เสื่อม หรือ เสีย? โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

คิดแบบขำๆ ถ้าไม่ได้ใช้กรอบคิดทางรัฐศาสตร์ เรื่องการตีความอายุการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอก ประยุทธ์นั้นทำให้เราคิดไปถึง “ฉลากผลิตภัณฑ์” ในบ้านเราที่มีสองแบบใหญ่ๆ คือ

“Best Before” ซึ่งหมายถึงว่าของผลิตภัณฑ์นั้นน่าจะเสื่อมลง หรือไม่ดีเท่าเดิมแล้ว หลังวันที่ระบุ

“Expired” หมายถึงหมดอายุ ซึ่งหลายอย่างอาจจะหมายถึงเสีย เน่าบูด ขึ้นรา หรือหมดสภาพแล้ว หลังวันที่ระบุ ไม่ใช่แค่จะเสื่อมลง หรือมีความเสี่ยง

คำถามที่ว่านายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นจะเผชิญสถานการณ์อย่างไรกันแน่ภายหลังจากวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ว่าครบกำหนดการอยู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะขัดกับข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ ที่ห้ามดำรงตำแหน่งติดกันเกิน 8 ปี

Advertisement

จะ “รอด” จะ “เสื่อม” หรือจะ “เสีย”

สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นทั้งหมดคือ สิ่งที่ผมอยากจะเรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ “ความเป็นจริงทางการเมืองร่วมสมัยของไทย” ที่สำคัญและให้บทเรียนหลายอย่างกับเรา

ประการแรก ผมไม่คิดว่าคำตัดสินจากองค์กรที่เกี่ยวข้องว่าด้วยกรณีการหมดอายุของพลเอก ประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีจะเป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าคำอธิบายคำตัดสินว่าทำไมคำตัดสินของพวกเขาจึงเป็นเช่นนั้น

เนื่องจากทุกคำตอบที่คาดว่าจะเป็นไปได้ คือ

1.หมดอายุแล้ว เพราะนับตั้งแต่วันที่เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อหลังรัฐประหาร (2557) เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้มีข้อยกเว้นหรือระบุว่าเริ่มนับเมื่อไหร่

2.ยังไม่หมดอายุ เพราะนับตั้งแต่เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันประกาศใช้ เมื่อ 2560

3.ยังไม่หมดอายุ เพราะนับตั้งแต่เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง 2562

4.หรือทางองค์กรที่ตัดสิน โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอื่นๆ เช่น กกต.อาจจะชี้ว่าไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนก็ได้

5.นอกจากนี้ยังมีการลุ้นว่าหมากเกมนี้อาจจะออกมาในหน้าอื่นๆ ก็เป็นไปได้

เมื่อองค์กรที่อ้างว่ามีอำนาจในการตัดสินในเรื่องนี้ตัดสินออกมา ก็คงต้องนับว่ามันเป็นเช่นนั้น จึงเป็นความเป็นจริงทางการเมือง และถือเป็นที่สิ้นสุดในทางการตีความทางกฎหมาย ซึ่งอาจจะสวนทางกับอารมณ์ความคาดหวังของผู้คนจำนวนไม่น้อย หรืออาจจะสมใจกับคนบางกลุ่ม

ความเป็นจริงทางการเมืองเช่นนี้จึงไม่ใช่ความเป็นจริงทางการเมืองที่เกิดจากการเห็นพ้องต้องกันของผู้คนในสังคมทั้งหมด แต่เป็นความเป็นจริงทางการเมืองในระดับที่สะท้อนว่า “ใครมีอำนาจ” ในบ้านในเมืองนี้มากกว่า เพราะคนที่มีอำนาจคือคนที่เคาะว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร และท้าทายคน/องค์กรที่เคาะนั้นก็มีความผิดทางกฎหมาย

พูดง่ายๆ ว่า ความจริงทางการเมืองที่จะออกมาจากการตัดสินว่าประยุทธ์อยู่ต่อได้ไหม เป็นความจริงทางการเมืองในสามระดับ

1.เป็นความจริงทางการเมืองที่มาจากคำตัดสินขององค์กรทางการเมืองที่มีอำนาจในการตัดสิน

2.สะท้อนว่าองค์กรที่ตัดสินนั้นยังมีอำนาจในทางการเมือง เนื่องจากยังตัดสินได้ (หรือถ้าเชื่อว่ามีคนหรือองค์กรที่มีอำนาจจริงสั่งองค์กรที่ตัดสินนั้นทำให้ได้)

3.สะท้อนว่าประยุทธ์และพวกยังมีอำนาจทางการเมืองอยู่ (ต่อไป)

แต่ต้องไม่ลืมว่าทั้งหมดนี้มาจากการตีความ ซึ่งการตีความอาจเป็นไปได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ตีความว่าประยุทธ์และพวกไม่มีอำนาจทางการเมืองต่อไปก็ได้เช่นกัน เพราะชุดเหตุผลในการตีความนั้นเป็นไปได้ทุกแบบ เนื่องจากคำตัดสินเกิดจากการตีความในสิ่งที่คลุมเครือ และไม่ได้ถูกกำหนดไว้ก่อน

