cloud lovers : Cirrus 4 พันธุ์ : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

เมื่อคราวก่อน คุณผู้อ่านได้รู้ว่าเมฆ ซีร์รัส (Cirrus) อาจมีได้ 5 ชนิด หรือ 5 species ทั้งนี้เมฆซีร์รัสหนึ่งๆ อาจเป็นชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น เช่น หากเป็นชนิดฟลอกคัส (กระจุกๆ) ก็จะไม่มีทางเป็นชนิดไฟเบรตัส (เส้นๆ) หรือหากเป็นชนิดสปิสเซตัส (อย่างหนา) ก็จะไม่มีทางเป็นชนิดอื่นๆ ไม่ว่าไฟเบรตัส อันไซนัส ฟลอกคัส หรือแคสเทลเลนัส เป็นอันขาด

คราวนี้ขอแนะนำเกณฑ์การจัดจำแนกเมฆอีกแนวทางหนึ่ง เรียกว่า “พันธุ์ (variety)” หากมองเมฆทุกสกุลโดยรวม จำนวนพันธุ์ที่เป็นไปได้ทั้งหมดคือ 9 พันธุ์ ทั้งนี้ เมฆที่เรากำลังสนใจอาจไม่มีลักษณะตรงกับพันธุ์ใดเลย หรืออาจมีลักษณะตรงกับพันธุ์ใดพันธุ์หนึ่ง หรือหลายๆ พันธุ์พร้อมกันก็ได้

เมฆสกุลซีร์รัสมีได้เพียงแค่ 4 พันธุ์เท่านั้น ได้แก่ อินทอร์ตัส (intortus) เวอร์ทีเบรตัส (vertebratus) เรดิเอตัส (radiatus) และ ดูพลิเคตัส (duplicatus) ลองมาดูภาพตัวอย่างและความหมายกันครับ

เริ่มจากภาพที่ 1 จะเห็นซีร์รัสเป็นเส้นโค้งบิดไปบิดมา บางตำแหน่งพันกันยุ่งเหยิง แบบนี้เรียกว่า พันธุ์อินทอร์ตัส (intortus) คำว่า intortus เป็นภาษาละติน มาจากคำกริยา intorquere แปลว่า บิด หมุน หรือพัวพัน เพ่งดูดีๆ จะเห็นคำว่า “torque” ที่แปลว่า “แรงบิด” ซ่อนอยู่ด้วย

Advertisement

ผมตั้งชื่อเล่นให้ซีร์รัส อินทอร์ตัสว่า “เมฆกระบิดกระบวน” น่าจะเห็นภาพชัดดี ที่น่ารู้ก็คือ มีเพียงเมฆซีร์รัสเท่านั้นที่มีพันธุ์อินทอร์ตัส จำง่ายๆ ว่า “เมฆซีร์รัสเท่านั้นที่กระบิดกระบวนได้” เมฆสกุลอื่นๆ กระบิดกระบวนไม่เป็น

ภาพที่ 1 : Cirrus intortus                  (ซีร์รัส อินทอร์ตัส)                           ภาพ : ผศ.ดร.ภาวดี ภักดี

คราวนี้ดูภาพที่ 2 จะเห็นเมฆซีร์รัสมีแนวแกนหลัก และมีเส้นย่อยๆ พุ่งตั้งฉากแนวแกนหลักนี้ออกไป ฝรั่งมองแนวแกนหลักเป็นกระดูกสันหลัง และเส้นย่อยๆ เป็นซี่โครง จึงตั้งชื่อว่า พันธุ์เวอร์ทีเบรตัส (vertebratus) คำว่า vertebratus เป็นภาษาละติน แปลว่า มีกระดูกสันหลัง นึกถึงคำว่า “vertebrate” ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า “สัตว์มีกระดูกสันหลัง” น่าจะจำได้ง่ายขึ้น

พันธุ์เวอร์ทีเบรตัสนี้เมฆสกุลซีร์รัสผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวอีกเช่นเคย นั่นคือ “เมฆซีร์รัสเท่านั้นที่มีลักษณะคล้ายกระดูกสันหลังได้” เมฆสกุลอื่นๆ ไม่มีสิทธิ์

Advertisement
ภาพที่ 2 : Cirrus vertebratus         (ซีร์รัส เวอร์ทีเบรตัส)
ภาพ : พุทธิพร อินทรสงเคราะห์

ทีนี้สมมุติว่า มีเมฆซีร์รัสหลายเส้นขนานกัน โดยเมื่อมองจากบางตำแหน่งจะเห็นเหมือนเส้นเหล่านี้พุ่งออกมาจากจุดจุดเดียวคล้ายๆ การแผ่รังสี อันเกิดจากการมองแบบเพอร์สเปคทีฟ ลักษณะแบบนี้เรียกว่า พันธุ์เรดิเอตัส (radiatus) คำว่า radiatus เป็นภาษาละติน มาจากคำกริยา radiare แปลว่า แผ่รังสี นึกถึงคำภาษาอังกฤษว่า “radiation” แปลว่า “รังสี” ก็ได้

แต่ทว่า พันธุ์เรดิเอตัสนี้เมฆสกุลซีร์รัสไม่ได้ผูกขาดแต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไป เพราะอาจเกิดได้ในเมฆสกุลอื่นๆ ได้ด้วย ได้แก่ แอลโตคิวมูลัส (Altocumulus) แอลโตสเตรตัส (Altostratus) สเตรโตคิวมูลัส (Stratocumulus) และคิวมูลัส (Cumulus)

ภาพที่ 3 : Cirrus radiatus (ซีร์รัส เรดิเอตัส)                                                ภาพ : ศรีออน แซ่ตั้ง

มาถึงซีร์รัสพันธุ์สุดท้าย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีเมฆซีร์รัสปรากฏอยู่อย่างน้อย 2 ระดับพร้อมกัน เรียกว่า พันธุ์ดูพลิเคตัส (duplicatus) คำว่า duplicatus เป็นภาษาละติน มาจากคำกริยา duplicare แปลว่า เพิ่มขึ้นสองเท่า นึกถึงคำในภาษาอังกฤษคือ “duplicate” ที่แปลว่า “ทำซ้ำให้เหมือนกัน” ก็ได้ครับ

พันธุ์ดูพลิเคตัสนี้เมฆสกุลซีร์รัสก็ไม่ได้ผูกขาดอีกเช่นกัน เพราะอาจเกิดได้ในเมฆสกุลอื่นๆ ได้แก่ ซีร์โรสเตรตัส (Cirrostratus) แอลโตคิวมูลัส (Altocumulus) แอลโตสเตรตัส (Altostratus) และ สเตรโตคิวมูลัส (Stratocumulus)

ภาพที่ 4 : Cirrus duplicatus (ซีร์รัส ดูพลิเคตัส)
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ

เมื่อคุณผู้อ่านได้รู้จักเมฆซีร์รัสทั้ง 5 ชนิด และ 4 พันธุ์กันไปแล้ว ถือว่าได้เห็นรูปแบบที่เป็นไปได้ทั้งหมด เจอซีร์รัสคราวหน้าอาจลองเทียบดูว่าเป็นชนิดไหน พันธุ์ไหน เพื่อความรื่นรมย์ในการชมเมฆนะครับ 😀

 

ขุมทรัพย์ทางปัญญา

ข้อมูลเกี่ยวกับ Cirrus ใน International Cloud Atlas
อาจเริ่มจากที่ https://cloudatlas.wmo.int/cirrus-ci.html

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image