คอลัมน์สัพเพเหระคดี ให้ปิดป้ายก็ผิด : โดย โอภาส เพ็งเจริญ

คุณจำนูญเป็นเจ้าของร้านค้าสารพัด เบ็ดเตล็ด รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือเบียร์ด้วย

มาวันหนึ่งผู้แทนบริษัทขายเบียร์ หลังลงเบียร์ที่ร้านเสร็จแล้ว จึงนำป้ายผ้าไวนิล กว้างราว 0.8 เมตร ยาว 1 เมตร 3 ผืน มีข้อความในป้ายว่า “เบียร์ เป็นเหตุทะเลาะวิวาทและอาชญากรรมได้” “หมีดำ” และเครื่องหมายรูปหมีดำสองตัวยืนหันหลังให้กันใต้รูปน้ำตกสีขาว ประกอบอักษรภาษาอังกฤษว่า “mee BEER” ที่มุมล่างขวาของป้ายไปผูกไว้ที่ชายคาหน้าร้านค้าคุณจำนูญริมถนน

คุณจำนูญเห็นก็มิได้ว่ากล่าวอะไร เพราะผู้แทนบริษัท สินค้าต่างๆ ที่มาส่งสินค้าให้ขาย ต่างมีป้ายผ้าบ้าง ไวนิลบ้าง โปสเตอร์บ้าง สติ๊กเกอร์บ้าง มาปิด มาแปะ มาแขวนมาห้อยเพื่อช่วยในการขายสินค้าของตนกันเป็นประจำอยู่แล้ว

หลังจากที่แผ่นป้ายไวนิลของเบียร์แผ่นนั้นโบกสะบัดพัดพลิ้วปลิวไปตามแรงลมเป่าอยู่หน้าบ้านหน้าร้านคุณจำนูญอยู่ได้ไม่นานวันนัก

Advertisement

คุณจำนูญถูกจับกุม!!

พนักงานอัยการเป็นโจทก์ส่งคุณจำนูญฟ้องศาล กล่าวหาว่า กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 32 และ 43 คือ โฆษณาเบียร์อันเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คุณจำนูญให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง

Advertisement

พนักงานอัยการโจทก์ร้องฮ้า! แล้วอุทธรณ์คดีขึ้นไป

ศาลชั้นอุทธรณ์พิพากษากลับว่า คุณจำนูญมีความผิดตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง มาตรา 43 วรรคหนึ่ง ให้จำคุกและปรับ

คุณจำนูญร้องฮ้า! ขึ้นมามั่ง แล้วจึงฎีกาคดี

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่าแผ่นป้ายดังกล่าวสื่อให้เห็นหรือทำให้เข้าใจได้ว่า ภาพของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประเภทเบียร์ อันเป็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทเบียร์ที่มีชื่อการค้าว่า “mee” เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเห็นและทราบข้อความดังกล่าว

เมื่อคุณจำนูญยอมให้ปิดแผ่นป้ายนั้นที่หน้าร้าน และที่ร้านเป็นร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทเบียร์ ยี่ห้อหมีด้วยแล้ว การปิดแผ่นป้ายดังกล่าวจึงเป็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ประชาชนเห็นหรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้าและการสื่อสารการตลาด ตามนิยามของคำว่า โฆษณา “แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” มาตรา 3 แล้ว

การกระทำของคุณจำนูญจึงเป็นความผิดตามฟ้อง

(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3623/2560)
——————————————-

พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551

มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้

“โฆษณา” หมายความว่า การกระทำไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า และให้หมายความรวมถึงการสื่อสารการตลาด

มาตรา 32 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม

การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใดๆ โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทให้กระทำได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฏของภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเท่านั้น ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสอง มิให้ใช้บังคับกับการโฆษณาที่มีต้นกำเนิดนอกราชอาณาจักร

มาตรา 43 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 32 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้ฝ่าฝืนยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินห้าหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

โอภาส เพ็งเจริญ

[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image