จะขุดคลองไทยหรือไม่ เป็นเรื่องอนาคต แต่คสช.ไม่ควร…

“ประเทศของเรานับวันจะยุ่งยากยิ่งขึ้น ขาดเงินทุนในการพัฒนาประเทศ การเกิดวิกฤตอาหรับสปริง ยิ่งทำให้ประเทศเกิดวิกฤตเกือบทุกด้าน เราจำเป็นที่ต้องหาช่องทางใหม่ เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ” เป็นคำกล่าวของประธานาธิบดี อับเดล ฟัตตาซีซี ของประเทศอียิปต์ หลังจากนั้นท่านประธานาธิบดี อับเดล ฟัตตาซีซีก็ตัดสินใจขุดคลองสุเอชสายใหม่ ส่งผลให้อียิปต์มีรายได้จากคลองสุเอช ในปี 2558 จำนวน 185,500 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2566 จะมีรายได้ 462,000 ล้านบาท ส่งผลให้อียิปต์มีศักยภาพในการควบคุมเส้นทางการเดินเรือของโลก สามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ได้ ปีละ 25,000-30,000 ลำ

ผู้เขียนนำแนวคิดของท่านผู้นำอียิปต์มาสะท้อนให้ท่านนายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องได้นำมาเป็นหลักคิด เผื่อว่าจะได้กระตุกความคิดแล้วนำมาวางเป้าหมาย สร้างงาน สร้างรายได้เข้าประเทศ ประกอบกับนายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี ได้มีข้อเสนอแนะการขับเคลื่อนประเทศ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2559 ต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลายเป็นข่าวที่ทำให้คนไทยและผู้เกี่ยวข้องให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก มีการตื่นตัว มีการจัดสัมมนาทางวิชาการ มีการเสนอข่าวถึงผลดีผลเสียของโครงการขุดคลองไทย ทั้งๆ ที่โครงการขุดคลองนี้มีผู้เสนอแนวคิดมาร่วม 100 กว่าปี แล้วบางช่วงบางรัฐบาลก็นำมาเป็นประเด็นทางการเมือง บางรัฐบาลเอาจริงเอาจังถึงขั้นสั่งการให้ศึกษาความเป็นไปได้แต่ข่าวคราวก็เงียบหายไป

ครั้งนี้ท่านธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ได้ออกมาเสนอแนะนำรัฐบาลด้วยตนเอง ผู้เขียนมองว่าท่านองคมนตรีคงเป็นห่วงประเทศไทย เพราะนานๆ ครั้งที่องคมนตรีออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อต่างๆ และถึงขั้นเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงผู้นำรัฐบาล แต่คล้อยหลังไม่กี่วันท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ออกมาปฏิเสธและทิ้งท้ายว่าไม่มีข้อมูล พร้อมบอกว่าประเทศยังมีปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยกับท่านนายกรัฐมนตรี

แต่อยากกราบเรียนท่านนายกฯว่า การขับเคลื่อนประเทศมันมีเทคนิคและวิธีการที่หลากหลาย ถ้าบริหารประเทศมุ่งแก้ปัญหาเพียงอย่างเดียว ประเทศก็จะอยู่กับที่เดินหน้าไปไม่ได้ สิ่งใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ก็จะไม่เกิดขึ้น ประเทศก็ล้าหลัง ปัญหาของประเทศคือตัวฉุดเหนี่ยวรั้งการพัฒนาประเทศ มายาวนาน ตลอดเวลา 1 ปีเศษ ที่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศได้แก้ปัญหาของประเทศที่หมักหมมมานานได้หลายประเด็น เช่น ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น, ปัญหาการประมง, ปัญหาทางการบิน ปัญหาบุกรุกทำลายป่าและอีกหลายปัญหา ส่งผลให้ประเทศได้รับการยอมรับและเชื่อถือทั้งในและต่างประเทศมากยิ่งขึ้น

Advertisement

อันนี้ก็ขอชื่นชมรัฐบาลและ คสช.

