ความท้าทายของพรรคการเมืองไทย ในการเลือกตั้งที่จะมาถึง

ความท้าทายของพรรคการเมืองไทย ในการเลือกตั้งที่จะมาถึง

ความท้าทายของพรรคการเมืองไทย ในการเลือกตั้งที่จะมาถึง

ความเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยในช่วงก่อนโค้งสุดท้ายของการชี้ชะตาว่า พลเอกประยุทธ์ จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่และได้อีกนานเท่าไหร่ ไม่ค่อยมีอะไรตื่นเต้นมากนัก

เว้นแต่เรื่องการเริ่มเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งพรรคเก่าและใหม่ในการหาเสียงเลือกตั้งในครั้งนี้ เพราะนอกจากจะเริ่มเห็นสีสันของเวทีการปราศรัยและขบวนต่างๆ ในการไปแวะเยี่ยมประชาชน ก็ยังจะเห็นว่าทาง กกต.นั้นเริ่มจะมีระเบียบที่จะเริ่มกำกับการหาเสียงและพรรคการเมืองเข้าแล้ว แม้จะยังดูมีความคลุมเครืออยู่ไม่น้อย

แต่สิ่งที่ กกต.เองอาจจะยังไม่ได้ตระหนักมากนักก็คือ สถานการณ์การเมืองในวันนี้โดยเฉพาะในส่วนของความคาดหวังทางการเมืองและความศรัทธาทางการเมืองของประชาชนนั้นไม่ใช่เรื่องที่อยู่ภายในระบบคิดแบบเดิมที่รังเกียจนักการเมืองแบบเหมารวม และเชื่อในพลังการเมืองคนดีเหมือนเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา

Advertisement

การเมืองของการอยู่ในอำนาจและอิทธิพลของระบอบรัฐประหารและสภาวะสิ้นหวังต่อความเที่ยงธรรมของกฎระเบียบทางการเมืองยิ่งทำให้เห็นว่ายิ่งออกระเบียบมากำกับพฤติกรรมนักการเมืองมากเท่าไหร่ กระแสสังคมจะยิ่งตีกลับ และถามคำถามง่ายๆ ว่า กฎระเบียบที่ออกมากำกับการหาเสียงและพรรคการเมืองนั้นสามารถใช้กับพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลได้ไหม

และใช้กับส่วนทางการเมืองของรัฐบาลที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองอย่างคุณประยุทธ์และคนใกล้ตัวได้แค่ไหน

เพราะอย่าลืมว่าคุณประยุทธ์กับคนใกล้ตัวที่อยู่ในทีมเศรษฐกิจนั้น อาจจะไม่ได้อยู่ในสังกัดพรรคการเมือง แต่ก็เป็นส่วนสำคัญที่พรรคจะนำเอาไปอ้างในการหาเสียงอยู่ดี

Advertisement

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันในเรื่องของการเริ่มต้นขึ้นของบรรยากาศการหาเสียง เนื่องจากเป็นที่ทราบกันว่ารัฐสภาเองใกล้ที่จะครบเวลาสี่ปีในอีกไม่เกินเดือนมีนาคมในปีหน้า ซึ่งหมายความว่าการเลือกตั้งย่อมจะต้องมาถึงไม่น่าเกินไปจากนั้นมากนัก แม้จะตั้งคำถามกันว่า ต่อให้มีการเลือกตั้งแล้ว จะมีความพยายามทำให้การประกาศผลล่าช้าออกไป และการตั้งรัฐบาลอาจจะล่าช้าออกไปได้ เพราะยิ่งมีกฎเกณฑ์ที่มาก และยังคลุมเครือในการบังคับใช้ ก็ยิ่งทำให้ระบอบปัจจุบันยังอยู่ได้นานขึ้น เพราะการรับรองผลการเลือกตั้งจะยิ่งล่าช้า และจัดตั้งรัฐบาลก็จะยิ่งช้าไปอีก

