สงครามเย็นใหม่ในเอเชีย!

หลังจากสงครามยูเครนเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ และนำไปสู่สงครามเย็นในยุโรป หลายฝ่ายจึงจับตามองอย่างมากว่า ปัญหาสงครามจากยูเครนจะขยายตัวเข้าสู่เอเชียเมื่อใด… แล้วในที่สุดในค่ำคืนวันอังคารที่ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา สงครามเย็นก็ก่อตัวขึ้นในเอเชียอย่างชัดเจน หลังจากมีข่าวออกมาอย่างต่อเนื่องถึงการตัดสินใจของประธานรัฐสภาอเมริกัน แนนซี เพโลซี ที่เดินทางเยือนไต้หวัน ในขณะที่รัฐบาลจีนคัดค้านอย่างหนัก จนถึงขั้นขู่ว่าจะมีการใช้กำลัง สภาวะเช่นนี้ส่งผลโดยตรงให้สถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียร้อนแรงขึ้นทันที

นโยบายจีนเดียว!

ในมุมมองของปักกิ่งนั้น ไต้หวันเป็นดินแดนของจีน (เหมือนกับดินแดนที่ปกครองโดยฝ่ายกบฏ) และยังไม่สามารถนำกลับมารวมให้เป็นส่วนหนึ่งของจีนได้ ซึ่งแตกต่างจากฮ่องกงที่จีนได้รับมอบคืนจากอังกฤษแล้ว อีกส่วนเป็นผลมาจากความตกลงที่หลายประเทศได้ลงนามยอมรับเงื่อนไขของจีนภายใต้นโยบาย “จีนเดียว” (หรือ “One China Policy”) ที่รัฐนั้นๆ จะต้องไม่ยอมรับสถานะความเป็นรัฐเอกราชของไต้หวัน และยอมรับจีนมีเพียงจีนเดียวเท่านั้นคือ “สาธารณรัฐประชาชนจีน” และจีนจะไม่ยอมรับเป็นอื่น

แต่แม้กระนั้น หลายประเทศที่เปิดความสัมพันธ์กับจีนปักกิ่งแล้ว ก็ยังคงความสัมพันธ์ในระดับหนึ่งกับจีนไทเปไว้ต่อไป และไม่ได้มีการตัดความสัมพันธ์อย่างสิ้นเชิง ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดมาโดยตลอดที่รัฐบาลปักกิ่งจะใช้ทุกวิถีทางที่จะโดดเดี่ยวไต้หวัน ทั้งทางการเมือง การทูต และทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือกดดันให้ประเทศเล็กๆ ต้องทิ้งไต้หวัน และหันไปกระชับความสัมพันธ์กับปักกิ่งแทน

Advertisement

แต่ต้องทำความเข้าใจว่า โลกตะวันตกอาจจะไม่ได้เรียกร้องให้รับรองเอกราชของไต้หวัน หากเรียกร้องให้จีนยุติแนวคิดในการรวมชาติด้วยการใช้กำลัง เพราะในด้านหนึ่งต้องยอมรับว่า คนไต้หวันแม้จะมีเชื้อสายจีน แต่ก็ไม่ได้ยอมรับที่จะต้องอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนแต่อย่างใด อีกทั้ง ภาพที่ชาวไต้หวันได้เห็นจากการใช้อำนาจของจีนที่ฮ่องกงภายใต้นโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ” นั้น ไม่ได้ทำให้คนไต้หวันเชื่อมั่นจีนในเรื่องการรวมชาติด้วยวิธีสันติ ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งไม่เคยมีความอดทนเพียงพอต่อความเห็นต่างเช่นนี้

ในอีกด้านคงต้องยอมรับว่า จีนมีความเติบโตในด้านต่างๆ มาก โดยเฉพาะการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ที่ส่งผลให้เกิดการยกระดับกองทัพจีนอย่าวก้าวกระโดด จากกองทัพแบบเก่าของยุคสงครามเย็น ไปสู่การเป็น “กองทัพชั้นนำของโลก” อันทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่า หากเกิดสงครามจริง จีนจะเป็นฝ่ายชนะ ดังนั้น หลังจากผู้นำรัฐสภาสหรัฐเดินทางออกจากไต้หวันแล้ว การซ้อมรบด้วยกระสุนจริงก็เริ่มขึ้นจากวันที่ 4 ถึงวันอาทิตย์ที่ 7 ตอนบ่าย ขณะเดียวกัน ก็มีการล่วงล้ำน่านฟ้าของเครื่องบินรบจีนมากถึง 27 ลำจนหลายฝ่ายกังวลสงครามอาจเกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุ (ไม่ใช่ด้วยความตั้งใจของผู้นำสูงสุด) ด้วยมุมมองที่ผิด หรือด้วยการคิดคำนวณที่ผิดพลาด

