พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ : การผสมกันของการเมือง กับความบันเทิง (politainment)

การพูดถึงการผสมกันของการเมืองกับความบันเทิง (politainment) มีทั้งมิติที่เราอาจจะพอรับรู้มาบ้าง และมีทั้งส่วนที่เราจะยังไม่เคยนึกถึงมันมาก่อน

ในอดีตนั้นการพูดถึงการผสมผสานกันระหว่างเรื่องของการสื่อสารทางการเมือง (political communication) กับความบันเทิง (entertainment) อาจจะถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยจะดีนัก บางคนอาจจะมองไปถึงขั้นว่าเป็นเรื่องที่ไม่จริงจัง เป็นเรื่องที่มุ่งหมายวัตถุประสงค์บางอย่างที่นอกเหนือไปจากเรื่องของการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล อีกทั้งการเมืองนั้นจะต้องเป็นเรื่องของความจริงจัง ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

ที่กล่าวไปแล้วนี้ก็เลยเห็นได้ว่า การเมืองเชิงบันเทิงนั้นอาจไม่เป็นจุดสนใจของการวิจัย และความสนใจของนักรัฐศาสตร์ และนักสื่อสารทางการเมืองอย่างเป็นจริงเป็นจัง

ในส่วนของการศึกษาด้านสื่อ การพูดถึงการนำเอาความบันเทิงเข้ามาเกี่ยวข้องกับการสื่อสารข้อมูลต่างๆ (infortainment) ก็มักจะถูกมองด้วยสายตาที่ดูหมิ่นดูแคลนในระดับหนึ่ง ด้วยมุมมองที่ว่าเป็นการล่อลวงให้ผู้อ่านคลิกเข้ามาดู หรือเป็นการด้อยค่าตัวข่าวหรือข้อมูลข่าวสาร หรือทำให้สนใจเรื่องราวที่ออกมาแนวหวือหวา มากกว่าการพินิจพิเคราะห์อย่างเอาจริงเอาจัง ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นรากฐานของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ โดยในอดีต (จนถึงปัจจุบันด้วย) โทรทัศน์มักถูกวิจารณ์ว่าทำให้ทุกเรื่องเป็นเรื่องของความดราม่า ทำให้ตื้นเขิน และทำให้เรื่องของการเมืองเป็นเรื่องเกี่ยวกับบุคคล หรือวุ่นวายแต่เรื่องส่วนตัวของนักการเมือง

Advertisement

นอกจากนี้แล้วการมองว่าการเมืองเชิงบันเทิงและการนำความบันเทิงเข้ามาเกี่ยวข้องกับการสื่อสารข้อมูลที่จริงจังยังถูกมองว่าไม่ได้มีแต่ในโทรทัศน์ แต่ยังมีในนิตยสารและหนังสือพิมพ์ ซึ่งท่วมท้นไปด้วยความสนใจเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว เรื่องอาชญากรรม เรื่องข่าวลือ และเรื่องของคนที่มีชื่อเสียงที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง หรือพูดอีกอย่างว่าเป็นเรื่องของการ “คุย” และการ “เล่า” ข่าว มากกว่าแค่การเขียนข่าวที่เอาจริงเอาจัง เคร่งครัดและเข้มงวดในภาษาข่าวที่เป็นทางการเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและเป็นกลาง

ขณะที่แนวคิดใหม่ในเรื่องของสื่อชนิดใหม่ที่เป็นการผสมผสานระหว่างความบันเทิง กับความเป็นจริงทางการเมืองนั้นค่อยๆ เกิดขึ้นและมีคนสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในสื่อเดิมและสื่อใหม่ ซึ่งสื่อแนวนี้ถูกเรียกว่า “politainment” หมายถึง เป็นการผสมกันระหว่างการเมืองกับความบันเทิง และเป็นการผสมรวมกันของผู้มีบทบาททางการเมือง ประเด็นทางการเมือง และกระบวนการทางการเมืองกับวัฒนธรรมบันเทิงในสังคมนั้นๆ

