ใครคือผู้ฟังดนตรี โดย สุกรี เจริญสุข

ปีนี้ (พ.ศ.2559) มีรายการแสดงดนตรีจัดขึ้นในสังคมไทยเยอะมาก มากพอที่จะเลือกฟังดนตรีดีๆ ได้ ทั้งวงดนตรีจากต่างประเทศ (เวียนนา รัสเซีย เยอรมนี จีน ญี่ปุ่น) ที่เข้ามาแสดงในเมืองไทย มีศิลปินเดี่ยวคนดังหนังเหี่ยว (ซานตานา มาดอนนา ไดอานา โบเชลลี) เข้ามาแสดง ในสมัยที่รุ่งเรืองนั้น ศิลปินดังๆ ก็ไม่ได้มาแสดงในเมืองไทย เพราะว่าค่าตัวแพงมาก เขาไม่มีเวลาให้ เล่นตัวได้ แต่วันนี้ศิลปินดังทั้งหลายเหล่านั้นต่างก็เข้าแถวมาแสดงในเมืองไทยมากขึ้น เนื่องจากหากินเมืองนอกยากขึ้น หมดเวลานาทีทอง แต่ก็ยังขายได้ในประเทศที่อยู่ห่างไกล ในประเทศด้อยพัฒนาหรือพัฒนาช้ากว่าประเทศตะวันตกอย่างประเทศไทย

เมื่อศิลปินดัง (ที่ตกยุค) มาแสดงในเมืองไทย ที่น่าตกใจมากก็คือ ค่าตั๋วแพงมหาศาล (5,000-20,000 บาท) มีคนดังๆ ทั้งหลายจองตั๋วเข้าชมการแสดง ตั๋วหมดในเวลาอันรวดเร็ว สำหรับผู้ฟังที่ได้รับตั๋วก็นำไปอวดเพื่อนๆ ถ่ายรูปลงในโทรศัพท์มือถืออวดความสำคัญที่สามารถมีตั๋วได้ คนที่ไม่มีตั๋วจะอวดก็รู้สึกว่าเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง ครั้นเมื่อเข้าไปฟังดนตรีแสดงจริงๆ แล้ว บรรยากาศไม่ใช่เพื่อการฟังดนตรี แต่เป็นการอวดตัวตนของผู้ฟังมากกว่า “ฉันคือผู้เลอเลิศประเสริฐศรีได้อยู่ในงานนี้” ถ่ายรูปหน้าตัวเองแล้วส่งไปอวดในสื่อมือถือเพื่อนต่อไป

ศิลปินชื่อดัง วงดนตรีดังๆ ราคาค่าจ้างพร้อมค่าเดินทางและค่าดูแลเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก มีตั้งแต่ราคาค่าตัว 2 แสนเหรียญ กระทั่ง 1.2 ล้านเหรียญ (5 ล้านถึง 45 ล้านบาท) ซึ่งยังไม่รวมค่าเดินทาง (ค่าเครื่องบินส่วนตัวแบบเหมาลำ) ค่าที่พัก และยังมีลูกหาบอีกจำนวนหนึ่ง เมื่อรวบรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ แล้ว อาทิ ค่าเช่าหอแสดง ค่าเช่าเครื่องเสียง ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ ค่าใต้โต๊ะและค่าบนโต๊ะ ค่าภาษีออกของ การนำเข้าเครื่องมือจากต่างประเทศ รวมแล้วเป็นเงินที่หนักเอาการอยู่ หากจะอาศัยการขายตั๋วหรือบัตรผ่านประตูก็คงไม่พอ

ในที่สุดก็ต้องอาศัยผู้ที่ให้การสนับสนุนในการจัดแสดง ซึ่งนับวันก็จะหาผู้สนับสนุนได้ยากมากขึ้น

Advertisement

ในการนำเข้าวงดนตรีคลาสสิก (Orchestra) ระดับโลกมาแสดง ก็มีเรื่องต่างๆ ต้องจัดการมาก เนื่องจากมีจำนวนคนที่เกี่ยวข้องหลายคน เครื่องดนตรีหลายชิ้น มีรายละเอียดและขั้นตอนมาก วิธีการทำงานของฝรั่งนั้น เขาจะต้องวางแผนไว้ล่วงหน้าเป็นปี ทำงานตรงเวลา ส่วนการทำงานในเมืองไทยนั้น แม้จะวางแผนไว้ล่วงหน้า แต่ก็ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้และทำงานไม่ตรงเวลา ยิ่งเกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการแล้วยิ่งยาก (สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง การท่าอากาศยาน กรมศุลกากร รวมทั้งการเดินทางในเมืองกรุง) การรับส่งคนและของจากสนามบินไปที่พัก จากโรงแรมไปสถานที่แสดงแม้จะไม่ไกลแต่ก็ควบคุมเวลาไม่ได้ ต้องใช้บริการรถตำรวจนำขบวน มีตำรวจนำไปทุกที่ นำทุกรอบที่จะต้องเดินทาง ค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้นอีก