และในสังคมที่หลายครั้งในอดีตที่ผ่านมา เราก็พบว่าเนื้อหาคำตัดสินไม่ได้สำคัญไปกว่าการระบุว่าใครมีอำนาจตัดสิน

ประการที่สอง ผมอยากจะบอกว่า อย่างไรก็ตาม ต่อให้พลเอก ประยุทธ์อยู่ต่อได้ เรื่องราวก็ไม่ได้จบลงในแง่ความเป็นจริงทางการเมืองที่ผมได้อธิบายไปแล้ว เพราะอีกด้านของความเป็นจริงทางการเมืองร่วมสมัยของไทยในข้อนี้ก็คือ การหมดความชอบธรรมลงของ
พลเอก ประยุทธ์ ซึ่งคำว่าหมดความชอบธรรมนี้มีได้ในหลายระดับ ก็คือ หมดไปนานแล้วหรือค่อยๆ เสื่อมลง

ยิ่งพยายามตัดสินให้พลเอก ประยุทธ์อยู่ต่อ อาจไม่ได้สะท้อนว่าคำตัดสินนั้นคืออำนาจ ผู้ตัดสินมีอำนาจ และประยุทธ์มีอำนาจเลย แต่ยิ่งสะท้อนไปได้ทั้งประเด็นที่ว่า เพราะไม่มีอำนาจที่แท้จริงแล้ว จึงพยายามดิ้น พยายามฝืน และในประเด็นที่ว่ายิ่งดิ้นยิ่งฝืนก็จะสะท้อนว่านี่คืออาการเสื่อม หรืออาการหมดอายุ มากกว่ามีอำนาจจริง

อธิบายง่ายๆ ว่า เรามาถึงยุคที่หลังวันที่ 23 สิงหาคม 2565 พลเอก ประยุทธ์อาจจะยังมีอำนาจจากคำตัดสิน แต่ก็เสื่อมในอำนาจไปด้วย และสิ่งที่ชี้ถึงความเสื่อม หรือความยั่งยืนในอำนาจไม่ได้อยู่ที่ตัวคำตัดสินจากองค์กรที่มีอำนาจ

แต่การเสื่อมจากอำนาจนั้นมาจากการเสื่อม หรือถดถอยลงของความชอบธรรม

คือยังคงอยู่ในอำนาจ หรือยังมีอำนาจ แต่ไม่มีความชอบธรรม หรือความชอบธรรมลดลง

เมื่อพูดถึงความชอบธรรมนั้น ความชอบธรรมสำคัญแค่ไหนในการเมืองการปกครอง คำตอบหนึ่งก็คือ ความชอบธรรมนั้นไม่ใช่เรื่องของสิทธิที่จะปกครอง (หมายถึงมีแหล่งอ้างอิงว่าปกครองได้ด้วยอะไร เช่น ประเพณี บุญบารมี หรือกฎหมาย) ที่เข้าใจกันโดยทั่วไป

แต่หมายถึงประชาชนยังมี “ศรัทธา” ในอำนาจและตำแหน่งที่เขาอยู่ และพร้อมจะ “ยินยอมและทำตาม”

ถ้ายังมีอำนาจแต่ความชอบธรรมลดลง หรือหมดอายุ คนก็จะไม่มีศรัทธา และการยินยอมและทำตามอาจจะไม่ได้มาจากส่วนลึกในจิตใจ แต่อาจจะมาจากความกลัว และแม้จะทำให้การปกครองและการเมืองยังอยู่ได้ แต่ก็เปราะบางมากขึ้น

อาจเป็นไปได้ว่าความชอบธรรมลดลง ศรัทธาลงลด แต่อาจมีอำนาจมากขึ้น เช่น มีงบประมาณเพิ่มขึ้น มีกฎหมายให้อำนาจมากขึ้น และกดปราบได้มากขึ้น และสิ่งที่เกิดขึ้นนี้อาจไม่ได้รู้สึกดีทั้งตัวผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครอง ความจริงแท้ของความสัมพันธ์แย่ลง ความกลัวซึ่งกันและกันอาจมากขึ้น ความศรัทธาที่ลดลงก็คือความเชื่อมั่นในรัฐบาลนั้นลดลง

อีกประการที่สำคัญคือ เมื่อความชอบธรรมลดลง ศรัทธาก็ลดลง เห็นชัดว่าคนที่เคยเชียร์ทั้งที่เชียร์โดยบริสุทธิ์ใจ และเชียร์ในความรู้สึกว่าสถานการณ์ในอดีตที่พลเอก ประยุทธ์ขึ้นสู่อำนาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ตอนนี้ก็แรงเชียร์ก็ลดลงไปในระดับที่มีนัยสำคัญ

นอกจากความไม่ศรัทธาที่เพิ่มขึ้น การยอมรับในการปฏิบัติตามคำสั่งก็มีน้อยลง แม้ว่าอาจจะต้องทำตามต่อไปด้วยเหตุผลร้อยแปด การมองโลกรอบตัวและการกระทำของผู้ปกครองจากมุมมองของประชาชน และการมองสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวก็จะเริ่มมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจและไม่ตัดสินใจของรัฐบาลก็จะมีลักษณะของความไม่เป็นธรรมมากขึ้น ความสงสัยว่าการกระทำต่างๆ ของรัฐบาลเอื้อต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากกว่าประชาชน หรือมองว่าประชาชนไม่อยู่ในสายตาและความเอาใจใส่ของรัฐบาลก็มีมากขึ้น

อีกประการหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ เมื่อคำสั่งของรัฐบาลนั้นเกี่ยวข้องกับการบังคับ หรือจัดการกับเสรีภาพของเรา จะยิ่งชัดเจนว่า เราจะรู้สึกว่ารัฐบาลนั้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับเสรีภาพของประชาชนเอาเสียเลย เริ่มมองเห็นว่าการใช้อำนาจของรัฐบาลนั้นมีไว้เพื่อจำกัดเสรีภาพของเรา แต่การจำกัดเสรีภาพเป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐบาล เช่น การปกปิดความผิดและความชั่วร้ายของรัฐบาลเอง มากกว่าการจำกัดเสรีภาพเป็นไปในลักษณะชั่วคราว และเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรวม เพื่อให้สามารถกลับไปสู่เสรีภาพได้เร็วขึ้นในเวลาอันใกล้

ยังรวมไปถึงเรื่องว่าความชอบธรรมนั้นไม่ใช่แค่เรื่องที่ว่ารัฐบาลนั้นยังอยู่ได้ไหม แต่ยังหมายถึงว่ารัฐบาลนั้นเมื่อใช้อำนาจบังคับโดยเฉพาะอำนาจปราบปรามนั้นเขาใช้ผ่านอะไร และประชาชนจำใจยอมทำตามด้วยเงื่อนไขอะไร ซึ่งในยุคหลังๆ ข้อถกเถียงนี้ขยับไปในเรื่องของการพยายามค้นหา “เหตุผลสาธารณะ” (public reason) ไม่ใช่หาเหตุผลของรัฐหรือเหตุผลของผู้รู้ในสถาบันที่ตัดสินเรื่องต่างๆ แต่หมายถึงเหตุผลจากการอภิปราย ถกเถียง และตกลงกันของประชาชนในรัฐ ที่รัฐจะต้องยอมรับว่าประชาชนนั้นมีเหตุมีผล ไม่ใช่เรียกร้องแต่ว่าประชาชนต้องยอมรับสิ่งที่รัฐทำเท่านั้น

พูดมาถึงตรงนี้ ถามว่ารัฐบาลหรือผู้ปกครองยังอยู่ได้ไหมในช่วงเวลาที่อำนาจยังคงอยู่ และอาจจะสร้างอำนาจเพิ่มขึ้นจากกฎที่ออกเองจากงบประมาณที่เพิ่มขึ้นซึ่งอาจจะมาจากการกู้ยืม หรือดึงมาจากส่วนอื่นๆ หรือทรัพยากรอื่น?

คำตอบคือยังอยู่ได้ครับ แต่ต้นทุนจะสูงขึ้น และต้นทุนที่สูงขึ้นก็จะกระทบกับประชาชนทุกคนเพิ่มขึ้น และหมายความว่าประชาชนก็จะเดือดร้อนเพิ่มขึ้นทั้งจากการใช้อำนาจตรงกับประชาชน เช่น ปราบปราม กดบังคับ และจากการใช้ทรัพยากรส่วนรวมมากขึ้นในการรักษาอำนาจของรัฐบาลและเครือข่ายเอาไว้ เช่น การใช้จ่ายงบประมาณไม่ว่าจะเอาเงินของเรามาแจกเพื่อซื้อความนิยม หรือเอาไปทำอะไรที่ไม่ได้เรื่องได้ราวเพราะด้อยความสามารถลง และหาคนมาช่วยหรือมาเข้ากลุ่มเพิ่มขึ้นได้ยาก

ความน่ากังวลในตอนนี้คือความถดถอยทางเศรษฐกิจที่มีมาได้สักพักใหญ่แล้วจะตามมาด้วยความถดถอยทางการเมือง และทั้งสองเรื่องนี้มีส่วนที่เชื่อมโยงกับความเชื่อมั่นศรัทธาที่มีกับตลาดและรัฐบาลในฐานะของกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม

ในบางครั้งเรารู้สึกว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจนั้นอาจทำได้ด้วยหลายกลไก แต่พอมาถึงปัญหาทางการเมืองที่กำลังจะเจอแน่ๆ ไม่ว่าพลเอก ประยุทธ์จะอยู่หรือไม่อยู่ในอำนาจต่อหลังวันที่ 23 สิงหาคมนั้น ผมคิดว่าน่าหนักใจมากๆ ครับ เพราะทางแก้หรือทางออกจากปัญหาไม่ง่ายเลย

ยิ่งถ้าฝ่ายคนที่อยู่ในอำนาจไม่รู้สึกและไม่แคร์ว่าการอยู่ในอำนาจของตนนั้นมีปัญหาอะไร เพราะสนใจเรื่องการมีและรักษาอำนาจเอาไว้มากกว่าเรื่องของความชอบธรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image