ความเข้มแข็งของจีน ความอ่อนแอของตะวันตก

Advertisement

ในขณะที่การเติบโตของจีนเกิดขึ้นในช่วงต้นของศตวรรษที่ 21 เรากลับเห็นถึงการถดถอยของโลกตะวันตก โดยเฉพาะในยุคของของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ พร้อมกับพันธมิตรความมั่นคงที่เปลี่ยนไป และการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ภาพลักษณ์ของโลกตะวันตกในช่วงที่ผ่านมาจึงดูอ่อนแอเป็นอย่างยิ่ง จนเกิดความเชื่อว่า “ตัวแบบจีน” คือ อนาคตของโลก… วาทกรรมนี้ถูกใช้ในการโฆษณาทางการเมืองว่า “ยุคแห่งความยิ่งใหญ่ของโลกตะวันตก “ กำลังปิดฉากลง เรากำลังก้าวสู่ “ยุคแห่งความรุ่งโรจน์ของโลกตะวันออก” ที่มีจีนเป็นผู้นำ

ความเชื่อในวาทกรรม “การล่มสลายของโลกตะวันตก” ทำให้การตัดสินใจเปิดสงครามยูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ในมุมมองของผู้นำรัสเซียเกิดในเงื่อนเวลาที่เหมาะสมที่สุด หลังจากสงครามยูเครนก็ตามมาด้วยปฎิบัติการทางทหารของจีนในช่องแคบไต้หวัน อันส่งผลให้เกิดทัศนะว่าไต้หวันคือ “ยูเครนแห่งเอเชีย” ซึ่งรัฐบาลจีนไม่ยอมรับและปฎิเสธมุมมองเช่นนี้มาโดยตลอด และยืนยันว่าไต้หวันเป็นดินแดนของจีน ที่ต้องรวมชาติแม้จะต้องใช้กำลังก็ตาม แต่โลกตะวันตกมีมุมมองว่า การกระทำเช่นนั้น คือการสร้าง “ความไร้เสถียรภาพ” ในระเบียบการเมืองของเอเชีย และการรวมชาติควรเกิดจากความยินยอมของประชาชนไต้หวัน

ฉะนั้น แม้ที่ผ่านมา สหรัฐอาจจะดำเนินนโยบายแบบ “กำกวม” ต่อปัญหาไต้หวัน แต่วันนี้ชัดเจนในทางยุทธศาสตร์ว่า โลกตะวันตกสูญเสียไต้หวันไม่ได้ เช่นที่โลกตะวันตกก็สูญเสียยูเครนไม่ได้ด้วย อีกทั้งไต้หวันคือ แหล่งผลิตชิปใหญ่ของโลก ถ้าจีนยึดครองไต้หวันได้จริง จะเท่ากับจีนเป็นประเทศที่คุมการส่งออกชิปคอมพิวเตอร์ของโลกอย่างแท้จริง

ในอีกด้านของปัญหา สถานการณ์การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่เช่นในปัจจุบัน ทำให้กระแสต่อต้านรัสเซียและจีนจึงขยับตัวสูงขึ้นในโลกตะวันตก ฉะนั้น แนนซี เพโลซีคือตัวแทนที่ชัดเจนของกระแสนี้ และมีจุดยืนต่อเนื่องมาอย่างยาวนานในชีวิตทางการเมืองของเธอ คือ “การต่อต้านจีนและรัสเซีย” ซึ่งการเดินเยือนไต้หวันคือคำยืนยันอย่างดีในเรื่องนี้ และแน่นอนว่า การเยือนของเธอส่งผลอย่างมีนัยสำคัญทั้งต่อความสัมพันธ์สหรัฐ-จีน ต่อการเมืองในเอเชีย และเป็นสัญญาณที่ชัดเจนของจุดเริ่มของ “สงครามเย็นใหม่” ในเอเชีย

อนาคตหลังคืนวันที่ 2 สิงหาคม

ถ้า 24 กุมภาพันธ์ ของสงครามยูเครนคือจุดเริ่มต้นของระเบียบการเมืองใหม่ของยุโรป บางทีเราอาจจะต้องยอมรับว่า การเดินทางเยือนไต้หวันในค่ำของวันที่ 2 สิงหาคม คือ สัญญาณที่บ่งบอกถึงจุดเปลี่ยนของการเมืองเอเชีย และอาจนำไปสู่การจัดระบบพันธมิตรภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ ซึ่งไม่แตกต่างจากภาพที่เราเห็นในยูเครน

อย่างไรก็ตามในอีกมุมของเกมการเมือง ถ้าเพโลซีไม่ไปไต้หวันอาจถูกตีความว่าโลกตะวันตก “หงอจีน” จากคำขู่ที่เกิดขึ้น แต่ถ้าไปแล้ว จีนไม่แสดงบทขึงขังในทางทหารให้น่ากลัวบ้าง ก็จะเป็นว่าจีน “หงอสหรัฐ” … ทัศนะเช่นนี้อาจส่งผลให้การเมืองเอเชียหลัง 2 สิงหาคม จึงมีทั้งความเปราะบางและความท้าทายคู่ขนานกันไป ซึ่งอาจนำไปสู่การการเผชิญหน้า ที่อาจตามมาด้วยการใช้กำลังของสองมหาอำนาจใหญ่ได้ง่าย

แต่ก็มีคำถามเล็กๆ พ่วงท้ายที่ต้องคิดต่อว่า แล้วรัฐบาลกรุงเทพฯ จะคิดอย่างไร และจะเตรียมตัวรับมือกับ “สงครามเย็นใหม่” ครั้งนี้อย่างไร… โจทย์ชุดใหม่นี้ซับซ้อนกว่าปัญหา “หาร100” หรือ “หาร500” ในการเมืองไทยอย่างแน่นอน!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image