พิธีเสกน้ำอภิเษก 108 แหล่งศักดิ์สิทธิ์ ณ วัดสุทัศนฯ วัดกลางเมือง ที่เปรียบ ‘เขาพระสุเมรุ’

พิธีเสกน้ำอภิเษก 108 แหล่งศักดิ์สิทธิ์ ณ วัดสุทัศนฯ วัดกลางเมือง ที่เปรียบ ‘เขาพระสุเมรุ’

ตามโบราณราชประเพณีนั้น “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” นับได้ว่าเป็นพระราชพิธีสำคัญที่แสดงถึงความเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ ในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ใน พ.ศ.2325 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีอย่างสังเขปเรียกว่า “พระราชพิธีปราบดาภิเษก” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีอีกครั้งหนึ่ง ในปี พ.ศ.2328 เรียกว่า พระราชพิธีราชาภิเษก ที่มีความสำคัญอยู่ที่ทรงรับน้ำอภิเษกที่พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ เพื่อแสดงความเป็นใหญ่ในทิศทั้ง 8

และยึดถือพระราชพิธีครั้งนั้นเป็นแบบแผนต่อมา ถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกพระราชพิธีราชาภิเษกนี้ว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก”

จึงนับได้ว่า “น้ำสรงพระมุรธาภิเษก” และ “น้ำอภิเษก” มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ริ้วขบวนเชิญคนโทน้ำอภิเษก 86 ใบ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงมท. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการ 76 จังหวัด จากศาลาว่าการ กระทรวงมหาดไทย ไปยังวัดสุทัศนเทพวราราม

สำหรับการสรงพระมุรธาภิเษกนั้น หมายถึง การยกให้ หรือแต่งตั้งโดยการทำพิธีรดน้ำ ตามคติพราหมณ์ถือว่า การยกให้ผู้ใดเป็นใหญ่ ทรงสิทธิ์อำนาจนั้น จะต้องทำด้วยพิธีรดน้ำศักดิ์สิทธิ์ ดังพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องขอมดำดินว่า “น้ำที่ควรใช้เป็นน้ำมุรธาภิเษกนั้น ต้องนำมาจากห้วงน้ำล้วนแต่ที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ น้ำในที่มีสวัสดิมงคลแห่งใดๆ ในแว่นแคว้นพระราชอาณาจักรของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น ก็ต้องนำมาถวายเป็นน้ำสรงมุรธาภิเษกด้วย”

Advertisement

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทำพิธีสรงน้ำพระมุรธาภิเษก และพิธีถวายน้ำอภิเษก ในวันที่ 5 พฤษภาคม การนี้ พระองค์ทรงพระภูษาเศวตพัสตร์ ทรงสะพักขาวขลิบทอง ประดับเหนืออุทุมพรราชอาสน์ ภายในมณฑปพระกระยาสนาน เพื่อทรงรับน้ำสรงจากสหัสธารา หรือภาชนะคล้ายฝักบัว ซึ่งเก็บอยู่บนเพดานมณฑปพระกระยาสานให้ลงมาต้องพระองค์ ด้วยขัตติยราชประเพณี ผู้ใดจะหลั่งน้ำพระพุทธมนต์หรือเทพมนต์ที่พระเศียรของพระมหากษัตริย์ไม่ได้

ริ้วขบวนเชิญคนโทน้ำอภิเษก 86 ใบ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงมท. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการ 76 จังหวัด จากศาลาว่าการ กระทรวงมหาดไทย ไปยังวัดสุทัศนเทพวราราม

ภายหลังจาก สรงพระมุรธาภิเษกแล้ว ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์เสด็จออกพระสุลาลัยพิมาน ไปยังพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศ ภายใต้เศวตฉัตร 7 ชั้น ผู้แทนสมาชิกรัฐสภาถวายน้ำอภิเษก และพระราชครูวามเทพมุนีทูลเกล้าฯ ถวายน้ำเทพมนต์เวียนไปครบ 8 ทิศ เมื่อเสด็จมาประทับยังทิศบูรพาอีกครั้ง เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) ประธานวุฒิสภา กราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคลเป็นภาษามคธ แล้วทูลเกล้าฯถวายน้ำอภิเษก

