สกู๊ปข่าวหน้า 1 : R.I.P. เชสเตอร์ เบนนิงตันž ”ซึมเศร้าž” โรคใกล้ตัว

เป็นเรื่องเศร้าที่เกิดขึ้นซ้ำๆ กับดารานักแสดง หรือคนดังที่ฆ่าตัวตาย! ซึ่งสาเหตุของการฆ่าตัวตาย อาจมาจากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยหนึ่งที่ถูกกล่าวถึง คือ มีภาวะของโรคซึมเศร้า ซึ่งต้องยอมรับว่า โรคซึมเศร้าŽ ยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เพราะหลายคนยังไม่เข้าใจและไม่รู้จักโรคนี้

กรณีล่าสุด เชสเตอร์ เบนนิงตัน นักร้องนำวง Linkin Park (ลิงคินพาร์ค)Ž ได้ฆ่าตัวตาย ซึ่งแฟนคลับได้แสดงความเสียใจผ่านสังคมออนไลน์จำนวนมาก แต่ปรากฏว่าเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตำหนิกรณี ดีเจพล่ากุ้ง แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เขาไม่เห็นด้วยกับการฆ่าตัวตาย เพราะมีแต่จะทำให้คนรอบข้างเดือดร้อน

กระทั่งเจ้าตัวต้องออกมาแสดงความขอโทษในเวลาต่อมานั้น เห็นได้ว่าโรคซึมเศร้ากลายเป็นโรคใกล้ตัวที่หลายคนไม่เข้าใจ และหลายคนมีภาวะดังกล่าวแต่ไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่โรคดังกล่าวมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นทุกปี เห็นได้จากตัวเลขการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตทั่วโลก จำนวนกว่า 8 แสนคนต่อปี คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.5 ล้านคน ในปี 2563 โดยมีคนพยายามฆ่าตัวตายสูงกว่าคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ 20 เท่าตัว

สำหรับประเทศไทย คนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ย 1 คน ในทุกๆ 2 ชั่วโมง ผู้ชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้หญิง เกิดจากหลายสาเหตุประกอบกัน และโรคซึมเศร้าก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตาย โรคนี้เป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพของประชาชน ส่งผลกระทบต่อประชากรทั่วโลก

Advertisement

โดยองค์การอนามัยโลกได้ประมาณการว่า ประชากรมากกว่า 300 ล้านคนเป็นโรคซึมเศร้า หากไม่ได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้องนานเป็นเดือน เรื้อรังเป็นปี จะกลับเป็นซ้ำได้บ่อย หากอาการซึมเศร้ารุนแรง อาจจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า

สำหรับประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคนี้ 1.5 ล้านคน โรคซึมเศร้าเป็นความเจ็บป่วยที่ก่อให้เกิดการสูญเสียด้านสุขภาพและเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่สำคัญของประเทศไทย ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ายังเข้าถึงการบริการที่มีมาตรฐานจำนวนน้อย เมื่อ 10 ปีก่อนประเทศไทย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ไม่รู้จักโรคซึมเศร้า พยาบาลในพื้นที่ไม่มีมาตรฐานการดูแลช่วยเหลือ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปไม่มั่นใจที่จะวินิจฉัยโรคและรักษา

รวมถึงยารักษาโรคซึมเศร้าไม่ได้มีแพร่หลายในโรงพยาบาลชุมชน จึงส่งผลต่อประสิทธิผลในการรักษา บุคลากรสาธารณสุขที่อยู่ในสถานบริการระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ ยังขาดความรู้และทักษะในการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย

Advertisement

รวมทั้งประชาชนส่วนใหญ่ขาดการตระหนักรู้ถึงความสูญเสียที่เกิดจากการป่วยด้วยโรคซึมเศร้า มีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องคิดว่า อาการซึมเศร้าเป็นเรื่องธรรมดาเป็นแล้วก็หายเอง และส่วนใหญ่ยังมีอคติ ต่อความเจ็บป่วยจิตเวชรวมทั้งโรคซึมเศร้า เข้าใจว่าเป็นบ้าวิกลจริต จึงมีความรังเกียจ และเมื่อเจ็บป่วยก็จะปฏิเสธการรักษา ส่งผลให้การเข้าถึงบริการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทยมีอัตราที่น้อยมาก ใน 100 คน มารับบริการเพียง 3 คน

ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงระบบการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอย่างต่อเนื่องจริงจัง มีแนวทางการบริการที่เป็นมาตรฐาน คือ แนวทางการดูแลเฝ้าระวังโรคซึมเศร้าระดับจังหวัด และได้ขยายผลระบบดูแลเฝ้าระวังโรคซึมเศร้าระดับจังหวัด ซึ่งพัฒนาจากการวิจัย ไปยังสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ มีระบบการตรวจคัดกรองต่างๆ มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันระบบการตรวจคัดกรอง การให้บริการรักษาจะดีขึ้นมาก แต่ก็ยังมีอีกหลายคนไม่เข้าใจ และปัญหาการฆ่าตัวตายจากภาวะนี้ก็ยังมีสูงขึ้น รวมไปถึงคนรอบข้างก็ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคนี้