แต่กระนั้นก็ตาม เราก็ยังจะต้องมาเริ่มสำรวจการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ ในเวลานี้ว่าเริ่มทำอะไรกันบ้างแล้ว นอกเหนือจากการประกาศตัวว่าที่ผู้สมัคร และการเริ่มรณรงค์และปราศรัย

สิ่งแรกที่จะเห็นก็คือ แม้ว่าบางส่วนจะมีความคึกคักในการเปิดตัว แต่ผมคิดว่าโหมดของการเลือกตั้งนั้นยังไม่ได้มาเต็มที่นัก ไม่ใช่เพราะยังไม่มีการประกาศวันเลือกตั้งเท่านั้น

แต่เป็นเพราะว่าตัวกฎหมายการเลือกตั้งยังไม่เรียบร้อย เพราะยังอยู่ในขั้นตอนของการตีความในขั้นศาลรัฐธรรมนูญตามคำร้องอยู่ ดังนั้น สูตรที่เข้าใจง่ายๆ ว่า หาร 100 กับหาร 500 ก็ยังไม่นิ่งที่สุด แม้ว่าค่อนข้างจะเป็นไปในทางของการหาร 100

เงื่อนไขของการหาร 100 ทำให้การจัดองค์กรของพรรคการเมือง การจัดตัวผู้สมัครทางการเมืองก็ยังไม่นิ่ง แม้จะมีการประกาศตัวกันมาบ้างแล้วในแต่ละพรรค ด้วยว่ายังมีการขยับพื้นที่ไปมาพอสมควร เพราะจำนวนของ ส.ส.รายเขตนั้นจะเพิ่มขึ้น

ในช่วงนี้สิ่งที่เรียกว่ากิจกรรมการ “ทำพื้นที่” ที่เกิดขึ้นจริงของว่าที่ผู้สมัคร ที่เปิดตัวแล้ว หรือที่ประกาศตัวเองทั้งที่พรรคยังไม่ได้เปิดตัวก็อาจจะยังไม่เต็มพื้นที่นัก และในหลายกรณีเองการยังไม่ตัดสินใจขั้นสุดท้ายของคณะกรรมการบริหารพรรคในการรับรองผู้สมัครว่าใครลงพื้นที่ไหนก็ยังคงมีอยู่ให้เห็น

เพราะหลายกรณีการเปิดตัวไปแล้ว หรือใกล้จะเปิดตัวก็อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งในพรรค และทำให้พรรคต้องหาคำตอบมาอธิบายกับสาธารณะว่าทำไมทิศทางการตัดสินใจคัดเลือกและประกาศตัวของแต่ละพรรคจึงเป็นเช่นนั้น

สิ่งต่อมาที่ผมคิดว่าสำคัญไม่แพ้กับเรื่องของการประกาศตัวผู้สมัคร ก็คือเรื่องของนโยบายพรรค ซึ่งหลายพรรคก็ยังไม่ได้ประกาศอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ขณะที่บางพรรคเริ่มประกาศแล้ว

ที่ประกาศแล้วก็ยังไม่เห็นอะไรหวือหวา แล้วก็มักจะมีดราม่าว่าตกลงใครกันแน่เป็นคนเสนอมาก่อน หรือบ้างก็ว่าคนที่เสนออาจจะไม่สำคัญเท่ากับคนที่ผลักดันเรื่องนี้สำเร็จ

ที่ยังไม่ประกาศก็อ้างว่ากลัวคนอื่นลอก

ผมคิดว่ามีเรื่องหนึ่งที่ยังคงต้องนำมาอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง นั่นก็คือเรื่องของความเชื่อที่ว่า การเมืองที่พึงปรารถนาในสังคมของเราเป็นเรื่องของการเมืองเชิงนโยบาย

