความหลากหลายทางเพศ

กระแสที่กำลังเบ่งบานในโลก

ช่วงเดือน Pride Month เพื่อสนับสนุนตัวตนอัตลักษณ์วิถีของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQN+) ทั่วโลก เลยอยากชวนเล่าถึงวงการหนังซีรีส์ LGBTIQN+ ให้ฟัง ซึ่งทุกวันนี้เรื่องราวหนังละครที่มีตัวละครหลักเป็นเพศที่สาม เพศทางเลือกมีมากมาย ด้วยกระแสของคนรุ่นใหม่เองที่เปิดใจและมีรสนิยมในการชมเรื่องราวเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นจนเป็นกลุ่มกระแสที่เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ จนแม้แต่วงการบันเทิงไทยยังต้องปรับตัวให้ทันกระแสคนดูรุ่นใหม่

Advertisement

อย่างไรก็ตาม มีการแสดงให้เห็นเรื่องราวของเพศทางเลือกในภาพยนตร์มาตั้งแต่ร้อยกว่าปีก่อน หนังตลกของชาร์ลี แชปลินเองก็มีการนำเสนอให้เห็นตัวละครข้ามเพศ แต่ก็ถูกเล่าในมุมตลกขบขัน

อีกจุดสำคัญคือ ประวัติศาสตร์ในอดีตภาพยนตร์ในหลายประเทศก็ผ่านประเด็นการเซ็นเซอร์มากบ้างน้อยบ้างตามแต่ระดับอคติที่แตกต่างกันของแต่ละสังคม รวมทั้งในอดีตที่สังคมส่วนหนึ่งยังไม่ใจกว้างเปิดรับวงการบันเทิงในหลายประเทศยังกีดกันเรื่องราวทำนองนี้ สารที่ผู้สร้างหนังแตะไปถึง LGBTIQN+ จึงนำเสนอแบบต่างๆ เพื่อเลี่ยงการถูกเซ็นเซอร์ ทำให้เรื่องราวดูเสมือนเข้ารหัสไว้กลายๆ หรือถ้าเปิดเผยช่วงใดช่วงหนึ่งตัวละครเพศที่สามก็มักถูกใส่มาเพื่อสร้างเสียงหัวเราะ

แม้แต่หนังฮอลลีวูดที่ถือเป็นภาพยนตร์กระแสหลักของโลก ในยุคแรกๆ ก็มีการเซ็นเซอร์ และมีข้อกฎหมายในอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างเคร่งครัด จนดูเหมือนว่าฮอลลีวูดเองก็อคติต่อเรื่องราวของเพศวิถีเช่นกัน ขณะที่บางประเทศในยุโรปอย่างเยอรนีเริ่มผ่อนคลายกับประเด็นลักษณะนี้ได้ตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เลย ซึ่งในทศวรรษที่ 30 เยอรมนีก็มีละครแปลกใหม่ในยุคนั้นแล้วว่าด้วยเด็กนักเรียนหญิงตกหลุมรักครูผู้หญิง ซึ่งต่อมาในยุคนาซีก็มีการพยายามกวาดล้างทำลายฟิล์มละครเรื่องนี้ในทุกก๊อบปี้ เพราะด้วยว่าเนื้อหาที่พูดถึงเพศทางเลือกรวมทั้งมีธีมต่อต้านเผด็จการ แต่ที่สุดก็ยังรอดหลงเหลือมาได้

ส่วนวงการหนังฮอลลีวูดนั้นกว่าจะเริ่มเปิดให้ตัวละครเพศที่สามมีบทบาทเป็นตัวเอกในหนังได้ก็ข้ามมาถึงช่วงทศวรรษที่ 60 ซึ่งหนังที่ถูกยกเป็นกรณีศึกษาเรื่องแรกๆ คือ “The Children’s Hour” ในปี 1961 ซึ่งหนังเรื่องนี้มีเรื่องราวของหญิงรักหญิง แต่ถ้าจะย้อนไปไกลกว่านั้นมีหนังอีกหลายเรื่องที่ชวนถูกตีความว่าเป็นเรื่องราวของเพศทางเลือก เพียงแต่มีการเข้ารหัสไว้แบบที่ต้องไปตีความภาษาหนังกันเอง ไม่ว่าจะเป็นหนังเรื่อง “Wings” ที่มีภาพการจูบเพศเดียวกันครั้งแรกบนจอในฉากทหารหนุ่มจูบปากเพื่อนที่กำลังจะตายด้วยความเสียใจ ซึ่งด้านหนึ่งก็มองว่าเป็นการแสดงออกเชิงมิตรภาพปกติทั่วไปของทหารที่กำลังสูญเสียเพื่อนร่วมเป็นร่วมตายในการสู้รบช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือหนังอย่าง “Pandora’s Box” ที่มีตัวละครหญิงถูกตีความว่าอาจเป็นตัวละครเลสเบี้ยนคนแรกที่ถูกให้ภาพชัดที่สุดในโลกภาพยนตร์ แต่หนังก็ดูจะเลี่ยงๆ ใช้วิธีนำเสนอว่าเป็นตัวละครหญิงที่มีเสน่ห์ทั้งกับเพศชายและเพศหญิงด้วยกัน

