สัพเพเหระคดี ประนีประนอมยอมความ : โดย โอภาส เพ็งเจริญ

คุณโผงถูกเลิกจ้าง พ้นจากการเป็นพนักงานบริษัท

คุณโผงไปเจรจาต่อรองกับบริษัทขอให้จ่ายเงินค่าชดเชย และเงินบอกกล่าวล่วงหน้ามาด้วย

เจรจากันแล้ว ตกลงกันได้ บริษัทยินดีจ่ายค่าชดเชยกับค่าบอกกล่าวล่วงหน้า โดยคุณโผงลงนามในหนังสือบันทึกข้อตกลงว่า

“เมื่อบริษัทจ่ายค่าชดเชย และค่าบอกกล่าวล่วงหน้าครบถ้วนแล้ว ข้าพเจ้าตกลงว่า จะไม่ติดใจเรียกร้องเงินอื่นๆ เช่น ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรมจากบริษัทอีกต่อไป”

Advertisement

คุณโผงดีใจ ได้เงินนั้นแล้วกลับไปบ้าน

ไปนอนคิดอยู่หลายวันว่า นี่ยังไม่ได้รับค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาทั้งในวันธรรมดา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าทำงานล่วงเวลาในวันหยุดอีก คิดแล้วตั้งหลายแสนบาทแน่ะ

คุณโผงจึงมายื่นฟ้องบริษัทต่อศาลแรงงาน ขอให้บังคับบริษัทให้จ่ายค่าทำงานล่วงเวลาทั้งในวันทำงานปกติและในวันหยุด พร้อมเงินเพิ่มและดอกเบี้ยมาด้วย

Advertisement

บริษัทต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงาน พิพากษายกฟ้อง

คุณโผงอุทธรณ์คดีต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามบันทึกข้อตกลงว่า คุณโผงจะไม่ติดใจเรียกร้องเงินอื่นๆ จากบริษัทอีกต่อไป

เงินอื่นๆ นั้น ย่อมหมายถึง เงินทุกประเภท รวมทั้งค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาปกติ ค่าทำงานในวันหยุด และค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาในวันหยุดด้วย

อันเป็นการตกลงระงับข้อพิพาทที่จะมีขึ้นในอนาคต จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาท

แม้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจะเป็นสิทธิเรียกร้องที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งลูกจ้างมีสิทธิจะเรียกร้องจากบริษัทได้ตามกฎหมาย

แต่เมื่อคุณโผงทำบันทึกข้อตกลงนั้น หลังจากคุณโผงพ้นจากการเป็นลูกจ้างของบริษัทไปแล้ว คุณโผงย่อมมีอิสระแก่ตน พ้นพันธกรณีและอำนาจบังคับบัญชาของบริษัทโดยสิ้นเชิง การสละสิทธิเรียกร้องในเงินดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและไม่เป็นโมฆะ

สัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับเงินค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติจึงมีผลใช้บังคับ

ดังนั้น เมื่อคุณโผงได้รับเงินค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าไปครบถ้วนแล้ว สิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับเงินใดๆ รวมทั้งค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติ ค่าทำงานในวันหยุด และค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันหยุด ย่อมเป็นอันระงับไปโดยสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852

คุณโผงจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

พิพากษายืน-ยกฟ้อง!!

(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1979-1981/2557)

………………………………………………

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 852 ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

มาตรา 54 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ค่าล่วงเวลาในวันหยุด และเงินผลประโยชน์อื่นเนื่องในการจ้าง บรรดาที่จ่ายเป็นเงินต้องจ่ายเงินตราไทย เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างให้จ่ายเป็นตั๋วเงินหรือเงินตราต่างประเทศ

โอภาส เพ็งเจริญ

[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image