เหตุผลก็คือ ในช่วงนับตั้งแต่มีการทำรัฐประหารเป็นต้นมาจนถึงการสถาปนาระบอบการเมืองแบบที่เป็นอยู่นี้ จะเห็นความพยายามในเชิงหลักการของระบอบนี้ในช่วงแรกของการปฏิเสธการเมืองเชิงนโยบายอย่างสิ้นเชิง โดยให้น้ำหนักไปที่เรื่องของยุทธศาสตร์ชาติ และพยายามสื่อสารให้เกิดบรรยากาศแห่งความกลัวว่า ไม่ว่านโยบายของพรรคการเมืองเพื่อชิงชัยในการเลือกตั้ง หรือในแง่ของการบริหารประเทศก็ตาม ก็จะต้องไม่ขัดกับยุทธศาสตร์ชาติ

การสร้างยุทธศาสตร์ชาติโดยไม่ได้เน้นกระบวนการการเมืองแบบประชาธิปไตยในช่วงที่ผ่านมายังอยู่ภายใต้แนวคิดการต่อต้านการเมือง และการสร้างปีศาจแห่งประชานิยม ทั้งที่ในท้ายที่สุดเมื่อระบอบการเมืองหลังรัฐประหารและระบอบการเมืองหลังการเลือกตั้งเองก็จำต้องหวนกลับมาใช้บริการของนโยบายและโครงการประชานิยมอยู่ไม่ใช่น้อย

ในอีกด้านหนึ่งในแง่ของการเมืองเชิงอุดมการณ์ของพรรคการเมืองนั้น ผมคิดว่าก็เป็นเรื่องยากที่เราจะเข้าใจจริงๆ ว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคนั้นมีอุดมการณ์อย่างไร ทั้งเพราะไม่มี หรือมีก็ไม่สามารถทำอะไรได้มาก

ส่วนหนึ่งเพราะระบบยังไม่ได้เปิดพอให้แต่ละพรรคสามารถประกาศความเชื่อของตนเองได้เต็มที่

อีกส่วนหนึ่งต้องไม่ลืมว่า ระบบการเมืองแบบที่เป็นอยู่ยังไม่เอื้อให้เกิดพรรคใหญ่ครอบงำได้ง่ายนัก ดังนั้น การเกิดรัฐบาลผสมจึงเป็นความเป็นได้มากที่สุดหลังการเลือกตั้ง

แต่ในแง่นี้ก็ใช่ว่าจะต้อง “ปล่อยผ่าน” ไปเสียทั้งหมด เพราะสุดท้ายแล้วอุดมการณ์ของพรรคการเมืองเองนั้นก็เป็นเรื่องที่จะตายตัวและตึงเกินไปได้ยาก เพราะถึงเวลาก็ต้องร่วมงานกับพรรคอื่น แต่ในขณะเดียวกันถ้าไม่มีเอาเสียเลยโอกาสที่จะได้มาซึ่งความนิยมในระดับของคะแนนบัญชีรายชื่อก็อาจจะไม่ง่ายนัก

แต่อีกส่วนที่ผมคิดว่าเรายังไม่ค่อยพูดกันนักก็คือ สิ่งที่ “คล้ายๆ แต่ไม่เหมือน” กับการเมืองเชิงนโยบาย และการเมืองเชิงอุดมการณ์ของบรรดาพรรคการเมืองในประเทศไทย

นั่นก็คือ เรื่องของการนำเสนอจากพรรคการเมืองเอง และเรื่องของแรงกดดันทางสังคมที่ว่าด้วยเรื่องของการนำเสนอ “ตัวแบบทางการเมือง และตัวแบบทางเศรษฐกิจ” ของแต่ละพรรคการเมือง

เรื่องที่อยากจะพูดก็คือว่า ตัวแบบทางการเมือง และตัวแบบทางเศรษฐกิจที่ผมอยากจะพูดถึงนี้ เป็นเรื่องของสิ่งที่ไม่ใช่การเมืองในระดับอุดมการณ์ล้วนๆ และไม่ใช่เรื่องของโครงการทางเศรษฐกิจที่มักชอบนำเสนอกันในความหมายของนโยบายเศรษฐกิจที่อวดอ้างกันว่าพรรคไหนโดนใจประชาชน (หรือสุ่มเสี่ยงต่อการโต้กลับของฝ่ายครองอำนาจนอกสภา)

