ที่มา | คอลัมน์ - ไทยพบพม่า |
---|---|
ผู้เขียน | ลลิตา หาญวงษ์ |
การเมืองไทยเป็นประเด็นที่สร้างความตื่นเต้นให้กับเพื่อนๆ ชาวพม่าของผู้เขียนได้เสมอ บางครั้งมากกว่าสถานการณ์ในประเทศของพวกเขาอีก ในพม่า สถานการณ์การสู้รบทำให้เกิดความไม่แน่นอน และคาดการณ์ได้ยากว่าในอนาคตทั้งใกล้และไกล สถานการณ์จะเป็นอย่างไร แต่สำหรับในไทย สภาวะ “นิติสงคราม” ที่เกิดขึ้น และการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้อดีตนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ต้องลงจากตำแหน่ง และเปิดโอกาสให้ทายาทสายตรงตระกูลชินวัตรขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย
ชาวพม่าส่วนใหญ่รู้จักอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ และติดตามข่าวการเมืองในไทยอย่างใกล้ชิด สำหรับผู้เขียน บางครั้งก็รู้สึกว่าเพื่อนชาวพม่ารู้การเมืองไทยดีกว่าผู้เขียนเสียอีก ทำไมคนพม่าถึงสนใจการเมืองไทย โดยเฉพาะครอบครัวชินวัตร เป็นพิเศษ? คำตอบที่มักได้รับคือในช่วงเกือบ 30 ปีมานี้ ไม่มีรัฐบาลไทยชุดใดที่มีนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงที่เป็นรูปธรรมเหมือนรัฐบาลทักษิณสมัยแรก (พ.ศ.2544-2547/ค.ศ.2001-2004) ที่นำเสนอ “นโยบายการทูตที่ก้าวไปข้างหน้า”
แก่นของนโยบายต่อพม่าในยุครัฐบาลทักษิณอยู่ที่การสร้างความร่วมมือด้านต่างๆ และการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ด้วยความเชื่อที่ว่าหากพม่าสงบ ไม่เกิดปัญหาภายใน ไทยก็จะได้ประโยชน์ ด้วยไทยกับพม่ามีชายแดนติดต่อกันยาว ดังนั้น เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศดีขึ้น ไทยก็จะได้รับความร่วมมือด้านการแก้ไขปัญหาความมั่นคงชายแดนจากรัฐบาล SPDC ด้วย
แนวคิดเรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างสันตินี้ ยังส่งอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน ไทยมีกรอบความร่วมมือกับพม่าในทุกระดับ ตั้งแต่คณะกรรมการระดับสูง (High Level Committee หรือ HLC) ที่มีผู้บัญชาการทหารสูงสุดของทั้งสองประเทศเป็นประธานร่วม คณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (Township Border Committee หรือ TBC) มีทั้งหมด 5 แห่งตามแนวชายแดนไทย-พม่า มีผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่เกี่ยวข้องเป็นประธานฝั่งไทย และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee หรือ RBC) มีแม่ทัพภาคที่ 3 เป็นประธานฝั่งไทย และเพิ่งมีการประชุมรอบล่าสุดไประหว่างวันที่ 24-27 มิถุนายน และเป็นการประชุมครั้งที่ 36 แล้ว
มีคำถามหนึ่งที่ผู้เขียนถูกถามอย่างสม่ำเสมอ คือท่ามกลางสงครามกลางเมืองในพม่า กรอบความร่วมมือระหว่างไทยกับพม่าข้างต้น ที่เห็นอยู่ว่าเป็นความร่วมมือในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to Go) หรือรัฐบาลไทยกับรัฐบาล SAC ซึ่งมาจากรัฐประหาร ยังคงมีประสิทธิภาพอยู่หรือไม่? แน่นอนว่าสภาพชายแดนไทย-พม่าเปลี่ยนไป จากเดิมอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลกลางที่เนปยีดอ มาเป็นการควบคุมของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม ในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันก็แบ่งเป็นหลายฝ่าย ทำให้ชายแดนกลายเป็นพื้นที่แห่งผลประโยชน์และธุรกิจสีเทา ที่นับวันก็ยิ่งจะขยายใหญ่ขึ้นเป็นเครือข่ายที่สลับซับซ้อน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทั้งรัฐบาลและกองทัพควรจะกลับมานั่งคิดอย่างจริงจังคือไทยจะมีการบริหารจัดการชายแดนที่เกิดขึ้นใหม่ในองค์รวมได้อย่างไร โดยที่ไม่ต้องมาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ารายวัน
