ผู้เขียน | กล้า สมุทวณิช |
---|
มีผู้กล่าวข้อสังเกตและคนส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกันว่า สาเหตุที่ทางไอลอว์ สามารถรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้ยื่นข้อเสนอขอให้มีการจัดทำประชามติเพื่อให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ทะลุไปถึงสองแสนกว่ารายชื่อจากที่ต้องการเพียงห้าหมื่นชื่อในเวลาเพียงสามวันนั้น เป็นเพราะประชาชนต้องการ “ตบหน้า” สั่งสอน กกต. ที่เพิ่งมาบอกเอาสามวันสุดท้าย ว่าการลงชื่อนั้นใช้วิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้
เรื่องนี้ ถ้าจะให้กล่าวอย่างพยายาม “เข้าใจ” ก็อาจกล่าวได้ว่า ในปัจจุบันนี้ กกต.ยังไม่มีกฎหมายหรือระเบียบรองรับเกี่ยวกับการลงชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ และต่อให้จะปรับเอา พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 มาใช้บังคับได้ (ซึ่งทางสำนักงาน กกต.เห็นว่านำมาปรับใช้ไม่ได้ เนื่องจาก กกต.มีสถานะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ) ก็ยังจะมีปัญหาในเรื่องที่จะต้องพิสูจน์ว่ารายชื่อที่เสนอมาตามแบบฟอร์มนั้นถือว่าได้มีการรับรองหรือลงลายมือชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐานเพียงพอหรือไม่อีกด้วย
ตรงนี้ถ้าจะ “เอาใจช่วย” กว่านั้น คือทาง กกต.เองก็อาจจะกลัวว่าถ้ามีการโต้แย้งใดๆ ภายหลังแล้ว เกิดปรากฏว่าการลงชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังไม่มีกฎหมายหรือระเบียบรองรับนั้นทำไม่ได้ขึ้นมา โดยการวินิจฉัยขององค์กรอื่นแล้ว เสียงของประชาชนจะตกน้ำไปจริงๆ ดังนั้นเพื่อ “กันเหนียว” กกต.จึงขอรับเฉพาะการลงชื่อในเอกสารประกาศก่อนเป็นสำคัญ
หากเพราะความที่ประชาชนนั้นไม่เชื่อถือ หรือไม่มั่นใจในความ “โปร่งใส” (ที่ กกต.เพิ่งตัดออกไปจากสโลแกนหรือคำขวัญองค์กร) ประกอบกับการใช้อำนาจที่ประชาชนเห็นว่า “แปลกประหลาด” ไม่เข้าท่ามาตลอดในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้ง ทำให้ท่าทีดังกล่าวของ กกต.ที่แม้ว่าจะ “เข้าใจได้” อยู่บ้าง ถูกตีความไปในแง่ร้ายว่าเป็นการกลั่นแกล้งไม่ให้ทางไอลอว์สามารถจัดการลงชื่อเสนอทำประชามติได้สำเร็จ ซึ่งเรื่องนี้ถ้าจะมีข้อตำหนิ ก็เห็นจะอยู่ที่การมาแจ้งเอาว่าการลงชื่อโดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์นั้นทำไม่ได้เอาเมื่อ 3 วันสุดท้ายที่ทางไอลอว์กำหนดไว้เป็นเส้นตายของการรับรายชื่อนั่นแหละ
แต่ไม่ว่าจะโดยทางใดก็ตาม มันก็ได้แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวอย่างยิ่งของสังคมว่าต้องการที่จะ “ยกเลิก” รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาตลอด 6 ปีแห่งการบังคับใช้ เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยตัวแทนประชาชนขึ้นใหม่ทั้งฉบับ
