สืบราชสันตติวงศ์วิพัฒน มหาวชิราลงกรณ นิทรรศการ จารึก “พระราชจริยวัตร”ทรงคุณค่า

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ขณะทรงพระผนวช พ.ศ.2499 ณ ศาลาวรสภาภิรมย์ บริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

นับเป็นช่วงเวลาที่พิเศษอีกครั้งของพสกนิกรชาวไทยที่จะได้ซึมซับพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจและพระราชจริยวัตร ผ่านพระฉายาลักษณ์ที่หาชมได้ยาก ในนิทรรศการ “สืบราชสันตติวงศ์วิพัฒน มหาวชิราลงกรณ” อันเป็นการสืบสานพระราชปณิธานแห่งสมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราช เพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติ ที่มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และกระทรวงวัฒนธรรม จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม พ.ศ.2561

เมื่อก้าวเข้าสู่บริเวณนิทรรศการ ณ ไลฟ์สไตล์ฮอลล์ ชั้น 2 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ได้ถูกแบ่งออกเป็น 4 ภาค ได้แก่ บดินทรราชประวัติ แสดงพระราชประวัติ พระราชจริยวัตร เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ภาคที่สอง ขัตติยรัชชกรณีย์ แสดงพระราชกรณียกิจนานัปการ นับตั้งแต่ทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ภาคที่สาม กตเวทีราชกตัญญุตา แสดงถึงพระกตัญญูกตเวทิตาธรรมแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และภาคที่สี่ ราชวรากรกิตติคุณ แสดงถึงพระเกียรติคุณอันเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งในแต่ละภาคได้รวบรวมเกร็ดและพระฉายาลักษณ์หายากที่คนไทยน้อยคนนักจะได้รู้

 

บดินทรราชประวัติ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์เป็นลำดับที่ 10 ในพระบรมราชจักรีวงศ์ พระองค์เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2495 เวลา 17.45 น. ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต โดยมีนายแพทย์ หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์ เป็นแพทย์ผู้ถวายพระประสูติกาล กล่าวสืบกันมาถึงบรรยากาศในวันเสด็จพระราชสมภพว่า ต้นรวงผึ้งซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเป็นอันมากและทรงปลูกด้วยพระองค์เองในบริเวณใกล้กับพระที่นั่งอัมพรสถาน ต่างผลิดอกบานสะพรั่งพร้อมกันทุกต้น

Advertisement

หลังจากเสด็จพระราชสมภพได้ 3 วัน ในวันที่ 30 กรกฎาคม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีสมโภช 3 วัน ตามขัตติยราชประเพณี ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน โดยพราหมณ์ทำพิธีเบิกบายศรีเฉลิมพระขวัญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ แล้วทรงผูกด้ายพระขวัญที่ข้อพระกร และพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ในวันรุ่งขึ้น พร้อมกันนี้ได้มีพระราชหัตถเลขาขอให้สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงขนานพระนามถวายสมเด็จพระราชโอรส โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้าได้มีลายพระหัตถ์ ลงวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2495 ทรงขนานพระนามถวายว่า

“สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณสวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร”

ขณะมีพระชนมพรรษา 4 พรรษาเศษ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระอักษรในชั้นอนุบาล 1 ณ พระที่นั่งอุดรภาค ในบริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ดัดแปลงห้องชั้นล่างเป็นห้องเรียนอนุบาล มี

Advertisement

ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงเข้าศึกษาเป็นนักเรียนรุ่นแรก ต่อมาจึงได้จัดสร้างอาคารโรงเรียนขึ้นเป็นถาวรในบริเวณสวนจิตรลดา พระราชทานชื่อว่า “โรงเรียนจิตรลดา” จากนั้นในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2509 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ทรงเข้าเรียนชั้นประถมศึกษา 2 ภาคที่โรงเรียนคิงส์มีด เมืองซีฟอร์ด แคว้นซัสเซกส์ และเสด็จเข้าทรงศึกษาชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลล์ฟิลด์ เมืองสตรีท แคว้นซอมเมอร์เซท จนจบหลักสูตร

