60 ปี ดงผู้ดี ไม่มีจริงในบ้านเรา? โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

หลายคนรอบตัวของผมเริ่มตั้งคำถามว่าทำไม “ผู้ดีภิวัฒน์” (gentrification) จึงเป็นที่กล่าวถึงในบ้านเรามากนักในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา

ทั้งฝ่ายที่สนับสนุนผู้ดีภิวัฒน์

กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับผู้ดีภิวัฒน์

ส่วนผมเอง ผมคิดไปอีกมุมว่าคำว่า ผู้ดีภิวัฒน์นี้ มันใช้ได้ในสังคมไทยจริงไหม และปัญหาจริงๆ มันอยู่ที่ไหนกันแน่

ADVERTISMENT

ทฤษฎีหนึ่งของความเป็นที่นิยมของข้อถกเถียงเรื่องผู้ดีภิวัฒน์ คือ เรื่องมันมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงในเมืองที่มีมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการจัดงานบางกอกดีไซน์วีค และขบวนการทั้งหลายที่เกี่ยวกับการปรับย่านเปลี่ยนเมืองอะไรทำนองนี้

ส่วนตัวผมเอง ไม่มีทฤษฎีในเรื่องนี้ แต่คิดถึงเรื่องตัวเลขที่อาจจะเป็นเรื่องบังเอิญว่า รูธ กลาส (Ruth Glass) นักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน ที่มาเรียนและทำงานที่มหานครลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้นิยามคำว่า gentrification เอาไว้ในงานเขียนที่รูธ กลาสเป็นหัวหน้าคณะนักสำรวจสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของลอนดอนเมื่อ ค.ศ.1964 ซึ่งมาถึงวันนี้ครบ 60 ปีพอดี

ADVERTISMENT

ซึ่งงานของรูธก็ถือเป็นการสำรวจความเปลี่ยนแปลงของมหานครลอนดอนทั้งหลังสงครามโลกครั้งที่สองมาสักพักหนึ่ง และก็เป็นการเปลี่ยนแปลงหลังจากการวางแผนมหานครลอนดอน (The Greater London Plan 1944)

เรามักจะนิยามว่า ผู้ดีภิวัฒน์นั้น เป็นเรื่องของการที่คนรวย หรือทุนนิยมเข้ามาแทนที่ หรือทำลายย่าน

หรือบางคนก็บอกว่า มันก็โอเคนี่ นำความเจริญมาให้ในพื้นที่

ความจริงสิ่งที่รูธพูดเอาไว้มันมีความซับซ้อน แต่คำว่า gentrification มันถูกขยายความไปมากมาย จนมีชีวิตของตัวมันเองมากกว่ามาหาความถูกต้องตรงความหมายกับสิ่งที่รูธพูดเอาไว้เมื่อ 60 ปี

แต่วรรคทองของรูธนั้นก็น่าสนใจให้เราค้นหาอยู่พอสมควร เพราะรูธตั้งข้อสังเกต พื้นที่ในลอนดอนที่ชนชั้นกรรมาชีพพักอาศัยและใช้ชีวิตอยู่ ถูก “รุกราน” โดยชนชั้นกลางทั้งที่เป็นชนชั้นกลางระดับบนและล่าง เมื่อพื้นที่พักอาศัยต่างๆ ถูกเปลี่ยนมือเมื่อสัญญาเช่าหมดลง (เดิมพื้นที่แถวนั้นก็มีลักษณะที่เป็นย่านเก่า หรือมีอาคารเดิมที่ถูกเช่าช่วงมาก่อน) กระบวนการ “เจนตริฟิเคชั่น” ที่รูธเอ่ยถึงนั้น เธอกล่าวว่า เมื่อกระบวนการนี้เกิดขึ้น มันจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระทั่งพื้นที่ที่ครอบครองอยู่โดยชนชั้นกรรมาชีพนั้นถูกแทนที่/ขับไล่ (displaced) ไปทั้งหมด หรือเปลี่ยนมือไปเกือบทั้งหมด และลักษณะทางสังคมของพื้นที่นั้นถูกเปลี่ยนแปลงไป (R.Glass. Introduction: Aspects of Change. In Centre for Urban Studies. ed. London: Aspects of Changes. London: Macgibbob & Kee. 1964)

จะเห็นว่าในแง่ของจุดตั้งต้นของแนวคิดเรื่องเจนตริฟิเคชั่นนั้น มีสองเรื่องที่ไม่ได้ซ้อนทับกันพอดี หนึ่งคือ เรื่องของการใช้คำว่า Gentry ที่แปลว่าผู้ดี ผู้สูงศักดิ์ ที่เลี้ยงดูมาอย่างดี กับเรื่องที่สองคือ คำว่าชนชั้นกลาง (middle class) ซึ่งอาจไม่ได้ซ้อนทับพอดี และก็มีข้อวิจารณ์มากมายกับคำว่าชนชั้นกลางที่ถูกใช้ในแนวคิดเรื่องเจนตริฟิเคชั่น (S.Holgeron. The Middle Class does not exist: A Critique of Gentrification Research. Antipodeonline.org. 9/9/2020)