กระบวนการสองอย่างเกิดขึ้นมาในการเมืองเชิงบันเทิง หรือความบันเทิงเชิงการเมือง (ขึ้นอยู่กับว่าจะมองมุมไหน เพราะมันผสมกัน) กระบวนการที่หนึ่งคือ ความบันเทิงที่เกี่ยวกับการเมือง political entertainment หมายถึงการที่อุตสาหกรรมบันเทิงใช้ประโยชน์จากประเด็นทางการเมืองในหลากหลายรูปแบบ และกระบวนการที่สองคือ entertaining politics หมายถึงการทำให้การเมืองเป็นเรื่องบันเทิง ในแง่ที่ว่า ผู้มีบทบาททางการเมืองใช้ประโยชน์จากความมีชื่อเสียงของตนให้มีผลทางการเมือง เช่น การเปิดให้มีการถ่ายรูปด้วย การจัดงานประชุมพรรคให้มีสีสันตื่นตาตื่นใจ การปรากฏตัวในรายการสนทนา (ทอล์กโชว์) โดยผลทางการเมืองไม่ได้หมายถึงแค่ความนิยมของตัวเอง แต่อาจหมายถึงการรณรงค์ให้ประเด็นบางประเด็นได้รับความสนใจจากประชาชนก็ได้

Advertisement

กระบวนการจากทางฝั่งอุตสาหกรรมบันเทิงหรือสื่อ กับผู้มีบทบาททางการเมืองที่มีชื่อเสียงจะมีการทับซ้อนและเอื้อประโยชน์กัน แน่นอนว่าผู้มีบทบาทและมีชื่อเสียงก็ได้ประโยชน์ สื่อเองก็ได้ประโยชน์เพราะสามารถโชว์บารมีได้ว่าจะสามารถเชิญใครมาออกได้บ้าง

ยังไม่มีการตกลงร่วมกันว่าการผสมกันระหว่างการเมืองกับความบันเทิงที่ได้กล่าวมานั้นดีหรือไม่ดีไปทั้งหมด บ้างก็ว่ามันส่งเสริมให้คนสนอกสนใจการเมืองและมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ขณะที่อีกฝ่ายก็เชื่อว่ายิ่งมีการผสมกันระหว่างอุตสาหกรรมบันเทิงและการเมืองของการมีชื่อเสียงเช่นนี้ จะยิ่งลดทอนและด้อยค่าวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนลงให้เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าการใช้เหตุใช้ผล

อย่างไรก็ตาม ก็มีความพยายามจำนวนหนึ่งในวงวิชาการด้านการสื่อสารทางการเมืองที่จะพยายามทำความเข้าใจว่าวัฒนธรรมของผู้คนที่ได้รับความนิยมต่างๆ นั้นสามารถเป็นปริมณฑลที่จะทำให้เกิดความเข้าใจทางการเมือง และสร้างสรรค์กิจกรรมทางการเมืองขึ้นได้ และเป็นแหล่งของความรู้ทางการเมือง การทำความเข้าใจคุณค่าทางสังคมการเมืองที่ซ่อนอยู่ และการมีส่วนร่วมของพลเมือง และทำให้เราเห็นถึงโครงสร้างทางการเมืองและสังคมที่อำนาจที่ครอบงำ/อำนาจนำของสังคมนั้นจะต้องถูกตีความ ถูกต่อรอง และถูกนำเสนอใหม่ รวมไปถึงถูกท้าทายโดยอุตสาหกรรมบันเทิงด้วย