การรื้อฟื้นคลองคอดกระหรือคลองไทยมาเพื่อช่องทางการลงทุน การสร้างงาน การหารายได้เข้าประเทศจากการบริการของเรือประเภทต่างๆ ตลอดถึงภาคธุรกิจต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการเดินเรือ เกี่ยวกับการขนส่งทางทะเลและอื่นๆ อีกมากมาย การขุดคลองระหว่างอันดามันกับอ่าวไทยเป็นโครงการใหญ่เป็นยุทธศาสตร์ทางการเดินเรือของโลกขึ้นมาทันที มีผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบ 4 ด้าน ดังนี้

1.ด้านการเมืองและความมั่นคง

ด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ของไทยที่มีพื้นที่เป็นแหลมยื่นลงมาขนาบด้วยทะเลทั้งสองด้าน และไทยเป็นศูนย์กลางของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยบวกกับปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ที่เกิดขึ้นร่วม 10 ปี ย่อมส่งผลความกังวลใจห่วงใยของหลายฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง แต่ 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับรู้ความเป็นมาและเป็นไปของปัญหาทางภาคใต้มากยิ่งขึ้นว่าที่จริงแล้วเกิดจากอะไร การแยกดินแดนที่หลายฝ่ายกังวลใจและห่วงใย มีจริงหรือไม่ สถานการณ์ของโลกของสังคมเปลี่ยนไป การหาช่องทางที่จะอยู่ร่วมกัน การหลอมรวมของประชากรในชาติต่างศาสนามีมากขึ้น กำแพงด้านชาติพันธุ์ ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมกำลังถูกทลายลงด้วยพลังที่โลกเข้าสู่ยุคโลกไร้พรมแดน

นอกจากปัจจัยด้านความมั่นคงและการเมืองภายในประเทศแล้ว ด้านการเมืองภายนอกก็เป็นปัจจัยที่สำคัญมากด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาที่มีบทบาททางการเมืองและการทหารของโลก สหรัฐให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา สหรัฐมีฐานทัพทางทหารอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย และในมหาสมุทรแปซิฟิก, การขุดคลองคอดกระหรือคลองไทยถ้าเกิดขึ้นจริงสหรัฐอเมริกาย่อมให้ความสำคัญและสนใจเป็นพิเศษอย่างแน่นอน ความสำคัญของคลองไทยเกิดขึ้นหลังจากจีนได้มีนโยบายขยายเส้นทางสายไหม ทั้งทางบกและทางทะเล One Belt One Road หนึ่งในเส้นทางนั้นมีคลองคอดกระหรือคลองไทยอยู่ด้วย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจีนขยายอิทธิพลทางการค้า การลงทุนอย่างมหาศาล พร้อมกับการขยายอิทธิพลทางทหารเป็นเงาตามตัวด้วยเช่นกัน จีนเปลี่ยนเป้าหมายในการหารายได้เข้าประเทศจากการขายสินค้าให้กับประชากรของตนเอง เพราะประชากรจีนมี 1,300 กว่าล้านคน ซึ่งมีพลังการซื้อการบริโภคมหาศาล แต่รัฐบาลจีนมองว่ายังไม่เพียงพอยังจำเป็นต้องหารายได้จากนอกประเทศเข้ามา จีนจึงเปิดประตูที่จะค้าขายกับกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันตก เอเชียใต้ ซึ่งมีกำลังบริโภคของประชากรหลายพันล้านเช่นกัน

คลองคอดกระหรือคลองไทยจึงกลายเป็นจุดสำคัญที่มหาอำนาจของโลกให้ความสนใจ ล่าสุดสหรัฐได้เชิญผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ร่วมประชุมเป็นครั้งแรกและเป็นพิเศษระหว่างวันที่ 14-16 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา จึงแสดงให้เห็นว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่ที่มหาอำนาจของโลกให้ความสำคัญ และคลองคอดกระ หรือคลองไทย ถ้าเกิดขึ้นจริงไทยก็จะเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การเดินเรือของโลก ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของโลก

