การปะทะประปราย แต่ถี่ขึ้นของจีนกับฟิลิปปินส์ เป็นการหยั่งเชิงสหรัฐอเมริกา

การปะทะประปราย แต่ถี่ขึ้นของจีนกับฟิลิปปินส์ เป็นการหยั่งเชิงสหรัฐอเมริกา

เรือยามฝั่งของจีนและฟิลิปปินส์ปะทะกันรอบใหม่อีกแล้ว ที่บริเวณนอกแนวปะการังซาบีนาที่เป็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งแนวปะการังซาบีนาอยู่ห่างจากเกาะปาลาวันของฟิลิปปินส์ไปทางตะวันตกเพียง 140 กิโลเมตร แต่อยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่จีนกว่า 1,000 กิโลเมตร ทั้งนี้ จีนอ้างสิทธิเกือบทั้งหมดในเส้นทางเดินเรือที่สำคัญทางเศรษฐกิจของทะเลจีนใต้แทบทั้งทะเลอยู่แล้ว แม้จะมีการอ้างสิทธิจากประเทศต่างๆ รอบๆ ทะเลจีนใต้นี้ และศาลระหว่างประเทศตัดสินว่าข้ออ้างดังกล่าวของจีนไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายก็ตาม

เรือฟิลิปปินส์และจีนปะทะกันใกล้แนวปะการังซาบีนามาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้ และนักวิเคราะห์กล่าวว่า รัฐบาลจีนกำลังพยายามขยายตัวเข้าไปในเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลฟิลิปปินส์มากยิ่งขึ้น และจีนพยายามควบคุมพื้นที่ในทะเลจีนใต้ให้ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติ การค้นพบกองปะการังที่แนวปะการังดังกล่าวในปีนี้ทำให้รัฐบาลฟิลิปปินส์เกิดความกังขาว่ารัฐบาลจีนกำลังวางแผนสร้างฐานทัพถาวรอีกแห่งที่นั่น ซึ่งก็จะเป็นฐานทัพต่างชาติที่ใกล้ฟิลิปปินส์มากที่สุด

โฆษกหน่วยยามฝั่งจีนกล่าวว่า เหตุปะทะล่าสุดในวันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม 2567 เกิดขึ้นนอกแนวปะการังซาบีนาหลังเที่ยงวันไม่นาน โดยเรือฟิลิปปินส์เป็นฝ่ายเจตนาพุ่งชนเรือจีน พร้อมประณามพฤติกรรมไม่เป็นมืออาชีพและกระทำการอันตรายของเรือฟิลิปปินส์ลำดังกล่าว ส่วนโฆษกของหน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์กล่าวไปในอีกทางหนึ่งว่า เรือหมายเลข 5205 ของหน่วยยามฝั่งจีนเป็นผู้พุ่งชนเรือ BRP Teresa Magbanua ขนาด 97 เมตร ของฟิลิปปินส์โดยตรงและโดยเจตนา ขณะที่การพุ่งชนเกิดขึ้นสามครั้ง เป็นการพุ่งชนหัวเรือด้านซ้าย ด้านขวา และคานซ้ายของเรือ BRP Teresa Magbanua ไม่มีลูกเรือได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ปีกสะพานเดินเรือและขอบเรือด้านนอกได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ ยังพบรูทะลุที่ตัวเรือด้วย เรือ BRP Teresa Magbanua ลำดังกล่าว จอดทอดสมออยู่ภายในแนวปะการังซาบีนาตั้งแต่เดือนเมษายน เพื่อยืนยันการอ้างสิทธิของฟิลิปปินส์ในพื้นที่นี้ การชนกันครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ครั้งที่ 5 ของการคุกคามทางทะเลของจีนต่อฟิลิปปินส์ในเดือนสิงหาคมนี้ นอกจากนี้ การปะทะกันล่าสุดระหว่างเรือฟิลิปปินส์และจีนยังเกิดขึ้นที่สันดอนโธมัสที่สองในหมู่เกาะสแปรตลีย์อีกด้วย การปะทะประปรายกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าทำให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ประณามรัฐบาลจีนว่าเป็นผู้ก่อกวนสันติภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่การประชุมด้านการป้องกันประเทศในเดือนนี้

