สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วง ปชช.นั่งเฝ้าฯรับเสด็จ รับสั่งให้จัดเบาะรองนั่ง หญ้าเทียม

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 26 เมษายน ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 กล่าวในการเป็นประธานการเปิดศูนย์สื่อมวลชน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 โดยมีผู้บริหารกรมประชาสัมพันธ์ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสื่อมวลชนหลากหลายสาขาทั้งไทยและต่างประเทศเข้าร่วมว่า ขณะนี้ใกล้เข้าสู่งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ในส่วนพระราชพิธีเบื้องกลาง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก อยากเผยแพร่ไปทั่วโลกเพื่อให้ประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศได้เห็นพระราชพิธีนี้อย่างชัดเจน สง่างาม จึงจัดตั้งและมีพิธีเปิดศูนย์สื่อมวลชนงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เพื่อบริการข้อมูลข่าวสารและอำนวยความสะดวกแก่สื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำเสนอข่าวการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทุกวันจนเสร็จสิ้นพระราชพิธี ซึ่งเป็นจุดที่ใกล้พระบรมมหาราชวัง ทั้งนี้ ขอความร่วมมือสื่อมวลชนเผยแพร่ภาพข้อความพระราชพิธีอย่างถูกต้อง ข้อมูลมีรายละเอียดชัดเจน และให้มีความสง่างามในทุกมิติ

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับศูนย์สื่อมวลชนนี้ เปิดให้บริการทุกวันเวลา 08.30-21.30 น. จนเสร็จสิ้นพระราชพิธี สำหรับในวันที่ 5 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราสถลมารค ศูนย์แห่งนี้จะขยายเวลาให้บริการถึงเวลา 23.00 น. สำหรับสื่อมวลชนที่จะเข้าใช้บริการจะต้องใช้บัตรสื่อมวลชนลงทะเบียนเข้ามาปฏิบัติงานในศูนย์ทุกครั้ง สำหรับศูนย์แบ่งเป็น 2 โซนหลัก สามารถรองรับสื่อมวลชนได้ราว 450 คน ด้านบนเป็นพื้นที่ในการใช้งานของสื่อมวลชนต่างประเทศ ส่วนด้านขวามือเป็นพื้นที่การใช้งานของสื่อมวลชนในประเทศ โดยมีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้บริการ มีจุดดาวน์โหลดภาพประมาณ 20 จุด และมีการจัดคอมพิวเตอร์รองรับ มีแผ่นพับ แผนที่ และหมายกำหนดการแจกให้แก่สื่อมวลชนเพื่อให้ข้อมูลถูกต้องและชัดเจนที่สุด สื่อมวลชนสามารถเข้ามาดูในช่วงถ่ายทอดสดพระราชพิธีเพราะจะมีการเชื่อมโยงสัญญาณวิทยุและโทรทัศน์จากกรมประชาสัมพันธ์มาที่นี่

ภายในงานยังมีการแถลงข่าว โดย พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงการเตรียมการรองรับประชาชนที่จะเฝ้าฯรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และการอำนวยความสะดวกด้านการจราจรในช่วงงานพระราชพิธี ว่าประชาชนสามารถเดินทางมาร่วมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกได้หลากหลายช่องทาง ได้แก่ ทางรถ ขับมาจอดยังจุดจอดรถโดยรอบพื้นที่ จำนวน 26 จุด รองรับไม่น้อยกว่า 38,000 คัน หรือนั่งรถไฟ มาลงสถานีรถไฟหัวลำโพง และนั่งเรือมาทางแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองแสนแสบมาขึ้นยังท่าเรือโดยรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ก่อนนั่งรถชัตเตอร์บัสหรือเดินเท้าเข้ามายังบริเวณจุดรอบนอกงานพระราชพิธี ผ่านจุดคัดกรอง 21 จุด ซึ่งจะใช้เวลาตรวจสอบไม่เกิน 10 วินาทีต่อคน เพื่อผ่านเข้าไปยังพื้นที่ภายในพระราชพิธี

“นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยประชาชนที่จะมานั่งเฝ้าฯรับเสด็จมีรับสั่งให้จัดเสื่อ เบาะรองนั่ง และหญ้าเทียมแก่ประชาชน และพระราชทานโรงครัวแบ่ง 18 จุด เพื่อดูแลเรื่องอาหารและน้ำดื่มแก่ประชาชนที่มาร่วมงาน” พล.ต.ท.ปิยะกล่าว และว่า

Advertisement

ในงานพระราชพิธีเบื้องกลาง 2-6 พฤษภาคม จะมีการปิดการจราจรตามลำดับ พร้อมเปิดจุดคัดกรองประชาชน ซึ่งประชาชนสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.trafficpolice.go.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนจราจร 1599 และ 1197

พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย

นายพิชญา นาควัชระ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงการอำนวยความสะดวกประชาชนจะมาเฝ้าฯรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 5, 6 พฤษภาคม 2562 ว่า ขณะนี้ กทม.ได้จัดเตรียมอาคารสถานที่ ถนนหนทาง ไฟส่องสว่าง เพื่อการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว อีกทั้งได้จัดเตรียมความพร้อมการดูแลประชาชนที่จะมาเฝ้าฯรับเสด็จ ดังนี้ ด้านอาหาร กทม. ร่วมกับภาคเอกชน มูลนิธิ และภาคีเครือข่ายจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน เพื่อปรุงประกอบอาหาร และบริการอาหารสำหรับประชาชนที่มารอเฝ้าฯรับเสด็จ ใน 6 จุด ได้แก่ วัดเทพศิรินทราวาส บ้านมนังคศิลา สนามม้านางเลิ้ง บริเวณเชิงสะพานพุทธ บ้านพิษณุโลก และใต้สะพานพระราม 8 ฝั่งเขตบางพลัด พร้อมทั้งมีกระทรวงต่างๆ อีก 19 กระทรวง ร่วมให้การสนับสนุนอาหารว่างสำหรับประชาชน กระทรวงละ 3,000 กล่อง รวม 57,000 กล่อง, ด้านน้ำดื่ม ได้จัดเตรียมแท็งก์น้ำบริการน้ำดื่ม จำนวน 80 แท็งก์ รวมถึงมีน้ำขวดกว่า 350,000 ขวด ในจุดบริการอาหารที่ กทม.รับผิดชอบ 6 จุด และกระจายตามโซนต่างๆ นอกจากนี้ การประปานครหลวง ได้ให้การสนับสนุนน้ำดื่มบรรจุขวดสำหรับเจ้าหน้าที่และประชาชน และสนับสนุนกระบอกน้ำหรือแก้วน้ำสำหรับเติมน้ำได้ จำนวน 300,000 ใบ รวมทั้งจัดรถบริการน้ำดื่มแบบเติม จำนวน 8 คัน ตลอดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ด้านห้องน้ำห้องสุขา รถสุขาเคลื่อนที่ กทม.ได้จัดรถสุขาเคลื่อนที่ จำนวน 48 คัน กระจายตามจุดบริการอาหาร 6 จุด จุดละ 2 คัน และกระจายตามโซนต่างๆ อีกทั้งยังเตรียมรถสุขาเคลื่อนที่สนับสนุนเพิ่มเติม กรณีไม่เพียงพออีก จำนวน 29 คัน นอกจากนี้ สำนักงานเขตพระนครได้สำรวจบ้านเรือนของประชาชนที่ยินดีให้การสนับสนุนห้องสุขาสำรองกรณีสุขาเคลื่อนที่ของ กทม.ไม่เพียงพอสำหรับให้บริการ ขณะนี้ได้จำนวน 32 หลังคาเรือน โดยจะทำการติดสติ๊กเกอร์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ประชาชนทราบ ซึ่งทาง กทม.จะบริการสูบส้วมให้กับบ้านของประชาชนก่อนและหลังงานพระราชพิธี

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีการจัดหน่วยบริการประชาชนทุกระยะ 200 เมตร รวมจำนวน 66 จุด แต่ละจุดจะมีข้าราชการ 2 คน เจ้าหน้าที่รักษาความสะอาด 4 คน เจ้าหน้าที่เทศกิจ 2 คน และประชาชนจิตอาสา 2 คน นอกจากนี้ ยังประสานกับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อให้บริการเป็นภาษาต่างประเทศเพิ่มเติม ได้แก่ อังกฤษ จีน นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งจอแอลอีดีขนาดใหญ่จำนวน 25 จอ รวมถึงโทรทัศน์ขนาด 49 นิ้วจำนวน 20 จอ กระจายตามวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร, วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร โดยจอแอลอีดี 25 จอจะเริ่มติดตั้งวันที่ 27 เมษายน และเริ่มถ่ายทอดภาพพระราชกรณียกิจ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ไปจนกว่าจะมีการถ่ายทอดสดพระราชพิธี

รวมทั้ง จัดจุดบริการทางการแพทย์ทุก 250 เมตร หน่วยบริการทางการแพทย์ 351 ทีม คอยให้บริการตามเส้นทางที่ประชาชนนั่งเฝ้าฯรับเสด็จ ด้านการให้บริการที่พักสำหรับประชาชน กรุงเทพมหานคร ได้จัดเตรียมสถานที่พักพร้อมเครื่องนอน จำนวน 1,000 คน ที่อาคารกีฬาเวสน์ 1 และอาคารกีฬาเวสน์ 2 เพื่อเป็นที่พักสำหรับประชาชนที่เดินทางมารอรับเสด็จฯ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image