ที่เห็นและเป็นไป : คำตอบ‘ยังไปไม่ถึงไหน’ : สุชาติ ศรีสุวรรณ

หลัง ครม.สัญจรยกเลิกการเดินทางไปสระแก้วที่ “นักเลงโบราณ-เสนาะ เทียนทอง” ประกาศจะเกณฑ์ประชาชน 50,000 คนมาให้การต้อนรับมากกว่าชาวบุรีรัมย์ 30,000 คน ภายใต้การนำของ เนวิน ชิดชอบ คราวที่แล้ว เสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง “ยุทธการดูด” ก็จางลง

แม้ฟากรัฐบาลจะชี้แจงเป็นเสียงเดียวกันว่า “เป็นการลงพื้นที่พบประชาชน ไม่เกี่ยวกับการเมือง” และที่ยกเลิกไปสระแก้วเป็นเรื่องกำหนดการที่ไม่ลงตัวกับผู้นำกัมพูชาที่จะต้องมาเปิดด่านข้ามพรมแดนร่วมกัน ไม่มีเหตุผลอื่น

แต่ดูเหมือนว่าน้ำหนักในเหตุผลของฝ่ายรัฐบาลจะชักจูงให้ผู้สนใจใคร่รู้เรื่องความเคลื่อนไหวทางการเมือง จะสู้เสียงวิจารณ์ที่ว่า เป็นเพราะ “ยุทธการดูดถูกถล่มหนัก” ว่านำการเมืองย้อนสู่วังวนน้ำเน่า

“4 ปีรัฐบาล คสช.” จบด้วยความสิ้นท่าสำหรับความหวังว่าการเมืองไทยจะมีคุณภาพใหม่

Advertisement

คนเชื่อว่าที่ต้องหยุดเพราะเสียงวิจารณ์อย่างหนักหน่วงในแนวโน้มดังกล่าวมากกว่า

เมื่อมีเรื่องราวต่อเนื่องมาจากกรณีโดย ผู้นำ “คสช.” ทั้ง “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ออกมาเสนอประเด็นไปในทางเกี่ยวกันทำนองว่า “ยังไม่รู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเล่นการเมืองต่อหรือไม่” อันเป็นสวนทางต่อความเชื่อของประชาชนในเรื่อง “สืบทอดอำนาจ” ที่ลงหลักปักความมั่นใจไว้แน่นอนแล้ว ทำให้ประเด็น “ความอยากหรือไม่อยากจะยึดอำนาจกลับถูกหยิบขึ้นมาพูดกันอีกครั้ง”

และตรงนี้เองที่ท่าทีของฝ่ายต่างๆ สะท้อนความเป็นไปของสังคมไทยอย่างน่าสนใจ

Advertisement

“อยาก” หรือ “จำเป็น” ต้องทำ “รัฐประหาร” ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งพูดอย่างเห็นต่างเป็นเรื่องที่พูดกันมานานแล้ว ก่อนที่จะทำรัฐประหาร ตั้งแต่มีแนวโน้มว่ามีความเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อกดดัน หรือเปิดทางให้ผู้นำกองทัพทำการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้ว

มุมมองแตกแยกเป็นสองฝ่าย

ฝ่ายแรกเห็นว่า ที่กองทัพต้องยึดอำนาจ เพราะคุณภาพนักการเมืองประเทศไทยเราอยู่ในสภาวะย่ำแย่ เอาแต่ชิงดี ชิงเด่น มุ่งเอาชนะคะคานกันเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง กระทำทุจริตในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ทุจริตเลือกตั้ง จนถึงทุจริตในการบริหารจัดการประเทศ โดยรัฐสภาเป็นเพียงกลไกของเผด็จการ อันเรียกว่า “เผด็จการรัฐสภา” จำเป็นต้องหาทางให้กองทัพยึดอำนาจ เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงขึ้นมา

ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง ยืนยันว่าการยึดอำนาจเป็นเจตนาของกลุ่มอภิสิทธิ์ชนร่วมกันสร้างเงื่อนไขขึ้น เพราะประชาธิปไตยทำให้ “ครอบครัวอภิสิทธิ์ชน” สูญเสียสถานะที่ถูกวางไว้
เหนือกว่าประชาชนทั่วไป ส่งผลต่อโอกาสที่เคยเหนือกว่า และผลประโยชน์ที่ผูกขาดอยู่ได้รับผลกระทบ

อภิสิทธิ์ชนเหล่านี้เคยชินกับการรักษาสถานะที่เหนือกว่าของตัวเองไว้ ในยุคสมัย “กองทัพกุมอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด” ว่ากันให้ตรงกว่านั้น เพื่อรักษาความเหนือกว่าในความเป็นอภิสิทธิ์ชนไว้ มีความเชื่อว่าคุยกับผู้บริหารที่มาจากผู้นำเหล่าทัพ ง่ายกว่าพวกที่มาจากการเลือกตั้ง ที่มีประชาชนทุกระดับเป็นฐานเสียง

ประเทศไทยวนเวียนระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการทหาร ก็เพราะความพยายามรักษาสถานะของกลุ่มอภิสิทธิ์ชน

สองมุมมองนี้ ถกเถียงกันมายาวนานก่อนการรัฐประหารครั้งนี้ และเป็นประเด็นหนึ่งที่เป็นเหตุของความขัดแย้งที่ขยายเป็นความแตกแยกจนคนไทยต้องรบราฆ่าฟันกัน เกิดความวุ่นวายในบ้านในเมือง กระทั่งไม่มีทางออกอื่นนอกจากให้ “กองทัพ” เข้ามาควบคุมความสงบ เพื่อเริ่มต้นกันใหม่

ที่บอกว่าน่าสนใจตรงที่ ถึงวันนี้กองทัพควบคุมความสงบมาครบ 4 ปีเต็ม

เหมือนการเมืองไทยจะเดินไปไกล พรรคการเมืองถูกควบคุมความเคลื่อนไหว เปิดทางให้ผู้นำรัฐประหารใช้อำนาจอย่างเต็มที่จนถึงนาทีนี้

มีความเชื่อกันว่า หากจะให้ความขัดแย้งจบ การเมืองไทยจะต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง ระหว่าง “อนุรักษ์ความเหนือกว่าของอภิสิทธิ์ชนไว้” หรือไม่จะต้อง “พัฒนาไปสู่ความเท่าเทียมในสิทธิของประชาชนอย่างจริงจัง” ไม่ปล่อยให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมาถกเถียงเพื่อแสดงเหตุผลให้เกิดความขัดแย้ง

เหมือนกับว่า 4 ปีที่ผ่านมา ความชัดเจนนั้นจะไปไกลแล้ว

แต่เอาเข้าจริง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ กลับยืนยันว่า ความแตกต่างของ 2 มุมมองนั้นไม่เพียงมุมมองหนึ่งมุมมองใดจะถูกกระทำให้จางหายไปด้วยการใช้อำนาจกดข่มอย่างเข้มข้น

แต่ดูเหมือนว่าถึงวันนี้ ความคิดที่ต่างมุมมองนั้น กลับยิ่งหยั่งลึกในจิตใจของผู้คน จนยากที่จะมีอะไรมาลบเลือนได้แล้ว

และในสภาพเช่นนี้เอง คำถามว่า “จะมีการเลือกตั้งหรือไม่”

คำตอบอย่างเป็นทางการ กับคำตอบที่กระซิบกระซาบต่อกันและกัน

จึงไม่เหมือนกัน

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image