ที่เห็นและเป็นไป : มันเปลี่ยนไปแล้ว‘นาย’

ที่เห็นและเป็นไป : มันเปลี่ยนไปแล้ว‘นาย’

จบไปแล้ว “ซักฟอกใหญ่รัฐบาล” สภาผู้แทนราษฎรเปิด “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีรวม 11 คน

ความน่าสนใจของศึกใหญ่ทางการเมืองครั้งนี้ อยู่ที่มาตรฐานใหม่ในการทำงานของฝ่ายค้าน

หากรื้อความทรงจำ ย้อนไปดูญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านๆ มา สิ่งที่จะเห็นคือ แม้จะเป็นอภิปรายใหญ่ แต่จะมีฝ่ายค้านไม่กี่คนเท่านั้นที่ทำงานอย่างจริงจัง หมายถึงหาข้อมูล และหาวิธีที่จะอภิปรายให้น่าสนใจ

Advertisement

การทำงานนี้ดาวเด่นของสภาไม่กี่คนเท่านั้นที่ทำและทำได้ แม้จะอภิปรายยืดยาวหลายวันหลายคืน แค่ผู้อภิปรายส่วนใหญ่แค่เป็นการเอาหน้ามาโชว์ให้ประชาชนในพื้นที่เลือกตั้งของตัวเองได้เห็น

ผลการตัดสินอยู่ที่การทำงานของฝ่ายค้านไม่กี่คน ที่เรียกกันว่า “ดาวสภา” หรือ “ตัวแม่เหล็ก”

ส่วนการทำงานของ “ฝ่ายรัฐบาล” ถ้าเป็น ส.ส.ภารกิจหลักจะอยู่ที่ตั้งทีม “องครักษ์พิทักษ์ผู้ถูกอภิปราย” ใช้ข้อบังคับการประชุมปฏิบัติการประท้วงก่อความวุ่นวายเพื่อตัดเกมการถูกโจมตี ช่วยเหลือผู้ถูกอภิปราย

Advertisement

สำหรับ “ผู้ถูกอภิปราย” จะตอบโต้ด้วยการตั้งทีมที่ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการในกระทรวงที่ตัวเองเป็นรัฐมนตรี ติดตามจับประเด็นและหาคำตอบ

คำตอบส่วนใหญ่จึงเป็นหลักการและการปฏิบัติต่างๆ ของเรื่องที่ถูกอภิปราย เทคนิคคือตรงไหนตอบได้จะขยายคำตอบให้ยาว ตรงไหนตอบไม่ได้ก็จะเลี่ยงไป

“ผู้ถูกอภิปราย” คนไหนเป็นนักปราศรัยทางการเมืองก็จะใช้ลีลาประกอบข้อมูลนั้นชี้แจง พรางตอบโต้กลับลดความน่าเชื่อของฝ่ายค้านด้วยวิธีต่างๆ ไป หากเป็นผู้ที่ไม่ใช่นักอภิปรายจะใช้การอ่านตามเอกสารที่ทีมงานเขียนมาให้ เอาตัวรอดเป็นเรื่องๆ ไป

เป็นอย่างนั้นกันมา

ฝ่ายค้านทำอะไรไม่ได้ เพราะจำนวน ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลมีมากกว่า ส.ส.ฝ่ายค้าน เมื่อถึงเวลาลงมติ เสียงที่มากกว่าก็ชนะไปเสมอ

ไม่เคยพลิกไปทางอื่น

การทำงานในเรื่องนี้ของสภาผู้แทนราษฎร เคยชินและปฏิบัติตามกรอบนั้นมายาวนาน จนความหวังหลังอภิปรายเหลือแค่จะทำให้ความนิยมในรัฐบาลลดลง และส่งผลต่อการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป “ศรัทธาต่อความดีงาม” ไม่ใช่เงื่อนไขที่ทำให้ชนะเลือกตั้งเสมอไป