2.ด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุน

ด้านนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญของแต่ละประเทศ ความมั่นคงของประเทศต้องมาจากระบบเศรษฐกิจที่ดี คือ การค้าและการลงทุนอาศัยรายได้เข้าประเทศ เพื่อมาขับเคลื่อนประเทศ ดังตัวอย่างไม่ว่าสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้หรือกลุ่มประเทศในยุโรป ออสเตรเลีย ฯลฯ กลุ่มประเทศดังกล่าวที่เจริญก้าวหน้าทุกๆ ด้านก็มาจากระบบเศรษฐกิจการค้าการลงทุนที่แข็งแกร่งนั่นเอง

ถ้าคลองไทยเกิดขึ้นจริงแน่นอนจะส่งผลทั้งเชิงบวกเชิงลบ ซึ่งมีผู้รู้มากมายออกมาแสดงข้อกังวลและห่วงใย พร้อมเสนอมุมมองและข้อมูลมาโดยตลอด ผู้เขียนเองก็เช่นกันในฐานะเป็นคนภาคใต้ มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการนี้ แต่สังเกตเห็นทุกครั้งที่มีข่าวการขุดคลองคอดกระ หรือคลองไทยขึ้นมา คนที่ออกมาพูดออกมาแสดงความคิดเห็นต่างๆ นานา มักจะไม่ใช่คนภาคใต้ มีคนภาคอื่นๆ ออกมาพูดแทนคนภาคใต้โดยตลอด และโครงการนี้พูดถกเถียงกันมากว่า 100 ปียังไม่ยุติเสียที ผู้เขียนคิดว่าคราวนี้ท่านธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตนายกรัฐมนตรีและองคมนตรี ออกมาเสนอแนะแนวคิด แนวทางขับเคลื่อนประเทศผ่านจดหมายเปิดผนึกถึงท่านนายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง นั่นย่อมแสดงว่าท่านห่วงใยประเทศ และเชื่อว่าถ้าขุดคลองไทยน่าจะทำให้ประเทศกลายเป็นแหล่งการค้าการลงทุนของโลก ผู้เขียนในฐานะคนภาคใต้จะขอจัดเวทีพูดคุยกับคนภาคใต้โดยเฉพาะ อยากทราบว่าคนภาคใต้คิดอย่างไรกับโครงการขุดคลองไทย เวทีนี้ต้องการฟังเสียงฟังความคิดความเห็นคนภาคใต้ โดยตรงไม่มีข้อยุติว่าขุดหรือไม่ขุด ไม่มีอะไรแอบแฝงใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าคนใต้ไม่ต้องการก็จะส่งสัญญาณไปยังผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองว่าหยุดพูดได้เลยว่าคลองไทยไม่ใช่เป้าหมายของไทยอีกต่อไป จังหวัดที่ผู้เขียนอยากฟังเสียงประชาชน คือ จังหวัดกระบี่ / จังหวัดตรัง / จังหวัดพัทลุง / จังหวัดสงขลา และจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นโอกาสดีกับประเทศไทยเป็นเบื้องต้น เป็นข้อมูลจากรากหญ้าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจริงๆ โดยไม่เกี่ยวข้องว่าขุดหรือไม่ขุด ซึ่งมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย

กลับมาทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุน หลายฝ่ายมองว่าไม่คุ้มกับการลงทุนมหาศาล ซึ่งผู้เขียนเองในฐานะที่สนใจและศึกษาข้อมูลนี้มาร่วม 20 ปี มองว่าการลงทุนโครงการใหญ่ๆ เช่นนี้ มันมีได้มีเสียแน่นอน แต่สิ่งที่ตามมาถ้าขุดขึ้นจริงๆ คือการลงทุนจากนอกประเทศและในประเทศ ขุดแล้วมิใช่มีรายได้จากกิจกรรมการเดินเรือเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่ตามมาจากการขุดคลองไม่ว่าการเก็บกักสินค้า/การขนถ่ายสินค้า การก่อสร้าง

