แรงงานต่างด้าวซีรีส์ โดย สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

ถ้าจำไม่ผิด ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ ถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2559 เป็นเวลา 120 วัน รัฐบาลได้จัดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติจากประเทศเพื่อนบ้านครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

มติ ครม. เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 เห็นชอบแนวทางการจัดระบบแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา รวมถึงผู้ติดตามที่เป็นบุตรหลานของแรงงานต่างด้าวที่อายุไม่เกิน 18 ปี หลังวันที่ 31 มีนาคม 2559 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ประกอบด้วยแรงงาน 2 กลุ่ม (1) กลุ่มที่ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (เรียกกันว่าบัตรสีชมพู) ที่จดทะเบียนตามนโยบาย คสช. ปี 2557 จำนวน 1.6 ล้านคน และ (2) กลุ่มที่มีเอกสารที่ประเทศต้นทางออกให้ (เรียกว่าผ่านการพิสูจน์สัญชาติ) จำนวน 1.8 ล้าน คน รวม 3.45 ล้านคน ทั้งนี้ยังไม่รวม แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติที่เข้ามาโดยถูกฎหมายตามบันทึกความทรงจำระหว่างประเทศ (MOU) ประมาณ 3 แสนคน และแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำที่ได้จดทะเบียนไปก่อนหน้านั้นประมาณ 1.2 แสนคน

แต่ก่อนประเทศไทยยังไม่มีการควบคุมการเข้ามาทำงานของต่างชาติจนกระทั่งปี 2515 รัฐบาลจึงได้กำหนดให้ผู้ที่เดินทางเข้าเมืองไทยและประสงค์จะทำงาน ต้องมีใบอนุญาตทำงาน

มาถึง 2521 ก็มีการสงวนอาชีพ 36 อาชีพสำหรับคนไทยและในปีถัดมาก็ประกาศห้ามแรงงานต่างด้าวทำงานกรรมกร

Advertisement

2531 แรงงานพม่าเริ่มหลั่งไหลเข้าจำนวนมากเนื่องจากความต้องการแรงงานของภาคเอกชนจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยและปัญหาทางการเมืองของเขา

ประกอบกับในปี 2532 รัฐบาลพลเอกชาติชายมีนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านกัมพูชาและลาว จึงมีลาว กัมพูชาเข้ามาสมทบ และเริ่มมีแรงงานต่างด้าวจาก 3 ชาติเข้ามามากขึ้น

จากนโยบายดังกล่าว แนวคิดในการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านก็ปรากฏชัดขึ้นและสิ่งที่ติดตามมาคือแรงงานต่างด้าวแถบจังหวัดชายแดน พร้อมกับการกดดันของผู้ประกอบการในการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวชายแดนเข้ามาทำงานได้

Advertisement

ในที่สุดสภาความมั่นคงแห่งชาติก็เห็นด้วยกับสภาหอการค้าจังหวัดชายแดนเริ่มเปิดผ่อนผันให้จ้างแรงงานต่างด้าวตามจังหวัดชายแดนในปี 2535 รวมทั้งจัดให้มีการขึ้นทะเบียนครั้งแรก

จากนั้นก็มีการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายขึ้นทะเบียนต่อมาหลายครั้งเป็นเวลา 24 ปี

การขึ้นทะเบียนในวันที่ 1 เมษายนนี้ น่าจะประมาณครั้งที่ 20 และคงไม่จบอยู่แค่ครั้งนี้

แรงงานต่างด้าวจะหมดไปจากประเทศไทยหรือไม่

ในประเทศไทยมีการศึกษาในเรื่องนี้แล้ว (ล่าสุดมีการสัมมนาของทีดีอาร์ไอเรื่องการศึกษาแนวโน้มแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยฯเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2559 ที่โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด) ซึ่งคำตอบคือแรงงานต่างด้าวมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจของไทยมากและคงอยู่อีกนานแม้ผู้ประกอบการจะพยายามนำเครื่องจักร และเทคโนโลยีประหยัดแรงงานมาใช้ก็ยังจำเป็นต้องใช้แรงงานคนในหลายกรณี นอกจากนั้นแล้วโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นก็จะมีความต้องการแรงงานอีกจำนวนมากซึ่งนับวันจะหายากขึ้นทุกที

