พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการเฉลิมพระนาม สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

สำหรับพระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2500 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้รับพระราชทานพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี”

พระนาม จุฬาภรณ์ หมายถึง การอัญเชิญพระนาม “จุฬา” ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาเป็นคำต้นพระนามของพระองค์ เนื่องด้วยในวันประสูตินั้น เป็นวันมหาปีติของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา

Advertisement

ทรงเริ่มศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ทรงได้รับการปลูกฝังทางศิลปะ นาฏศิลป์ และดนตรี จากพระอาจารย์ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ทั้งยังทรงสนพระทัยวิชาคำนวณและวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกันโปรดศึกษาวิชาภาษาต่างประเทศ และวิชาศิลปะควบคู่กันไป โดยทรงเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์ ในระดับมัธยมปลาย เพื่อนำความรู้มาต่อยอดทำประโยชน์เพื่อความสุขของประชาชน ดังรับสั่งว่า “สมเด็จแม่เคยรับสั่งว่าทรงมีลูกเพียง 4 คน โปรดที่จะให้ศึกษาในแขนงวิชาต่างๆ กัน เพื่อที่จะได้มาทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้หลายด้าน ดังนั้น เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทางศึกษาด้านอักษรศาสตร์ก่อนแล้ว จึงได้ตัดสินใจมาเรียนด้านวิทยาศาสตร์ แม้จะชอบด้านศิลปะก็ตาม”

Advertisement

เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย ทรงเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์ สาขาอินทรีย์เคมี เกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทรงสอบได้ที่ 1 ในวิชาเคมีและชีววิทยา ทั้งยังทรงได้รับรางวัลเรียนดีจากมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ ในปี พ.ศ.2528 ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาอินทรีย์เคมี มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งนี้ยังทรงสำเร็จการอบรมระดับหลังปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยอูล์ม สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในปี พ.ศ.2550 ทรงสำเร็จการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และในปี พ.ศ.2557 ทรงสำเร็จการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพสัตวแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อนำความรู้ไปช่วยเหลือสัตว์ต่างๆ

ทรงมีพระธิดา 2 พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ

ตลอดระยะเวลามากกว่า 6 ทศวรรษที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ ทรงอุทิศพระวรกายเพื่ออาณาประชาราษฎร์ให้มีความสุข อยู่ดีกินดี และร่วมพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ ไม่ว่าจะในแขนงใด ในด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์นั้น ทรงมีพระราชปณิธานในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาประเทศ โดยทรงแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับต่างประเทศในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ ทำให้เป็นที่ประจักษ์ของชาวโลก โดยทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ จากยูเนสโก ในปี พ.ศ.2530 ทรงก่อตั้งมูลนิธิจุฬาภรณ์ขึ้น ก่อนพัฒนาเป็นสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ต่อมา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัย ทั้งทรงก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ให้บริการทางการแพทย์และการเงินแก่ผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งยากไร้ ทำให้ทรงได้รับการยกย่องเป็น “เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์”

นอกจากนี้ ยังทรงดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) และได้เสด็จฯไปทรงร่วมกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มูลนิธิ พอ.สว. ให้การรักษาแก่ผู้ป่วยทุกภูมิภาคของไทย ทั้งยังทรงมีพระเมตตาแผ่ถึงบรรดาสัตว์ป่วยอนาถา ทรงรับเป็นประธานกรรมการขับเคลื่อนการดำเนิน “โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ทั้งยังมีพระดำริให้ก่อตั้งโรงพยาบาลสัตว์ขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศด้วย

มิเพียงแต่ด้านวิทยาศาสตร์ พระอัจฉริยภาพด้านศิลปวัฒนธรรมของพระองค์ยังได้ฉายชัด ทรงดนตรี ทรงขับร้องเพลง ทรงนิพนธ์เพลง ทรงวาดภาพ และทรงออกแบบเครื่องประดับและเครื่องแต่งกาย ทรงเชี่ยวชาญเปียโน และกีต้าร์ ในปี พ.ศ.2543 ขณะเสด็จฯไปทรงเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลจีนได้บรรเลง “กู่เจิง” ถวาย ทำให้ทรงประทับใจและมุ่งมั่นศึกษา ฝึกซ้อมอย่างจริงจัง จนถึงระดับสูงสุด โดยทรงมีพระดำริให้จัดการแสดงดนตรีและวัฒนธรรม “สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน” กระชับสัมพันธไมตรีไทยกับจีน นอกจากนี้ยังทรงออกแบบเครื่องประดับผนวกกับงานการกุศล เช่นโครงการ “ถักร้อย สร้อยรัก” และโครงการ “ดร.น้ำจิต” นำรายได้สมทบทุนมูลนิธิจุฬาภรณ์ ทั้งยังทรงจัดนิทรรศการภาพวาดฝีพระหัตถ์ของพระองค์เองด้วย

ด้านการศาสนา ทรงดำรงพระองค์เป็นพุทธมามกะ และพุทธศาสนูปถัมภก เอาพระทัยใส่ในพุทธศาสนา ทั้งยังทรงเป็นประธานของโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) ณ วัดป่าบ้านตาด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image