จากประสบการณ์การพูดคุยกับฝ่ายความมั่นคงในห้วง 1 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนมีข้อสรุปว่าวิสัยทัศน์ของผู้นำ โดยเฉพาะผู้นำประเทศ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น เฉพาะปัญหาที่เกี่ยวกับชายแดนไทย-พม่านั้นก็มีมากมายและซับซ้อนพอแล้ว ไม่ต้องพูดถึงการสร้างความเชื่อมั่นว่าผู้นำประเทศคนนี้จะอยู่ยาว และข้าราชการไม่ต้องบรีฟรัฐมนตรีที่เปลี่ยนหน้าบ่อยครั้งหลังการปรับคณะรัฐมนตรี ที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าต้องนับหนึ่งใหม่ตลอดเวลา ศักยภาพของผู้นำนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือผู้นำคนใหม่จะรวบรวมขุมกำลังและทรัพยากรที่เรามี เพื่อจัดการปัญหาทั้งปัญหาเฉพาะหน้า และการเตรียมการรับมือปัญหาอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นมาอย่างไร ผู้เขียนอยากจะเน้นย้ำว่า สำหรับปัญหาในพม่านั้น ผู้นำไทยอาจจะคิดไปถึงการเป็นตัวกลางเจรจาสันติภาพ แต่ในความเป็นจริง ไทยควรกลับมาคิดถึงปัญหาชายแดน ที่เป็นโจทย์ที่ท้าทายทั้งฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายต่างประเทศ ทำอย่างไร ไทยจะสามารถจัดการกับปัญหาอย่างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามแดน ผู้ลี้ภัย/ผู้พลัดถิ่น ทั้งที่อยู่ในและนอกค่ายผู้ลี้ภัย ที่มีจำนวนหลายแสนคน ปัญหาแรงงานเมียนมาหลายล้านคนและสถานะทางกฎหมาย อีกทั้งการป้องกันปัญหาที่มาพร้อมกับชายแดนที่ไม่มั่นคง อย่างยาเสพติด จากฝั่งพม่า ที่นับวันก็จะยิ่งทวีความเข้มข้นและรุนแรงขึ้น
ผู้เขียนเคยมีโอกาสพบผู้นำฝั่งการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าหลายกลุ่ม เขามีความรู้เกี่ยวกับการเมืองไทยอย่างดี ต้องอย่าลืมว่าความเคลื่อนไหวของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ๆ ล้วนอยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า และไม่น่าแปลกที่พวกเขาจะฝากความหวังไว้กับรัฐบาลของไทย หลายสิบปีที่ผ่านมา เรามีรัฐบาลมาแล้วหลายชุด แต่การสู้รบในพม่าก็ยังคงมีอยู่ต่อไป และไม่มีทีท่าจะจบลงในอนาคตอันใกล้ ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในไทย ชาวพม่าจะมองว่าเป็นเรื่องใหญ่สำหรับพวกเขา โดยเฉพาะแรงงานพม่าที่อยู่ในไทย และฝ่ายการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่หวังว่ารัฐบาลไทยจะมีนโยบายแบบก้าวกระโดดที่ออกจาก “คอมฟอร์ตโซน” ของตัวเอง เพราะการแก้ปัญหาที่ผู้เขียนกล่าวมาข้างต้น ไม่สามารถทำได้ง่าย หากแต่ต้องการความกล้าหาญ และการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (paradigm shift) เพื่อให้ระบบราชการที่เรามีเป็นส่วนส่งเสริมให้เกิดสันติภาพและความสงบทั้งในไทยและในประเทศเพื่อนบ้านของเราด้วย
อย่างไรก็ดี มุมมองที่เพื่อนๆ ชาวพม่าของผู้เขียนมีต่อรัฐบาลชุดใหม่ เป็นไปในแนวทางเดียวกัน กล่าวคือไม่ได้มีความหวังมากว่ารัฐบาลไทยจะช่วยแก้ไขวิกฤตในพม่าได้ เพราะรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยก็มีปัญหามากมายที่ต้องแก้ไข ผู้เขียนไม่ขออะไรมากจากรัฐบาลชุดนี้ ขอแค่เพียงกลับไปมี นโยบายต่างประเทศและความมั่นคงที่ก้าวหน้าเหมือนในห้วงปี 2544 ผ่านการ “คิดใหม่” นั่นก็จะทำให้ไทยมีบทบาทในบริบทการเมืองระหว่างประเทศที่ดีขึ้นในอีกระดับหนึ่ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สองกำลังใจ 2 นายกฯ ส่งถึงกัน ภารกิจฟื้นฟูแม่สาย ยกนิ้วชมแบ็กโฮแสนสิริช่วยอีกแรง
- วันชัย ชี้นักร้องหนาวแน่ ถึงคิวเจอนิติสงครามโต้กลับ รับไปแอบรู้มา จะลากไส้ยันโคตรเหง้า
- คู่รักพิธีกรดัง โพสต์ขอบคุณ ‘เศรษฐา-ผู้เกี่ยวข้อง’ ผลักดันสมรสเท่าเทียมจนสำเร็จ
- เรียงคนมาเป็นข่าว : ภาพข่าวสังคมวันจันทร์ที่ 23 กันยายน 2567