‘บิ๊กอู๋’ แกะกล่อง 11 นโยบายร้อนๆ แก้โจทย์ ‘แรงงาน’

 

หลังจากกระทรวงแรงงานเจอศึกหนักจากการแก้ปัญหาการจัดระบบแรงงานต่างด้าว จนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้ ม.44 สั่งย้าย นายวรานนท์ ปีติวรรณ พ้นอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) ไปนั่งรองปลัดกระทรวงแรงงานแทน หนำซ้ำที่เป็นข่าวครึกโครมก่อนปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานทันที จนเกิดประเด็นคำถามมากมายว่า เป็นการทำงานที่ไม่เข้าตาหรือไม่ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาการพิสูจน์แรงงานต่างด้าว ที่มีเส้นตายวันที่ 31 มีนาคม 2561 จนหลายคนต่างเฝ้าจับตารอว่าใครจะมานั่งตำแหน่งเจ้ากระทรวงแทน และพร้อมจะเดินหน้าแก้ปัญหาที่ยังคาราคาซังอยู่

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หรือ บิ๊กอู๋Ž รับหน้าที่สานงานต่อทันที เห็นได้จากภายหลังเข้ารับถวายสัตย์ปฏิญาณ ก็เข้ากระทรวงแรงงานเพื่อหารือกับผู้บริหารกระทรวงต่อในช่วงค่ำวันที่ 30 พฤศจิกายน และลงพื้นที่ตรวจศูนย์ออกเอกสารรับรองบุคคลสัญชาติเมียนมาที่ จ.สมุทรปราการ ในวันที่ 1 ธันวาคม ทันที และยังมีกำหนดการลงพื้นที่ศูนย์ออกเอกสารรับรองบุคคลสัญชาติเมียนมาและศูนย์บริการเพื่อการทำงานคนต่างด้าว จ.สมุทรสาคร ในวันที่ 3 ธันวาคม เรียกว่ารับตำแหน่งก็ทำงานอย่างต่อเนื่อง

โดยเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา พล.ต.อ.อดุลย์ได้เรียกประชุมมอบนโยบายแก่ผู้บริหารทุกระดับ เพื่อมอบนโยบายเร่งด่วน นโยบายในระดับพื้นที่ และนโยบายบริหารการพัฒนา ซึ่ง พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวมอบนโยบายว่า ก่อนอื่นต้องขออภัยที่นัดมอบนโยบายในวันเสาร์ ซึ่งเป็นวันหยุด แต่เมื่อได้มาทำงาน ก็ต้องเริ่มทำงานเลย และอยากให้ทุกคนรู้ทิศทางการทำงานของตน ซึ่งเวลาของรัฐบาลก็ไม่ได้มาก ก็ต้องเร่งทำงานตามนโยบายที่ขับเคลื่อนให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ผมก็มาจากข้าราชการ เป็นตำรวจมา 38 ปี รู้ว่าข้าราชการอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ และรู้ภาษากายออกว่าคนไหนตั้งใจ คนไหนเกียร์ว่าง ผมรู้หมด คนไหนจดคนไหนไม่จด คนไหนจดไม่ทำ รู้หมด

Advertisement

สำหรับนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขณะนี้ก็เข้าปีที่ 4 แล้ว มี ครม.แล้ว 5 คณะ ซึ่งการทำงานขับเคลื่อนไปมาก ออกกฎหมายมากกว่า 300 ฉบับ หากเปรียบเทียบรัฐบาลปกติ 8 ปีออกกฎหมายประมาณ 100 กว่าฉบับ ซึ่งรัฐบาลชุดนี้แค่ 3 ปีมีกฎหมายกว่า 300 ฉบับ มีผลบังคับใช้แล้ว กว่า 200 ฉบับ