แต่หมายถึงการนำเสนอภาพรวมของทิศทางของประเทศในด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ของผู้คนที่หลากหลาย หรือตัวกระทำการ/ตัวแสดงอันหลากหลายในอาณาบริเวณทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างจริงๆ จังๆ

ที่ผมไม่พูดทางเรื่องของสังคมเพราะคิดว่าแต่ละพรรคไม่ได้มีความแตกต่างกันในเรื่องของตัวแบบทางสังคมมากนัก แต่ในแง่ของตัวแบบทางเศรษฐกิจและการเมืองนั้นค่อนข้างจะทั้ง “ขาด” และ “ต่าง” กันอยู่มาก

บางพรรคผมคิดว่ามีตัวแบบทางเศรษฐกิจที่แข็งแรง แม้ว่าอาจจะไม่ครบถ้วน แต่ขาด หรือไม่แคร์ในการนำเสนอตัวแบบทางการเมืองอะไรทั้งนั้น ทำเหมือนกับเล่นเกมว่า ต้องเลือกพรรคเราก่อน แล้วจะดูแลปากท้องให้ได้

พรรคแบบนี้ไม่คิดว่า วิธีตีกินแบบนี้นี่แหละที่สร้างศัตรูโดยไม่รู้ตัวมาตลอด

ขณะที่บางพรรคอาจจะมีตัวแบบทางการเมืองที่แข็งแรง ดูราวกับมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่โดดเด่น (แต่มักถูกวิจารณ์เสมอจะอยู่ร่วมกับพรรคอื่นและส่วนอื่นได้ไหม หรือในอีกด้านหนึ่งก็คือมักถูกวิจารณ์ว่าทำไมยังไม่ทำเรื่องนั้นเรื่องนี้สักที ซึ่งอาจเป็นการวิจารณ์จากฝ่ายกองเชียร์ของตนเอง) แต่ความเป็นไปได้จริงของตัวแบบทางเศรษฐกิจนั้นอาจจะยากเย็นที่จะเป็นไปได้

โดยส่วนตัวของผมคิดว่าแต่ละพรรคมักจะมีตัวแบบทางเศรษฐกิจอยู่บ้าง เว้นแต่บางพรรคที่ไม่คิดอะไรมาก เน้นขายโครงการไปเลย หรือบางพรรคก็พูดจาไม่มีสาระอะไรเลย เพราะโอกาสได้รับเลือกจริงๆ จากข้อเสนอเหล่านี้เป็นไปไม่ได้

แต่ผมคิดว่าขณะที่หลายคนกำลังชี้ว่าเศรษฐกิจ นโยบาย โครงการ และตัวแบบทางเศรษฐกิจจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่กำหนดโทนในการรณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้งที่จะมาถึงและอีกส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่ารัฐบาลปัจจุบันไม่ได้มีผลงานที่โดดเด่นมากนักในเรื่องเศรษฐกิจ แม้ว่าจะพยายามหาทางประชาสัมพันธ์มาโดยตลอด

แต่ในอีกด้านหนึ่งสิ่งที่ยังขาดหายไปเป็นอย่างมากในการเลือกตั้งครั้งหน้าคือการนำเสนอตัวแบบทางการเมือง ที่ไม่ใช่แค่โครงการ หรือนโยบายทางการเมืองในแบบที่เข้าใจกันโดยทั่วไป อาทิ จะแก้/ไม่แก้กฎหมาย จะแก้/ไม่แก้รัฐธรรมนูญ

ผมคิดว่ายังไม่มีใครเสนอตัวแบบทางการเมืองของการอยู่ร่วมกันในสังคมในทางการเมือง การแบ่งปันอำนาจและการตรวจสอบอำนาจกัน รวมทั้งการเคารพการดำรงอยู่ของแต่ละฝ่าย

