ไม่มีสงคราม-ไม่มีสันติภาพ!

ปัญหาการรวมไต้หวันเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีน เป็นมรดกตกทอดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และถูกยกให้เป็นประเด็นสำคัญประการหนึ่งในยุคหลังการปฎิวัติของประธานเหมาเจ๋อตง และเมื่อจีนเติบโตขึ้นทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร แล้ว สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ นโยบายการรวมไต้หวัน ซึ่งในช่วงหลัง นโยบายนี้ดูจะมีแนวโน้มไปในทางใช้กำลังมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อนโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ของจีนล้มเหลวในฮ่องกงแล้ว คนไต้หวันเองก็ไม่เชื่อเลยว่า แนวทางเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้จริงในกรณีของไต้หวัน

แม้จีนจะประกาศเสมอว่าไต้หวันไม่มีสถานะเป็น “รัฐเอกราช” แต่การดำรงอยู่มาอย่างต่อเนื่องของไต้หวัน ทำให้คนรุ่นใหม่ของไต้หวัน ไม่ได้คิดว่า พวกเขาเป็น “คนจีน” ตามความหมายในแบบของปักกิ่ง ที่ต้องเป็น “ลูกจีนรักชาติ” เพื่อพาดินแดนนี้กลับไปสู่ “อ้อมอกรัฐจีน” แต่คิดว่า พวกเขาเป็น “ชาวไต้หวัน” อีกทั้ง ไม่ได้มีความรู้สึกถึงการรวมชาติตามแบบ “ลัทธิชาตินิยมจีน” อย่างที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อของจีน อีกทั้ง ไต้หวันในด้านต่างๆ เองก็เติบโตอย่างมากเช่นกัน จนไม่มีความรู้สึกถึงการต้องกลับไปรวมชาติตามแบบที่ผู้นำจีนคิด และไม่ต้องการไปอยู่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์

หลังจากการเดินทางเยือนไต้หวันของประธานรัฐสภาอเมริกัน แนนซี เพโลซี สิ้นสุดลง กองทัพจีนได้เปิดการซ้อมรบด้วยอาวุธจริงในวันพฤหัสบดีที่ 4 ที่ผ่านมา ซึ่งแต่เดิม ประกาศว่าจะทำการซ้อมรบสี่วัน แต่ขยายเป็นห้าวันจนถึงวันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม เวลา 10:00 น. และการซ้อมรบขยายจาก 6 เป็น 7 พื้นที่

การซ้อมรบครั้งนี้ใหญ่ที่สุดที่เกิดในพื้นที่ของช่องแคบไต้หวัน และเป็นการส่งสัญญาณของความไม่พอใจอย่างรุนแรงจีนมีต่อสหรัฐ โดยมีไต้หวันเป็นจุดศูนย์กลางของความไม่พอใจครั้งนี้ สถานการณ์เช่นนี้ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่า การซ้อมรบนี้จะขยายตัวเป็น “สงครามใหญ่” ในอนาคตหรือไม่ และปัญหาสำคัญอีกประการคือ ในที่สุดแล้วการซ้อมรบครั้งนี้จะนำไปสู่สถานการณ์ “การปิดล้อมไต้หวัน” หรือไม่ และสิ่งที่เกิดตามมาคือ ความตึงเครียดที่ทวีมากขึ้นอย่างชัดเจน

Advertisement

การซ้อมรบด้วยกระสุนจริงครั้งนี้ เป็นการใช้กำลังจากกองทัพประชาชนทุกเหล่า รวมถึงการใช้หน่วยยกพลขึ้นบก ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณโดยตรงถึง การเตรียมการยกพลขึ้นบกเพื่อยึดหัวหาด และบุกเข้ายึดครองไต้หวัน นอกจากนี้ ยังมีการซ้อมยิงขีปนาวุธ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และน่าจะมีขีปนาวุธอย่างน้อยหนึ่งลูกที่ถูกยิงให้ข้ามเกาะไต้หวัน ไปตกกลางทะเล เพื่อแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถในการโจมตีระยะไกลของจีนที่ไต้หวันจะไม่สามารถต้านทานได้เลย ผลที่ตามมาทำให้ทางการญี่ปุ่นต้องออกมาประท้วง เนื่องจากขีปนาวุธดังกล่าวตกลงในพื้นที่ที่เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะของญี่ปุ่น และบางลูกตกลงใกล้กับเกาะที่อยู่ด้านนอกของญี่ปุ่นด้วย

ว่าที่จริงแล้ว จีนได้ซ้อมรบในช่องแคบไต้หวันมาอย่างต่อเนื่อง จนอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ ดังเช่นที่เห็นใน “วิกฤตการณ์ไต้หวันครั้งที่ 3” ในช่วงปี 1995-96 แต่ในครั้งนี้ พื้นที่การซ้อมรบและการใช้กำลังมีขนาดใหญ่กว่ามาก และมีผลกระทบโดยตรงต่อใช้เส้นทางคมนาคมทางทะเลและทางอากาศอย่างเสรี โดยทางการจีนได้ประกาศว่า ห้ามเรือและอากาศยานเข้าไปในพื้นที่การซ้อมรบทั้ง 7 เขต และถ้ามีการฝ่าฝืน อาจจะถูกยิงได้ การประกาศนี้ส่งผลให้การเดินทางไปไต้หวันทั้งทางเรือและทางอากาศต้องหยุดชะงักลงทันที โดยเฉพาะเส้นทางจากญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ อันกลายเป็นสภาวะของ “การปิดล้อมทางทะเลและทางอากาศ” ต่อไต้หวันโดยปริยาย