นอกจากนี้แล้วการศึกษาการผสมกันระหว่างการเมืองกับความบันเทิงนี้ ทำให้เราไม่มองการเมืองแต่เรื่องพฤติกรรมการเลือกตั้ง และการจัดการปกครองมาสู่การทำความเข้าใจคุณค่าและอุดมการณ์ทางการเมืองที่ทำงานอยู่ในความบันเทิง เช่น การล้อเลียน การพูดถึงเรื่องสมมุติหรือเรื่องแต่งทางการเมืองที่ทำให้เราเข้าใจความเป็นจริงทางการเมือง หรือมีจินตนาการทางการเมืองได้หลากหลายมิติขึ้น ทั้งในส่วนที่มองเห็นว่าสื่อและอุตสาหกรรมบันเทิงนำเอาเรื่องราวทางการเมืองไปใช้อย่างไร และในแง่ที่ว่าประชาชนนั้นจะสามารถเรียกร้องและพูดถึงสิทธิ และการเข้าไปพัวพันกับการเมือง การมีส่วนร่วมทางการเมือง และการทำให้รัฐบาลพร้อมรับผิดทางการเมืองได้อย่างไร

ในพัฒนาการทางสังคมร่วมสมัยนั้น ตัวอย่างของสังคมตะวันตกซึ่งพอจะก่อให้เกิดการเทียบเคียงกับสังคมเราได้ในระดับหนึ่งก็คือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของอุตสาหกรรมสื่อที่ส่งผลทั้งในแง่ของการรายงานข่าวและการผลิตความบันเทิง และในอีกด้านหนึ่งก็คือการเมืองที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของความงามและความมีชื่อเสียงของตัวนักการเมืองมากขึ้น จากเดิมที่มองว่านักการเมืองต้องมีความเป็นทางการเคร่งเครียด แต่ในปัจจุบันนักการเมืองมีความเป็น “เซเลบ” มากขึ้น

ในบริบทดังกล่าวนี้ในตะวันตกเมื่อสักสี่สิบปีก่อนจะมีการผ่อนปรนเรื่องของกฎระเบียบในการทำสื่อมากขึ้น และมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้สื่อมีปริมาณและรูปแบบมากขึ้น โดยเฉพาะการมีทีวีดาวเทียม และเทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีใหม่ๆ นี้ทำให้การผลิตสื่อนั้นทำได้ง่ายขึ้นและใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เข้าถึงง่ายขึ้น แต่รายได้ของการทำสื่อก็จะลดลงเพราะมีผู้แข่งขันมากราย ความเร่งรีบที่จะรายงานข่าวให้เร็วที่สุดทำให้มิติของการวิเคราะห์ที่ลึกซึ้งทำได้ยาก การรายงานและให้ความเห็นโดยนักวิเคราะห์และผู้ดำเนินรายการนั้นจึงเป็นทางเลือกและทางรอดของวงการ

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการทำข่าวให้ง่ายขึ้น การคุยข่าว หรือที่เรียกว่า soft news เช่น ข่าวในหนังสือพิมพ์ที่เน้นความหวือหวา หรือการทำรายการพูดคุยในตอนกลางคืนดึกๆ ซึ่งเป็นการทำข่าวให้มีลักษณะการรายงานความเห็นทางการเมืองและความรู้ที่เข้าถึงได้จากผู้ที่ไม่ค่อยจะติดตามการเมืองมากนัก

อย่างไรก็ตาม การคุยข่าวเชิงเสียดสีล้อเลียน บางทีก็พูดได้ยากว่าเป็นเรื่องที่ไร้สาระไปซะทั้งหมด เพราะรายการล้อเลียนข่าวบางรายการก็ส่งผลต่อการวิพากษ์การเมืองอย่างหนักหน่วง (อาทิ รายการอย่าง Colbert Report และ The Daily Show ซึ่งออกอากาศในช่องที่ถูกมองว่าเป็นช่องรายการตลก แต่เป็นการที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และนักการเมืองสำคัญๆ ต้องมาออก (อย่างเมืองไทยอาจคิดถึงรายการอย่าง เจาะข่าวตื้น)