แม้ว่าจะมีข้อสันนิษฐานว่าเมื่อประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ระดับกลางและมีการพัฒนามากขึ้น การใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีมากขึ้น อาจจะทำให้ความต้องการแรงงานต่างด้าวลดลง แต่ประสบการณ์ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี ก็พบว่ามีการใช้แรงงานต่างด้าวอย่างต่อเนื่องและไม่ได้ลดลง

ตัวอย่าง ญี่ปุ่นซึ่งเคยเป็นประเทศที่ปิดประเทศสำหรับแรงงานต่างด้าวก็กลับมีนโยบายต้อนรับแรงงานต่างด้าว เนื่องจากปัญหาหลักคือประชากรลดลงซึ่งคาดว่าจำนวนประชากรของญี่ปุ่นจะลดลงจาก 127 ล้านคน ลงเหลือ 87 ล้านคน ในเวลาประมาณ 40 ปีจากนี้ นสพ. The Japan Times (14 มีนาคม 2557) เคยลงข่าวว่ารัฐบาลนายอาเบะได้ตัดสินใจที่จะรับแรงงานต่างด้าวปีละ 2 แสนคน นอกจากนั้นการศึกษาของนายยากูชิ อิกูชิ (2557) เรื่อง แนวโน้มและนโยบายการย้ายถิ่นของญี่ปุ่นในปัจจุบัน ก็ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะต้องดูแลแรงงานย้ายถิ่นให้ดีเพื่อดึงดูดให้อยู่กับญี่ปุ่นอีกนานๆ

ในขณะที่สหรัฐอเมริกาก็มีปัญหาแรงงานต่างด้าวที่แก้ไม่ตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแรงงานจากเม็กซิโกเนื่องจากการที่มีเขตแดนติดต่อกับสหรัฐเป็นระยะทางยาวกว่า 3,450 กม. ซึ่งสหรัฐลงทุนสร้างรั้วยาวไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 กม. ตลอดแนวและมีทหารพราน เซ็นเซอร์ และเฮลิคอปเตอร์คอยตรวจจับแรงงานหนีเข้าเมืองตามชายแดน หลังจาก 4 ทศวรรษของการหลบหนีเข้าเมืองสหรัฐ ณ ปี 2557 คนต่างด้าวเม็กซิกันมีจำนวนถึง 11.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 28 ของประชากรต่างถิ่น 42.4 ล้านคนในสหรัฐ (แต่กำลังถูกแซงโดยจีนและอินเดีย)

การย้ายถิ่นของคนเม็กซิกันเข้าสู่สหรัฐเกิดขึ้นมาตั้งแต่ ปี 2430 หรือราว 120 กว่าปีมาแล้ว เนื่องจากความรุ่งเรืองในกิจการเหมืองและการเกษตรในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐที่ดึงดูดแรงงานเข้าไป ตามด้วยการปฏิวัติเม็กซิโก (2453-2463) และผู้ลี้ภัยทางการเมือง

จากวันนั้นถึงวันนี้ ถ้าผู้อ่านติดตามการเลือกตั้งในสหรัฐซึ่งกำลังดำเนินอยู่อย่างเข้มข้นอยู่ในขณะนี้จะเห็นว่าเรื่องคนต่างด้าวเข้าสหรัฐเป็นประเด็นใหญ่ประเด็นหนึ่ง นายโดนัลด์ ทรัมป์ ถึงกับประกาศนโยบายว่าจะสร้างกำแพงกั้นชาวเม็กซิกันอพยพ จะให้รัฐบาลเม็กซิโกจ่ายเงินชดเชยให้สหรัฐสำหรับการที่มีประชากรเม็กซิกันหลบหนีเข้าสหรัฐ ฯลฯ

ตัวอย่างคลาสสิกอีกอันหนึ่งเกี่ยวกับความยืดเยื้อของแรงงานต่างด้าว คือกรณีของเยอรมันกับแรงงานเติร์ก

เมื่อเยอรมันตะวันตกสร้างกำแพงเบอร์ลินในปี 2504 แรงงานที่เคยได้จากคนเยอรมันตะวันออกก็หมดไป รัฐบาลจึงเซ็นสัญญากับตุรกีให้จัดส่งแรงงานเข้าไป

