กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ เปิดงานรักษ์ป่าน่าน ครั้งที่ 4 รับสั่ง การอนุรักษ์ป่าน่านต้องเร่งลงมือทำ

เมื่อเวลา 08.10 น. วันที่ 13 พฤษภาคม ที่ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด การสัมมนาวิชาการ รักษ์ป่าน่าน ครั้งที่ 4 ซึ่งมี นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายวรกิตติ ศรีทิพากร ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน, นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) นิสิตจุฬาฯ และประชาชนเฝ้าฯ รับเสด็จ

การนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทอดพระเนตรนิทรรศการโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อาทิ สร้างป่า สร้างรายได้, แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สาระท้องถิ่น “รักษ์ป่าน่าน” ระดับชั้นประถมศึกษา และนิทรรศการจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ จากนั้นเสด็จฯ ทรงเปิดการสัมมนาวิชาการและพระราชทานพระราชดำรัสความว่า

 

Advertisement

“ข้าพเจ้ายินดีที่การสัมมนารักษ์ป่าน่านมีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เป็นครั้งที่ 4 ท่านทั้งหลายมีส่วนช่วยงานอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าน่าน จะได้มาช่วยกันดูว่าการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มต้นจนขณะนี้ปรากฏเป็นอย่างไร เราทั้งหลายทราบกันดีว่าการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าที่ถูกทำลายไปมากแล้วเป็นงานยาก และมีรายละเอียดมากมาย กว่าจะเห็นผลต้องใช้ระยะเวลานาน ระหว่างทำงานก็ต้องพบกับอุปสรรคใหญ่น้อยที่ทำให้งานขาดความราบรื่น

แต่ถ้าเราไม่ลงมือทำตั้งแต่บัดนี้ ในวันข้างหน้าความยากลำบากต้องเกิดแก่อนุชนรุ่นหลัง ซึ่งเป็นเชื้อสายของลูกเรา การอนุรักษ์ป่าน่านจึงเป็นวาระสำคัญที่ต้องเร่งลงมือทำ ทั้งต้องพยายามสร้างจิตสำนึกรู้คุณของทรัพยากรให้เกิดขึ้นและเผยแพร่ออกไปให้ทั่วถึงชุมชน การสัมมนารักษ์ป่าน่านเป็นการระดมกำลัง ระดมสมอง ระดมความคิดของหลายๆฝ่าย ผู้ทำงานจะได้หารือกันว่าควรทำสิ่งใดเพิ่มอีกบ้าง การบริหารจัดการที่ผ่านมาควรปรับปรุงอย่างไรหรือไม่ตลอดจนการโน้มน้าวให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น ควรมาพิจารณาร่วมกันว่าจะหาทางแก้ไขช่วยอย่างไร เช่น จะช่วยสร้างอาชีพหรือส่งเสริมอาชีพอย่างไรได้บ้าง เป็นต้น”

จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบรรยายเรื่อง “สร้างป่า สร้างรายได้” ความว่า

Advertisement

พูดเรื่องสร้างป่าสร้างรายได้มาหลายครั้งแล้ว งานทำต่อเนื่องมีรายละเอียดเพิ่มเติม สมัยก่อนพื้นที่ไม่เฉพาะจังหวัดน่าน แต่หลายแห่ง ที่เคยตามเสด็จฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปยังตามท้องถิ่นต่างๆ จะเห็นว่าป่าสมบูรณ์กว่าเวลานี้ที่เป็นภูเขาหัวโล้น น่าจะเป็นเพราะสมัยก่อนประชากรยังไม่มาก การตัดต้นไม้สมัยก่อนยากลำบากต้องใช้แรงกายตัด สมัยนี้มีเครื่องมือหรือเผาป่าให้รู้แล้วรู้รอด แถบภูเขามีการเพาะปลูกที่เรียกว่าทำไร่เลื่อนลอย เพาะปลูกได้ตามกำลังแรงสามารถ พอทำไปทำมาจนดินจืดจะเคลื่อนที่ต่อไปยังพื้นที่อื่น กว่าจะหมุนเวียนกลับมาที่เดิมกว่าจะกลับมาที่เดิม ดินก็ค่อยๆ สร้างตัวกลับมาอุดมสมบูรณ์ได้ แต่สมัยนี้วงรอบไม่ทันแล้วเผาทั้งหมด

