28 กรกฎาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

28 กรกฎาคม 2561 นับเป็นวันมหามงคลของพสกนิกรชาวไทย เนื่องในโอกาส สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร พระมหากษัตริย์ ลำดับที่ 10 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ เฉลิมพระชนมพรรษา 66 พรรษา นับเป็นปีที่ 3 แห่งรัชสมัย ภายหลังจากที่ทรงตอบรับขึ้นทรงราชย์ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2559

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9

Advertisement

พระองค์เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2495 ทรงมีพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินี 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

ทรงมีพระราชธิดา 2 พระองค์ คือ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ และทรงมีพระราชโอรส 1 พระองค์ คือ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ

เมื่อยังทรงพระเยาว์ทรงได้รับการอภิบาลจาก “สมเด็จพระบรมชนกนาถ” และ “สมเด็จพระราชชนนี” อย่างใกล้ชิด ทรงศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ณ โรงเรียนจิตรลดา และในประเทศอังกฤษ

Advertisement

ด้วยทรงสนพระราชหฤทัยด้านการทหารตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และทรงพระวิริยะอุตสาหะในการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์อยู่เสมอ พระองค์ทรงเข้าศึกษาเตรียมทหาร ณ โรงเรียนคิงส์ ประเทศออสเตรเลีย

จากนั้นทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา หลักสูตรของวิทยาลัยการทหารแห่งนี้แบ่งออกเป็น 2 ภาค คือ ภาควิชาการทหาร รับผิดชอบและดำเนินการโดย

กองทัพบกออสเตรเลีย ส่วนอีกภาคหนึ่งเป็นการศึกษาวิชาสามัญ ระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ นักเรียนนายร้อยที่ผ่านหลักสูตรนี้จะได้รับปริญญาตรีตามสาขาวิชาที่เลือกศึกษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเลือกศึกษาในสาขาวิชาอักษรศาสตร์ และทรงสำเร็จการศึกษาเมื่อปี 2519 เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาแล้วยังทรงศึกษาเพิ่มเติมในหลักสูตรการทหารของหน่วยงานต่างๆ อยู่เสมอ

ในส่วนของหลักสูตรอากาศยานและการบินนั้น ทรงเข้าศึกษาอบรมหลักสูตรการบินต่างๆ ทั้งหลักสูตรการบินเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป เฮลิคอปเตอร์แบบโจมตี หลักสูตรการฝึกบินเครื่องบินปีกติดลำตัว เครื่องบินขับไล่ กระทั่งหลักสูตรนักบินพาณิชย์ ทรงสอบได้ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอก และทรงได้รับใบอนุญาตเป็นกัปตันเครื่องบินโบอิ้ง 737 โดยทรงเป็นเจ้าฟ้านักบินขับไล่ไอพ่น พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรีที่ทำการบินกับเครื่องบินกองทัพอากาศทุกรูปแบบ

สถาปนา’สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช’

เมื่อทรงมีพระชนมพรรษาครบ 20 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร” เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2515 โดยมีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิติยสมบูรณสวางควัฒน์ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธ สยามมกุฎราชกุมาร”

ตลอดระยะเวลาที่ทรงดำรงพระราชอิสริยยศ “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประเทศชาติและพสกนิกรชาวไทยโดยมิได้ย่อท้อ ทั้งที่ทรงปฏิบัติแทนพระองค์และทรงปฏิบัติส่วนพระองค์ ทั้งในด้านความมั่นคงของประเทศ ด้านสังคมสงเคราะห์ การศาสนา การศึกษาและวัฒนธรรม การแพทย์และสาธารณสุข การทหาร การบิน การต่างประเทศ ฯลฯ เพื่อความสุขความเจริญก้าวหน้าแก่บ้านเมืองและประชาชนคนไทยทั้งปวง

ดั่งพระราชดำรัสในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณในการพิธีถือน้ำพิพัฒน์

สัตยา ในการสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ความว่า

“ข้าพเจ้าผู้เป็นสยามมกุฎราชกุมาร จะรักษาเกียรติยศและอริยศักดิ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้ด้วยชีวิต จะจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ต่อประชาชนจะปฏิบัติหน้าที่ทุกอย่าง โดยเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถและโดยความเสียสละเพื่อความเจริญสงบสุขและความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศไทย จนตราบเท่าชีวิตร่างกายจะหาไม่”

ทรงรับขึ้นทรงราชย์

วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม 2559 เวลา 19.16 น. ปวงชนชาวไทยทั้งผองต่างปลาบปลื้มเป็นล้นพ้น เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จออก ณ ห้อง UPPER MAIN CR.M (ห้อง วปร.) พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา เข้าเฝ้าฯ เพื่อกราบบังคมทูลอัญเชิญพระรัชทายาทเสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นรัชกาลที่ 10 พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสตอบรับการขึ้นทรงราชย์ ความว่า

“ตามที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาและกล่าวในนามของปวงชนชาวไทย เชิญข้าพเจ้าขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ถ้าเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ข้าพเจ้าขอตอบรับเพื่อสนองพระราชปณิธานและเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทั้งปวง”

ตลอดระยะเวลา 3 ปีแห่งรัชสมัยรัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงราชย์สืบสนอง “สมเด็จพระบรมชนกนาถ” ด้วยพระราชประสงค์ที่จะทรงสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชบูรพการีในมหาจักรีบรมราชวงศ์ ดังพระราชดำรัสที่ทรงตอบรับขึ้นทรงราชย์

พระองค์ทรงมีพระราชปรารถนาให้บ้านเมืองไทยเป็น “บ้านแสนสุข” ประชาชนชาวไทยมีความสุขความเจริญทั่วหน้า ทรงเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณในอันที่จะทรงชี้แนะพระราชทานแนวทางแห่งความสุข ดังวิธีการพระราชทานที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาซึ่งได้เชิญมาตีพิมพ์บนปกหนังสือสวดมนต์ 28 กรกฎาคม 2560 ว่า

“ความสุขในตัวเริ่มจากใจ และทัศนคติที่ดีต่อผู้อื่น ส่วนรวม และตนเอง

สุขในการบำเพ็ญประโยชน์ให้ผู้อื่นและส่วนรวมมีสุข

สุขในการเข้าใจและเห็นใจผู้อื่น

สุขในการให้ ทั้งกำลังกาย กำลังใจ ให้ผู้อื่นและส่วนรวมมีสุข

สุขในการพัฒนาร่างกาย จิตใจ และปัญญา ในทางสร้างสรรค์ความเจริญให้ตนเองและผู้อื่น

การสวดมนต์และปฏิบัติธรรม ทำให้มีความสงบ มีสติ สมาธิ และปัญญา ตลอดจนเป็นกุศล สิริมงคลต่อทุกคน และจะนำมาสู่ความเจริญและความสุขที่กล่าวมานั้นแล…”

ตลอดระยะเวลา 3 ปีแห่งรัชสมัย พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่บำบัดทุกข์บำรุงสุขเพื่อให้พสกนิกรประสบความสุขความเจริญ

สมดั่งพระราชปณิธานที่ทรงมีพระราชประสงค์ สืบสาน รักษา ต่อยอด สมเด็จพระบรมชนกนาถ ในหลวง รัชกาลที่ 9

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image