ในขณะเดียวกัน มีผู้ชมจำนวนน้อยมากที่จะซื้อบัตรเข้าชม เมื่อมีของดีเข้ามาแสดงในเมืองไทย คนจัดได้ประกาศชัดเจนว่าจะเก็บค่าผ่านประตู มีราคาบัตร มีการจัดการขายบัตรตามระบบตลาด แต่ด้วยเหตุผลของชีวิต วัฒนธรรมและสังคมไทย พบว่า “คนไทยไม่นิยมซื้อบัตรเข้าฟังดนตรี” คนไทยชอบบัตรฟรี ทั้งๆ ที่มีเงินจะซื้อบัตรได้ แต่ผู้ฟังก็จะไม่นิยมซื้อบัตร กลับนิยมขอบัตรอภินันทนาการ การขอบัตรอภินันทนาการนั้น นิยมขอกันหลายใบ เพื่อนำบัตรที่ได้ไปแจกให้กับคนอื่นๆ ที่ชื่นชอบด้วย เพราะแสดงถึงบารมีของผู้แจก

ดังนั้น หากผู้จัดรายการแสดงดนตรีไม่เข้าใจวัฒนธรรมไทยก็จะจัดงานได้ลำบากยิ่ง เพราะจะขายบัตรเข้าชมไม่ได้ แต่จะมีบัตรอภินันทนาการจำนวนมาก วิธีแก้ปัญหาก็คือ ผู้จัดงานก็ต้องเปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์มือถือ หรือเดินทางไปต่างประเทศระหว่างจัดงานเสีย อีกวิธีหนึ่งซึ่งได้ผลก็คือ หาเงินสนับสนุนจากผู้มีเงินที่ใจบุญ ขอเงินมาซื้อบัตรแล้วเอาบัตรไปแจกให้แก่มิตรรักแฟนเพลงและผู้มีรสนิยมทั้งหลายได้เข้าชมดนตรี ดูเหมือนว่าวิธีนี้ทำได้ง่ายกับทุกฝ่าย ผู้จัดก็ได้หน้าเพราะมีคนมาดูเยอะ ผู้ชมก็ได้หน้าเพราะมีหน้ามีตาในสังคม ผู้ให้การสนับสนุนก็ดีใจเพราะมีคนมาฟังดนตรีเยอะ จะหนักใจอยู่ก็เฉพาะผู้ที่จัดงาน เพราะหาเงินมาให้คุ้มค่าใช้จ่ายได้ยากมากขึ้น

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ผู้มีรสนิยมเข้าฟังดนตรีมีจำนวนมากขึ้น ดูได้จากการจัดเทศกาลดนตรีแจ๊ซ มีจำนวนผู้ฟังมากขึ้น ในเวลาที่จัดงาน 3 วันรวมผู้เข้าร่วมงาน 6,000 คน อัตราเพิ่มขึ้นทุกปี (10-15%)

ส่วนผู้ฟังที่เป็นแฟนประจำของวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (ทีพีโอ) ซึ่งแต่ละครั้งก็มีแฟน 800-1,200 คน ในปีหนึ่งๆ ก็จะมีผู้ฟังวงทีพีโอ (60 ครั้ง) เฉลี่ยปีละ 60,000 คน เป็นอย่างน้อย

สําหรับคนรุ่นใหม่ มีข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับการฟังดนตรีก็คือเมื่อวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 รายการแสดงของวงดุริยางค์เครื่องเป่า (Mahidol Wind Orchestra) ควบคุมดูแลวงดนตรีโดย ดร.ธนพล เศตะพราหมณ์ เป็นเพลงประกอบเกมส์ มีพื้นที่ในหอแสดงขนาดเล็ก (353 ที่นั่ง) แต่ก็มีคนซื้อบัตรเต็มทุกที่นั่ง แถมมีตั๋วยืนอีก 200 คน พบว่าคนที่ซื้อบัตรเป็นคนที่มาจากข้างนอก มาจากไหนก็ไม่รู้ รู้แต่เพียงว่าคนดูสนใจในสิ่งที่อยากดูอยากฟังมาก

ผู้ฟังมีส่วนร่วมต่อการฟังเพลงที่เขารักเขาชื่นชอบ

วันนั้นเมื่อได้ฟังรายการจบลง จึงทำให้ต้องบรรจุรายการเพลงไว้แสดงในปีหน้า อาทิ ประกอบภาพยนตร์ เพลงประกอบการ์ตูน และเพลงประกอบเกมส์ บรรจุลงในรายการแสดงของวงทีพีโอในฤดูที่ 12 (ฤดูกาลหน้า) เพื่อที่จะให้วงดนตรีได้เล่นเพลงที่ผู้ฟังชอบ และผู้ฟังจะได้มีส่วนร่วมเกื้อกูลวงดนตรีด้วย

