พระดำรัส ‘พระองค์ภาฯ’ การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องมีความเท่าเทียม

พระดำรัสพระองค์ภา

ด้วยพระอุตสาหะของ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ผู้ทรงเป็นแบบอย่างของผู้หญิงเปลี่ยนแปลงโลก ด้วยบทบาทการเป็นเจ้าฟ้านักการทูต เจ้าฟ้านักกฎหมาย ผู้ริเริ่มโครงการกำลังใจ รวมถึงข้อกำหนดกรุงเทพฯ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ต้องขังหญิง ให้มีโอกาสกับชีวิตหลังจากออกจากเรือนจำ

พระดำรัสพระองค์ภา – เป็นแรงบันดาลใจ ให้สหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ทูลเชิญ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จไปทรงแสดงปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ การนำข้อกำหนดกรุงเทพฯ ไปสู่การปฏิบัติ : ให้โอกาสครั้งที่ 2 แก่สตรี ในการประชุมระดับภูมิภาค  ของสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพสากล ปี 2561 โดยมี คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และ ดร.อมานี แอสฟู ประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพสากล เฝ้ารับเสด็จ ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ

โดยมีเหล่าสมาชิกกว่า 550 คน จาก 40 ประเทศ เข้าร่วมประชุมที่มีหัวข้อหลักคือ “การเสริมสร้างพลังสตรีเพื่อก้าวสู่เป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในครั้งนี้

การนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงมีพระดำรัสว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน ตามที่สหประชาชาติได้กำหนดไว้นั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ความเท่าเทียมทางเพศ ที่สตรีและเด็กหญิงต้องมีสิทธิและโอกาสที่เท่าเทียมกัน ปราศจากความรุนแรงและการแบ่งแยกชนชั้น นอกจากนี้ ความสงบสุข ความยุติธรรม การไม่แบ่งแยก ยังเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน หากปราศจากสันติภาพ สิทธิมนุษยชน และธรรมาภิบาลที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานกฎหมาย เราจะไม่สามารถพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนได้

Advertisement

นอกจากนี้ พระองค์ยังได้ตรัสถึงความสนใจในด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศว่าเกิดขึ้นสมัยทรงเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย และยิ่งเมื่อได้ทำงานในระบบยุติธรรม ก็ได้พบกับปัญหาของผู้ต้องขัง โดยในไทยมีจำนวนผู้ต้องขังหญิงสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก และร้อยละ 90 เป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติด ทั้งยังได้รับความลำบากในขณะถูกคุมขัง ขาดการเตรียมพร้อมเพื่อกลับสู่ครอบครัว

ทั้งนี้ ยังทรงเปิดเผยถึงโครงการกำลังใจ ที่ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสรวมทั้งผู้ต้องขัง และผู้มีปัญหาทางกฎหมาย ให้กลับมาเป็นพลเมืองคุณภาพ อย่างอาชีพ การศึกษา ทักษะชีวิต เศรษฐกิจพอเพียง และรู้กฎหมาย รวมทั้งข้อกำหนดกรุงเทพฯ ในปี 2553 ที่สมัชชาแห่งสหประชาชาติมีมติให้เป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ต้องบังคับใช้ทั่วโลก เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้พบกับอิสรภาพที่ยั่งยืน มีความสุขกับชีวิตใหม่ในสังคม โดยมีโครงการแดนหญิงตัวอย่าง เป็นโครงการหนึ่งที่ดำเนินการในปี 2557-2559

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงมีพระดำรัสว่า “บทเรียนจากโครงการแดนหญิงตัวอย่าง คือต้องดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดกรุงเทพฯ ต้องต่อเนื่อง มีมาตรการครบวงจร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้ผู้ต้องขังหญิงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กลับไปใช้ชีวิตมีความสุข พึ่งตัวเองได้”

“ในโลกนี้มีผู้ต้องขังหญิงเป็นจำนวนมากที่ควรมีคุณภาพชีวิตที่ดี และได้รับการพัฒนาศักยภาพเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอิสรภาพที่ยั่งยืนหลังการปล่อยตัว การนำข้อกำหนดกรุงเทพฯไปสู่การปฏิบัติจะทำให้ผู้ต้องขังหญิงได้รับโอกาสอีกครั้งหนึ่งในชีวิต” ทรงมีพระดำรัส

อันเป็นตัวอย่างที่ดี ของการพัฒนาคุณภาพชีวิตสตรี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image