ระหว่างทรงศึกษาอยู่ต่างประเทศ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โปรดให้สมเด็จพระราชโอรสทรงใช้พระนามว่า มิสเตอร์ วี. มหิดล

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฉายพระรูปกับทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ภาพโดยท่านผู้หญิงวิไล อมาตยกุล พระพี่เลี้ยง
ทรงฝึกหัดโขน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไปทรงนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก่อนเสด็จไปทรงศึกษาต่อต่างประเทศ
ทรงเป็นหัวหน้านักเรียนในคณะแมคอาเธอร์ เฮาส์ โรงเรียนคิงส์
ขณะทรงศึกษาโรเงรียนคิงส์
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการทหารดันทรูนในพ.ศ.2519 เซอร์ จอห์น ทูลเกล้าฯถวายสัญญาบัตรยศร้อยเอกแห่งกองทัพไทย
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯกลับจากประเทศออสเตรเลียมาประทับในประเทศไทย ระหว่างที่โรงเรียนปิดภาคการศึกษา พ.ศ.2514

 

เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาชั้นเตรียมอุดมศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ได้เสด็จฯไปทรงศึกษาวิชาทหาร ณ ประเทศออสเตรเลีย ณ โรงเรียนคิงส์ ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้านักเรียนในคณะแม็คอาร์เธอร์ และเสด็จฯไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน ณ กรุงแคนเบอร์รา ทรงใช้พระนามว่า นักเรียนนายร้อย วี. มหิดล โดยต้องทรงปฏิบัติพระองค์เช่นเดียวกับนักศึกษาอื่นๆ อยู่ในระเบียบวินัย ทรงกวาดห้องบรรทมและลาดพระแท่นบรรทม ซักรีดฉลองพระองค์และดูแลความสะอาดฉลองพระบาท การนี้ทรงเป็นนักฟุตบอลประจำกองร้อยที่มีชื่อเสียงยอดเยี่ยม ในปี พ.ศ.2519 ทรงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยทหารดันทรูน และทรงรับสัญญาบัตรยศร้อยเอกแห่งกองทัพไทย ซึ่งเซอร์จอห์น เคอร์ ทูลเกล้าฯถวายในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

และเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2515 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ (พระอิสริยยศขณะนั้น) พระชนมพรรษา 20 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดพระราชพิธีสถาปนาเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต ทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช พระองค์ที่ 3 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ การนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2559 ต่อมาในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2559 ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้กราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

 

ขัตติยรัชชกรณีย์

นับแต่ทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจหลากหลายด้าน ทั้งด้านการทหาร ด้านศาสนา ด้านศิลปวัฒนธรรม โดยหลังจากสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการทหารดันทรูน ทรงเข้ารับราชการเป็นนายทหารประจำกรมข่าว ทหารบก จากนั้นทรงสอบคัดเลือกเป็นนายทหารนักเรียน โรงเรียนเสนาธิการทหารบก นอกจากนี้ยังทรงสนพระราชหฤทัยด้านการศึกษาของเหล่าทหารใต้บังคับบัญชา ทรงปรับปรุงการฝึก และทรงเป็นพระอาจารย์ของโรงเรียนเสนาธิการสามเหล่าทัพ ทรงแปลตำราภาษาต่างประเทศ ทั้งนี้ในช่วงที่บ้านเมืองประสบสภาวะภัยจากผู้ก่อการร้าย พระองค์เสด็จฯไปทรงตรวจเยี่ยมที่ตั้งกองทหารหน่วยต่างๆ แม้ในพื้นที่เสี่ยงอันตราย

ในด้านภาษาและวรรณศิลป์นั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชนิพนธ์ประเภทร้อยกรองไว้มากมาย อาทิ บทพระราชนิพนธ์กราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงเล่าถึงชีวิตระหว่างทรงศึกษา ณ วิทยาลัยการทหารดันทรูน และบทพระราชนิพนธ์ จารึกบนแผ่นเงินประดิษฐาน ณ ผนังพระตำหนักสิริยาลัย จ.พระนครศรีอยุธยา ความว่า