รัฐบาลได้วางโครงสร้างพื้นฐานหลายเรื่อง หรือแม้แต่เศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจถือว่าดี จีดีพีโต 4.8 รัฐบาลมียุทธศาสตร์ 20 ปีข้างหน้า มีเป้าหมายว่าประเทศไทยต้องมีรายได้ในระดับปานกลางไปค่อนข้างสูง เพื่อสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว มีความมั่นคงมั่งคั่งแต่ยังยึดถือเศรษฐกิจพอเพียง โดยวางยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ทั้งความมั่นคง มีความสามารถในการแข่งขัน ยุทธศาสตร์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ปัจจัยชี้ขาดคือ คน ทั้งการศึกษา เก่ง ดี เพื่อสู้กับประเทศอื่นได้ ยุทธศาสตร์สร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียม ยุทธศาสตร์การเติบโตของเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์การบริหารอย่างสมดุลและมีประสิทธิภาพ ซึ่งยุทธศาสตร์เหล่านี้สอดคล้องกับกระทรวงแรงงาน

นโยบายที่จะดำเนินการในปี 2561 ประกอบด้วย นโยบายเร่งด่วน นโยบายเชิงพื้นที่ และนโยบายเชิงบริหาร สำหรับนโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการมีทั้งหมด 11 ข้อ ประกอบด้วย 1.เร่งรัดจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว มีกฎหมายที่ได้รับการผ่อนผันให้มีเอกสารยืนยันถูกต้องภายในวันที่ 31 มีนาคม 2561 โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 1,137,294 คน ซึ่งต้องทำให้ได้ โดยจะลงพื้นที่ไปทุกหน้างานที่มีปัญหา ซึ่งเมื่อไปดูจะเห็นว่ายังขาดเจ้าภาพ และหน่วยงานที่นั่งอยู่ร่วมกันก็ไม่คุยกัน ไม่ว่าจะมาจากส่วนไหนก็ตาม ทำให้ไม่มีการจัดระบบส่งผลให้ผู้ที่ไปลงทะเบียนใช้เวลาเป็นวันๆ บ้างก็ต้องรอคิวถึง 13 ชั่วโมง บ้างถึง 3 วัน เป็นเราจะคิดอย่างไร ดังนั้น ต้องให้ทุกจุดที่เรารับผิดชอบมีซีอีโอ ซึ่งขณะนี้ให้สำนักจัดหางานจังหวัดนั่งหัวโต๊ะ เพื่อบริหารจัดการอย่างไรให้ระบบดีขึ้น โดยทุกจุดที่มีปัญหาจะให้ปรับรูปแบบการทำงานภายใน 15 วัน เพื่อให้บริการรวดเร็วขึ้น โดยมีประชาชนมีเป้าหมาย ต้องให้รอคิวเร็วที่สุด 3 ชั่วโมงทำให้ได้ ถือว่าสุดยอด ซึ่งคิดว่าทำได้

Advertisement

2.แก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ค้ามนุษย์ด้านแรงงานเด็ก ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายด้านแรงงาน ตาม IUU Fishing ป้องกันมิให้มีการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย คุ้มครองแรงงาน โดยต้องบูรณาการจากหลายฝ่าย ทั้งกระทรวงเกษตรฯ ประมง ฯลฯ ซึ่งต้องมีการขับเคลื่อนต่อไป 3.การแก้ไขปัญหาการหลอกลวงแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ บางคนอยากไป หลบหนีไป บางคนก็หลบหนีไป แต่บางคนก็ไปอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งภาพรวมตัวเลข 4 แสนคนส่งเงินกลับประเทศไทยแสนล้านบาทต่อปี ถือว่าสำคัญมาก เราจะดูแลอย่างไรให้พวกเขาไปอย่างถูกต้อง มีการพัฒนาฝีมือแรงงาน และเมื่อไปแล้วก็ต้องรู้ภาษา รู้วัฒนธรรม รู้กฎหมายของประเทศนั้นๆ ซึ่งเราต้องช่วย ไม่ทิ้งพวกเขา

4.ส่งเสริมให้นายจ้าง หรือสถานประกอบการรับคนพิการเข้าทำงานในรูปแบบประชารัฐ ซึ่งพี่น้องคนพิการมีอยู่ประมาณ 1,800,000 คน โดยเราต้องเปลี่ยนภาระเป็นพลัง เราต้องให้โอกาส ให้กำลังใจ ศักยภาพพวกเขามี เราต้องดึงออกมา และการจ้างคนพิการ สมาธินิ่งกว่ามาก แต่ต้องให้โอกาส โดยเราจะรับมาและจะทำอย่างไรให้พวกเขามีงานทำมากขึ้น ซึ่งอาจทำที่บ้านก็ได้ 5.เร่งรัดให้มีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมง เพื่อส่งเสริมให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุมากขึ้น โดยผู้สูงอายุมีอยู่ประมาณ 10,800,000 คน โดยมีผู้สูงอายุที่รับเบี้ยยังชีพประมาณ 8 ล้านคน รัฐบาลใช้งบประมาณ 60,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งปัจจุบันผู้สูงอายุแข็งแรงขึ้น หลายคนอายุยืนมีศักยภาพทำงานได้ต่อไปอีก จากงานวิจัยยังพบว่า คนอายุ 60 ปี ทำงานจะอายุยืนมากกว่าคนอยู่บ้านเฉยๆ