ที่ผ่านมาการอภิปรายไม่ไว้วางใจจึงไม่มีความหมายอย่างที่ควรจะมีความสำคัญ

แต่ครั้งนี้ไม่ใช่

การทำงานของฝ่ายค้านเปลี่ยนไป ในฝ่ายค้านมี ส.ส.อยู่ 2 กลุ่ม

แม้กลุ่ม ส.ส.หน้าเก่าๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้อาวุโส ยังทำงานแบบเดิมๆ คือเอาข่าวที่เกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลมาปะติดปะต่อ และใช้ประสบการณ์เรียบเรียงอภิปรายโจมตี “ผู้ถูกอภิปราย” ซึ่งทำให้ง่ายต่อการที่รัฐมนตรีจะใช้วิธีที่เคยชินชี้แจง เพราะรู้อยู่แล้วว่าจะถูกโจมตีเรื่องอะไร แน่นอนยังมี “ดาวค้างสภา” อยู่บ้างในกลุ่มนี้ แต่การทำงานมายาวทำให้ความสัมพันธ์ที่เกิดจากความจำเป็นต้องหางบประมาณไปสร้างผลงานในพื้นที่ทำให้เกิดความเกรงอกเกรงใจรัฐมนตรีที่ให้ความช่วยเหลือแบ่งงบมาให้ กระทั่งอภิปรายได้ไม่เต็มปาก โจมตีได้ไม่เต็มที่

ความเปลี่ยนแปลงมาอยู่ที่ “ส.ส.หนุ่ม” โดยเฉพาะที่มาจากคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ไม่มีความจำเป็นต้องขอแบ่งงบจากรัฐบาลไปสร้างผลงานในพื้นที่

ส.ส.หนุ่มรุ่นใหม่มีความสามารถในการหาข้อมูลได้มากกว่าด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพ และมีความรู้ความสามารถในการนำเสนอข้อมูลได้ดีกว่าจากการผ่านหลักสูตรการนำเสนอที่เป็นศาสตร์มากกว่า

การอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงหลังจึงแน่นด้วยข้อมูล และเป็นข้อมูลใหม่ๆ ที่ทีมองครักษ์เตรียมให้รัฐมนตรีตอบโต้ไม่ทัน

ปรากฏการณ์อีกอย่างที่เกิดขึ้นคือ เพราะประชาชนทุกคนมีเครื่องมือการสื่อสารอยู่ในมือ สามารถแสดงออกได้ทันทีในสื่อสาธารณะ

ทำให้ “การประท้วง” ของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล เพื่อหยุดเกม หรือเปลี่ยนเกม ถูกตอบโต้อย่างหนักในโลกออนไลน์ กระทั่งประธานในที่ประชุมยังต้องระมัดระวังที่จะทำให้ตัวเองไม่ถูกประณามถึงความไม่เป็นกลางโดยไม่จำเป็น

จะพบว่าการทำงานของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลลดการประท้วงลงไปมาก

นี่คือความเปลี่ยนแปลงในการแสดงบทบาท

แม้การชี้แจงของรัฐมนตรีที่อภิปรายจะเป็นไปแบบเดิมๆ คือใช้ข้อมูลที่ทีมงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการเตรียมให้มาชี้แจงเอาตัวรอด

แต่มองจากการโหวตกลับมีเงื่อนไขที่เปลี่ยนไป ก่อนหน้านั้นพรรคร่วมรัฐบาลอย่างไรเสียก็เหนียวแน่นในมารยาทของผู้ที่ทำงานร่วมกันมา จะโหวตผ่านให้กันและกันอย่างไม่มีเงื่อนไข

แต่ครั้งนี้ดูเหมือนว่ามารยาทนั้นได้หายไปแล้ว

แต่ละเสียงของ ส.ส.ที่มาจาก “รัฐธรรมนูญดีไซน์เพื่อสืบทอดอำนาจ” กระหึ่มด้วยเสียงซุบซิบของการต่อรองใน “ค่าเสียง” หรือที่เรียกแบบรู้กันว่า “กล้วย”

การโหวตกลายเป็นเงินเป็นทองที่รัฐมนตรีผู้ถูกกล่าวหาต้องหามาจ่ายเพื่อรักษาเสียงสนับสนุนของตัวเองไว้

แม้ในที่สุดเสียง ส.ส.ในสภาไม่มีทางล้มรัฐมนตรีคนใดได้

แต่การเมืองเรื่อง “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” เปลี่ยนไปแล้ว ทั้งในสาระของการอภิปราย และเงื่อนไขในการโหวต

การพัฒนาประชาธิปไตยในส่วนของ “สภาผู้แทนราษฎร” มาสู่ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ความน่าสนใจอยู่ที่ “การเลือกตั้งครั้งหน้า” ประชาธิปไตยในมิติการใช้อำนาจของประชาชนจะเป็นเช่นไร

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image