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งอีกว่า

จากการเยี่ยมชมนิทรรศการในการประชุมครั้งนี้ มีการพูดถึง “ปลูกพืชเชิงเดียว” มีหลายสำนักสอนว่าให้ปลูกอย่างเดียวกันมากๆ จะได้ผลเป็นกอบเป็นกำ อย่างเคยไปดูงานที่เยอรมัน เขาพาไปดูการปลูกพืชเชิงเดียว เขาแนะนำว่าเป็นตัวอย่างที่ทำแล้วไม่ควรทำ ให้เป็นบทเรียน เพราะการปลูกพืชชนิดเดียวหากมีศัตรูพืชลงจะกินหมดไร่เลย ปุ๋ยที่ใช้พืชจะเลือกกินเช่นกันทำให้ดินจืด และยังไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มีราคาขึ้นลง ถ้าปลูกอย่างเดียวปีนั้นราคาพืชนั้นตกก็แย่ไปเลย ไม่มีอะไรมาประกันความเสี่ยง ทั้งนี้ มีการพูดถึงทฤษฎีของในหลวง รัชกาลที่ 9 ใช้แนวปลูกป่า 3 อย่าง ให้ประโยชน์ 4 อย่าง คือให้มีป่าไม้ใช้สอยป่าเศรษฐกิจ ป่ากินได้ ป่ายืนต้น ซึ่งจะช่วยรักษาธรรมชาติได้

“ส่วนการสร้างป่าสร้างรายได้ คือการปลูกไม้ป่าดั้งเดิมของพื้นที่เบิกทางก่อน ผสมผสานกับการปลูกพืชเกษตรหรือไม้เศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้แก่คนท้องถิ่นได้ เราจะได้มีป่าใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด ที่ผ่านมาได้ดำเนินการสร้างป่าที่ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน และ อ.นาแห้ว จ.เลย และมีการขยายไปยังอำเภอต่างๆ ในจ.แม่ฮ่องสอน ตาก เชียงใหม่ จากสถิติเบื้องต้นปี 2561 มีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 19,890 ครัวเรือน พื้นที่ฟื้นฟูและอนุรักษ์ 71,786 ไร่ ซึ่งได้ทำงานร่วมกับกรมป่าไม้และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธาศัย (กศน.) เป็นแกนผลักดันโครงการ รวมถึงกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มาช่วยอย่างเต็มตัว ตั้งแต่สร้างความเข้าใจร่วมกัน ประชุมร่วมกับชุมชน ครู กศน. เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ และชาวบ้าน คุยว่าชาวบ้านในพื้นที่จะได้รับประโยชน์อะไรจากโครงการ เพราะชาวบ้านกลัวว่า ทำแล้วที่ทำกินจะโดนยึดไป ทำอย่างไรถึงจะทำมาหากินได้โดยไม่ถูกจับ และทำให้มีรายได้รองรับ ต้องทำให้ชาวบ้านมั่นใจ

จากนั้นรับสมัครชาวบ้านที่สมัครใจที่จะนำพื้นที่ของตนมาร่วม ไม่มีการบังคับ และจำกัดขนาดพื้นที่ รวมถึงจดทะเบียนกลุ่มสร้างป่าสร้างรายได้ เป็นวิสาหกิจชุมชน หากมีปัญหาให้สมาชิกในกลุ่มช่วยกัน เพราะกลุ่มมีไว้ช่วยกัน จากนั้นมีการสำรวจพื้นที่ว่างเปล่า โดยมีกรมป่าไม้ร่วมสำรวจ ตั้งแต่ลักษณะความสูงเหนือระดับทะเล ความลาดชันของพื้นที่ เพื่อนำมาวางแผนปลูกพืชพรรณที่เหมาะสม โดยจะให้เลียนแบบป่าโครงสร้างให้มากที่สุด นอกจากนี้ หน่วยราชการสนับสนุนกล้าไม้ให้ชาวบ้านได้ปลูก”

“จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบความก้าวหน้าที่อ.บ่อเกลือ จากปีแรกมีสมาชิก 30 คน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 4,112 คน พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นรวมตั้งแต่เริ่มต้นถึงปี 2561 มีพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม จากข้อมูลสำรวจชาวบ้านมีรายได้มาจากการเพาะชำกล้าไม้ ร้อยละ 71.04 ทำให้คนมีกำลังใจในการพัฒนา ตอนนี้ขยายเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อขยายพันธุ์กล้วยน้ำว้ามะลิ เดิมมีแต่ที่จังหวัดพิษณุโลก เหล่านี้ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องไปทำไร่เลื่อนลอย บางครอบครัวชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ได้ประโยชน์ได้อยู่ร่วมกับครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตา มีรายได้จากการทำเกษตรแบบผสมผสาน”

 

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตรัสด้วยว่า

“ปีนี้จังหวัดน่านจะเร่งเรื่องส่งเสริมการเลี้ยงไข่ไก่ในค่ายทหารต่างๆ ประกอบด้วย มณฑลทหารบกที่ 38, ทหารพราน, ค่ายสุริยพงษ์ และโรงพยาบาลค่ายสุริยพงษ์ เนื่องจากจังหวัดน่านมีการนำเข้าไข่ไก่เป็นจำนวนล้านๆ ฟอง โดยที่เราผลิตไม่พอ ร่วมส่งเสริมการผลิตพืช สัตว์ โดยเฉพาะไก่ไข่ เพื่อทดแทนการนำเข้ารวมถึงเพื่อการบริโภค เพราะไก่ไข่มีคุณค่าทางโภชนาการ แต่เราทำในระดับเกษตรกรไม่ใช่อุตสาหกรรม

เหตุที่เลือกค่ายทหารเพราะมีพื้นที่กว้างขวาง และมีทหารซึ่งจะทำหน้าที่เรียนรู้ก่อนจะนำองค์ความรู้ต่างๆ ไปแนะนำแก่ประชาชนเมื่อเวลาออกพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีทหารที่มาฝึกฝนมีความรู้และได้ปฏิบัติงานเรื่องการผลิตไก่ไข่ เมื่อกลับไปบ้านก็เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ทำในครัวเรือนตัวเอง และแนะนำเพื่อนบ้านได้อีกด้วย ก็คิดว่าโครงการจะไปได้”

สำหรับโครงการ “สร้างป่า สร้างรายได้” เป็นแนวทางการพัฒนาฟื้นฟูป่าไม้ เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับป่า และมีรายได้เสริมจากการปลูกพืชโดยที่ไม่ทำลายป่าไม้ โดยการปลูกไม้ป่าร่วมกับพืชเศรษฐกิจ มีการปลูกไม้หลายระดับหลายๆ ชนิด มีทั้งไม้เรือนยอดสูงลดหลั่นกันลงมา นอกจากจะทำให้ชาวบ้านมีรายได้แล้ว ยังทำให้มีป่าไม้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย

โครงการเริ่มดำเนินการเมื่อ พ.ศ.2556 ที่อำเภอบ่อเกลือ จ.น่าน และ อ.นาแห้ว จ.เลย ต่อมามีการขยายพื้นที่ไปอีกหลายอำเภอ และยังขยายต่อไปในจังหวัดเชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอนด้วย ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงปี 2561 มีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการรวมทั้งหมด 19,890 ครัวเรือน คิดเป็นพื้นที่ป่าที่กำลังฟื้นฟูและอนุรักษ์รวมทั้งหมด 71,786 ไร่

ในส่วนจังหวัดน่านปัจจุบันขยายพื้นที่ไปจนครบทั้ง 15 อำเภอมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการรวมทั้งหมด 4,112 ครัวเรือนใน 48 ตำบล และมีพื้นที่ป่าที่กำลังฟื้นฟูและอนุรักษ์รวมทั้งหมด 19,350 ไร่

จากการสำรวจรายได้ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 1,187 คน พบว่าในรอบปี 2561 ที่ผ่านมา เกษตรกรมีรายได้จากโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ คิดเป็นเงิน 508,045 บาท และจากการเก็บข้อมูลกลุ่มสร้างป่า สร้างรายได้ อ.บ่อเกลือ ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมป่าไม้ พบว่า กลุ่มสามารถสร้ายรายได้เป็นจำนวนเงิน 648,185 บาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image