การเมือง’ปีไก่’ ‘เลือกตั้ง’ 60-61 จับตา’คืนอำนาจ’?

ปี 2559 เป็นปีแห่งความสูญเสียครั้งใหญ่

เมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จสวรรคต เมื่อเวลา 15.52 น. วันที่ 13 ตุลาคม 2559

พระบรมศพประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทำให้ถนนทุกสายมุ่งไปยังสถานที่แห่งนี้ เพื่อถวายสักการะ รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ

รัฐบาลได้เริ่มปักหมุด เตรียมก่อสร้างพระเมรุมาศ ที่ท้องสนามหลวง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2560

Advertisement

งานพระเมรุมาศ ส่งเสด็จ รัชกาลที่ 9 สู่สวรรคาลัย จะดำเนินไปอย่างสมพระเกียรติ ด้วยความตั้งใจและพร้อมใจของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน

การเมืองของปี 2559 เป็นเรื่องของการเตรียมความพร้อมสำหรับปี 2560

อันเป็นปีที่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช.ประกาศโรดแมปไว้ว่า จะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป

Advertisement

ส่วนวันเลือกตั้ง จะเป็นเมื่อไหร่ของปี 2560 ยังไม่มีกำหนดชัดเจน

เพราะยังขึ้นอยู่กับหลายเงื่อนไข

งานสำคัญที่จะต้องเป็นไปอย่างสมพระเกียรติ และคนไทยทุกคนจะต้องขอเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความรำลึกอาลัย

ร่างรัฐธรรมนูญ จะมีผลประกาศใช้เมื่อไหร่ ก็เป็นอีกเงื่อนไข

การเลือกตั้งจะดำเนินไปอย่างไร พอจะเห็นร่องรอยจากเมื่อครั้งการลงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ว่าจะต้องอยู่ภายใต้กรอบความคิดด้านความมั่นคง

พรรคการเมืองจะเข้าร่วมกับการเลือกตั้งครั้งนี้ ในลักษณะของไฟต์บังคับ ไม่มีหนทางให้เลือกมากนัก นอกจากยอมเล่นตามกติกาที่ตนเองไม่ได้มีส่วนกำหนด

กฎกติกาของการเลือกตั้ง เป็นไปตามร่างรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ ที่กำลังยกร่าง รอรัฐธรรมนูญมีผล จะต้องส่งทั้ง 4 ฉบับให้ สนช.พิจารณาให้เสร็จใน 60 วัน

หากกลไกในรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก ทำงานได้ผลตามที่ผู้ยกร่างได้เล็งไว้

จะทำให้ ส.ส.กระจายไปอยู่ตามพรรคต่างๆ และยากที่พรรคใหญ่

จะกวาด ส.ส. มากองไว้ในหน้าตักของตนเอง เพื่อเป็น ?ตั๋ว? ผ่านไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล

สภาพเช่นนี้ เปิดช่องให้ “นายกฯ คนนอก” สอดแทรกเข้ามาได้

แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ยังต้องผ่านจุดหักเหอีกหลายหัวโค้ง

ประวัติศาสตร์บอกว่า การกำหนดผลการเลือกตั้ง อาจทำได้ระดับหนึ่ง ผ่านทางกฎหมาย และกลไกอำนาจรัฐ

อย่างไรก็ตาม หลายครั้งที่ผลการเลือกตั้ง ออกมาในแบบหักปากกาเซียน

ครั้งนี้ก็ยังยากจะสรุป เพราะมีปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จและล้มเหลว แทรกซ้อนกันอยู่

 

การจัดทำกฎกติกา เป็นไปตามแนวทาง “ปฏิรูป” ของ คสช. หรือ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ของ กปปส. อันเป็นที่มาของรัฐประหาร 2557

ผลก็คือ ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ และคณะกรรมการร่างที่มาแทนชุดเก่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญของบวรศักดิ์

อุวรรณโณ ที่โดนสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. คว่ำไปเมื่อ 6 กันยายน 2558

ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ “มีชัย” หรือที่เรียกว่า “ฉบับปฏิรูป” ผ่านประชามติไปเมื่อ 7 สิงหาคม 2559

คำถามพ่วงที่เปิดช่องให้นายกฯคนนอก และให้วุฒิสภาร่วมโหวตเลือกนายกฯ ก็ผ่านไปพร้อมกัน

ผลการลงประชามติ สร้างเครดิตให้ คสช. กลุ่มผู้สนับสนุนคณะทหารออกมาชี้ว่าเป็นชัยชนะอันงดงาม และ ?ตบหน้าสั่งสอน? บรรดานักการเมือง พรรคการเมือง

เพราะคนเหล่านี้ออกมาประกาศคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ โดยชี้ว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่รองรับการสืบทอดอำนาจของ คสช. ที่อาจนำเอา“คนนอก” มาเป็นนายกฯ โดยอาศัยฐานของ ส.ว.ที่ตั้งโดย คสช. และจะมีบทบาทอำนาจมากไม่แพ้ ส.ส.

