จุฬาฯเสริมความรู้ งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

อีกเพียงไม่ถึงสัปดาห์ชาวไทยทั้งผองจะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในวินาทีประวัติศาสตร์ งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ที่จะเริ่มขึ้นในช่วงวันที่ 3 พฤษภาคมนี้

และถือเป็นช่วงโอกาสอันดี ที่คนไทยจะได้เพิ่มเติมความรู้เรื่องพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดบรรยายพิเศษชุด “ความรู้เรื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ณ หอประชุมจุฬาฯ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยหลายแขนง ร่วมให้ความรู้

เริ่มต้นด้วย ผศ.ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ อดีตคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กับการบรรยายเรื่อง “ที่มาและความสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น นับว่าได้รับอิทธิพลจากคติพราหมณ์ ในตำราพราหมณ์เราพบคำว่า “อภิเษก” ในคัมภีร์ยชุรเวท ที่เป็นส่วนของพิธีกรรมต่างๆ สำหรับเรื่องราชาภิเษกนั้น ได้มีการกล่าวถึงใน “ราชสูยะ” หรือบทบรรยายเรื่องการขึ้นดำรงตำแหน่งกษัตริย์ของพราหมณ์ ที่มีอยู่นับร้อยทาง

“สำหรับคติแขกแล้ว สิ่งที่สำคัญในพิธีมีอยู่ 2 อย่าง คือ น้ำและไฟ เป็นตัวเชื่อมในการติดต่อสื่อสารระหว่างคนกับเทวดา การรดน้ำถือเป็นสัญลักษณ์ในการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนสภาพ สถานะ ในพิธีบรมราชาภิเษกของไทยนั้น “น้ำ” ถือเป็นเรื่องสำคัญ ปรากฏทั้งในขั้นตอนการสรงน้ำพระมุรธาภิเษก และการรดน้ำอภิเษก ซึ่งจะเป็นพิธีที่เปลี่ยนสถานะของกษัตริย์ จึงต้องมีการไปตักน้ำศักดิ์สิทธิ์จากพื้นที่สำคัญๆ

Advertisement

“การสรงน้ำพระมุรธาภิเษก เพื่อชำระล้างร่างกายให้สะอาด กษัตริย์จะทรงพระภูษาสีขาว คล้ายกันกับพราหมณ์ อันเป็นสีขาวใกล้กับเทวดาที่สุด เมื่อเสร็จจากสรงน้ำพระมุรธาภิเษกแล้ว จะทรงเปลี่ยนเครื่องทรง และเข้าพิธีรดน้ำอภิเษกจากทั้ง 8 ทิศ เป็นสัญลักษณ์ในการยกให้สูงขึ้น จากการยอมรับของคนทั้งประเทศ” ผศ.ดร.ประพจน์อธิบาย

ขณะที่ ผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ บรรยายเรื่อง “สถาปัตยกรรมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ว่า ในการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพนั้น ถือได้ว่าเขาพระสุเมรุ เป็นแกนกลางของจักรวาล โดยมีลดหลั่นชั้นลงไป กษัตริย์ทรงเปรียบเหมือนผู้ครองภูเขาศักดิ์สิทธิ์นี้ การออกแบบสถาปัตยกรรมไทย จะมีสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับเขาพระสุเมรุอยู่ด้วย เช่น พระแท่นราชบัลลังก์ต่างๆ ที่ลดหลั่นเป็นชั้น มีสัตว์หิมพานต์ และมีต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง

ผศ.ดร.พีรศรี ยังให้ความรู้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรม ที่ประชาชนจะได้รับรู้ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ ว่า สถานที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือ หมู่พระมหามณเฑียร ในอดีตเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ โดยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคตที่นี่

Advertisement

ในหมู่พระมหามณเฑียร มีพระที่นั่งสำคัญๆ คือ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน หมายถึง ที่ประทับของพระมหาจักรพรรดิราช เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ทำให้มีการสร้างสูงกว่าพระที่นั่งอื่นๆ ถัดมาคือพระที่นั่งไพศาลทักษิณ หมายถึงผู้ยิ่งใหญ่ทางใต้ อันเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งตั้งอยู่ทิศใต้ของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน สื่อได้ว่า พระที่นั่งไพศาลทักษิณ คือชมพูทวีป ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ประทับอยู่ โดยสร้างให้มีความสูง 1 เมตร 20 เซนติเมตร

ส่วนพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน คือที่ออกว่าราชการของพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ข้าราชการเข้าเฝ้าฯ การสร้างได้ยกแบบมาจากสมัยกรุงธนบุรี และปรับปรุงในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยสร้างให้มีพื้นเตี้ย

ผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง

นอกจากพระที่นั่งต่างๆ แล้ว พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ถือได้ว่าเป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญ เพราะเป็นที่จารึกพระสุพรรณบัฏ ดวงพระบรมราชสมภพ และแกะตราพระราชลัญจกร

นอกจากเรื่องสถาปัตยกรรมต่างๆ แล้วนั้น ผศ.ดร.พีรศรี ยังให้ความรู้เรื่อง “ฉัตร” ว่า ถือเป็นส่วนสำคัญในพระราชพิธี เพราะเป็นเครื่องแสดงสถานะของกษัตริย์ เช่น พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ เป็นสถานที่สำหรับพระมหากษัตริย์ประทับรับน้ำอภิเษก ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ จะมีฉัตร 7 ชั้น

“แต่เมื่อทรงรับน้ำอภิเษกแล้ว จะทรงพระดำเนินไปประทับที่พระที่นั่งภัทรบิฐ เพื่อทรงรับเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ จะมีฉัตร 9 ชั้น อันหมายถึงทรงเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ นับได้ว่าสถาปัตยกรรมต่างๆ ได้สอดแทรกคติพราหมณ์ เรื่องความเป็นสมมติเทพไว้ทั้งนั้น” ผศ.ดร.พีรศรี ให้ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมและเรื่อง “ฉัตร”

ขณะที่ ผศ.ดร.ชัชพล ไชยพร จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ บรรยายถึงเรื่อง “มนต์และมนตร์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ว่า “มนต์” ใช้กับคำทางพระพุทธศาสนา หมายถึง คำสาธยายพระพุทธวจนะ ขณะที่ “มนตร์” ใช้ในทางพราหมณ์ หมายถึงคำเสกเป่าที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ในราชสำนักไทยนั้น นอกจากจะรับเอาคติพราหมณ์มาใช้แล้ว ก็มีการรับเอาคติจีน มาใช้ด้วย เช่น การปรับแก้ฮวงจุ้ยต่างๆ

สำหรับงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น จะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่การจุดเทียนชัย ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้จุดเทียนชนวนด้วยพระองค์เอง ไม่เหมือนในงานพระราชพิธีอื่นๆ หลังจากนั้นแล้ว จะได้อ่านประกาศชุมนุมเทวดา ที่แม้เป็นบทที่ใช้ในงานมงคลทั่วไป แต่ครั้งนี้มีความพิเศษที่ประกาศจะอ่านเป็นภาษาไทย มิใช่บาลี โดยมีเนื้อหาให้เทวดาใช้ไมตรีจิต ในการปกปักษ์พระราชวงศ์ รัฐบาล และ ประชาชน ให้ประเทศมีความสุข สามัคคี ปรองดอง

ที่สำคัญคือ การให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งถือเป็นคติสำคัญของทางพราหมณ์ เมื่อพระมหากษัตริย์ คือ ผู้ต้องดูแลอาณาเขตให้มีความสมบูรณ์ เมื่อสวดมนต์ครบบทต่างๆ แล้ว ก็จะมีการเชิญเทวดากลับ อันเป็นเครื่องบอกว่า เรามีพระปริตรคุ้มครองแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีการสวดมนต์ในบทต่างๆ อาทิ บทกรณียเมตตสูตร อนุสสรณปาฐะ โพชฌคปริตร และ สุขาภิยาจนคาถา โดยจะมีการสวดเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งมหาเถรสมาคมได้แต่งขึ้นใหม่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 10

รวมถึงการสวดภาณวาร ประกอบด้วย 4 บท บทหนึ่งสวดประมาณ 2 ชั่วโมง คือเป็นการสวดต่อเนื่องทั้งคืน เพื่อเป็นการขอความเมตตา รวมไปถึงสวดชัยมงคลคาถา เพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้า ว่าทรงตรัสรู้ และสวดให้กับพระมหากษัตริย์ทรงชนะภัยต่างๆ

ขณะที่วันต่อไปพระสงฆ์จะได้ถวายธรรมเทศนา ส่วนใหญ่เป็นบททศพิธราชธรรม และราชสังคหวัตถุ ซึ่งเมื่อทำดีแล้ว จะมุ่งถึงนิรัคคฬะ คือบ้านเมืองปลอดภัย สงบสุข ทำให้ผู้คนไม่ต้องลงกลอนประตู

“พระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น ถือเป็นเครื่องเตือนใจ กระตุ้นให้เราหันกลับไปศึกษาวัฒนธรรม ประเพณี ของเรา ไปศึกษาสิ่งที่เป็นอารยธรรมของเรา ว่ามีรากเหง้าอย่างไร เมื่อเราได้ซาบซึ้งแล้ว เราจะรู้หน้าที่ของตัวเอง” ผศ.ดร.ชัชพลสรุปทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image