Advertisement

ทะเลจีนใต้เป็นทะเลที่มีข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์มากที่สุดในโลกเนื่องจากทะเลจีนใต้ ครอบคลุมอาณาบริเวณ 3.5 ล้านตารางกิโลเมตร โดยตั้งอยู่ทางใต้ของจีนแผ่นดินใหญ่และเกาะไต้หวัน ทางตะวันตกของฟิลิปปินส์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมาเลเซียและบรูไน ทางเหนือของอินโดนีเซีย ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสิงคโปร์ และทางตะวันออกของเวียดนาม ทะเลจีนใต้จึงถือเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญในภูมิภาค ซึ่งเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดียเข้าด้วยกัน และเป็นเส้นทางการค้ามูลค่ากว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 90 ล้านล้านบาท) ต่อปี โดยเป็นเส้นทางการขนส่งทางเรือที่มีการจราจร 1 ใน 3 ของทั้งโลก นอกจากนี้ ยังเชื่อกันว่าบริเวณนี้มีแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอยู่มหาศาล อีกทั้งยังอุดมไปด้วยปลาและสัตว์น้ำนานาชนิด จึงทำให้หลายชาติพากันอ้างกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะและแนวปะการังเพื่อเข้าไปใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในน่านน้ำแถบนี้ มีหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน รวมถึงไต้หวัน ต่างอ้างความเป็นเจ้าของหมู่เกาะน้อยใหญ่ แนวปะการัง และแนวหินโสโครกในแถบนี้ แต่จีนเป็นประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์มากที่สุด คือราว 90% ของทะเลจีนใต้ รัฐบาลจีนมองว่าทะเลจีนใต้เป็นส่วนสำคัญในอาณาเขตทางทะเลของตน โดยไม่เพียงจะใช้เป็นปราการเพื่อยับยั้งอาวุธนิวเคลียร์ทางทะเล แต่ยังเป็นประตูสู่เส้นทางสายไหมทางทะเลในโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ด้วย

สำหรับสหรัฐอเมริกา แม้จะไม่ใช่คู่ขัดแย้งโดยตรงเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ แต่ก็ยืนกรานที่จะพิทักษ์เสรีภาพการเดินเรือในเขตน่านน้ำสากล ด้วยการส่งเรือรบเข้าไปปฏิบัติภารกิจรักษาเสรีภาพการเดินเรือ (Freedom of Navigation Operation) ในทะเลจีนใต้อย่างต่อเนื่อง เพื่อท้าทายสิ่งที่สหรัฐอเมริกาเห็นว่าเป็นรูปแบบการอ้างกรรมสิทธิ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของจีนในเขตน่านน้ำสากล ส่งผลให้บริเวณนี้กลายเป็นที่แข่งขันทางอิทธิพลระหว่างสองชาติมหาอำนาจของโลก คือจีนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นในบริเวณนี้อยู่เนืองๆ

Advertisement

อย่างไรก็ตาม จีนได้สร้างฐานทัพใหม่ 7 แห่งในทะเลจีนใต้แล้วแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งฐานทัพใหม่เหล่านี้ มีทั้งโรงเก็บอากาศยาน สิ่งอำนวยความสะดวกรองรับค่ายทหาร เรดาร์ ที่ตั้งอาวุธ และสนามบินที่มีรันเวย์ยาว 10,000 ฟุต ซึ่งทางการสหรัฐอเมริกาอ้างว่าการที่รัฐบาลจีนอ้างสิทธิเหนือดินแดนในทะเลจีนตะวันออกและจีนใต้นั้นเป็นการกระทำที่ประสานกันเป็นอย่างดี มีแบบแผน และเป็นไปตามยุทธศาสตร์ โดยใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจและกองทัพ เพื่อบั่นทอนระเบียบสากลของเสรีภาพการเดินเรือ ซึ่งสหรัฐอเมริกาจะไม่ยอมให้จีนปฏิบัติการตามแผนการของจีนอย่างแน่นอน

ความจริงจีนได้ลงหลักปักฐานในทะเลจีนใต้มาติดต่อกันเป็นระยะเวลานานแล้ว และการปะทะประปรายกับฟิลิปปินส์นั้นถือเป็นการหยั่งเชิงสหรัฐอเมริกาว่าจีนต้องปฏิบัติการรุกรานฟิลิปปินส์ขนาดไหนก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะเข้ามาแทรกแซง เนื่องจากเป้าหมายใหญ่ของจีนคือการเข้ายึดไต้หวันให้กลับมาอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของจีนให้ได้ในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้ประกาศซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าสหรัฐอเมริกาจะปกป้องไต้หวันจากการรุกรานของจีน ดังนั้น การหยั่งเชิงของจีนที่ฟิลิปปินส์จึงเป็นการหยั่งเชิงทางการทหาร (armed probe) ว่าจีนต้องรุกขนาดไหนที่จะทำให้สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นพันธมิตรกับฟิลิปปินส์จึงจะเข้าแทรกแซงนั่นเอง

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image