การเข้าชื่อเสนอขอทำประชามติเพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด เป็นการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 มาตรา 9 วรรคสอง (5) ซึ่งมาตรา 11 โดยรายละเอียดขั้นตอนต่อจากนี้คือ เมื่อผู้แทนของผู้มีสิทธิเข้าชื่อ พร้อมรายชื่อประชาชนที่ร่วมเสนอไปจนครบแล้ว นำไปยื่นต่อ สำนักงาน กกต.เพื่อตรวจสอบความถูกต้องเบื้องต้นเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในความถูกต้องเบื้องต้นภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับเอกสาร หากเห็นว่าเป็นไปโดยถูกต้อง ก็จะทำการส่งเรื่องต่อไปให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ดำเนินการต่อ โดย สลค.จะรับหน้าที่ในการพิจารณามอบหมายหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นวิเคราะห์เรื่องที่จะขอให้จัดทำประชามตินั้น รวมถึงอาจขอให้หน่วยงานรัฐอื่นๆ ช่วยดำเนินการตรวจสอบรายชื่อ เพื่อสุดท้ายจะนำเสนอต่อ ครม.พิจารณาว่าเห็นควรจะให้จัดทำประชามติตามที่ประชาชนร่วมลงชื่อร้องขอไปหรือไม่
จึงเป็นเหตุที่ทางไอลอว์ต้องกำหนด “เส้นตาย” วันสุดท้ายที่จะให้ประชาชนเข้าชื่อเพื่อเสนอประชามติให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเป็นวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น ก็เพื่อต้องการให้เมื่อส่งเรื่องเข้ากระบวนการทั้งหมดแล้ว จะต้องทันต่อการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ตั้งแต่ในวาระแรก
ที่หากไม่นับกลไกทางราชการที่อาจจะสามารถ “ปัดตก” ได้ในหลายเหตุซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรชี้โพรงให้กระรอกแล้ว ในที่สุด “น้ำหนัก” แห่งการตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรกับข้อเรียกร้องของประชาชนที่มาเข้าชื่อกันนี้ ก็จะไปตกหนักแก่รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ของนายกรัฐมนตรีท่านใหม่ นายเศรษฐา ทวีสิน
ทั้งนี้ เพราะนโยบายของพรรคเพื่อไทยเองที่ประกาศเสมอมาทั้งในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ว่าจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยคงรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและผ่านขั้นตอนการออกเสียงลงประชามติโดยประชาชน และยังมาย้ำซ้ำอีกรอบในครั้งที่ประกาศแยกตัวไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกลเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมนี้ ว่าในการประชุม ครม.นัดแรกจะมีวาระเร่งด่วนให้มีการทำประชามติ และตั้ง ส.ส.ร.ให้กระบวนการมีส่วนร่วมในการแก้ จากนั้นจะคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่ภายในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
คราวนี้ “รัฐบาลเพื่อไทย” ยังงัดท่าไม้ตายเดิมที่ว่า “ที่ประกาศไปนั้นเป็นเพียงนโยบายเพื่อการจูงใจประชาชนในการหาเสียงเลือกตั้ง หรือเป็นเพียงการกล่าวให้มีผลเฉพาะในบริบทขณะที่พูด ฯลฯ” ก็อาจจะเรียกเสียงโห่ขึ้นมาได้อีกครั้ง และเป็นการใช้จ่ายต้นทุนทางการเมืองที่มีราคาแพงมากอีกเรื่องหนึ่งด้วย เพราะอันที่จริงแล้ว การรักษาสัญญาให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับนี้ ก็ไม่น่าจะไปกระทบกระเทือนกับความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลอื่นแต่อย่างใด ไม่เหมือนการประกาศ “ไล่หนู ตีงูเห่า” หรือการประกาศ “ไม่มีลุง ไม่มีเรา” ที่พอจะเกลื่อนกลืนแก้ตัวได้ว่า ในบริบทที่ต้องร่วมมือกับพรรคการเมืองอื่นจะมาร่วมรัฐบาลด้วยกันนั้นเป็นเหตุจำใจให้ต้องพลิกลิ้น
