ถึงเวลา….ปฏิวัติ’วัฒนธรรมไทย’ โดย ไพรัช วรปาณิ

เพื่อนๆ หลายคนถามมาว่า..ช่วงนี้หายหน้าไปไหนไม่พบบทความในมติชนเลย ทั้งที่ขณะนี้ผู้คนกำลังติดตามข่าวประเด็นการร่าง รธน.และม็อบพระ ถึงกับดุสิตโพลยังออกมาเผยว่าคนสนใจข่าวพระสงฆ์ชุมนุม-ร่างรัฐธรรมนูญ ห่วงภาพลักษณ์ความเลื่อมใสศรัทธา และเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ แม้แต่ อ.บวรศักดิ์ สุวรรณโณ อดีตประธาน (กมธ.) ยังออกมาชำแหละร่าง รธน.ว่า “เด่นปราบโกง อ่อนเรื่องสิทธิประชาชน -ชี้ข้อเสนอ ครม.สะท้อนไม่ปลื้มมีชัย”..ยู มีความเห็นอย่างไร?

ผู้เขียนได้แค่ตอบเพื่อนไปว่า ไอ ตกอยู่ในภาวะดังภาษิตโบราณว่าไว้คือ “รู้มากยากนาน” ว๊ะ!โดยเฉพาะกับเนื้อหาสาระในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ อ.มีชัย เมื่อเจาะลึก รู้ลึก ศึกษารายละเอียดของกฎหมาย รธน.ฉบับ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” แล้ว เกิดความรู้มากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้เขียนอะไรไม่ออกเอาเลยแหละ!? ทั้งนี้ เพราะยังเคารพ อ.มีชัยว่าเป็นอาจารย์ทางกฎหมายระดับอ๋องของไทย จึงไม่อาจ “คิดล้างครู” ว่างั้นเถอะ..ฮา…

สำหรับเหตุการณ์ “ม็อบพระฉุนทหารเข้าสกัด โดดล็อกคอ” ที่กำลังฮือฮาในขณะนี้ ผู้เขียนมองว่าเป็นเพียงกลเกมกดดันให้รัฐบาลตั้งตำแหน่งพระสังฆราชตามความต้องการของฝ่ายผู้ใฝ่อำนาจในคณะสงฆ์เท่านั้น ถ้ารัฐบาลตามเกมและกลยุทธ์ของกลุ่มบุคคล “ครึ่งพระ ครึ่งคน” ที่มีสิ่งแอบแฝงได้ทัน ก็ไม่น่าวิตกกับการแก้ปัญหาแต่อย่างได เพียงแต่รัฐเมื่อรู้ทันเกมแล้วจับทางให้ถูก โดยการใช้มาตรการตามกฎหมายสงฆ์ที่ให้อำนาจไว้ ดำเนินการตามกฎหมายประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมา ด้วยความละมุนละม่อมโดยยึดหลักความถูกต้อง ชอบธรรม เป็นที่ตั้งตามแนวทางสันติวิธีที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ ก็เชื่อว่าทุกอย่างจะสงบลงในไม่ช้านี้ เพราะการทะเลาะกันระหว่างฆราวาส รุ่นแรงขนาดไหนรัฐบาลยังจัดการให้จบลงได้… นี่เป็น พระสงฆ์ ผู้ทรงศีลด้วยกันแท้ๆ จะทะเลาะกันยืดยาว สร้างความวุ่นวายให้แก่รัฐบาล (ซึ่งต้องใช้เวลาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องชาวบ้าน) ไปถึงไหน?…. ว่าไหม

จากเหตุการณ์ที่อุบัติขึ้นเป็นประวัติการณ์ในครั้งนี้ นับว่าเป็นอุทาหรณ์เตือนให้รัฐบาลได้ตระหนักว่า ถึงเวลา….ที่รัฐบาลนอกการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายพระสงฆ์ใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุปันที่กำลังทำอยู่แล้วนั้น สิ่งสำคัญยิ่งอีกประการหนึ่ง คือ รัฐจักต้องเร่งทำการปฏิวัติ “วัฒนธรรมไทย” ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับความเชื่ออันงมงายทางศาสนาของพุทธศาสนิกชน ควบคู่ไปอย่างจริงจัง ต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ในขณะเดียวกันด้วย