Boys Don’t Cry
Boys Don’t Cry

สำหรับฮอลลีวูดช่วงยุค 70 ก็เริ่มมีค่ายหนังที่เปิดกว้างกับเรื่องราวเพศทางเลือกเพิ่มขึ้น แม้จะยังไม่แพร่หลาย กระทั่งช่วงยุค 90 ก็เกิดกลุ่มคลื่นลูกใหม่ของคนทำหนังในนามของ “New Queer Cinema” ที่สร้างหนังเพศทางเลือกในรูปแบบหนังอินดี้ หนังอิสระ เข้ามาฉายในโรงภาพยนตร์ได้ อาทิ Poison (1992), Bound (1996), Paris Is Burning (1990), My Own Private Idaho (1991), The Crying Game (1992), Go Fish (1995), Boys Don’t Cry (1999) และอื่นๆ อีกมากมาย

Call Me By Your Name
Call Me By Your Name
Paris Is Burning
Paris Is Burning

ความรุ่งเรืองนี้ส่วนหนึ่งก็มาจากบรรดาคนสร้างหนังรุ่นใหม่สายอินดี้ในยุคนั้นหลายคนก็เป็นกลุ่มเพศทางเลือก รวมถึงกลุ่มที่สนับสนุนสิทธิของ LGBTIQN+ นั่นทำให้พวกเขาเลือกจะสร้างหนังเพื่อสะท้อนตัวตนและเปิดพื้นที่ที่จะเล่าเรื่องบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างเห็นอกเห็นใจ อย่างไรก็ตาม ขบวนการ New Queer Cinema ก็เงียบซาหายไปเมื่อเข้าสู่ช่วงต้นยุค 2000

ในฐานะที่ฮอลลีวูดเป็นหนังกระแสหลักของโลก และการมีอยู่ของ New Queer Cinema ในอดีตที่ถือเป็นขบวนการภาพยนตร์ใต้ดินตั้งแต่ยุคต้นทศวรรษ 90 ได้สร้างสีสันให้ภาพยนตร์ LGBTIQN+ มีบทบาททั้งในแวดวงศิลปะ ธุรกิจ และการเมือง ซึ่งหนังของพวกเขาได้แสดงให้เห็นถึงการต่อต้านทัศนคติแบบฮอลลีวูด และให้ภาพชีวิตของกลุ่มเพศหลากหลายที่ดูเป็นจริง และยังส่งต่อพลังให้ผู้สร้างหนังคลื่นลูกใหม่ได้ทดลองรูปแบบการเล่าเรื่องใหม่ๆ และสำรวจประเด็นต่างๆ เช่น เชื้อชาติ ชนชั้น อัตลักษณ์ทางเพศภายในวัฒนธรรม LGBTIQN+ ซึ่งหลายเรื่องก็ได้รับเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์

วันนี้คลื่นลูกใหม่ของหนังเพศทางเลือกในวงการฮอลลีวูดก็ยังมีต่อเนื่อง หลายเรื่องก็ได้รับรางวัลและเป็นขวัญใจทั้งนักวิจารณ์และคนดู ถูกพูดถึงในแง่ความสำเร็จทั้งรายได้และฝีมือ อาทิ

“Call Me By Your Name”, “Moonlight” ซึ่งเรื่องหลังนี้ ถือเป็นภาพยนตร์ LGBTIQN+ เรื่องแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และยังนำแสดงโดยนักแสดงผิวดำ ถือเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่ง

Moonlight
Moonlight

มีความก้าวหน้าอย่างมากในสิทธิของ LGBTIQN+ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องเพศทางเลือกในภาพยนตร์และซีรีส์ถูกพูดถึงในหลายแง่มุมหลายมิติ และเริ่มมีที่ทางของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่บางประเทศที่อนุรักษ์นิยมสูงและยังต่อต้านประเด็นนี้ในงานบันเทิงก็เริ่มเปิดให้มีตัวละครเพศทางเลือกมาทีละน้อยในผลงานกระแสหลัก

ส่วนบ้านเรานั้นทั้งหนังและซีรีส์เพศทางเลือกมีให้ดูมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดความนิยมขยายในหมู่คนดูรุ่นใหม่เพิ่มสูงขึ้น และมีแนวโน้มจะเป็นอีกหนึ่งกระแสสำคัญ ซึ่งจะว่าไปมันก็เป็นไปตามนาฬิกาของโลกเมื่อคนรุ่นใหม่เปิดใจกับเรื่องเหล่านี้ ในแง่การสร้างความบันเทิงแบบพาณิชย์ศิลป์มาตอบโจทย์ก็ทำให้กระแสนี้เบ่งบานมากขึ้นทุกที

ติสตู
(ภาพประกอบ Internet)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image