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ก่อนกำหนด คือ 9 พฤศจิกายน 2559 เล็กน้อย

รอการโปรดเกล้าฯ ทรงลงพระปรมาภิไธย เพื่อบังคับใช้

พร้อมๆ กันนั้น คือ การเตรียมยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือ กม.ลูก 4 ฉบับ ที่จะต้องใช้ในการเลือกตั้ง

ที่ก่อให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนี้ ก็คือ ร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่มีข้อกำหนดใหม่ๆ เกี่ยวกับ การก่อตั้ง การจ่ายค่าบำรุงพรรค ทะเบียนสมาชิกพรรค

ทำให้บรรดาพรรคการเมืองต้องซุ่มเตรียมรับมือกันอย่างเคร่งเครียด

อีกฉบับได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่เพิ่ม กกต.จาก 5 เป็น 7 คน กำหนดคุณสมบัติของ กกต.ใหม่ ทำให้ กกต.ที่อยากจะนั่งต่อ กระวนกระวายไปตามๆ กัน

เป็นการเมืองภายในขั้วอำนาจ ต้องการจัดระเบียบ นำบุคคลจากวงราชการหรือวงวิชาการที่น่าเชื่อถือมาแทน เพื่อกอบกู้ภาพของขั้วอำนาจ จากการล้มเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557

อีก 2 ฉบับที่จะต้องดำเนินการพร้อมกัน ก็คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาของ ส.ว.

ตามโรดแมป การเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นในปลายปี 2560 แม้หลายคนเชื่อว่าน่าจะเกิดขึ้นได้เร็วกว่านั้น

อีกมุมหนึ่ง ยังเชื่อกันว่าอาจจะลากยาวไปถึงปี 2561

บรรดาสมาชิกสภาแต่งตั้ง เครือข่ายของ คสช.บางแห่ง ยังเชื่อว่า ตัวเองจะไม่ตกงานง่ายๆ ในปีสองปีนี้

เพราะยังมีความ “ไม่ลงตัว” อยู่ลึกๆ ในหลายๆ เรื่อง

โจทย์สำคัญ ได้แก่ การปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เข้าเป้าขนาดไหน

ในขั้วอำนาจ ยังไม่มีความมั่นใจว่า 2 ปีเศษที่ผ่านไป คสช.ทำงานได้ตามวัตถุประสงค์ได้ขนาดไหน

โดยเฉพาะเจตนารมณ์ลึกๆ ที่จะสร้างหลักประกัน ไม่ให้เกิดการ “เสียของ” ขึ้นมาอีก

เป็น “อภิมหาเดิมพัน” ที่ผู้มีอำนาจไม่อยากจะสูญเสียหรือเพลี่ยงพล้ำ

แต่ตัวกำหนดว่าจะอยู่ในอำนาจต่อไปหรือจอดป้ายที่ตอนปลายของโรดแมป ไม่ได้อยู่ที่ความปรารถนาของผู้มีอำนาจฝ่ายเดียว

ยังมีตัวแปรอื่นๆ อีก

หนึ่งในตัวแปรสำคัญ ได้แก่ สภาพเศรษฐกิจ

การปรับ ครม.รอบหลัง ขยับ-สลับ-ย้าย รมต.ในทีมเศรษฐกิจ คือตัวชี้วัดที่สำคัญ

ห้วงปลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลออกมาตรการอัดฉีด แจกแถม แทบจะทุกหน่วยงาน

ทั้งในระดับรากหญ้า เกษตรกร และชนชั้นกลาง

เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และแก้ปัญหาให้กลุ่มทุน ผู้ประกอบการ ที่มีปัญหาการค้าการขาย

เป็นเรื่องปกติธรรมดา หากประชาชนท้องอิ่ม มีงานทำ ขายพืชผลได้ราคา มีเงินในกระเป๋าดูแลตัวเองและครอบครัว ก็ย่อมพึงพอใจในสภาพแวดล้อม การเมืองจะเป็นยังไง จะเกิดการจำกัดเสรีภาพมากมายแค่ไหน อาจไม่สนใจ เห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัว

เหมือนในหลายๆ ประเทศ ที่อยู่ภายใต้ระบบการเมืองที่บีบรัด อาทิ จีน หรืออีกหลายประเทศเพื่อนบ้านของไทย

แต่ถ้าตรงกันข้าม ชีวิตความเป็นอยู่มีปัญหา ก็จะต้องหาคำตอบ และเปรียบเทียบการทำงานของผู้มีอำนาจ

นี่คือความสัมพันธ์อันส่งผลสะเทือนต่อกันและกันของเศรษฐกิจกับการเมือง

สภาพเศรษฐกิจ อาจกลายเป็นชนวนของปัญหาการเมืองได้โดยง่าย หากปัญหาปากท้องก่อให้เกิดความไม่พอใจชีวิตความเป็นอยู่ แล้วไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที

การเมืองปีไก่ 2560 จึงยังไม่ผ่อนคลาย ไม่สามารถนั่งนอนรอเวลาเก็บของกลับบ้านหลังเลือกตั้ง

ยังจะต้องเหน็ดเหนื่อย ดังที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี กล่าวกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่นำคณะเข้าอวยพรปีใหม่เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์

การเลือกตั้งปลายปี 2560 หรือปี 2561 เป็นทางออกที่ทุกฝ่ายเชื่อว่า จะทำให้ปัญหา โดยเฉพาะเศรษฐกิจและการเมืองคลี่คลายไปได้

ส่วนจะคลี่คลายได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร ขึ้นกับวิธีการเลือกตั้งด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image