ก้าวล้ำนวัตกรรมยา พระกรุณา ‘ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์’ อีกก้าว ช่วยผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

“มะเร็งเต้านม” ถือเป็นสาเหตุอันดับ 1 ของโรคร้ายที่คร่าชีวิตหญิงไทย ซึ่งจะดีสักเพียงไหน หากมีการคิดค้นยาที่สามารถรักษา ต่อชีวิตให้มีความหวังอีกครั้ง

จากแนวพระราโชบายในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่พระราชทานแก่ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2533 คือ “การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทย” กอปรกับทรงเห็นว่ายังมีประชาชนมากมายที่ยากไร้ และยังไม่สามารถเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพ เพราะราคาที่สูงเกินไป ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤตไข้หวัดนกขึ้นในไทยเมื่อปี 2547 ทำให้หลายฝ่ายตระหนักแล้วว่าไทยขาดความมั่นคงทางยา

Advertisement

พระองค์จึงทรงตั้งพระปณิธานอย่างแน่วแน่ในการช่วยเหลือประชาชนของพระองค์ ทั้งด้านสุขภาพและการสาธารณสุข โดยทรงปรึกษากับคณาจารย์จากมหาวิทยาลัย Massachusett Institute of Technology (MIT) และได้ทรงก่อตั้งหน่วยวิจัยเพื่อการประยุกต์ใช้และศูนย์วิจัยและพัฒนาชีววัตถุขึ้นในปี พ.ศ.2552 เพื่อผลิตยาชีววัตถุ ซึ่งเป็นยาที่สกัดจากสิ่งมีชีวิตนำไปรักษาโรคได้หลากหลาย โดยเฉพาะมะเร็ง

หลังจากทรงก่อตั้งหน่วยวิจัยขึ้น พระองค์ทรงเลือกยาวัตถุคล้ายคลึงทรานซูแมบ ที่ใช้สำหรับการรักษามะเร็งเต้านม เป็นยาชนิดแรกของโครงการ นั่นเพราะมีสถิติผู้ป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งยาชนิดนี้เมื่อใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด จะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตโดยรวมสูงถึงร้อยละ 37 และลดอัตราการกลับมาเป็นซ้ำในระยะเวลา 10 ปีถึงร้อยละ 73.7 ซึ่งโดยปกติแล้วยาทรานซูแมบมีค่าใช้จ่ายสูง จึงทรงริเริ่มโครงการเพื่อผลิตยาดังกล่าวขึ้นเอง ที่ผ่านมานักวิจัยของสถาบันได้ตัดต่อดีเอ็นเอจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจใกล้เคียงกับยาต้นแบบ เป็นเหตุผลให้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิจัยสู่ระดับอุตสาหกรรม

ในการนี้ ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จไปทรงร่วมพิธีลงพระนามและลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีขึ้น โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ, ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.กระทรวงคมนาคม ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์

Advertisement

การนี้ ประธานมูลนิธิ มีพระดำรัสความตอนหนึ่งว่า

“เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยยังไม่มีความมั่นคงทางยาอย่างแท้จริง โดยเฉพาะยาชีววัตถุ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรักษาโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ เช่น โรคมะเร็งและโรคติดเชื้อ ยาประเภทนี้มีราคาสูงมาก จนทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงยาได้ การวิจัยและพัฒนายาชีววัตถุเป็นโครงการที่ข้าพเจ้าคิดและริเริ่มดำเนินการเป็นเวลากว่าทศวรรษแล้ว เพื่อให้ประชาชนชาวไทยมีโอกาสได้รับยาที่มีคุณภาพและสามารถรักษาโรคได้ผลดีกว่าเดิมหรือหายขาด ในราคาที่จัดหาได้

ความสำเร็จของการวิจัยและพัฒนายา Trastuzumab หรือมีชื่อการค้าว่า Herceptin ของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเริ่มจากการตัดต่อดีเอ็นเอ หรือจากต้นน้ำ จนพร้อมที่จะนำเข้าสู่กระบวนการการพัฒนาการผลิตตามแนวทางความร่วมมือในวันนี้ เป็นนวัตกรรมด้านยาชีววัตถุชิ้นแรกของประเทศไทย โดยคนไทย ที่ไม่ได้อาศัยการถ่ายทอด หรือซื้อเทคโนโลยีจากบริษัทยาหรือจากต่างประเทศ ที่พวกเราทุกคนควรจะภาคภูมิใจ และยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยในการแข่งขันในเวทีสากล”

ทั้งนี้ การผลิตยาชีววัตถุคล้ายคลึงนี้ นอกจากจะเป็นโอกาสอันดีที่คนไทยจะได้ใช้ยาราคาถูกในการรักษา แต่ยังทำให้เหล่านักศึกษา และนักวิจัยได้ซึมซับความรู้จากการวิจัยดังกล่าว โดยขณะนี้ยาดังกล่าวยังอยู่ในระยะวิจัย ก่อนทดลองใช้ ซึ่งมิเพียงแต่ตัวยารักษาโรคมะเร็งเต้านม ทางสถาบันยังได้วิจัยตัวยาชนิดอื่นๆ เพื่อรักษาชีวิตของคนไทยและให้ไทยมีความมั่นคงทางยา ทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถและการแข่งขันทางเศรษฐกิจผ่านวิทยาศาสตร์ สู่โมเดลเศรษฐกิจประเทศไทย 4.0 อีกด้วย

นับเป็นพระกรุณาธิคุณ จากเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ไทยโดยแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image