และรูธเองในบทนำของรายงานการสำรวจ ก็อธิบายชนชั้นนี้ว่ามีลักษณะที่เกี่ยวกับรุ่น และการแสดงออกถึงรูปแบบความหลากหลายของการใช้ชีวิตมากกว่า

ดังนั้นอาจต้องตั้งหลักกันนิดนึง ว่าก่อนที่จะกล่าวว่าเป็นเรื่องทุน เรื่องชนชั้นอะไร อาจต้องลองดูก่อนว่าใครกันแน่ที่นำเข้ามาใช้ เข้ามาอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น

เรื่องราวชีวิตของแนวคิดเจนตริฟิเคชั่นยังดำเนินต่อไปอีกยาวนาน โดยเฉพาะในฝั่งของอเมริกา ที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของแต่ละย่านที่คนผิวสีนั้นถูกแทนที่โดยคนสีผิวอื่น โดยเฉพาะคนผิวขาวที่มีเศรษฐสถานะสูงกว่า

ทั้งหมดที่กล่าวมาจึงกังวลกับคำว่า ผู้ดีภิวัฒน์ เพราะผู้ดีในความหมายของสังคมไทยน่าจะไม่ได้มีความหมายแบบที่จะแปลกันตรงๆ

คำว่าผู้ดีไทยมีความหมายทางบวกอยู่ด้วยนะครับ เพราะมันมีความหมายว่าผู้ดีนั้นจะต้องถูกขัดเกลาไปด้วย ไม่ได้แค่เกิดจากชาติกำเนิดเท่านั้น

อีกมิติที่น่าสนใจ คือ เวลาที่เราพูดถึงเรื่องของสังคมเมืองของไทยสมัยโบราณ ซึ่งยังมีร่องรอยจนถึงวันนี้ เราก็พูดถึงบ้าน วัด โรงเรียน และคนจนด้วย

แม้จะไม่ได้เท่าเทียม แต่วัง หรือบ้านเจ้าพระยานั้น ก็รายล้อมด้วยบ้านข้าราชบริพาร วัด และโรงเรียนที่คนมีชาติตระกูลเหล่านั้น เขาต้องอุปถัมภ์เช่นกัน

ระบบ “นิเวศวิทยาเมือง” สมัยก่อนนั้นอาจไม่ได้เท่าเทียม บางคนดูว่าเอาเปรียบ แต่ก็มีลักษณะพอถ้อยทีถ้อยอาศัยอยู่พอประมาณบางที บางคราว

เมื่อเทียบกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่ถูกกล่าวขานในช่วงนี้ของผู้ดีภิวัฒน์ในบ้านในเมืองของเรา ที่เสริมองค์ประกอบเรื่องกฎหมายที่ดิน และผังเมืองเข้าไปอีก

ถ้ามันเป็นเรื่องของการกลายเป็นผู้ดีจริง ผู้ดีจริงเขาคงไม่มาแทนที่ ขับไล่ผู้คนกันแบบที่เป็นอยู่ทั้งด้วยตัวเอง และทั้งด้วยกลไกรัฐอีกมากมายแบบที่เป็นอยู่

และถ้าย้อนกลับไปที่ประเด็นที่รูธกล่าวไว้ ความสำคัญคือการแทนที่ หรือการขับไล่ ทดแทน (displacement) ต่างหากว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร

พูดกันอย่างตรงไปตรงมา เรื่องใหญ่ไม่ใช่ผู้ดี ภิวัฒน์ เท่ากับการขับไล่ (force eviction) และเงื่อนไขความเปราะบาง ที่เกิดขึ้นในเมือง (urban precarity) นั่นแหละครับ

ในการถกเถียงของสังคมตะวันตกนั้น กระบวนการเจนตริฟิเคชั่นนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือเป็นการตัดสินใจของบ้านเรือนแต่ละหลังที่จะย้ายออก เพราะทนกับแรงกดดันที่ค่าครองชีพมันสูงขึ้นไม่ได้

แต่มันมีเงื่อนไขใหญ่ข้อแรกคือ การลงทุนจากทางรัฐ โดยเฉพาะเรื่องของโครงการพัฒนาโครงการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ทั้งหลายนั่นแหละ ที่เรียกกันหรูหราว่า การพัฒนาที่อิงกับการคมนาคมขนส่ง (Transit Oriented Development TOD) ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องการพักอาศัยในรูปแบบใหม่ที่ลดการใช้รถยนต์แบบเดิมลง (L.M.Miller. We need to change how we think about Gentrification. Nationalcivicleague.org.)