ในแง่นี้จากการมองว่าการทำข่าวให้เป็นเรื่องบันเทิงนั้น เป็นเรื่องของการสร้างความตื้นเขินและไม่เอาจริงเอาจังกับข่าว บางทีอาจจะต้องมาตีความกันใหม่ว่าความบันเทิงในรายการข่าวบางอย่างนั้น หากพิจารณาในบริบททางสังคมการเมืองบางที่แล้ว อาจจะเป็นช่องทางเดียวที่เปิดโลกให้กับผู้คนในสังคมนั้น และเป็นการวิจารณ์ที่ลึกซึ้งแหลมคมก็อาจเป็นได้ และอาจกลายเป็นการหยิบยื่นอาวุธทางปัญญาให้กับผู้คนในการคิดและทะลุกรอบของสิ่งที่พูดไม่ได้หรือคิดไม่ถึงในสังคมนั้น

กล่าวโดยสรุปก็คือ การผสมระหว่างการเมืองกับความบันเทิงในวันนี้อาจไปได้ไกลขึ้นกว่าการที่อุตสาหกรรมบันเทิงนั้นเอาเนื้อหาทางการเมืองมาดึงดูดผู้ชม หรือนักการเมืองพึ่งพาอุตสาหกรรมบันเทิงในการสร้างภาพของตัวเอง มาเป็นเรื่องของการเติบโตของรายการทางการเมืองแนวใหม่ๆ ที่ไม่ได้มีแค่ในโทรทัศน์ แต่กระจายไปในสื่ออื่นๆ ที่บ่อยครั้งนั้นสามารถทลายมายาคติของอำนาจในสังคมในหลายชั้น หลายกรอบ จนถึงขั้นกลายเป็นพื้นที่ใหม่ๆ ในการต่อสู้ต่อรองและท้าทายสิ่งที่โครงสร้างอำนาจในสังคมนั้นต้องการให้เป็น ต้องการให้คิด และต้องการให้เชื่อ

รายการที่สร้างความบันเทิงให้กับการเมือง และทำให้การเมืองเป็นเรื่องบันเทิงในแบบวิพากษ์นี้ ทำให้เกิดการตั้งคำถามกับสิ่งที่เป็นอยู่ และทำให้เกิดการพูดความจริงกับอำนาจมากขึ้น และมีส่วนทำให้เกิดประชาธิปไตยในเนื้อหาสาระใหม่ๆ เพิ่มไปจากเดิม

การผสมผสานระหว่างการเมืองกับความบันเทิงอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งน่าสนใจและมีความไม่แน่นอน-คาดเดาได้ยากว่าผลเป็นไปตามที่ต้องการไหม ก็คือเรื่องของการจัดรายการแบบ reality show หรือรายการที่เอาคนทั่วไปมาออกทีวีมากขึ้นแล้วเน้นการมีส่วนร่วมในการโหวต ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เพราะในบางวัฒนธรรมและในบางเงื่อนไขก็ไม่ได้หมายความว่าประชาธิปไตยที่เกิดจากการเข้าร่วมนั้นจะส่งผลให้เกิดประชาธิปไตยที่มีความลุ่มลึกมากนัก บางรายการนั้นความนิยมของรายการมาจากการที่ผู้เข้าไปร่วมรายการต้องหาทางพลิกกฎเกณฑ์ที่มี สร้างความร่วมมือกัน หรือบางรายการก็เป็นเรื่องของการตอกย้ำทัศนคติทางสังคมที่มีต่อภาพลักษณ์ของผู้เข้าร่วมที่ตีบทได้แตก และเป็นการตอกย้ำค่านิยมของผู้คนในสังคมนั้นๆ ขณะที่บางรายการนั้นอาจจะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือหรือความขัดแย้งข้ามประเทศได้หากเป็นรายการที่มีการเข้าร่วมมากกว่าหนึ่งประเทศในภูมิภาคเดียวกัน เช่นในตะวันออกกลาง ที่ความขัดแย้งระหว่างประเทศส่งผลเข้าไปถึงการแข่งขันร้องเพลงใน
รายการๆ หนึ่ง