6.ขับเคลื่อนนโยบาย Safety Thailand ความปลอดภัยในการทำงาน สิ่งแวดล้อมในที่ทำงานต่างๆ ต้องดีต้องปลอดภัย ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของประเทศ 7.ผลักดันให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงระบบประกันสังคม เช่น รักษาพยาบาล สงเคราะห์บุตร มากขึ้น จากปัจจุบันมีแรงงานเข้าระบบอยู่ 10,400,000 คน แต่ยังมีแรงงานนอกระบบอีก 20 ล้านคน โดยเข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคมแค่ 2 ล้านคน มีอีก 19 ล้านยังไม่เข้าระบบ ก็ต้องทำให้พี่น้องแรงงานนอกระบบเข้าใจระบบนี้ 8.พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก 9.เพิ่มขีดความสามารถแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศให้มีความสามารถสูงขึ้น อย่าง 4 แสนคนที่ไปทำงานแล้ว และคนที่จะไปต่อจะมีการดำเนินการอย่างไรและต้องถูกต้องตามกฎหมายด้วย เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งในยุโรปยังต้องการแรงงานที่ไปดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเราต้องพัฒนาหรืออบรมด้านนี้

10.ผลักดันการสร้างสิทธิประกันสังคมที่เป็นธรรม เท่าเทียม และคุ้มครองแรงงานอย่างทั่วถึง 11.ยกระดับสายด่วน 1506 ให้เป็นเครือข่ายสายด่วนด้านแรงงานต่างๆ ทั้งการรับฟังปัญหา การช่วยเหลือด้านแรงงานต้องเป็นหนึ่งเดียว ยกตัวอย่าง ตอนอยู่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีสายด่วน 1300 ก็จะรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ ได้หมด ซึ่งแรงงานก็ต้องมีการทำเครือข่ายให้เป็นหนึ่งเดียว รวมทั้งต้องมีการประสานให้สามารถโทรทั่วโลกได้แค่สายเดียวฟรี

ในการขับเคลื่อนงาน ยังมีนโยบายเชิงพื้นที่ ซึ่งกระทรวงแรงงานมีหน่วยภูมิภาค โดยเอกภาพของกระทรวงคือ ท่านปลัดกระทรวงกับผู้บริหารต้องเป็นหนึ่งเดียว เพราะงานเชื่อมโยงกันหมด ทั้งกรมการจัดหางาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ฯลฯ ต้องทำงานร่วมกัน จะทำงานแบบอาณาจักรตัวเองไม่ได้ อย่างในพื้นที่ก็จะมีแรงงานจังหวัด มีส่วนภูมิภาคต่างๆ ต่างคนต่างใหญ่เป็นแท่งไม่ได้ เราต้องฟังกัน ผมจึงมอบการบ้านว่า จะไปสร้างเอกภาพในการขับเคลื่อนบูรณาการอย่างไร

ต้องมีเอกภาพในการขับเคลื่อนร่วมกัน อย่างกรณีมีการสั่งการทำงานที่แท่งให้ไปทำงานร่วมกันในพื้นที่ หากไม่ทำอยู่กระทรวงนี้ไม่ได้ หากไม่ยอมก็ต้องให้มาอยู่กับผมเลย ดังนั้น ต้องฟัง อย่ามีอาณาจักรเป็นแท่งๆ แต่เราต้องฟังต้องทำงานร่วมกัน”

Ž
จับตา รมว.แรงงานป้ายแดงŽ จะขจัดมาเฟียแรงงานต่างด้าว อย่างที่ บิ๊กตู่Ž ไว้วางใจหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image