แต่คนที่เขาเปราะบาง เสียเปรียบเขามองว่าเป็นการไล่รื้อด้วยเงื่อนไขของการสร้างโครงการคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่ (Transit Oriented Displacement)

ประการที่สอง ที่เกิดเจนตริฟิเคชั่น คือการลงทุนในสถานศึกษาขนาดใหญ่ ตั้งแต่โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือศูนย์การแพทย์

และอย่าลืมว่าเรื่องที่ใหญ่กว่านั้นคือ การเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจโลกที่ทำให้เกิดชนชั้นใหญ่กับฐานเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นเศรษฐกิจบริการ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ทำให้เกิดคนรวยเพิ่มขึ้น เป็นคนรวยแบบใหม่ และคนที่จนก็จนลงเรื่อยๆ ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมากขึ้น และคนชั้นกลางเองก็หดหาย (เพิ่งอ้าง)

ลองคิดประเด็นนี้เราถึงจะเริ่มเข้าใจครับ ว่ากระบวนการเจนตริฟิเคชั่นมันเกิดในบริบทที่ใหญ่กว่าเป็นเพียงการเปลี่ยนย่าน การมีโครงการ หรือเทศกาล ในระดับเมือง หรือเทศบาล

แต่มันเป็นแนวโน้มระดับโลกกับฐานเศรษฐกิจใหม่ และเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายของประเทศด้วย

ยิ่งมาดูในเมืองไทย เราคงต้องแกะกระบวนการเหล่านี้มาดูก่อนว่าแต่ละชนชั้นที่เกิดขึ้นใหม่นั้นเขามีชีวิตอย่างไร

ความเปราะบางในเมืองนั้นมีรูปแบบไหนบ้าง

เอาเข้าจริง ผู้ดีภิวัฒน์นี่ยิ่งไม่จริงเข้าไปใหญ่ เพราะถ้าตีความตรงตัว คนรวยเก่า หรือผู้ดีเก่านั่นแหละ เจอเจนตริฟิเคชั่นอย่างรุนแรงตรงไปตรงมา เช่น มีการเปลี่ยนสีผังเมืองจากที่พักอาศัยเดิมที่เคยเป็นย่านชานเมือง หรือที่พักอาศัยปานกลาง แบบสุขุมวิท มาเป็นที่พักอาศัยหนาแน่น หรือย่านพาณิชยกรรม พวกเขาจึงจะต้องเจอการก่อสร้างและคอนโดมาขึ้นรอบบ้านของเขา ทำให้เขาต้องตัดสินใจว่าจะย้ายออก หรือขายที่เก่าของเขาที่อยู่มาหลายรุ่นไป

ดังนั้นจะให้ใช้คำว่า ผู้ดีภิวัฒน์ผู้ดีไทยคงจะรับได้ยาก (ฮา)

ส่วนที่เป็นคนจนเปราะบางทั้งหลาย ปัญหาใหญ่คือพวกเขาไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง สัญญาเช่าก็แทบจะไม่มี เพราะอยู่กันมานานเป็นชั่วอายุคนแล้ว

คนเหล่านี้ หรือชุมชนเหล่านี้ เมื่อเจอกับเรื่องที่เจ้าของที่ดินมาทำสัญญา มันกลายเป็นสัญญาณที่บอกว่าความไม่มั่นคงของเขาจะเริ่มมาแล้ว เพราะสัญญาจะเริ่มถูกลดลงจากห้าปี เป็นรายปี เป็นรายเดือน และเมื่อไม่ต่อสัญญาเมื่อไหร่ ก็หมายถึงการไล่รื้อย่อมจะเกิดขึ้นอย่างชอบธรรมทางกฎหมาย

นำไปสู่ประเด็นง่ายๆ สำหรับผม เมื่อสองวันก่อนที่มีลูกศิษย์เก่าท่านหนึ่งเชิญไปพูดเรื่องเจนตริฟิเคชั่น

ผมบอกว่า เมืองไทยผมว่าเรื่องใหญ่น่าจะเป็นเรื่องการไล่รื้อชุมชน (eviction) เสียมากกว่ามั้ง

ดังนั้น ถ้าจะต้องแปลก็อาจจะต้องแปล หรือคิดในเงื่อนไขของการสร้างแรงกดดันทางพื้นที่เพื่อการ
เปลี่ยนมือและไล่รื้อ โดยที่คนกลุ่มใหม่เข้ามาแทนที่

นอกจากจะสนใจว่าคนกลุ่มใหม่ คือ ใคร

ก็ต้องกังวลว่าคนกลุ่มเก่านั้นไปไหน

ก่อนจะพูดเรื่องสิทธิเมือง สิทธิกำหนดเมืองอย่างมีศักดิ์ศรี

ลองคิดเรื่องง่ายๆ ว่า เราถูกสอนเรื่องปัจจัยสี่ คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่พักอาศัย

เราอาจจะเคยแบ่งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรคให้คนอื่นโดยไม่คิดมาก

แต่เราเคยคิดเรื่องคนที่ไม่มีความมั่นคงทางที่พักอาศัยมากน้อยแค่ไหน

“แบ่งเมือง” ให้อยู่กันบ้าง

ไม่ใช่แค่จะปรับบ้านเปลี่ยนเมืองไปเรื่อยๆ

หมายเหตุขอบคุณอาจารย์อภิวัฒน์ รัตนวราหะ อาจารย์บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ชาตรี ประกิต
นนทการ และคุณโตมร ศุขปรีชา ที่บุกเบิกเรื่องการศึกษาเรื่อง gentrification มาอย่างยาวนาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image