แต่เดิมราชบัณฑิตและพราหมณ์เป็นผู้ถวายน้ำอภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงรับน้ำอภิเษกจากสมาชิกรัฐสภาทั้ง 8 ทิศ เป็นนัยแสดงถึงความเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย

ในรัชสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 นั้น พระองค์จะทรงสรงพระมุรธาภิเษก และทรงรับน้ำอภิเษก ในวันที่ 4 พฤษภาคม

วิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม

โดยก่อนที่จะถึงพระราชพิธีสำคัญ ปวงชนชาวไทยทั่วประเทศได้พร้อมใจกันประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ รวม 107 แหล่งน้ำ ในวันที่ 6 เมษายน และประกอบพิธีทำน้ำอภิเษก ณ พระอารามสำคัญประจำจังหวัดของแต่ละจังหวัด ในวันที่ 8 เมษายน รวมถึงเวียนเทียนสมโภชน้ำอภิเษกในวันที่ 9 เมษายน ก่อนจะเชิญคนโทน้ำอภิเษกของทุกจังหวัดมาเก็บรักษาที่กระทรวงมหาดไทยในวันต่อมา

สำหรับกรุงเทพมหานครนั้น ทำพิธีพลีกรรมตักน้ำที่หอศาสตราคม ในพระบรมมหาราชวัง ในวันที่ 12 เมษายน เวลา 14.09 น. แล้วจึงเชิญมายังกระทรวงมหาดไทยเช่นกัน

เชิญคนโทน้ำอภิเษกขึ้นไปประกอบพิธีในวิหารหลวง

เมื่อน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษก จากทั้ง 108 แหล่งน้ำ ได้นำมารวบรวมที่กระทรวงมหาดไทยแล้วนั้น จะได้นำไปประกอบพิธีเสกน้ำอภิเษกรวม ที่ “วัดสุทัศนเทพวราราม” ต่อไป

โดยในเวลา 06.00 น. ของวันที่ 18 เมษายน ริ้วขบวนแห่เชิญคนโทน้ำอภิเษก จำนวน 86 ใบ ประกอบด้วย รถตำรวจ วงดุริยางค์กองทัพบก อส.เชิญธงชาติ และเชิญธงตราสัญลักษณ์ รถเชิญคนโทน้ำฯ ตามด้วย ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้เชิญคนโทน้ำ หลายร้อยชีวิต จะร่วมกันเชิญรถน้ำอภิเษก จากกระทรวงมหาดไทย ผ่านถนนบำรุงเมือง วนรอบเสาชิงช้า สู่วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นระยะทาง 740 เมตร

ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน ฤกษ์เวลา 17.19-21.30 น. เจ้าหน้าที่ทั้งหลายได้ร่วมพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ ณ มณฑลพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ ที่หน้าพระศรีศากยมุนี พระประธานพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน พร้อมด้วย สมเด็จพระราชาคณะ และพระเกจิอาจารย์ นับ 68 รูป เจริญพระพุทธมนต์และพิธีกรรมอื่นไว้พร้อมวัดสุทัศนเทพวราราม

เชิญคนโทน้ำอภิเษกขึ้นไปประกอบพิธีในวิหารหลวง

การนี้ สมเด็จพระสังฆราชทรงจุดเทียนชัย พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานครูพราหมณ์ จุดธูปเทียนบูชาเทพยดา แล้วอ่านประกาศชุมนุมเทวดา พระสงฆ์ 68 รูป เจริญพระพุทธมนต์ จนถึงบทเสกน้ำ นายกรัฐมนตรีจุดเทียนครอบที่สัมฤทธิ์ แล้วถวายสมเด็จพระสังฆราช เมื่อเสกน้ำพระพุทธมนต์จบแล้ว สมเด็จพระสังฆราชทรงโปรยข้าวตอก ดอกไม้ และทรงประพรมน้ำพระพุทธมนต์ที่คนโทน้ำพระพุทธมนต์จากจังหวัดต่างๆ ภายในราชวัติ พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ถวายคันประทีป สั่นกระดิ่ง และโปรยข้าวตอก ดอกไม้ ที่คนโทน้ำพระพุทธมนต์ ในราชวัติ

หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานศาลฎีกา ร่วมกันถวายจตุปัจจัยไทยธรรม และย่ามปักตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก นายกรัฐมนตรี ไปยังหน้าพระสวดภาณวาร จุดเทียนทอง เงิน และเครื่องบูชากระบะมุก เจ้าหน้าที่กรมการศาสนาอารธนาพระสวดภาณวารจุดเทียนพุทธาภิเษกข้างตู้เทียนชัยซ้าย-ขวา เป็นอันเสร็จพิธี

ก่อนที่เหล่าผู้เชิญคนโทจะได้ร่วมริ้วขบวนแห่เชิญน้ำอภิเษก และน้ำสรงพระมุรธาภิเษก ในวันที่ 19 เมษายน ใช้เส้นทางจากถนนดินสอ เลี้ยวซ้าย อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เข้าถนนราชดำเนินกลาง ข้ามสะพานผ่านพิภพลีลา สู่ถนนราชดำเนินใน เข้าประตูสวัสดิโสภา ไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เป็นการเตรียมพระราชพิธีที่ปวงชนชาวไทยจักได้ประจักษ์ ครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ไทย

ความสำคัญ ‘วัดสุทัศนฯ’ วัดกลางเมืองเปรียบ ‘เขาพระสุเมรุ’

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 “วัดสุทัศนเทพวราราม” ถูกใช้เป็นสถานที่เสกน้ำอภิเษกจาก 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร รวมถึงน้ำจากเบญจสุทธคงคา และน้ำจากสระ 4 สระ ใน จ.สุพรรณบุรี

มิใช่เฉพาะในรัชกาลที่ 10 เท่านั้น ที่ใช้วัดสุทัศนฯ เป็นสถานที่ประกอบพิธีอันศักดิ์สิทธิ์และเป็นมงคลนี้

หากตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 9 พิธีเสกน้ำอภิเษกก็ได้จัดขึ้นที่วัดแห่งนี้ทั้งสิ้น

นับเป็นวัดที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.หม่อมราชวงศ์สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ประธานอนุกรรมการด้านสารัตถะและสร้างสรรค์ผลิตสื่อ กล่าวว่า วัดสุทัศนฯ สร้างขึ้นราวปี พ.ศ.2350 ในปลายแผ่นดินของรัชกาลที่ 1 เพื่อเป็นวัดกลางเมือง เพราะในอดีต กรุงเทพฯจะมีกำแพงเมืองล้อมรอบ จุดที่ตั้งวัดสุทัศนฯคือ จุดศูนย์กลางของกรุงเทพฯในอดีต

“พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการสร้างวัดนี้ขึ้น เดิมพระราชทานนามว่า วัดมหาสุทธาวาส ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้พระราชทานนามใหม่ว่า วัดสุทัศนเทพวราราม”

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.หม่อมราชวงศ์สุริยวุฒิอธิบายเพิ่มเติมว่า พระบาทสมเด็จพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงตั้งกรุงเทพฯ และพระราชทานนามว่า กรุงรัตนโกสินทร์ อินทร์ อโยธยา โดย รัตนะ แปลว่า แก้ว, โกสินทร์ หรือ โกสีย์ คือ พระอินทร์ เมื่อนำมารวมกัน หมายถึงแก้วของพระอินทร์ ซึ่งก็คือ แก้วสีเขียว ที่หมายถึงพระแก้วมรกต

“กรุงรัตนโกสินทร์ คือเมืองที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต”

ส่วนคำว่า “อินทร์” หมายถึงพระอินทร์ และ “อโยธยา” แปลว่า สืบเชื้อสายมาจากกรุงศรีอยุธยา

“ดังนั้น กรุงเทพฯจึงเปรียบเสมือนเมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นที่ประทับของพระอินทร์ อันมีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของจักรวาลโลก และเขาพระสุเมรุก็มีความสูงถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นที่ประทับของพระอินทร์”

“ดังนั้น วัดสุทัศนฯก็เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ จึงต้องนำน้ำทั้งหมดมารวมกันที่วัดสุทัศนฯ ซึ่งหมายถึง เขาพระสุเมรุที่อยู่บนยอดเขา และหมายถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ไปพร้อมกัน” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.หม่อมราชวงศ์สุริยวุฒิกล่าว

ด้วยความสำคัญของสถานที่และคติความเชื่อ วัดสุทัศนเทพวราราม จึงเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญทางศาสนาของบ้านเมือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image