“พระตำหนักแห่งนี้มีความหมาย พ่อกับชายสร้างถวายให้กับแม่ วิมานทองแห่งนี้คือดวงแดลูกกับแม่ผูกพันนิรันดร อานุภาพแห่งความรักสลักจิต เนรมิตเรือนไทยอนุสรณ์ครบหกสิบพรรษาพระมารดร ประชากรแซ่ซ้องพระบารมี ขอบูชาจารึกด้วยชีวิตชายอุทิศกายใจไว้ที่นี่ เพื่อถวายความจงรักและภักดี อีกหมื่นปีไม่มีคลายจากชายเอย”

นอกจากนี้ ยังทรงมีพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานสถานที่บริเวณกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เป็นที่ตั้งโรงเรียนอนุบาลทหารมหาดเล็กราชวัลลภ ปัจจุบันคือ โรงเรียนอนุราชประสิทธิ์ ทั้งยังพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร 6 แห่ง ในด้านการสังคมสงเคราะห์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชอุตสาหะเสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ และทรงรับมูลนิธิต่างๆ ไว้ในพระราชานุเคราะห์หลายแห่ง ทั้งยังทรงติดตามข่าวสารและพระราชทานความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติ ตลอดจนเสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎรด้วยพระองค์เอง เช่น ในคราวเกิดสึนามิใน 6 จังหวัดภาคใต้ ปี 2547 แม้แต่ในเหตุการณ์ต่างประเทศ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ส่งพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัย พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภค รวมทั้งหน่วยแพทย์พระราชทาน เช่น เหตุการณ์พายุไซโคลนนาร์กีสที่ประเทศพม่า และเหตุการณ์สึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น

 

กตเวทีราชกตัญญุตา

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติและประชาชนนับแต่ทรงพระเยาว์ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2522 เกิดวิกฤตการณ์ ชาวกัมพูชาอพยพหนีภัยสงครามภายในประเทศมาอยู่ที่เขาล้าน จ.ตราด สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯไปทรงตรวจเยี่ยมและพระราชทานกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ บางคราวประทับแรมอยู่ท่ามกลางผู้อพยพ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้โดยเสด็จไปถวายความปลอดภัย บางคราวเสด็จฯไปทรงตรวจเยี่ยมล่วงหน้าก่อนเวลาเสด็จอีกด้วย โดยขณะดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงแบ่งเบาพระราชภาระของสมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนีอยู่เสมอ

ครั้นเมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ ทรงมีพระราชปณิธานที่จะทรงเจริญรอยตามพระยุคลบาทเพื่อสร้างสุขปวงประชา ด้วยการ “สืบสาน รักษา ต่อยอด”

 

ราชวรากรกิตติคุณ

การทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันกอปรไปด้วยพระเมตตากรุณาธิคุณและพระปรีชาชาญ ทำให้พระเกียรติคุณเป็นที่ประจักษ์ทั้งในพระราชอาณาจักรแผ่ไปยังนานาชาติ มีสถาบันต่างๆ ทูลเกล้าฯถวายปริญญา เหรียญ และรางวัล เพื่อเทิดพระเกียรติในหลายสาขา อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทูลเกล้าฯถวายปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์, มหาวิทยาลัยซานติอาโก แห่งสาธารณรัฐชิลี ทูลเกล้าฯถวายปริญญา และเหรียญดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์, มหาวิทยาลัยอีดิธ โดแวน นครเพิร์ท ทูลเกล้าฯถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และสภามวยโลก ทูลเกล้าฯถวายเหรียญรางวัลเกียรติยศ Lifetime Achievement Golden

ทรงปล่อยปลาในทะเลน้อย วังไกลกังวล ในวันคล้ายวันราชาภิเษกสมรส
ทรงเข้ารับพระราชทานประกาศนียบัตร กระทรวงศึกษาธิการ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 7
ทรงฉายพระรูปกับครูและนักเรียน โรงเรียนจิตรลดา
ทรงฝึกแสดงโขน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตร ณ พลับพลาท้องสนามหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2515

 

พสกนิกรไทยสามารถรับชมนิทรรศการ “สืบราชสันตติวงศ์วิพัฒน มหาวชิราลงกรณ” ได้ทุกวัน ณ หอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 16-26 สิงหาคม และศาลาราชประชาสมาคม วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 3-7 ตุลาคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image