สำหรับผู้ฟังดนตรีตลาด ไม่ว่าจะเป็นบทเพลงสมัยนิยม ซึ่งก็มีผู้ฟังอยู่แล้วทุกยุคทุกสมัย จะไม่ขอกล่าวไว้ในบทความนี้ เพราะผู้ฟังเพลงตลาดทั่วๆ ไป ก็จะต้องติดตามตลาดตลอดเวลา ทั้งตลาดบนและตลาดล่าง ตลาดเปลี่ยน

ผู้ฟังก็จะเปลี่ยน ผู้ฟังที่เชื่อตามคำโฆษณา ติดตามสื่อประชาสัมพันธ์ การมีอารมณ์ร่วมของแฟนเพลงที่คลั่งไคล้ดารา ได้ฟังเพลงแล้วอยากกรี๊ด ผู้ฟังแบบนี้ไม่ได้ฟังเพลงอย่างเดียว แต่ยังมีความผูกพันกับดารา ผู้ฟังจำนวนหนึ่งตกเป็นสาวกของดาราก็มี ความเป็นดาราของนักร้องหรือนักดนตรีสามารถที่จะดึงดูดผู้ฟัง ซึ่งมีอิทธิพลอยู่เหนือจิตสำนึกผู้ฟังได้

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาผู้ฟังดนตรีให้สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ระดับที่อยู่เหนือการฟังทางกายภาพ (ฟังดนตรีด้วยหมัด ฟังไปชูหมัดไป ฟังดนตรีด้วยเท้า ฟังไปเต้นไป) ซึ่งผู้ฟังดนตรีที่ไปฟังได้พัฒนาการฟังไปสู่จิตวิญญาณ เมื่อฟังดนตรีแล้วรู้สึกเนื้อเต้น ขนลุก จิตสงบนิ่ง น้ำตาไหล ฯลฯ เมื่อฟังดนตรีแล้ว เสียงดนตรีกลับลึกเข้าไปในความรู้สึกนึกคิดและจิตใจ ยิ่งฟังยิ่งนิ่ง ยิ่งไพเราะยิ่งสงบ “เพราะเสียงน้อยกิเลสน้อย เสียงมากกิเลสมาก” ดนตรีกลายเป็นบทสวดมนต์ ฟังดนตรีในหอแสดงดนตรีก็เหมือนกับการฟังธรรมะในโบสถ์วิหาร โดยมีเสียงดนตรีเป็นพระธรรม

ดังที่ท่านพุทธทาสภิกขุได้กล่าวไว้ว่า “เราฟังดนตรีกันที่ความไพเราะ ก็เหมือนกับการศึกษาธรรมะ ก็เพราะความไพเราะของพระธรรม” ฟังดนตรีแล้วเหมือนได้ขึ้นสวรรค์

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ได้จัดสร้างวิหารดนตรีไว้หลายขนาด ทั้งวิหารขนาดเล็กและวิหารขนาดใหญ่ เพื่อที่จะให้ผู้ฟังได้มีโอกาสฟังเพลงที่ไพเราะ มีเวทีด้านนอกเพื่อให้ดนตรีแจ๊ซได้แสดง ให้ดนตรีสมัยนิยมได้แสดง โดยเปิดให้แก่มิตรรักแฟนเพลงทุกรูปแบบ ซึ่งก็มีความเชื่อว่า สักวันหนึ่งผู้ฟังเดินไปตามสุมทุมพุ่มไม้ก็ได้ยินเสียงดนตรี ได้ยินใบไม้ร้องเพลง ได้ยินเสียงนกร้อง ได้ยินเสียงของความเงียบ ความมืด เพราะธรรมชาติก็เป็นเสียงดนตรีที่ไพเราะน่าฟังสำหรับทุกๆ คน

สำหรับผู้ฟังที่ไม่เคยไปฟังดนตรีที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา น่าจะทดลองไปฟังบ้าง เพราะมีรายการแสดงดนตรีเป็นประจำไปแล้ว โดยไม่ต้องโฆษณางานต่องานครั้งต่อครั้งอีกต่อไป ดนตรีได้กลายเป็นวิถีชีวิต ดนตรีเป็นหุ้นส่วนของชีวิต จะพบว่ามีฝรั่ง (ตะวันตก) เป็นผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ พัทยา หัวหิน เป็นผู้ฟังขาประจำของวิหารดนตรีที่ศาลายา ซึ่งนับวันจะมีมากกว่าผู้ฟังที่เป็นคนไทยเสียอีก

หากเป็นผู้ฟังคนไทยก็มักจะเป็นเด็กๆ โรงเรียนต่างจังหวัด ซึ่งมีผู้ใหญ่ใจดีซื้อบัตรเข้าชม ออกค่าเดินทางให้มาฟัง เป็นประสบการณ์ชีวิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image