บริษัทเยอรมันชอบจ้างคนเติร์กเป็นแรงงานระดับล่างและค่าจ้างถูกเพื่อทำงานที่คนเยอรมันไม่ชอบทำคืองานสายพานการผลิตและทำงานเป็นกะ ในสมัยนั้นคนเยอรมันไม่สนใจว่าแรงงานเติร์กจะอ่านเขียนไม่ได้ แรงงานพวกนี้จึงเข้ากับสังคมเยอรมันไม่ได้ ต้องอาศัยอยู่ในหอพักแยกจากคนเยอรมัน ขณะที่คนเยอรมันเองก็คาดว่าแรงงานพวกนี้จะอยู่ชั่วคราวแล้วก็กลับบ้านไปในเวลา 2-3 ปี จึงไม่มีการเตรียมการใดๆ ที่จะบูรณาการแรงงานเหล่านี้เข้ากับสังคมเยอรมัน

แต่แรงงานเติร์กก็ไม่ได้กลับบ้าน ปัญหาหนึ่งคือเหตุการณ์บ้านเมืองที่บ้านเกิดในตุรกีซึ่งมีการปฏิวัติรบราฆ่าฟันจนไม่น่ากลับ

ในเวลา 20 กว่าปีต่อมา (2526) รัฐบาลนายเฮลมุทโคลถึงกับออกกฎหมายให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่แรงงานต่างด้าวที่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศตน แต่ก็ไม่ได้ผล

ในปี 2533 กำแพงเบอร์ลินแตก แรงงานจากเยอรมันตะวันออกหลั่งไหลเข้าเยอรมันตะวันตก และใน 2-3 ปีต่อมาชาวเติร์กในเยอรมันหลายคนถูกฆ่าด้วยความหวาดระแวงคนต่างชาติ มิหนำซ้ำต่อมาหลังเหตุการณ์ 9/11 หรือเหตุการณ์ที่ตึกเวิลด์เทรดในสหรัฐถูกถล่ม ทำให้แรงงานต่างชาติถูกจับตามากขึ้นด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง

แรงงานต่างด้าวเติร์กจึงเป็นหนังชีวิตอีกตอนหนึ่งที่ควรเป็นบทเรียน

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ในขณะที่แนวโน้มการใช้แรงงานต่างด้าวและกระแสการไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องของแรงงานต่างด้าวเป็นเรื่องจบได้ยากอยู่แล้ว สิ่งที่ติดตามมาอย่างใกล้ชิดคือปัญหาการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวซึ่งมีจำนวนมากมายและไม่มีวันสิ้นสุดรวมทั้งความจำเป็นต้องมีนโยบายระยะยาวที่ชัดเจน

ต้องยอมรับว่างานบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวนั้นหนักหนาสาหัสมาก ไม่ว่าจะเป็นการป้องกัน ปราบปราม การทำให้แรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย งานทะเบียนและข้อมูล การสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองทางสังคม การบูรณาการเข้ากับสังคมไทย มาตรฐานแรงงาน การนำเข้า การส่งกลับ การวางแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว การป้องปรามการค้ามนุษย์ และการคลังที่เกี่ยวข้อง

เริ่องนี้ขอชมรัฐบาลว่าในยุคนี้มีนโยบายและการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวดีขึ้นมาก คือ เฉียบขาด กล้าคิด กล้าทำมากขึ้น และชัดเจน มีการปรับ กบร. (คณะกรรมการบริหารแรงงานต่าวด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย) เป็น กนร. (คณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์) มีการปรับเปลี่ยนผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง มีการจัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเบ็ดเสร็จทั่วประเทศ มีการจัดตั้งสำนักงานกองทุนเพื่อการส่งกลับแรงงานต่างด้าว และที่สำคัญคือ มติ ครม. เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งปรับระบบการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวอย่างมาก เป็นต้น ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อภารกิจด้านแรงงานต่างด้าวอย่างมากและมองว่าภารกิจนี้คงใช้เวลา

เรื่องของแรงงานต่างด้าวจึงไม่ใช่แค่ซีรีส์ หรือหนังชีวิต แต่คงเป็นมหากาพย์เรื่องหนึ่งที่ไม่จบได้ง่ายๆ และรัฐบาลยังมีงานต้องทำในด้านนี้อีกมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image