พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ​สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทน​พระองค์​ไป​พระราชทาน​ปริญญาบัตร​แก่​ผู้สำเร็จ​การ​ศึกษา​จาก​มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ประจำปี​การ​ศึกษา2552ใน​โอกาส​นี้​พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา​เฝ้าฯ รับ​พระราชทาน​ปริญญา​ศิลปศาสตร​ดุษฎีบัณฑิต​กิตติมศักดิ์ สาขา​การบริหาร​งาน​ยุติธรรม ณ หอประชุม​มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 13 ส.ค.2553

พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์โตในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทั้งทรงเป็นพระราชนัดดาพระองค์แรกใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประสูติเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2521 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

ทรงเริ่มศึกษาที่โรงเรียนราชินีในระดับอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากนั้นได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ โรงเรียน Heathfield ในเมือง Ascot สหราชอาณาจักร ก่อนเสด็จกลับมาทรงศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 และ 6 ที่โรงเรียนจิตรลดา

ในระดับอุดมศึกษา ทรงศึกษาระดับปริญญาตรีในสองสาขา ในสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของไทยสองแห่งคือ ปริญญานิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทรงสำเร็จการศึกษาด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับสอง และปริญญารัฐศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยทรงสำเร็จการศึกษาด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง

ในปีเดียวกัน พระองค์ได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยคอร์แนล เมืองอิทากา มลรัฐนิวยอร์ก ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยกลุ่ม Ivy League อันมีชื่อเสียงของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทรงใช้เวลาศึกษาในระดับปริญญามหาบัณฑิต สาขานิติศาสตร์ (LL.M.) เพียง 1 ปีจากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต ด้านนิติศาสตร์ (J.S.D.) และทรงศึกษากฎหมายที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาที่ประเทศไทยควบคู่กันไป

Advertisement

ด้วยพระอัจฉริยภาพและผลแห่งความพากเพียร ทำให้ทรงสำเร็จการศึกษาทั้งดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ประเทศสหรัฐอเมริกา และทรงเป็นเนติบัณฑิตไทย พร้อมกันในปี 2548

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ แทน​พระองค์​ไป​พระราชทาน​ปริญญาบัตร​แก่​ผู้สำเร็จ​การ​ศึกษา​จาก​มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ประจำปี​การ​ศึกษา 2552 ใน​โอกาส​นี้​สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา​ นเรนทิราเทพยวดี เฝ้าฯ รับ​พระราชทาน​ปริญญา​ศิลปศาสตร​ดุษฎีบัณฑิต​กิตติมศักดิ์ สาขา​การบริหาร​งาน​ยุติธรรม ณ หอประชุม​มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 13 ส.ค.2553

Advertisement

จากนั้นทรงเข้ารับราชการในตำแหน่ง อัยการผู้ช่วย สถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ สำนักอัยการสูงสุด สู่รองอัยการจังหวัด และอัยการจังหวัด ระหว่างทรงปฏิบัติราชการด้วยพระวิริยอุตสาหะ ได้ทรงริเริ่มโครงการกำลังใจ (Inspire) เมื่อปี 2550 เน้นการให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิง เด็กติดผู้ต้องขังหญิง และผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ในเรือนจำ ทั้งในด้านวัสดุอุปกรณ์ การให้การฝึกอบรม การให้บริการทางการแพทย์ ตลอดจนการฟื้นฟูจิตใจ จนได้รับความสนใจจากนานาประเทศ

ต่อมาทรงโอนย้ายมาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ประจำคณะกรรมาธิการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2555 สู่เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม ได้แก่ สาธารณรัฐออสเตรีย ประเทศสโลวาเกีย ประเทศสโลวีเนีย ก่อนทรงกลับมารับตำแหน่งอัยการจังหวัด สู่อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการภาค 2 สำนักงานอัยการสูงสุด

ไม่เพียงทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจในหน้าที่ราชการแต่เพียงเท่านั้น หากทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจด้านอื่นๆ เพื่อความผาสุกของอาณาประชาราษฎร์ ได้แก่ ทรงเป็นประธานกรรมการมูลนิธิอาสา เพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ในการสนับสนุนและเชื่อมโยงให้ภาครัฐและเอกชน มาร่วมกันเกื้อหนุนให้ประชาชนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในยามทุกข์ยากจากภัยธรรมชาติที่รุนแรง

มูลนิธิ ณภาฯ ในพระดำริ ที่เน้นช่วยเหลือและให้โอกาสทางอาชีพกลุ่มผู้ด้อยโอกาส อันเกิดจากผลที่ได้รับทางกฎหมายและด้านสังคม

ทั้งการประทานทุนการศึกษาสำหรับผู้ต้องการศึกษาต่อปริญญามหาบัณฑิตด้านกฎหมาย ณ Cornell Law School มหาวิทยาลัยคอร์แนล ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทรงจัดตั้ง “ทุนพัชรกิติยาภาเพื่อการศึกษากฎหมาย” ซึ่งรับสมัครเพื่อคัดเลือกจากผู้ที่จบปริญญาบัณฑิตด้านกฎหมาย และสอบไล่ได้เนติบัณฑิตของเนติบัณฑิตยสภาตามเงื่อนไขที่ทุนดังกล่าวกำหนดไว้ เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษาได้นำความรู้มาแก้ไขปัญหาของประเทศ ที่ต้องอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือ

ด้วยพระปรีชาสามารถและพระจริยวัตรอันงดงาม ส่งผลให้หลายองค์กรต่างทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลต่าง ๆ เช่น กองทุนการพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UNIFEM) สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทูลเกล้าฯ ถวายตำแหน่ง “ทูตสันถวไมตรี” (Goodwill Ambassador) ในการต่อต้านความรุนแรงต่อสตรีด้านหลักนิติธรรม ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

และสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล Medal of Recognition ในฐานะที่ทรงมีบทบาทสำคัญในระดับนานาชาติ

นอกจากเอกอัครราชทูต และอัยการผู้เชี่ยวชาญแล้ว พระองค์ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้มีพระยศทางทหาร เป็นพลตรีหญิงและนายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ และนายทหารราชองครักษ์พิเศษ เมื่อเดือนมีนาคม 2561

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image