การขนส่งมีแหล่งการศึกษา การลงทุน มีการจ้างงานนับแสนนับล้านตำแหน่ง ตรงข้ามผลเสียก็อาจจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และต้องมีการระดมความคิดและข้อมูลมาบวกลบคูณหารก่อนตัดสินใจ แต่ข้อเท็จจริงถ้ามีการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ มีทั้งได้และเสียควบคู่กันไป แต่ถ้ามีได้มากกว่าเสียก็น่าจะมีการลงทุนดำเนินการแต่ถ้ามีเสียมากกว่า ก็ควรยุติโครงการในยามที่ประเทศชาติข้าวยาก หมากแพง เช่นนี้ หันซ้ายฝนแล้ง หันขวาประเทศก็ขัดแย้ง มองไปข้างหน้าไม่เห็นอนาคต พระก็ไม่เป็นพระ ด้านคุณภาพทางการศึกษาและระบบราชการก็มุ่งแต่ผลประโยชน์และตกต่ำ มองไกลไปข้างหน้ายังมืดมน ผู้เขียนจึงหยิบประเด็นขุดคลองไทยมาจุดประกายให้คนไทยและผู้เกี่ยวข้องได้นำมาคิดนำมาศึกษาดูอีกครั้งดีไหม โดยเฉพาะท่านนายกรัฐมนตรีอย่าเพิ่งปฏิเสธ ให้ถือว่าเป็นการศึกษาเพื่อความรู้ เพื่อข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง

ผู้เขียนมีข้อมูลล่าสุดของช่องแคบมะละกา มีรายได้ทุกกิจกรรมจากช่องแคบนี้ ปีละ 2 ล้านล้านบาท เรือผ่าน 250-300 ลำ/วัน คลองปานามามีรายได้ 40,000 ล้านบาท/ปี เรือผ่าน 45-50 ลำ/วัน คลองสุเอช (สายเก่า) มีรายได้ 200,000 ล้านบาท/ปี (สายใหม่มีรายได้ 450,000 ล้านปี เรือผ่าน 120-150 ลำ/วัน

นี่เป็นข้อมูลเบื้องต้น สำหรับรายได้ของคลองที่สำคัญของโลก ซึ่งยังไม่นับคลองคีลทางยุโรปตอนเหนือ ช่องแคบดาดาแนลล์ ในตุรกีและกรีซ หรือช่องแคบยิปรอนตา ตอนใต้ของสเปน เป็นต้น

คลองไทยจะเป็นจุดเชื่อมโยงและขนถ่ายสินค้าของสมาชิกอาเซียนที่สำคัญ เพราะอาเซียนเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย และอันดับ 7 ของโลก อาเซียนมีผลิตภัณฑ์มวลรวม 2.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และอาเซียนเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของโลกที่มีประชากร 65-70% ที่มีอายุ 35-40 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ประชากรอยู่ในสภาพพร้อมที่เป็นแรงงานที่เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การจ้างแรงงานตรงข้ามก็จะเป็นวัยที่มีอัตราการบริโภคอุปโภคสูงตามมาด้วย