Advertisement

ในอดีตได้เคยมีการปฏิรูปกฎหมายพระสงฆ์มาแล้วสองครั้ง กฎหมายสงฆ์ฉบับแรกเกิดเมื่อ พ.ศ.2484 โดยการบัญญัติสาระสำคัญให้แยกอำนาจการบริหารพระสงฆ์ออกเป็นสามส่วน คือองค์กรคณะกรรมการบริหารสงฆ์ คณะดูแลจัดการ และคณะกำกับดูแลกฎระเบียบข้อห้ามของสงฆ์ เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน คล้ายกับการบริหารราชการแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตย ต่อมาสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ได้ใช้อำนาจเผด็จการ ทำการปฏิรูปกฎหมายสงฆ์ใหม่หมด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการทางการเมืองในขณะนั้นอีกครั้งเป็นครั้งที่สองเมื่อ พ.ศ.2505 ด้วยการยกเลิกระบบบริหารสงฆ์แบบเก่าทั้งหมด กำหนดให้สถาปนาตำแหน่ง “พระสังฆราช” ขึ้นมาเป็นผู้มีอำนาจบริหารสูงสุดแต่เพียงผู้เดียว พร้อมกับการจัดตั้งองค์กรมหาเถระฯ ขึ้นรองรับอำนาจการบริหารจัดการในทางปฏิบัติกิจการสงฆ์ตามที่สังฆราชมีบัญชา โดยกำกับดูแลทั้งนิกายธรรมยุตและมหานิกายโดยฝ่าย มหานิกายดูแลบริหารในส่วนกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนธรรมยุตมีศูนย์กลางบริหารเพียงแห่งเดียว

ประเด็นปัญหาที่น่าติดตามคือ การที่มีผู้รณรงค์ชูกระแสให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยการยกเลิกล้มล้างตำแหน่งพระสังฆราช หรือแนะให้รัฐไม่ต้องตั้งพระสังฆราชองค์ต่อไปเลยนั้น ถามว่ามีเป้าประสงค์ชักนำให้กลับไปใช้ระบบสามอำนาจถ่วงดุลแบบกฎหมายสงฆ์สมัยแรกหรืออย่างไร? ซึ่งเมื่อพิเคราะห์พิจารณาถึงแก่นแท้แล้ว ไม่น่าจะใช่? แต่ทว่าคงมีสิ่งแอบแฝงอื่นใดในการเรียกร้อง เพื่อให้หลงประเด็นอย่างแน่นอน รัฐจึงไม่จำต้องใส่ใจกับประเด็นที่แอบแฝงจอมปลอมดังกล่าวเหล่านั้น หรือเต้นตามเกมแยบยลที่ผู้อยู่เบื้องหลังขุดหลุมพลางล่อไว้ โดยยึดหลักกฎหมายสำหรับการแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงในที่สุด

เหตุที่ผู้เขียนประสงค์อยากจะเน้นให้รัฐบาลได้มองเห็นความสำคัญในเรื่องของการปฏิวัติวัฒนธรรมควบคู่ไปกับการปฏิรูปกฎหมายสงฆ์ที่กำลังดำเนินการอยู่แล้ว ก็เพราะ..กฎหมายเป็นเพียงกติกาที่บังคับใช้รวมกันในสภาวะของสังคมที่ไม่มีสิ่งอื่นใดจะมาบังคับให้ผู้คนในสังคมไม่ประพฤติชั่ว กระทำการละเมิดสิทธิผู้อื่น ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ป.อาญาในทาง “ภาวะวิสัย” เท่านั้น

Advertisement

ส่วนวัฒนธรรมอันดีงามจะเป็นสิ่งกล่อมเกลาให้จิตสำนึกของผู้คนในสังคมซึ่งเป็นคนหมู่มากเกิดความรักสันติสุขอย่างแท้จริง ด้วยใจสมัครโดยไม่ต้องมีมาตรการบังคับทางภายนอก ดำรงตนอยู่ในกรอบแห่งความดี มีคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ซึ่งจะยังผลให้สังคมนั้นๆ เกิดความเข้มแข็ง และความสงบสุขยั่งยืน อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ในค้าน “จิตวิสัย” ฉะนั้นระบบวัฒนธรรมอันดีงามของบ้านเมือง จึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าระบบกฎหมายบ้านเมืองที่เน้นหนักสภาพบังคับ ดังกล่าวนั่นเอง

