คอนเสิร์ตยิ่งใหญ่ ปี 2018 การมาเยือนของ LSO : โดย บวรพงศ์ ศุภโสภณ

นี่คือหนึ่งในรายการแสดงดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดประจำปีนี้ของเมืองไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือการมาเยือนเมืองไทยของวงออเคสตราชั้นนำของโลกอย่าง London Symphony Orchestra (LSO) ในวันพุธที่ 6 และพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน 2561 นี้ ณ หอแสดงดนตรีมหิดลสิทธาคาร

คอนเสิร์ตที่พลาดไม่ได้จริงๆ สำหรับคนทุกชาติ, ทุกภาษาที่มีดนตรีในหัวใจ กับการแสดงสองรอบที่จะมอบบทเพลงคลาสสิกชั้นนำต่างรสต่างอารมณ์ให้ประทับใจอยู่ในความทรงจำของทุกท่านไปอีกนานแสนนาน ซึ่งการบรรเลงในครั้งนี้จะอยู่ภายใต้การอำนวยเพลงโดย “Gianandrea Noseda” วาทยกรชั้นนำระดับโลกคนหนึ่งในยุคปัจจุบัน ร่วมด้วยศิลปินเดี่ยวเปียโนระดับโลกสัญชาติอเมริกัน-รัสเซีย “Yefim Bronfman” ที่จะมาร่วมบรรเลงเดี่ยวบทเพลงคลาสสิก-โรแมนติกคอนแชร์โตให้ได้ฟังกันอย่างจุใจ ในทั้งสองรอบ

Gianandrea Noseda  
Yefim Bronfman

LSO เป็นวงซิมโฟนีออเคสตราที่ดีที่สุดของโลกวงหนึ่ง เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีของแฟนๆ ดนตรีทั่วโลก นี่จะเป็นการมาเยือนเมืองไทยเป็นครั้งที่ 2 ของพวกเขา หลังจากที่เคยมาแสดงในครั้งก่อน เมื่อ 35 ปีมาแล้ว (ในปี ค.ศ.1983) ซึ่งในครั้งนั้นยังไม่มีการก่อสร้างคอนเสิร์ตฮอลล์ที่ได้มาตรฐานขึ้นในเมืองไทยเลย

แต่ในครั้งนี้พวกเขาจะบรรเลงกันในคอนเสิร์ตฮอลล์หลังใหม่ (Prince Mahidol Hall) ที่ได้ชื่อว่า มีระบบ Acoustic ที่ดีที่สุดในเมืองไทย

Advertisement

รายการแสดงในทั้งสองรอบได้รับการกำหนดผสมผสานขึ้นเพื่อรสนิยมและเนื้อหาดนตรีที่หลากหลาย เริ่มตั้งแต่รอบแรกในวันพุธที่ 6 มิถุนายน 2561 เวลา 19.00 น. เริ่มต้นรายการด้วยบทเพลง Rhapsody espagnol ผลงานของ Maurice Ravel นักประพันธ์ดนตรีชาวฝรั่งเศสในปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งบทเพลงนี้ ได้แสดงถึงความเป็น “สายเลือดสเปน” ในตัวของราเวลอันเข้มข้น (แม่เขาเป็นคนสเปน!) ที่ผู้คนมักมองข้ามไป

บทเพลงเต็มไปด้วยลีลา-ลวดลายแบบดนตรีสเปนอันร้อนแรง (และฝีมือการระบายสีสันทางเสียงดนตรีอันเจิดจ้าของราเวล)

บทเพลงที่สองคือ เปียโนคอนแชร์โตหมายเลข 3, ผลงานลำดับที่ 37 ของ Ludwig van Beethoven อันเป็นเปียโนคอนแชร์โต ที่เบโธเฟนเลือกใช้บันไดเสียง ซีไมเนอร์ ที่ให้บรรยากาศลุ่มลึก-สุขุม เป็นผลงานที่แสดงให้เห็นเอกลักษณ์ทางดนตรีของเบโธเฟนที่กำลังเริ่มเบ่งบาน ผสมผสานลักษณะของดนตรีในแบบคลาสสิกและโรแมนติกได้อย่างราบรื่น