3.ด้านสังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

การขับเคลื่อนโครงการใหญ่ระดับเอเชียและระดับโลก โดยเฉพาะคลองไทยเชื่อมระหว่างอันดามันกับอ่าวไทยแล้ว คลองนี้มีผลในวงกว้าง มีการโยกย้ายแรงงานและการลงทุนครั้งใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน เอเชียและโลก มีการอพยพนักลงทุน นักวิชาการ ธุรกิจการขนส่ง การเงินและการคลังและธุรกิจรายย่อยครั้งใหญ่ ส่งผลให้ภาคใต้ของไทยซึ่งเป็นที่ตั้งของคลองไทยจะมีประชากรจากหลายประเทศเข้ามาทำมาค้าขาย สภาพสังคมและวัฒนธรรมจะซับซ้อนมากยิ่งขึ้น สิ่งที่ตามมาเป็นเงาตามตัวคือปัญหาอาชญากรรม ปัญหาแรงงานข้ามชาติ ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ปัญหายาเสพติดและปัญหาอื่นๆ อีกมากมายที่ตามมา ด้านสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของคนในชุมชนจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ระบบนิเวศจะเปลี่ยนแปลงการไหลเวียนของมวลน้ำระหว่างฝั่งอันดามันกับอ่าวไทย การหนุนของน้ำเค็มเข้าสู่ป่าพรุและป่าชายเลน สิ่งมีชีวิตที่อยู่บนบกและในน้ำจะมีผลกระทบอาจมีการย้ายถิ่นที่อยู่ เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนขนาดใหญ่เช่นนี้ ย่อมมีได้และมีเสีย ดังที่กล่าวมาข้างต้น จากข้อมูลการขยายท่าเรือของสิงคโปร์ เช่น การถมทะเลก็ส่งผลกระทบกับสิ่งดังกล่าวข้างต้นแต่จะส่งผลระยะหนึ่งเท่านั้น ถ้าหากมีการวางแผนวางระบบที่ดีก็น่าจะส่งผลกระทบในระดับหนึ่งและเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่ในสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ที่แนวลำคลองไทยจะผ่านระบบนิเวศส่วนหนึ่งถูกทำลาย ถูกบุกรุก ถูกแผ้วถางจากนายทุนเกือบหมดแล้ว มีการถกเถียงกันในพื้นที่ว่าถ้าไม่ขุดคลองไทยสภาพพื้นที่จะไม่ถูกบุกรุกหรือทำลายแล้วใช่หรือไม่ นี่คือคำถามของคนบางกลุ่มในพื้นที่ ดังตัวอย่างเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เกิดพายุ คลื่นลมแรงพัดชายหาดชายฝั่งอ่าวไทย ตั้งแต่ชุมพร นครศรีธรรมราช และสงขลา เสียหายอย่างหนัก ก็ไม่เห็นผู้ที่รักและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมดังกล่าวออกมารับผิดชอบอะไรเลย ปล่อยให้ประชาชนในพื้นที่รับกรรมตามยถากรรม หรืออีกตัวอย่างในจังหวัดสงขลาที่ชายหาดสมิหลา มีอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดใช้อุปกรณ์แท่งคอนกรีตฝังกั้นแนวคลื่นทะเลมิให้ซัดชายฝั่ง แต่ถูกฟ้องร้องจากพวกอนุรักษ์ชายฝั่งถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล

แต่พอสุดท้ายถึงคราวชายฝั่งถูกคลื่นซัดเกือบถึงกำแพงทหารเรือ ไม่ทราบคนพวกนี้ กลุ่มนี้ เขามีปัญญามาช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร

4.การศึกษาและนวัตกรรมใหม่

การจะขุดคลองไทยอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับทางการศึกษาโดยภาพรวมมากนัก แต่ถ้ามีการศึกษาความน่าจะเป็นของการขุดคลองไทยก็ต้องอาศัยนักวิชาการทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทุกๆ ด้าน ศึกษา ความคุ้มทุนหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องรอศึกษาและวิจัยเชิงลึก ซึ่งในภาคใต้มีมหาวิทยาลัยทักษิณ แต่ถ้ามีการขุดคลองไทยขึ้นจริงก็จะเกิดสถาบันทางการศึกษาที่เกี่ยวกับเดินเรือ บริหารจัดการท่าเรือ บริหารจัดการการนำร่องเดินเรือ การต่อเรือ การซ่อมเรือ และการขนส่งทางเรือ

สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นถ้ามีการขุดคลองไทย พร้อมกันนี้การขุดคลองไทยจะเกิดนวัตกรรมใหม่ในการก่อสร้าง หรืออุปกรณ์ต่างๆ ก็จะใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นพร้อมกันนั้นจะทำให้มีการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาใช้ทั้งภาคอุตสาหกรรมการลงทุนต่างๆ สุดท้ายจะส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีความพร้อมในอุตสาหกรรมการเดินเรือทางทะเลอย่างเต็มรูปแบบ

การขุดคลองไทยจะเป็นจริงหรือไม่ เป็นเรื่องของข้อมูลและผลประโยชน์ที่คุ้มค่าและผลกระทบเชิงลบ ถ้าลงทุนแล้วไม่คุ้มทุนแต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนอยากฝากไปถึงท่านนายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้อง อย่าเพิ่งปิดกั้นหรือปฏิเสธข้อเสนอของท่านธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ทางที่ดีรัฐบาลควรรับฟังแล้วควรมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการศึกษาเบื้องต้น ถึงความเป็นไปได้ให้ครบถ้วนสักครั้งหนึ่ง ผลเป็นอย่างไรเราจะได้มีคำตอบที่ถูกต้องและชัดเจน ถ้าไม่คุ้มทุน ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติแล้ว เราชาวไทยทุกคนควรหยุดคิดหยุดพูดถึงการขุดคลองไทยได้ โดยไม่มีเงื่อนไขอะไรอีกต่อไปในมุมมองเบื้องต้น

แนวคิดการขุดคลองไทย ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งในฐานะคนภาคใต้ และได้เดินทางลงสู่พื้นที่แนวคลองไทย กลับพบว่ามีประชาชนในพื้นที่ไม่น้อยที่เห็นด้วยและมีความต้องการ และยังมีอีกไม่น้อยเช่นกันที่มีข้อกังวลใจในเมื่อมีการขุดคลองขึ้นจริง ซึ่งเป็นคำถามที่รอคำตอบ ถามว่าทำไมคนกลุ่มนี้จึงคิดเช่นนี้ เพราะทางสังคมและเศรษฐกิจของโลกและของไทยเปลี่ยนแปลงและผันผวน ประชาชนยากจน ไม่มีน้ำให้ทำอาชีพเกษตร ไม่มีปลาให้จับอีกต่อไป

มีทางเดียวคือเราควรคิดและสร้างช่องทางใหม่ให้คนในชาติมีช่องทางหากินเลี้ยงครอบครัว 10-20 ปีข้างหน้า สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงรุนแรงเช่นนี้ เราจะยังมีความหวังว่าฝนจะตกในเขื่อน น้ำในแม่น้ำจะมีให้เราได้ปลูกข้าว ปลูกยาง ปลูกมันสำปะหลังกันอีกหรือ เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลงแนวโน้มรุนแรงและโหดร้าย เช่นนี้เราจะยังคงความหวังจะขายธรรมชาติเกาะแก่ง ปะการัง ชายหาด เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกหรือ ประเทศไทยเรามีทางเลือกที่ตีบตันในการสร้างนวัตกรรมใหม่ สิ่งใหม่แล้วใช่หรือไม่

อยากฝากไปยังท่านนายกรัฐมนตรีลองทบทวนและกล้าที่จะตัดสินใจให้มีการศึกษาความเป็นได้ในการขุดคลองไทยอย่างเต็มรูปแบบสักครั้ง แต่ถ้าท่านไม่กล้าหรือปฏิเสธก็จะสอดคล้องกับการสำรวจของสถาบันแห่งหนึ่ง พบว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้คะแนนการคิดและสร้างสิ่งใหม่น้อยที่สุด ไม่เชื่อลองหาข้อมูลดูสิ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image