ข้อเสนอทางการเมืองปัจจุบันมีอยู่สองแบบใหญ่ คือไม่พูดอะไรเลย คือปล่อยให้สิ่งที่เกิดขึ้นดำรงอยู่ต่อไป หรือมองว่าทุกอย่างต้องเปลี่ยนให้หมด

ผมไม่ได้หมายถึงการประนีประนอม ในความหมายของการไม่กล้าเปลี่ยนแปลง แต่หมายถึงในระดับที่ต่ำที่สุดคือการเห็นความเปลี่ยนแปลง เข้าใจความเปลี่ยนแปลง และนำเสนอตัวแบบที่คิดว่าเหมาะสมในการอยู่กับความเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่างๆ ในความหมายของการเข้าใจความหลากหลาย และขั้วตรงข้ามทางการเมือง

ในทางหนึ่งเรามักถูกลวงตาว่าการเมืองคือการแข่งขันที่จะได้ชัยชนะอย่างเอาเป็นเอาตาย แม้ว่าจะต้องไม่ใช้ความรุนแรงทางกายภาพ

แต่ในอีกทางหนึ่งเราต้องไม่ลืมว่าการเมืองคือการพยายามหาทางออกต่อความไม่ลงรอยและความขัดแย้ง โดยไม่หันไปหาความรุนแรง หรือระบบเหตุผลที่ซับซ้อนเสียจนมันเริ่มออกห่างจากสามัญสำนึกของผู้คนในสังคมไปเสียทั้งหมด

เพราะสุดท้ายแล้ว ถ้าชนะคนอื่นไปหมด คนที่ไม่ได้อำนาจก็จะท้าทายในทุกหนทาง

ถ้าไม่ชนะขาดก็จะต้องมาร่วมมือกันท่ามกลางการเมืองของความเป็นไปได้

ในทางหนึ่งเราเคยเชื่อว่าการเมืองที่ดีคือการแข่งขันกันของสองฝ่าย ฝ่ายชนะทำงานโดยคำนึงถึงฝ่ายแพ้ด้วย

ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าเรามองว่าผลประโยชน์ อุดมการณ์ และความใฝ่ฝันของคนใช่ว่าจะเปลี่ยนกันง่ายๆ ดังนั้น ผลการเลือกตั้งไม่ได้สะท้อนว่าสังคมมีสองฝ่าย แต่มีหลายฝ่าย ความท้าทายจึงไปอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรที่จะยอมรับว่าแต่ละฝ่ายควรมีที่ทางของตัวเอง และมีความเป็นไปได้ในการสร้างความร่วมมือ และขัดแย้งกันอย่างสร้างสรรค์

ไม่ใช่เลยเถิดไปสู่การเมืองแบบสมานฉันท์ไม่มีฝ่ายค้านเอาเสียเลย

เรื่องเหล่านี้ผมคิดว่าอาจไม่ได้เริ่มจากการนำเสนอวิสัยทัศน์ที่ซับซ้อน หรืออุดมการณ์ทางการเมืองเท่ากับการกล้าเผชิญกับคำถามและกล้าให้ตอบในประเด็นที่แหลมคมทางการเมืองที่เกี่ยวเนื่องกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในสังคมที่ผ่านมาอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการอยู่ร่วมกันในระดับของการแข่งขันทางการเมืองของพรรค มากกว่าแค่ออกมาพูดว่าเห็นแตกต่างกันในเรื่องไหน

หมายถึงง่ายๆ ว่า เปิดกว้างต่อคำถามและแสดงความจริงใจในคำตอบที่สังคมสงสัยและลองถามเป็นเบื้องแรก

การเลือกตั้งครั้งหน้า การนำเสนอจินตนาการทางการเมือง และตัวแบบทางการเมือง ก็จะสำคัญไม่น้อยไปกว่าการนำเสนอนโยบายและโครงการทางเศรษฐกิจที่แต่ละพรรคถ้าไม่เสนอไปแล้ว บ้างก็ยังอุบเอาไว้นั่นแหละครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image