Advertisement

และปิดท้ายรายการด้วยบทเพลงสำหรับวงซิมโฟนีออเคสตราขนาดใหญ่เต็มอัตรา “Pictures at an Exhibition” ผลงานของ Modest Mussorgsky ดุริยกวีกลุ่มชาตินิยมรัสเซียคนสำคัญ มัวริซ ราเวลเป็นผู้นำบทเพลงฉบับดั้งเดิมที่เขียนสำหรับบรรเลงด้วยเปียโน มาจำแนกเสียงดนตรีขยายให้บรรเลงด้วยวงออเคสตราขนาดใหญ่ให้พลังเสียงอันเจิดจ้าและยิ่งใหญ่อลังการ

รายการแสดงในรอบที่สอง เปิดรายการด้วยบทเพลง The Noon-Day Witch, Symphonic Poem ของ Antonin Dvorak ดุริยกวีชาวเช็ก ซึ่งนำเอาเนื้อหาเรื่องราวนิทานพื้นบ้านมาเขียนเล่าเรื่องใหม่ด้วยเสียงดนตรีอย่างเต็มไปด้วยสีสันทางดนตรี ผู้รักดนตรีหลายๆ คนมักหลงลืมกันไปแล้วว่านี่คือผลงานดนตรีที่เขาเขียนขึ้นหลังจากซิมโฟนีทั้ง 9 บท ซึ่งสะท้อนถึงวุฒิภาวะและประสบการณ์, ความคิดทางดนตรีอันตกผลึกที่สุดของเขา

บทเพลงที่สองคือ Piano Concerto No.2 ของ Franz Liszt ดุริยกวีที่เป็นนักเปียโนฝีมือฉกาจฉกรรจ์จนได้ชื่อว่า “พ่อมดแห่งเปียโน” ลิซท์เขียนบทเพลงนี้ด้วยการผสานเนื้อหา-แนวทำนองดนตรีทั้งหมดให้เป็นหนึ่งเดียวกันบทเพลงจึงมีท่อนเดียว ที่มีเนื้อหาดนตรีที่กระชับและแสดงออกด้วยเทคนิคการบรรเลงเปียโนและภาษาดนตรีสำหรับเปียโนอย่างน่าตื่นตา-ตื่นใจ

ปิดท้ายรายการอย่างยิ่งใหญ่ด้วย Symphony No.10 ของ Dmitri Shostakovich นักประพันธ์ดนตรีคนสำคัญของโลกแห่งศตวรรษที่ 20 บทเพลงที่แฝงสัญลักษณ์ และความหมายแฝงไว้หลายประการ ที่สำคัญและน่าสนใจก็คือ การประกาศชื่อย่อของตัวเขาเองไว้ในบทเพลงนี้ได้อย่างเก๋ไก๋ทางดนตรีเป็นอย่างยิ่ง

นี่เป็นความตั้งใจอันแน่วแน่ของวงออเคสตราระดับชั้นนำของโลกในการนำเสนอรายการเพลงอันยิ่งใหญ่ในระดับการประกาศศักดิ์ศรีทางดนตรีของพวกเขาไว้ในการมาเยือนเมืองไทยในครั้งนี้เพื่อให้ได้ชื่อว่านี่จะเป็นการแสดงดนตรีที่เป็น “หนึ่งในตำนาน” ของวงการดนตรีคลาสสิกของเมืองไทย วงซิมโฟนีออเคสตราอันดับหนึ่งระดับโลกพร้อมด้วยวาทยกรและศิลปินเดี่ยวเปียโนที่ยิ่งใหญ่ของยุคสมัย จะมาบรรเลงบทเพลงคลาสสิกที่บรรจงคัดเลือกผสมผสานมาอย่างดี ภายในคอนเสิร์ตฮอลล์หลังใหม่ที่ได้ชื่อว่าเสียงดีที่สุดในเมืองไทยในตอนนี้

ผู้รักเสียงดนตรีทุกท่านจะพลาดโอกาสดีๆ เช่นนี้ไปได้อย่างไร?

บวรพงศ์ ศุภโสภณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image