ในขณะที่สังคมเผด็จการบางสังคมนั้นจะมีสื่อและความบันเทิงบางอย่างที่หลุดรอดออกมาให้ประชาชนในสังคมนั้นใช้เป็นช่องทางในการปลดปล่อย นั่นก็คือการเฟื่องฟูของละครน้ำเน่าในสังคมเผด็จการละตินอเมริกา ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 และตอนหลังก็จะเห็นวัฒนธรรมเหล่านี้กระจายไปทั่วโลก หมายถึงละครที่อาจเป็นละครปัจจุบัน หรือละครย้อนยุค ที่เล่าเรื่องบางอย่างที่สะท้อนตัวตน พฤติกรรม และบุคลิกของการเมืองและนักการเมืองบางกลุ่มบางพวกในสังคมที่ผู้ชมจะร้องอ๋อทันที รวมทั้งการเมืองและปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น เช่น เรื่องชนชั้น ความไม่เป็นธรรมในสังคม นอกจากนี้ ละครบางเรื่องของสหรัฐอเมริกาเองก็มีทั้งที่เปิดโปง หรือสะท้อนถึงความต้องการของผู้คนที่มีต่อสถาบันการเมืองบางสถาบัน เช่น ประธานาธิบดี เรื่องเหล่านี้เป็นทั้งเรื่องน้ำเน่า และละครสะท้อนความจริงที่มาจากการสร้างจินตนาการ (fictional realism)

ในประการสุดท้าย การผสมระหว่างการเมืองกับความบันเทิงอาจเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการที่นักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับรายการบันเทิงมากขึ้น หรือมีการพยายามใช้ชื่อเสียงต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นทางการเมือง หมายถึงว่าใช้ความรู้และเทคนิคจากสื่อและอุตสาหกรรมบันเทิงในการขับเคลื่อนประเด็นทางการเมือง ซึ่งเรียกรวมๆ กันว่า การเมืองของการใช้ชื่อเสียง (celebrity politics)

ในด้านหนึ่งการที่นักการเมืองไปปรากฏตัวในรายการที่ไม่ใช่รายการการเมือง หรือไปปรากฏตัวในรายการที่พิธีกรไม่ได้มีความรู้ทางการเมือง ทำให้เกิดการขับเน้นความเป็นตัวตนของนักการเมืองเหล่านั้นให้ชัดขึ้น ว่าเข้าถึงได้ (ในขณะที่การจัดอีเวนต์ให้กับงานของพรรคบางงานอาจจะต้องเน้นไปที่ความยิ่งใหญ่และมีระยะห่าง หรืออยู่สูงกว่าการเมืองคนอื่นๆ หากเป็นกรณีของหัวหน้าพรรค หรือผู้มีบทบาทของพรรคคนอื่นๆ และในอีกด้านหนึ่งก็เป็นไปได้ทั้งที่ว่า นักการเมืองต้องการรณรงค์และส่งข้อความที่ตัวเองต้องการให้ไปถึงคนหมู่มาก หรือในอีกด้านหนึ่งอาจไปออกรายการทั่วไป อาจเป็นเรื่องของการหลบเลี่ยงประเด็นร้อนๆ ที่กำลังเกิดขึ้นกับตัวเขาในช่วงเวลานั้นๆ

จะเห็นว่าในโลกของการสื่อสารทางการเมืองในวันนี้ ไม่ได้มีแค่เรื่องของการศึกษาการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและมีเหตุผล และการค้นหาความจริงจากข่าวลวงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเรื่องราวของการทำความเข้าใจการเชื่อมประสานกันของการเมืองกับความบันเทิงด้วย ซึ่งผมเองก็จะรอดูว่า ในการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมาถึงไม่เกินปีหน้านี้ สมรภูมิและภูมิทัศน์ของการผสมกันระหว่างสื่อกับความบันเทิงในบ้านเรานี้จะเป็นอย่างไรบ้างครับ จะเข้มข้นเหมือนตอนเลือกตั้งผู้ว่าฯที่ผ่านมา หรือว่าจะไม่มีอะไรมากไปกว่าการเลือกตั้งใหญ่เมื่อหลายปีก่อนกันแน่

หมายเหตุบางส่วนพัฒนาจาก K.Riegert and S.Collins. 2015. Politainment. The International Encyclopedia of Political Communication. John Wiley & Sons.

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image