Advertisement

ในมุมมองของฝ่ายตะวันตกนั้น ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า การซ้อมรบครั้งนี้คือ การยกระดับความขัดแย้งโดยตรง อีกทั้ง การซ้อมรบด้วยกระสุนจริงนั้น มีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดได้ง่าย เช่น กระสุนปืนใหญ่ หรืออาวุธยิงระยะไกล อันส่งผลให้เกิดความกังวลตามมาว่า ความผิดพลาดดังกล่าวอาจจะนำไปสู่สงครามใหญ่ได้โดยไม่ตั้งใจ หรือเป็น “สงครามที่เกิดโดยความไม่ตั้งใจ” และพารัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าสู่สถานการณ์สงครามอย่างไม่คาดคิด

นอกจากนี้ ในช่วงของการซ้อมรบใหญ่นั้น จีนได้เปิด “การโจมตีนอกแบบ” อีก 3 ส่วนต่อไต้หวัน คือ การกดดันทางการทูต การแซงชั่นทางเศรษฐกิจ และการโจมตีทางไซเบอร์ต่อเว็บไซต์ของรัฐบาล ดังจะเห็นได้ว่า จีนงดการส่งทรายให้ไต้หวัน เพราะทรายจากจีนเป็นสินค้านำเข้าหลักสำหรับการก่อสร้างภายใน จีนยังงดการนำสินค้าเข้าจากไต้หวันเช่นปลา และผลไม้สด เป็นต้น กล่าวคือ จีนเปิดสงครามในอีกมิติหนึ่งต่อไต้หวันด้วย ไม่ใช่มีเพียงแรงกดดันทางทหารจากการซ้อมรบเท่านั้น

การซ้อมรบเช่นนี้ย่อมทำให้ถูกตีความในทางทหารว่า เป็นแนวทางการบุกยึดไต้หวันด้วยการใช้กำลังทหารขนาดใหญ่ เพราะการซ้อมรบด้วยกระสุนจริงก็คือ การทำให้แผนสงครามมีความใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด และการดำเนินการปิดล้อมพื้นที่ทางทะเลและทางอากาศรอบตัวเกาะไต้หวันคือ การออกแบบแผนสงครามด้วยการปิดพื้นที่ทางภูมิรัฐศาสตร์เพื่อให้ไต้หวันต้องโดดเดี่ยวจากโลกภายนอก

แต่การบุกไต้หวันอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไต้หวันอยู่ในภาวะของ “การเตรียมพร้อมรับภัยสงคราม” มาโดยตลอด จนกล่าวกันว่า สถานการณ์ของไต้หวันมี 2 แบบ คือ สถานการณ์ปกติ และสถานการณ์สงคราม ภาวะเช่นนี้ส่งผลให้ตลอดช่วงระยะเวลายาวๆ ที่ผ่านมา ไต้หวันให้ความสำคัญกับการพัฒนากองทัพอย่างมาก และต้องยอมรับว่า กองทัพไต้หวันจึงเป็นกองทัพในระดับชั้นนำกองทัพหนึ่งของเอเชีย แม้ว่าโดยเปรียบเทียบแล้ว จีนมีกองทัพที่ใหญ่กว่าไต้หวันมาก… กองทัพไต้หวันมีกำลังพล 163,000 นาย กองทัพจีนมี 2,035,000 นาย

แฟ้มภาพ ช่องแคบไต้หวัน (รอยเตอร์)

ว่าที่จริงแล้ว อาจจะไม่ได้ต่างจากสงครามยูเครน ที่กองทัพรัสเซียมีขนาดใหญ่กว่ากองทัพยูเครนอย่างมาก คือ 9 แสนต่อ 2 แสนนาย แต่สงครามในยุคปัจจุบัน ไม่ได้ตัดสินด้วยการมีกองทัพใหญ่แต่เพียงประการเดียว สงครามยูเครนชี้ให้เห็นถึงมิติอื่นๆ ในการสงคราม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเข้มแข็งของระบบพันธมิตร ตลอดรวมถึงการสนับสนุนจากภายนอกทั้งในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ และยุทโธปกรณ์

ฉะนั้น จนวันนี้เป็นเวลามากกว่า 5 เดือนแล้ว ยูเครนยังไม่แพ้… กองทัพยูเครนยังสามารถยันการโจมตีของรัฐมหาอำนาจใหญ่อย่างรัสเซียได้อย่างต่อเนื่อง จนอาจจะต้องกล่าวว่า รัสเซียต่างหากที่เข้าไป “ติดกับดักสงคราม” และส่งผลลบต่อระบบเศรษฐกิจของรัสเซียอย่างมาก แต่สิ่งที่รัสเซียใช้หล่อเลี้ยงสงครามยูเครนได้ คือ การปลุกกระแสชาตินิยม และการสร้างวาทกรรมเชิดชูสงครามในบ้าน ซึ่งสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นในจีนไม่แตกต่างกัน ไต้หวันถูกใช้เป็นจุดของการปลุกกระแสชาตินิยมจีนมาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดวาทกรรมว่า ชาวไต้หวันคือ “คนจีนที่ไม่รักชาติ” ถ้ายึดไต้หวันสำเร็จ ก็จะต้องเอาพวกเขาเหล่านี้เข้า “รับการศึกษาใหม่” เพื่อให้เป็น “ผู้รักชาติ”

ดังนั้นต่อจากนี้ไป พื้นที่ช่องแคบไต้หวันจึงเป็น “จุดที่ร้อนที่สุด” ของสถานการณ์ความมั่นคงของเอเชีย และจีนก็ไม่มีทางยุติความคิดในการรวมไต้หวันด้วย… สภาวะ “ไม่มีสงคราม-ไม่มีสันติภาพ” ที่ช่องแคบไต้หวันจะอยู่กับเราไปอีกนาน !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image