เว้นเสียแต่ว่าเรื่องนี้จะมี “ข้อมูลใหม่” ที่ทำให้ไม่อยากที่จะยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย ส.ส.ร.ที่มีที่มาจากประชาชนเสียแล้ว
แต่ถึงกระนั้นก็มีเรื่องที่อยากจะให้ผู้ริเริ่มให้มีการทำประชามติเขียนรัฐธรรมนูญใหม่และประชาชนผู้ร่วมเข้าชื่อนั้นทำใจร่มๆ กันอยู่นิดหนึ่งว่า สิ่งที่เราต้องยอมรับเป็นพื้นฐานตรงกัน คือไม่ว่าจะอย่างไร
รัฐประเทศก็ต้องปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบมี “ผู้แทน” ซึ่งให้ประชาชนเลือกผู้แทนของตนเข้าไปใช้อำนาจรัฐแทน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติหรือเป็นฝ่ายบริหาร
แม้ว่าการเลือกตั้งจะไม่ใช่การมอบอำนาจทางการเมืองไปอย่างเด็ดขาด กลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นถือเป็น “ส่วนเสริม” ของการปกครองตามระบบนี้ แต่การตัดสินใจในระดับอำนาจรัฐนั้นก็จะต้องมาจากการตัดสินใจของ “ตัวแทน” ประชาชนเป็นหลัก ซึ่งเป็นกติกาสากลที่ได้รับการยอมรับกันเกือบทั้งโลก
อีกทั้งยังต้องเข้าใจด้วยว่า “ตัวเลข” นั้นจะมากเท่าไร มีที่มาหรือเรื่องเล่าเบื้องหลังอย่างไร แต่ทั้งหมดทั้งมวลเมื่อเข้าสู่โต๊ะที่ประชุม มันก็มีสถานะเป็น “ชุดข้อมูล” ที่อยู่ในกระดาษทั้งสิ้น และตัวเลขบนกระดาษจึงอาจจะไม่มีแรงกดดันเพียงพอ หรือส่งผลต่อความรู้สึกเท่ากับภาพที่ได้เห็นทางสายตาซึ่งเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ จำนวนรายชื่อผู้เรียกร้องกว่า 200,000 นั้น เทียบไม่ได้เลยกับถ้าคนเพียง 10,000 คน ที่คิดเป็นจำนวนเพียง 5% ของจำนวนผู้เข้าชื่อทั้งหมด แต่มาปรากฏตัวหน้าสถานที่ประชุมของคณะรัฐมนตรีหรือรัฐสภา
จึงอยากขอเล่าประสบการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ ในวันที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ที่ต่อมาได้เป็น “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540” ไว้สักนิดหนึ่ง ในฐานะของผู้ที่ได้เป็นประจักษ์พยานของเหตุการณ์ในครั้งนั้น
กำเนิดของรัฐธรรมนูญปี 2540 เกิดขึ้นหลังวิกฤตการเมืองหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่ถึงแม้ฝ่ายทหารจะกลับเข้ากรมกอง และมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นพลเรือนมาจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่อาจแก้ไขปัญหาทางการเมืองไทยได้จนเกิดวิกฤตทางการเมืองขึ้นอีกครั้ง ประกอบกับบรรยากาศในสังคมนำไปสู่การเรียกร้องให้มีการ “ปฏิรูปทางการเมือง” โดยกลไกทางรัฐธรรมนูญ
จนกระทั่งปี พ.ศ.2538 นายกฯ บรรหาร ศิลปอาชา ก็ได้ “ตัดใจ” ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2534 เพื่อเปิดทางให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง จังหวัดละหนึ่งคน 77 คน และสมาชิกซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ในสาขาที่เกี่ยวข้องอีก 23 คน รวมเป็น 100 คน เพื่อทำการยกร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 240 วัน และนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือถ้าไม่เห็นชอบ ก็จะต้องนำร่างรัฐธรรมนูญนั้นไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติกันต่อไป