เป็นที่ประจักษ์และยอมรับกันว่า หากสังคมใดมีวัฒนธรรมอันดีงามแล้ว การกระทำผิดกฎหมาย หรือประพฤติมิชอบ ฉ้อฉล เบียดบังประโยชน์ หรือการทำร้ายผู้อื่น ตลอดจนการก่อกวนความไม่สงบในสังคมส่วนรวม ลดน้อยลงมากอย่างเห็นได้ชัด ระบบวัฒนธรรมอันดีของชาติ จึงมีบทบาทสำคัญกว่าระบบกฎหมาย ที่ต้องใช้สภาพการบังคับด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ของรัฐ อีกทั้งผู้กระทำมักจะแก้ตัวว่าไม่ผิดกฎหมาย ทั้งๆ ที่โดยความเป็นจริงแล้วการกระทำที่ขัดต่อคุณธรรม จริยธรรม ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองนั้น เลวร้ายยิ่งกว่าความผิดที่บัญญัติในกฎหมายหลายเท่า!

ทั้งนี้ จะเห็นได้จากข้อเท็จจริงในบางประเทศซึ่งเล็กแต่สังคมมั่นคง เช่น ประเทศสิงคโปร์ มีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ร่วมสร้างสรรค์ให้เกิดความสงบสุขและบ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย เหตุเพราะมีวัฒนธรรมอันดีที่ผู้นำคนดัง “ลีกวนยิว” ได้วางแนวทางการ “ปฏิรูปวัฒนธรรม” เอาไว้อย่างเข้มแข็ง อีกตัวอย่างคือ ประเทศญี่ปุ่นก็เช่นกัน จะเห็นว่าถนนหนทางสะอาดสะอ้านเนื่องจากประชาชนของเขารักษาวินัยอย่างเคร่งครัด ไม่มีนิสัยมักง่าย ทิ้งขยะเปะปะ มีความซื่อสัตย์ สุจริตเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่นทั้งที่มีโอกาส ซึ่งผู้เขียนเคยทดลองกำเหรียญเต็มฝ่ามือยื่นไปชำระค่าอาหารให้เขาหยิบตามใจชอบแต่ปรากฏ ว่าเขาจะหยิบ เฉพาะเงินตามราคาตรงเปะไม่มีการ “มั่ว” เลย จากวัฒนธรรมอันดีหลายอย่างที่มิอาจกล่าวให้ครบ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีคนนิยมไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาก จึงขอฝากถึง พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ ประธานคณะ กมธ.การท่องเที่ยว สภา สนช. และพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ช่วยดูในเรื่องนี้ด้วย

ในทางตรงข้ามบางประเทศที่เป็นสังคมใหญ่ แต่ไม่มีวัฒนธรรมอันดี ขาดการซึมซับคุณธรรม จริยธรรม และอุปนิสัยที่ดี สังคมนั้นแม้จะมีกฎหมายมากมายออกมาใช้บังคับให้ผู้คนในสังคม ไม่ให้เห็นแก่ตัว ไม่เบียดเบียน ฉ้อฉล และเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น มากมายเท่าใดก็ไม่บรรลุผลเท่าที่ควร วัฒนธรรมจึงเป็นบริบทสำคัญในการพัฒนาประเทศ

ประธาน “เหมาเจ๋อตง” นักคิดนักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ของจีน เคยกล่าวกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศถึงความสำคัญในเรื่องของ “วัฒนธรรม” และ “ความเชื่ออันล้าหลังทางศาสนา” ของชาวทิเบต ในขณะดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศจีนเมื่อ 20 ปีก่อน ตอนหนึ่งว่า… วัฒนธรรมและความเชื่ออันงมงายทางศาสนาของชาวทิเบต เป็นพิษร้ายที่มอมเมา ทำลายจิตวิญญาณ สติปัญญาของชาวทิเบต ทำให้ง่อยเปลี้ยเสียขาในด้านจิตวิญญาณ และเป็นภัยต่อระบบการปกครอง “ยุคใหม่” ของจีนอย่างร้ายแรง ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการควบคุม แก้ไข และเยียวยาเป็นการด่วน โดยการนำเอาวิทยาศาสตร์อันทันสมัยเข้าไปชี้นำ ทำการ “ปฏิวัติวัฒนธรรม” อันล้าหลัง เพื่อแก้ไขความเชื่อที่ผิดๆ ของลัทธิศาสนาในทิเบต ด้วยการเปลี่ยนทัศนคติของผู้หลงงมงายเหล่านั้น ให้ฟื้นคืนจากภวังค์อย่างเป็นระบบ

