ความภาคภูมิใจ แพทย์-นักสาธารณสุข รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล 2561

ความภาคภูมิใจ แพทย์-นักสาธารณสุข รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล 2561

ความภาคภูมิใจ แพทย์-นักสาธารณสุข รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล 2561

เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก จึงเป็นที่มาของการพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ซึ่งมอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ดำเนินมาแล้ว 27 ปี

การนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ.2561 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง และในงานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร

Advertisement

โดยผู้ได้รับรางวัลพระราชทานปีนี้ต่างเปิดใจด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม เริ่มที่ผู้คิดค้นยารักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดซีเอ็มแอล จนทำให้ผู้ป่วยมีอายุยืนขึ้น ศ.นพ.ไบรอัน เจ. ดรูเคอร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งไนท์ มหาวิทยาลัยการแพทย์และวิทยาศาสตร์แห่งโอเรกอน สหรัฐอเมริกา ได้รับรางวัลสาขาการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งเป็นการรักษาด้วยเคมีบำบัด ซึ่งมีปัญหาแทรกซ้อนและผลข้างเคียง แต่ยาตัวนี้มีผลกระทบค่อนข้างน้อย ทำให้คนไข้มีชีวิตยืนยาวขึ้น จากปกติผู้ป่วยจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 3-5 ปี แต่เมื่อได้รับยาอิมาทินิบพบว่าผู้ป่วยร้อยละ 95 มีอายุยืนยาวกว่า 5 ปี ซึ่งถือเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่และอนาคตจะขยายไปยังมะเร็งชนิดอื่นๆ

“คิดว่าการตรวจเรื่องพันธุกรรมจะมีส่วนสำคัญมากในอนาคต ไม่ว่าผู้ป่วยจะเป็นมะเร็งช่วงแรกหรือระยะร้ายแรง วิธีการตรวจพันธุกรรมจะสามารถช่วยรักษาคนไข้ได้ ปัจจุบันมีหลายประเทศมีศักยภาพในการตรวจพันธุกรรมมากขึ้น รวมทั้งประเทศไทยที่มีการตั้งสถาบันพันธุกรรม”

“สำหรับรางวัลนี้ ผมรู้สึกเป็นเกียรติ การมาถึงจุดนี้ได้เริ่มต้นจากการอยากจะช่วยเหลือผู้อื่น ที่ผ่านมาได้เห็นผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว ได้กลับบ้านมีชีวิตตามปกติ มีลูกมีหลาน ทำให้ผมมีกำลังใจในการทำงานต่อไป” ศ.นพ.ไบรอันกล่าว

Advertisement
ศ.นายแพทย์ไบรอัน เจ. ดรูเคอร์
ศ.นายแพทย์ไบรอัน เจ. ดรูเคอร์

ขณะที่แพทย์ผู้มีคุณูปการต่อผู้ป่วยมะเร็งอีกคน ศ.ดร.แมรี่ แคลร์ คิง จากภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับรางวัลสาขาการแพทย์เช่นกัน กล่าวว่า โรคมะเร็งเต้านมสามารถส่งผ่านทางพันธุกรรม จึงแนะนำอยากให้ผู้หญิงที่มีความเสี่ยง คือหากมีมารดาหรือคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งเต้านม ก็ควรจะตรวจเช็กร่างกาย หากพบว่าเป็น ให้ติดตามผลอย่างใกล้ชิด และรักษาอย่างทันท่วงที

ศ.ดร.แมรี่ เป็นผู้ค้นพบยีนที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเต้านมที่ถ่ายทอดได้ทางกรรมพันธุ์ และพัฒนาการตรวจยีนมะเร็งด้วยเทคนิคใหม่เพื่อสามารถนำไปใช้ได้ทั่วโลก ส่งผลให้ปัจจุบันการตรวจหายีนมะเร็งมีราคาถูกจนคนเข้าถึงได้จำนวนมาก ป้องกันการเสียชีวิตจากการลุกลามของโรคได้อย่างกว้างขวาง

“ดิฉันมีหลักคิดในการทำงาน 2 ส่วน คือการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและความอยากรู้อยากเห็น และอยากทำสิ่งใหม่ๆ ที่ผ่านมาทำงานด้วยความรักและใส่ใจ จึงเป็นที่มาของผลงานนี้” ศ.ดร.แมรี่กล่าว

ศ.ดร.แมรี่ แคลร์ คิง
ศ.ดร.แมรี่ แคลร์ คิง

ขณะที่ผู้ได้รับรางวัลสาขาการสาธารณสุข ศ.นพ.จอห์น ดี. คลีเมนส์ ผู้อำนวยการบริหารศูนย์วิจัยโรคท้องร่วงนานาชาติ ประเทศบังกลาเทศ พร้อมด้วย ศ.นพ.ยอน อาร์. โฮล์มเกรน ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งมหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก ประเทศสวีเดน กล่าวร่วมกันว่า พวกเราเลือกเรียนแพทย์เพราะคิดว่าจะสามารถช่วยคนได้ และจากการทำวิจัยครั้งนี้ได้พบว่าโรคอหิวาตกโรค เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับคนยากจนเป็นส่วนใหญ่และไม่มีทางเลือกที่จะป้องกันได้ จึงมีความภูมิใจและสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยากจนให้หายจากโรคนี้ได้ อย่างไรก็ตาม จากการวิจัยและพัฒนาต่างๆ เราคาดหวังว่าในปี ค.ศ.2030 จะไม่มีโรคอหิวาตกโรคในโลกนี้อีก

ศ.นพ.จอห์น ดี. และ ศ.นพ.ยอน อาร์. ทำงานร่วมกันเป็นเวลากว่า 30 ปี ในการศึกษาค้นคว้าวิจัย และพัฒนาวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดกิน ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันมากกว่าวัคซีนชนิดฉีด ทำให้ช่วยป้องกันโรคได้ในวงกว้าง ลดการเสียชีวิตจากอหิวาตกโรคได้ในประชากรหลายล้านคนทั่วโลก

ศ.นายแพทย์ยอน อาร์. โฮล์มเกรน
ศ.นายแพทย์ยอน อาร์. โฮล์มเกรน
ศ.นายแพทย์จอห์น ดี. คลีเมนส์
ศ.นายแพทย์จอห์น ดี. คลีเมนส์

การคิดค้นและพัฒนาสุดยิ่งใหญ่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image