ในระหว่างการอภิปรายของสภาช่วงวันสองวันแรกนั้น ปรากฏว่ามี “แรงต้าน” มาจากบรรดานักการเมือง ส.ส.และ ส.ว.ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงสร้างระบบการเมืองใหม่ การเลือกตั้งแบบใหม่ที่พวกเขาไม่คุ้นเคย รวมถึงมี ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งทางตรงของประชาชนด้วย รวมถึงประเด็นเล็กๆ น้อยๆ เช่น บรรดากำนันผู้ใหญ่บ้านที่หวั่นเกรงการกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะก่อให้เกิดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
คือถ้าแค่ฟังการถกแถลงในรัฐสภา และเสียงฮึ่มฮั่มของเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายประจำ เป็นใครๆ ก็ต้องทำใจคิดว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปนี้คงไม่ผ่านสภาแน่ๆ เตรียมปากการอลงประชามติกันดีกว่า
กระนั้น ปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้นในคืนก่อนวันลงมติของรัฐสภา ที่ไม่รู้ว่ามีกระแสมาจากไหน และกระแสนี้ถูกส่งแพร่ต่อกันด้วยวิธีการใด ในยุคสมัยที่มีผู้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตไม่น่าจะเกินห้าพันคนทั่วประเทศไทย ช่วงที่เว็บพันทิปดอทคอมเพิ่งก่อตั้ง และมีเว็บมาสเตอร์เพียงคนเดียวจัดการทุกอย่างได้
แต่อยู่ดีๆ ก็มีกระแส “ธงเขียว” และ “ริบบิ้นเขียว” ส่งต่อกันไปมาขอให้ประชาชนที่เห็นด้วยและอยากให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ช่วยกันแสดงสัญลักษณ์ “สีเขียว” โดยอาจจะติดธงเขียวหน้าบ้าน ที่รถ หรือผูกข้อมือหรือมัดผมด้วย “ริบบิ้นเขียว” กระแสนี้เกิดขึ้นได้ ส่วนหนึ่งก็มาจากที่ฝ่ายผู้ร่างรัฐธรรมนูญ นักวิชาการ และสื่อเครือข่ายได้ร่วมกันย่อยเนื้อหาและอธิบายถึง “ข้อดี” และผลที่จะได้รับจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้
ในตอนนั้น บนศีรษะของนิสิตนักศึกษาหญิงนั้นผูกโบสีเขียว ผู้ชายก็ผูกริบบิ้นเขียวบนข้อมือ และที่กระจกมองข้างหรือเสาอากาศของรถยนต์เกือบทั้งเมือง ก็มีธงเขียวและริบบิ้นเขียวประดับ รวมถึงใครที่ทำได้ ก็ใส่เสื้อสีเขียวออกจากบ้าน ทั้งหมดคือการแสดงออกซึ่งการสนับสนุนการมีรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง โดยไม่มีการชุมนุมเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญเลย ทุกคนใช้ชีวิตกันตามปกติ เพิ่มเพียงแค่เติม “สีเขียว” ที่เป็นสีประจำของรัฐธรรมนูญใหม่เข้าไปเท่านั้น
กระแส “ธงเขียว” กลายมาเป็นกระแสหลักของสังคม อย่างที่ยากจะต้าน “ภาพ” ของ “สีเขียว” เต็มท้องถนนและในที่สาธารณะ กลายเป็น “ธงนำ” ทำให้ในการลงมติของรัฐสภา โดยเฉพาะฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรที่จำเป็นต้อง “เกรงใจ” ประชาชน ต่างก็ออกมาลงมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญจนได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาได้ ผิดจากวันที่อภิปรายร่างรัฐธรรมนูญกันมาเผ็ดร้อนก่อนหน้านั้น แบบที่เรียกว่าเป็นหนังคนละม้วน
ทั้งหมดนี้ คือที่มาของการที่มี “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ฉบับก่อนหน้านี้ จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีกระบวนการอันชอบธรรมเช่นนี้อีกในอนาคต
กล้า สมุทวณิช