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จริงๆ สังเกตได้หลักๆ 2 อย่างคือ 1.มีอาการเศร้า ท้อแท้สิ้นหวังหรือไม่ หรือ 2.เคยสนใจอะไรมากๆ แต่อยู่ๆ หายไปอย่างผิดปกติ หรือทำอะไรก็ไม่เพลิดเพลินประมาณ 1-2 สัปดาห์

ซึ่งหากเป็นข้อใดข้อหนึ่งต้องระวัง ให้ทำแบบประเมินโรคซึมเศร้า 9 คำถาม ว่าในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีความรู้สึกอย่างไรบ้าง ดังนี้ 1.เบื่อ ไม่สนใจอยากทำอะไร 2.ไม่สบายใจ ซึมเศร้า ท้อแท้ 3.หลับยาก หรือหลับๆ ตื่นๆ หรือหลับมากไป 4.เหนื่อยง่าย หรือไม่ค่อยมีแรง 5.เบื่ออาหาร หรือกินมากเกินไป

6.รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง คิดว่าตัวเองล้มเหลวหรือครอบครัวผิดหวัง 7.สมาธิไม่ดี เวลาทำอะไร เช่น ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ หรือทำงานที่ต้องใช้ความตั้งใจ 8.พูดช้า ทำอะไรช้าลงจนคนอื่นสังเกตเห็นได้ หรือกระสับกระส่ายไม่สามารถอยู่นิ่งได้เหมือนที่เคยเป็น และ 9.คิดทำร้ายตนเอง หรือคิดว่าถ้าตายไปคงจะดี

หากพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการ ข้อ 1 หรือ 2 ข้อใดข้อหนึ่ง ร่วมกับอาการในข้อ 3-9 อย่างน้อย 5 อาการ ติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ ให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคซึมเศร้า หากพบเห็น อย่าประมาท ควรพูดคุยกับเขา หรืออาจแนะนำให้เขาไปพบจิตแพทย์ ซึ่งควรเปลี่ยนทัศนคติที่ว่า ที่ไปพบจิตแพทย์ คือคนเป็นบ้า เพราะการมีอคติเช่นนี้จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยไม่กล้าไปพบแพทย์ ทำให้ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และสุดท้ายจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย

อย่างไรก็ตาม เราสามารถประเมินตัวเองเบื้องต้น ประเมินจากคนใกล้ชิดได้ในแบบประเมินของกรมสุขภาพจิตผ่านเว็บไซต์ http://www.dmh.go.th ได้ ปัญหาโรคซึมเศร้าเกิดขึ้นมานาน แต่หลายคนอาจยังไม่เข้าใจ สิ่งสำคัญเมื่อเกิดการฆ่าตัวตายจากคนดังๆ ซึ่งแม้จะยังไม่รู้สาเหตุ แต่หลายคนก็มองว่าอาจมาจากซึมเศร้า เพราะเป็นปัจจัยสำคัญ

แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือ การเลียนแบบ เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้วอย่างกรณีนักร้องดังวงเอ็กซ์เจแปนที่ฆ่าตัวตาย ก็ปรากฏว่ามีแฟนคลับที่หลงใหลมากๆ เลียนแบบ ซึ่งเรื่องนี้ต้องระวัง และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ต้องช่วยกันไม่ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะสื่อ การพาดหัวหรือการแจงรายละเอียดการฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่ต้องระวัง เพราะหากบรรยายมากเกินไปอาจเกิดผลกระทบได้

ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด หากลูกหลานมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงก็ต้องใส่ใจ ซักถาม และทำความเข้าใจ แม้สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ แต่ป้องกันไว้ก่อนย่อมเป็นสิ่งที่ดีŽ นพ.ทวีศิลป์กล่าว ส่วนกรณีมีผู้เห็นต่าง วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการฆ่าตัวตายนั้นในทำนองตำหนิ

นพ.ทวีศิลป์Ž มองว่า เป็นทัศนคติของคน เหมือนกับกรณีมองว่าคนที่ปรึกษาจิตแพทย์ต้องเป็นคนบ้า ซึ่งข้อเท็จจริงไม่ใช่ เราก็ต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม มาตรการหนึ่งที่สำคัญที่ภาคประชาสังคมสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้ได้ คือ ร่วมกันรณรงค์สร้างความตระหนักเพื่อลดอคติและตราบาป และเพิ่มการเข้าถึงการรักษาทางจิตเวช เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องภาวะซึมเศร้าและอาการของโรค และรู้วิธีพื้นฐานในการรับมือและให้ความช่วยเหลือ เป็นต้น

กรมสุขภาพจิตได้รณรงค์สร้างความตระหนักต่อปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างวันที่ 2-4 สิงหาคมนี้ กรมสุขภาพจิตได้กำหนดจัดการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ประจำปี 2560 ขึ้น ภายใต้แนวคิด Depression, Letžs talk : ซึมเศร้า…เราคุยกันได้

Ž อีกทั้งยังจัดกิจกรรม เดิน-วิ่ง มินิมาราธอน ซึมเศร้า เราคุยกันได้Ž ในวันที่ 20 สิงหาคม ตลอดจนงานสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ ประจำปี 2560 ระหว่างวันที่ 1-7 พฤศจิกายน 2560 ทั่วประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image