ขณะเขียนบทความนี้ พรรคพวกชาวไลน์ได้ส่งคำพยากรณ์ของหลวงปู่สังวาลย์ เขมโก มาให้ผู้เขียนโดยกล่าวว่า กาลครั้งหนึ่งท่านหลวงปู่เคยได้สนทนากับหลวงพ่อสนอง กตปุญโญ ว่าสัญญาณเตือนภัยก่อนภัยพิบัติใหญ่จะมาถึงคือเราจะเห็น “พระสงฆ์ทะเลาะกันวุ่นวายไปหมด แล้วจะเกิดสงครามพระ ไฟจะลุกไปทุกหย่อมหญ้า จากนั้นจะเกิดภัยน้ำท่วมกรุงครั้งใหญ่”….อ่านเพื่อเป็นข้อมูลในการติดตามเหตุการณ์ ส่วนจะจริงตามคำทำนายหรือไม่? คงต้องรอกาลเวลาเป็นผู้พิสูจน์…มิใช่หรือ?

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมองว่าการเกิดเหตุการณ์ม็อบพระครั้งนี้เป็นกลเกมการช่วงชิงอำนาจในตำแหน่งผู้นำคณะสงฆ์ “สังฆราช” ที่มีนัยยะแอบแฝงอยู่เบื่องหลัง ด้วยวิธีโยนระเบิดใส่รัฐบาลอย่างเต็มเปา ซึ่งรัฐบาลอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย่อมรู้ทันกลเกมอยู่เต็มอก และคงไม่หลวมตัวเต้นตามกลเกมของกลุ่มบุคคล “ครึ่งพระครึ่งคน” ที่วางเกมไว้อย่างแน่นอน และคงจะสามารถระงับ จัดการให้เป็นไปตามกฎหมาย อย่างเป็นธรรมในที่สุด ไม่น่าวิตกกังวลแต่ประการใด

จากปรากฏการณ์พระทะเลาะกันรุนแรง (ตามคำทำนาย) ในครั้งนี้ จึงน่าจะเป็นบทเรียนเตือนให้ “บิ๊กตู่” ผู้นำรัฐบาลและหัวหน้า คสช. ที่มีความหวังดีต่อประเทศและมี “Absolute authority” เพียบพร้อมอยู่ในมือขณะนี้ จงได้มองเห็นความสำคัญและลงมือกระทำการปฏิวัติวัฒนธรรมไทยอันล้าหลัง ซึ่งมีส่วนเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับความเชื่อในทางศาสนาของพุทธศาสนิกชนอย่างแยกไม่ออก และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ การนี้ถ้าทำได้สำเร็จ….จะได้รับเสียงปรบมือให้ทั่วทิศา

วัฒนธรรมอันล้าหลังไม่ทัยสมัยดังกล่าว เป็นสาเหตุทำให้อุปนิสัยของผู้คนในชาติเป็นคนใจอ่อน เชื่อคนง่ายและหลงงมงายในสิ่งไร้สาระ ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ เช่น ทรงเจ้าเข้าผี ง่ายแก่การถูกชักจูงไปในทางที่ผิด ขาดทักษะในการพิเคราะห์ว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด สิ่งใดควรหรือไม่ควรกระทำ เมื่อมีคนชักนำไปร่วมขบวนก็เข้าด้วยช่วยกระพือ ทำนองเข้าไหนเฮนั่น ดังนี้ จึงถึงเวลาและโอกาสอันเหมาะสมอย่างยิ่งที่ผู้นำประเทศที่เข้มแข็งจะหยิบยกประเด็นการปฏิวัติวัฒนธรรมมาเป็นวาระแห่งชาติ ด้วยการรณรงค์ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยน “หลักคิด” และ “ทัศนคติ” ของคนในชาติ ซึ่งยังมีความคิดที่ล้าหลังอยู่นั้น ให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมให้จงได้ ด้วยอุดมการณ์ที่ผู้นำประเทศได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาบ้านเมืองเอาไว้

ทั้งนี้ เป็น Timing ที่ดีที่สุด สำหรับผู้มีโอกาสอย่าง “บิ๊กตู่” ที่จะเสริมสร้างในสิ่งที่ “เป็นคุณ” กับ “คุณภาพชีวิต” และ “หลักคิด” อันก้าวหน้าแก่ปวงชน ด้วยการ “ปฏิวัติวัฒนธรรม” ครั้งยิ่งใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งเมื่อบรรลุผลสำเร็จเมื่อใดก็จะถูกจารึกเกียรติประวัติในประวัติศาสตร์ชาติไทย ดังเช่น “ลีกวนยิว” ในสิงคโปร์ นามกระเดื่องไปทั่วโลก!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image